16 ม.ค. 2020 เวลา 12:55 • การศึกษา
“ค่าคอมมิชชั่น ค่าน้ำมันรถ ค่าโทรศัพท์ถือว่าเป็นค่าจ้างหรือไม่?”
สำหรับลูกจ้างแล้วสิ่งที่ดึงดูดให้ทำงานกับนายจ้างรายนั้น ๆ ก็คงหนีไม่พ้น “ค่าจ้าง” ที่นายจ้างได้จ่ายให้เป็นค่าตอบแทนการทำงาน
แต่ก็มีลูกจ้างบางตำแหน่งเช่นกันที่อาจจะได้รับค่าตอบแทนอย่างอื่นนอกเหนือไปจากค่าจ้างที่นายจ้างได้จ่ายให้...
เช่น ค่าน้ำมันรถ , ค่าทางด่วน , ค่าโทรศัพท์ รวมไปถึงค่าตอบแทนจากการทำยอดขายได้ตามเป้าหมายที่นายจ้างตั้งไว้ หรือที่เรียกกันว่าค่าคอมมิชชั่น
ซึ่งค่าตอบแทนเหล่านี้แม้จะไม่ได้เรียกว่าค่าจ้าง แต่ถ้ามีลักษณะการจ่ายเป็นประจำแน่นอนทุกเดือน กฎหมายก็ถือว่า ค่าตอบแทนเหล่านี้เป็นค่าจ้างเช่นเดียวกัน
ยกตัวอย่างเช่น...ลูกจ้างได้รับค่าน้ำมันรถ และค่าโทรศัพท์ทุกเดือนเป็นจำนวนแน่นอนในลักษณะเหมาจ่าย ไม่ต้องมีใบเสร็จ มิใช่เป็นเงินสวัสดิการหรือเงินช่วยเหลือ แต่ได้รับเนื่องจากการทำงานตามปกติ ถือว่าเป็นค่าจ้าง
(อ้างอิงคำพิพากษาที่ 7316/2549)
สำหรับค่าคอมมิชชั่นนั้น หากเป็นเงินที่
นายจ้างมีไว้สำหรับจูงใจลูกจ้างเพื่อตอบแทนที่ลูกจ้างสามารถทำงานได้ถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ และจะไม่จ่ายหากลูกจ้างทำยอดได้ไม่ถึงเป้าหมาย...
ยกตัวอย่างเช่น นายจ้างตั้งเงินจูงใจไว้โดยจะจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามผลงานที่สามารถทำยอดขายได้ตามเป้าหมายในผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด
มีกำหนดจ่ายเป็นรายเดือน รายไตรมาส และรายปี ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่เท่ากันทุกเดือน และหากทำยอดขายได้ต่ำกว่าเป้าหมายก็จะไม่ได้รับเงินจูงใจดังกล่าว
เงินจูงใจจึงไม่ใช่ค่าตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของลูกจ้าง จึงไม่ใช่ค่าจ้าง
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 2246/2548)
คำถามต่อมาก็คือ...ทำไมต้องสนใจว่าเงินที่นายจ้างจ่ายให้นั้นจะถือเป็นค่าจ้างหรือไม่?
คำตอบก็คือ ถ้าหากเป็นค่าจ้าง เงินดังกล่าวก็จะนำไปเป็นฐานคำนวณสำหรับการขึ้นเงินเดือน การคิดเงินโบนัสประจำปี ค่าล่วงเวลา รวมถึงค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้างนั่นเอง
ในทางกลับกัน หากไม่ถือว่าเป็นค่าจ้าง นายจ้างก็ไม่ต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวมารวมเป็นฐานค่าจ้างสำหรับการพิจารณาเช่นเดียวกันครับ
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา