16 ม.ค. 2020 เวลา 23:00 • ประวัติศาสตร์
ชีวิตพระ
ตอนที่ ๔๘ ปฐมเหตุของการผูกเวร ๑
ก่อนจะเล่าเรื่องราวของปฐมเหตุของการผูกเวร ก็ขอเท้าความเรื่องกิเลส ๓ ตระกูล ที่ได้เขียนเอาไว้ในตอนที่ ๓๗ สักนิด เผื่อท่านผู้อ่านที่เพิ่งมาได้อ่านบทความนี้เป็นบทความแรก จะได้เข้าใจเนื้อหานี้ได้อย่างลึกซึ้ง เพราะผู้เขียน จะเขียนในมุมมองของการทำงานของกิเลสทั้ง ๓ ตระกูล
กิเลส ๓ ตระกูลได้แก่
๑ ตระกูลโลภะ มีหน้าที่บังคับให้มนุษย์อยากได้ในทางที่ผิด
๒ ตระกูลโทสะ มีหน้าที่บังคับให้มนุษย์อยากทำลาย
๓ ตระกูลโมหะ มีหน้าที่บังคับให้มนุษย์ คิด พูด ทำ ในสิ่งที่ผิด เพราะเข้าใจว่าถูก
ในตอนที่ ๓๗ เรายกตัวอย่างการทำงานของกิเลสตระกูลโทสะ ที่บังคับให้พระโกกาลิกะ โยนเข่ากระแทกทรวงอกของพระเทวทัต จนพระเทวทัตต้องกระอักเลือด
ส่วนในตอนนี้ เราจะยกตัวอย่างการทำงานของกิเลสทั้ง ๓ ตระกูลเลย ว่ามันบังคับให้อดีตชาติของพระเทวทัตนั้นสร้างกรรมชั่ว จนกระทั่งพัฒนาเป็น “กรรมลิขิต” อย่างที่กล่าวไว้ในตอนที่ ๔๔ ได้อย่างไร
ย้อนเวลาไป ๕ กัป (ศึกษาเรื่อง “กัป” ได้ในตอนที่ ๔๖) พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสวยพระชาติเป็นพ่อค้าเร่ชื่อ “เสรีวะ”
พระเทวทัต ก็เกิดเป็นพ่อค้าเร่ ชื่อ “เสรีวะ” เหมือนกัน
ชื่อก็เหมือนกัน อาชีพก็เหมือนกัน เพื่อป้องกันความสับสน จากนี้ไปจะเรียกพ่อค้าคนแรกว่า “นายเสรีวะ ใจดี” และจะเรียกพ่อค้าคนที่สองว่า “นายเสรีวะ ใจดำ” ซึ่งพ่อค้าทั้งสอง ก็อาศัยอยู่ในแคว้นเสริวะรัฐ เหมือนกันอีก
วันหนึ่ง พ่อค้าทั้งสอง นำสินค้าข้ามฝั่งแม่น้ำที่ชื่อ “นีลพาหะ” ไปค้าขายยังเมืองที่ชื่อ “อริฎฐะปุระ” ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม ซึ่งช่างประจวบเหมาะ เพราะเดินทางในวันเดียวกัน เวลาเดียวกัน แล้วก็ยังนั่งเรือโดยสารลำเดียวกันอีก
พอถึงฝั่ง ก็แบ่งถนนกันเดิน “นายเสรีวะ ใจดี” ไปทางหนึ่ง “นายเสรีวะ ใจดำ” ก็ไปอีกทางหนึ่ง
ทางถนนที่ “นายเสรีวะ ใจดำ” เดินนั้น มีบ้านของตระกูลเก่าแก่หลังหนึ่ง ซึ่งบรรพบุรุษเคยรวย ต่อมาก็ยากจนลง จนตอนนี้เหลือแค่ ยายกับหลานสาวตัวเล็กๆ คนหนึ่ง
หลานสาวตัวเล็ก เห็นพ่อค้าคือ “นายเสรีวะ ใจดำ” ร้องป่าวประกาศขายเครื่องประดับ ก็เลยนึกอยากได้เครื่องประดับบ้าง จึงบอกกับยาย
“หลานเอ๋ย เราเป็นคนจน จะเอาเงินที่ไหนไปซื้อล่ะจ๊ะ” ยายพูดกับหลาน
“ยายจ๋า บ้านเรามีถาดอยู่ใบหนึ่ง เราไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร เอาถาดใบนั้นไปแลกเครื่องประดับดีไหมจ๊ะ” หลานสาวว่าแล้ว ก็ไปหยิบถาดใบนั้นมาให้ยายดู
ถาดโลหะกลมแบน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑ คืบครึ่ง มีสีดำทั้งหน้าทั้งหลัง อยู่ในมือทั้งสองที่เหี่ยวย่นของยายที่กำลังพลิกไปพลิกมา
“ราคามันจะแลกเครื่องประดับได้สักชิ้นหรือเปล่านะ” ยายคิด แต่พอดูหน้าหลานสาวตัวเล็ก ก็นึกสงสารหลานรัก จึงลุกขึ้นไปเรียก นายเสรีวะ ใจดำ ที่กำลังเดินผ่านหน้าบ้านพอดี
“ท่านพ่อค้าผู้เจริญ ถาดใบนี้ของฉัน พอจะแลกเครื่องประดับอะไรสักช้ินของท่านได้ไหมจ๊ะ” ยายถามแล้วก็ยื่นถาดใบนั้นให้ นายเสรีวะ ใจดำ
นายเสรีวะ ใจดำ จับถาดใบนั้นมาดู ก็พบว่ามันหนักผิดปกติ ด้วยประสบการณ์ที่ช่ำชองก็สันนิษฐานว่า น้ำหนักขนาดนี้น่าจะเป็นถาดทองคำ จึงทดลองพลิกแล้วเอาเข็มขีดที่ก้นถาด ก็เห็นเส้นทองปรากฎขึ้น
ตอนนี้แหละกิเลสตระกูลโลภะเริ่มทำงาน หน้าที่มันคือบังคับให้อยากได้ในทางที่ผิด แต่จะบังคับที่จะเล็กทีละน้อยโดยที่เราไม่รู้ตัว
มันบังคับให้เกิดการ “เพ่งเล็ง อยากได้” ก่อนเลยเป็นอันดับแรก
เมื่อเกิดการ “เพ่งเล็ง อยากได้” แล้ว หากผู้ถูกบังคับมีสติ ก็จะตัดใจ หรือหากตัดใจไม่ได้ก็จะขวนขวายหาทางให้ได้มาในทางที่ถูก แต่หากขาดสติสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปก็คือ
มันจะบังคับให้มีความคิดที่ “อยากเอาเปรียบ”
นายเสรีวะ ใจดำ เห็นเส้นทองที่ก้นถาด ก็เพ่งเล็ง อยากได้จนสติขาดผึงเลย เมื่อคุมสติไม่อยู่กิเลสตระกูลโลภะ ก็บังคับให้มีความคิดอยากเอาเปรียบยายคนนี้ทันที
“ยายคนนี้ โง่จริงๆ ไม่รู้แม้แต่ว่าถาดนี้เป็นถาดทองคำ มีค่าตั้งแสน เอาเถอะเมื่ออยากโง่นัก ก็จงโง่ต่อไป เราจะหลอกยายคนนี้ว่า ถาดนี้ไม่มีราคาค่างวดอะไร แล้วค่อยกลับมาใหม่ ทำเป็นใจดี ซื้อถาดใบนี้ด้วยราคาถูกๆ” นายเสรีวะ ใจดำ คิด เมื่อคิดแล้วก็เหวี่ยงโยนถาดใบนั้นทิ้งไปกับพื้น พร้อมกับพูดว่า
“ถาดใบนี้ ไม่มีราคาค่างวดอะไรหรอก”
ว่าแล้ว ก็เดินจากไป แต่ใจนั้นจรดจ่ออยู่กับถาดใบนั้น … ตอนนี้กิเลสตระกูลโลภะ บังคับให้อยากได้ในทางที่ผิดแล้ว จึงบังคับให้มีพฤติกรรมที่หลอกลวงผู้คน แต่เนื่องจากยังทำไม่สำเร็จ จึงมีความคาดหวัง คาดหวังว่า กลับมาใหม่จะได้ถาดใบนั้น
นายเสรีวะ ใจดำ ไม่ตัวรู้เลยว่า ความคิดที่อยากเอาเปรียบที่เกิดขึ้นนี้ จะสร้างความทุกข์ทรมานอย่างใหญ่หลวงให้กับตัวเองจากนี้ไปถึง ๕ กัป
ส่วนยาย ก็ได้แต่ปลอบใจหลาน เพราะไม่รู้จะทำอะไรได้ดีกว่านี้อีกแล้ว … จบตอนที่ ๔๘

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา