16 ม.ค. 2020 เวลา 12:00 • กีฬา
สกล เกลี้ยงประเสริฐ : เรือจ้างที่ไม่เคยยอมแพ้ต่อคลื่นลม ผู้สร้างแข้งไทยไปเจลีก
ศศลักษณ์ ไหประโคน และ จักรกฤษณ์ เวชภิรมย์ คือ สองนักเตะดาวรุ่งอนาคตไกล ที่แฟนบอลไทยรู้จักเป็นอย่างดี คนหนึ่งมีดีกรีแชมป์ไทยลีกและติดทีมชาติชุดใหญ่ ส่วนอีกคนเคยไปวาดลวดลายฝากชื่อเสียงไว้บนแผ่นดินญี่ปุ่นมาแล้ว
ชายร้างท่วม หนวดและผมสีดอกเลา ที่มีเอกลักษณ์ใส่หมวกตลอดเวลา ยืนตะโกนด่าลูกทีมตลอดเวลาอยู่ที่ข้างสนาม
คือผู้อยู่เบื้องหลังการปลุกปั้น ศศลักษณ์ ไหประโคน รวมถึง 2 แข้งไทยดีกรีเจลีก อย่าง จักรกฤษณ์ เวชภิรมย์ และ ณัฐวุฒิ สุขสุ่ม และทำให้ทีมฟุตบอล โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี กลายมาเป็นทีมขาสั้นแถวหน้าประเทศ ที่กวาดแชมป์มามากมายในนับไม่ถ้วน
ชื่อของเขาคือ “สกล เกลี้ยงประเสริฐ”
แต่กว่าที่เขากลายจุดที่ได้ชื่อว่า สุดยอดโค้ชของวงการฟุตบอลนักเรียนเมืองไทย ตลอดเส้นชีวิตของการเป็นครู และโค้ช “อ.สกล” ต้องพบกับผ่านอุปสรรคมากมาย ที่พิสูจน์ความรักที่มีฟุตบอล และลูกศิษย์
ไม่ว่าจะเป็น การคลานกราบผอ. เพื่อให้รับนักบอลเข้าโรงเรียน, ยอมกินเลือดจระเข้สด เพียงเพราะอยากได้เด็กรายหนึ่งเข้าทีม ออกเงินซื้อรถกระบะ เพื่อขับรถพาเด็กไปเตะบอลทั่งประเทศ ไปจนถึงเกือบถูกไล่ออกจากราชการ เพราะการทำงานในฐานะเรือจ้างผู้สร้างสายเลือดใหม่ของวงการฟุตบอลไทยในปัจจุบัน
จุดเริ่มต้นของ “เรือจ้าง” ที่ชื่อสกล
สกล เกลี้ยงประเสริฐ เป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีใจรักในกีฬาฟุตบอลมาตั้งแต่วัยเยาว์ แม้จะเติบโตในครอบครัวที่มีฐานะยากจน แต่สกล ได้รับโอกาสให้เข้ามาเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเริ่มสนใจ อาชีพผู้สร้างนักฟุตบอล อย่างครูพละ
“ตอนเรียนอยู่ที่เทพศิรินทร์ มีรุ่นพี่ที่สนิทกัน เรียนเป็นครูพลศึกษา อยู่ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เขาคอยชักชวนผมอยู่ตลอดให้เรียนต่อเป็นครูพละ บอกตลอดว่าหุ่นอย่างผมสูงใหญ่แข็งแรงต้องเป็นครูพละ”
“บวกกับตอนเรียนมัธยมอยู่ในสายพละด้วย สุดท้ายพอโดนเป่าหูมากๆ การเป็นครูพละเลยกลายเป็นความฝันของเราโดยไม่รู้ตัว”
หลังจากจบการศึกษาระดับมัธยม สกลสามารถสอบเข้าเรียนคณะศึกษาศาสตร์ เอกพลศึกษา ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้เป็นผลสำเร็จ
ด้วยความที่มาจากครอบครัวฐานะยากจน ทำให้ระหว่างเรียนระดับมหาวิทยาลัย สกล ต้องทำงานเป็นผู้ตัดสินและนักฟุตบอล ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพื่อส่งเสียตัวเองเรียนหนังสือจนจบปริญญาตรี
แม้จะมีความตั้งใจอยากทำงานในสายฟุตบอล หลังเรียนจบ แต่เพราะความยากลำบากของชีวิต ที่ดิ้นรนหาเงินเลี้ยงชีพ ทำให้ สกล เกลี้ยงประเสริฐ ต้องยอมทิ้งความฝัน เพื่อทำงานมั่นคงกว่าที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย ในตำแหน่ง พนักงานเดินตั๋วรถไฟ
“ด้วยความที่มาจากครอบครัวอยากจน ก็อยากได้งานที่เงินเดือนมั่นคงไว้ก่อน พอดีรู้จักกับผู้หลักผู้ใหญ่ที่ทำงานในการรถไฟ ท่านก็มีความเมตตารับผมเข้าทำงาน”
“ช่วงที่ผมทำงานรถไฟ ก็มีชีวิตที่ดีขึ้น รายได้ดี มีฐานะที่มั่นคง แต่ทำได้ 3-4 ปี ก็มานั่งคิดว่า เราเรียนเป็นครูพละ ทำไมไม่เอาวิชาความรู้ที่เรามีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ จนตัดสินใจว่า จะไปเป็นครูพละ จึงตัดสินใจลาออกจากการทำงานกับการรถไฟทันที”
สกล เกลี้ยงประเสริฐ สอบบรรจุได้เป็นครู ตามที่ตนเองตั้งใจไว้ ภายใต้สังกัดการทำงานกับ กรุงเทพมหานครฯ เริ่มบรรจุเป็นครูครั้งแรก ที่โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ เขตคลองเตย และเป็นสถานที่แรกที่เขา ได้เริ่มต้นเส้นทางการเป็นโค้ชฟุตบอลที่นี่ ซึ่งเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย
“ตอนตัดสินใจว่าจะมาเป็นครู ตั้งใจไว้แล้วว่าจะทำทีมฟุตบอลด้วย พอมาสอนที่โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ เป็นโรงเรียนเด็กประถม แต่โรงเรียนไม่มีงบประมาณ นักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กจากสลัมคลองเตย แต่ด้วยความอยากทำทีมฟุตบอลผมจึงใช้เงินของตัวเองเนี่ยแหละทำทีม”
“เวลาเงินเดือนออก ผมก็เอาเงินไปซื้อเสื้อผ้า กางเกง รองเท้า มาให้เด็ก ส่วนหนึ่งคือเอามาจูงใจ ประมาณว่าเล่นฟุตบอลกับครูสิ มีเสื้อ มีรองเท้าให่ใส่ เด็กจึงมาสมัครกันเยอะ พอได้ทีม ผมก็พาไปแข่งรายการต่างๆ มีรายการไหนจัดแข่งขัน ส่งทีมไปแข่งหมด”
“แต่ว่ามันลำบากมากนะ เพราะพอทำไปซักพัก เด็กเริ่มขาดซ้อมและขาดเรียน เพราะเด็กอยู่ในสลัม สภาพชีวิตเขาไม่ค่อยดี เลยมานั่งคิดว่าอยู่ที่นี่ต่อไปคงไม่เหมาะกับตัวเอง เลยตัดสินใจไปสอบบรรจุใหม่อีกครั้ง”
ด้วยความที่เป็นคนที่ตั้งใจสูง สกล เกลี้ยงประเสริฐ สามารถสอบบรรจุเป็นครู ได้ในระดับมัธยมศึกษา และเขาเลือกตัดสินใจไปบรรจุที่โรงเรียนใหญ่อย่าง ราชวินิตบางแก้ว ที่น่าจะตอบโจทย์ความฝันของเขาได้เป็นอย่างดี โดยที่เขาไม่เคยรู้เลยว่า มันคือการตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง ในช่วงเวลานั้นของตัวเอง
โค้ชฟุตบอลที่กล้าต่อกรกับท่านผู้อำนวยการ”
“ตอนแรกเลือกไปราชวินิตบางแก้ว เพราะแค่อยากไปอยู่โรงเรียนต่างจังหวัด (จ.สมุทรปราการ) แต่พอไปสอน โรงเรียน ไม่สนับสนุนให้เราทำทีมฟุตบอล ไม่ยอมให้ทำโดยเด็ดขาด รู้สึกเสียใจมากๆ”
“ตอนนั้นสนามฟุตบอลยังไม่มีเลยนะ เป็นบ่อเลี้ยงปลา ตกเย็นผมไปนั่งมองทุกวัน จะทำยังไงให้มีสนามฟุตบอลของตัวเอง ต้องไปรบกวนให้ผู้ปกครองบริจาคเศษดิน เศษปูน มาถมจนกลายเป็นสนามฟุตบอลที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้”
“แต่กว่าจะสร้างทีมขึ้นมาได้ ล้มลุกคลุกคลานมาก เพราะเมื่อก่อนโรงเรียนไม่มีโควต้านักกีฬา ผมทะเลาะกับผู้อำนวยการโรงเรียนบ่อยมาก บางทีต้องก้มกราบเท้าเขา คลานเข่าเข้าไปหา เพื่อให้ท่าน ผอ.รับเด็กนักฟุตบอลเข้าเรียน”
“สุดท้ายโรงเรียนรับเด็กนักกีฬาเข้ามา แต่ผมต้องเป็นคนดูแลเองทุกอย่าง เกิดอะไรขึ้นกับเด็กทางโรงเรียนไม่รับผิดชอบ ผมต้องดูแลเองหมดไม่เกี่ยวกับโรงเรียน”
“ต้องพาเด็กมานอนด้วยกันที่ห้องพักครู วันเสาร์-อาทิตย์ต้องพาเด็กไปรับทำงานเป็นกรรมการ ผมเป่ากลางสนาม เด็กเป็นไลน์แมน เพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูเด็กๆ ซื้อกับข้าวบ้าง ซื้อข้าวของเครื่องใช้บ้าง ลำบากอยู่เหมือนกัน ทำแบบนี้อยู่ 4-5 ปี”
ความพยายามของผู้ชายคนนี้ไม่สูญเสียเปล่า เพราะเขาสร้างชื่อในวงการฟุตบอลนักเรียนขาสั้นได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับชื่อเสียงของโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว ทำให้เริ่มได้รับการสนับสนุนจากทั้งโรงเรียนและผู้ปกครอง มีการก่อตั้งโครงการกีฬาของโรงเรียน รวมถึงได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุน สามารถสร้างหอพักให้นักกีฬาได้ภายหลัง
ในขณะที่ทุกอย่างกำลังได้สวย ที่โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว ครูสกล ต้องเจอคลื่นลูกใหญ่ที่ซัดให้ความฝันทั้งหมดที่สร้างมาพังลงในพริบตา เมื่อถูกสั่งย้ายโรงเรียนแบบเร่งด่วน
“ตอนนั้นโรงเรียนได้งบทำอัฒจันทร์สนามบอล 15 ล้านบาท แต่ ผอ.ท่านนั้น ต้องการให้ใช้งบทำอัฒจันทร์แค่ 11 ล้าน ส่วนอีก 4 ล้าน ให้เอาทำบ้านผอ. พอผมรู้เรื่อง ผมไม่ยอมเด็ดขาด เลยทะเลาะกันใหญ่โต”
อ.สกล จึงออกมาจากโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว แต่เหมือนโชคชะตาลิขิตไว้ ให้ครูสกลได้มีโอกาสมาทำงานต่อที่โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี ย่านดินแดง ในปี 2546 พร้อมกับจิตใจที่สิ้นหวังและมอดไหม้ ถึงกับตั้งปณิธานไว้ในใจว่าจะไม่ทำทีมฟุตบอลอีกแล้วในชีวิตนี้
กำเนิด “นักรบสีน้ำเงิน”
“ตอนนั้นเสียใจมาก ทั้งที่เราพยายามทำสิ่งดีๆให้โรงเรียนมาตลอด แต่กลับมาเจอเรื่องแบบนี้ รู้สึกท้อแท้ เลยคิดในใจว่าไม่ทำแล้วฟุตบอลพอกันที ตั้งใจว่าเดี๋ยวเคลียร์เรื่องราวเสร็จเรียบร้อยแล้วจะขอย้ายไปอยู่โรงเรียนหญิงล้วน จะได้ไม่ต้องเจอฟุตบอลอีก”
อย่างไรก็ตาม ครูสกลได้พบกับ ท่านธำรงค์ แพรนิมิตร ผู้อำนวยการโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรีในขณะนั้น ที่มีความฝันอยากทำทีมฟุตบอลโรงเรียน และรบเร้าอยู่นานหลายเดือนให้ ครูสกล เปลี่ยนใจ หลังจากพูดคุยเปิดอกกันอย่างลูกผู้ชาย สุดท้ายครูสกลตัดสินใจกลืนน้ำเลยตัวเอง กลับมาทีมฟุตบอลอีกครั้ง
“มันยากลำบากมากนะ เพราะที่นี่ (สุรศักดิ์มนตรี) ไม่มีอะไรเกี่ยวกับฟุตบอลเลย ไม่มีสนามฟุตบอล ไม่มีทีมฟุตบอล จะเอานักฟุตบอลตามมาจากโรงเรียนเก่าก็ไม่ได้ เพราะโดนสั่งห้าม ทุกอย่างต้องเริ่มใหม่หมด”
“สนามฟุตบอลที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เมื่อก่อนเป็นที่จอดรถ เป็นป่า เป็นที่กองดินที่ขุดจากการทำอุโมงค์ดินแดง ทุกวันตอนเย็นจะมานั่งที่ตรงนี้ แล้วคิดในใจว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อสร้างทีมฟุตบอลให้เกิดขึ้นที่นี่ให้ได้” สกล ย้อนเหตุการณ์ที่แทบจะเหมือนกับตอนอยู่โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว
“โชคดีที่ท่านผู้อำนวยการธำรงค์ ท่านอยากสร้างทีมฟุตบอล และท่านทำจริง ผมกับท่านตัดสินใจไปขอทุนจากหน่วยงานรัฐเพื่อมาสร้างสนามบอล ได้เงินจากการเคหะมา 4 ล้าน และกองสลากอีก 3 ล้าน รวมเป็น 7 ล้านเป็นทุนไปสร้างสนามบอล”
“จากนั้นจึงเริ่มทำโครงการกีฬาของโรงเรียนเริ่มสร้างนักฟุตบอล จำได้ว่ามีสื่อมาขอสัมภาษณ์ ผมบอก ‘ขอเวลา 3 ปี จะทำสุรศักดิ์มนตรี เป็นทีมฟุตบอลนักเรียนขาสั้นชั้นนำของประเทศให้ได้’”
คำพูดของครูสกลไม่ใช่เรื่องเกินเลย หลังจากนั้นไม่นานแข้ง “บลู อาร์มี” ก้าวขึ้นมาเขย่าวงการฟุตบอลนักเรียน และประสบความสำเร็จคว้าแชมป์มากมายนับไม่ถ้วนจนถึงปัจจุบัน
แต่กว่าจะได้มาซึ่งถ้วยแชมป์แต่ละถ้วยมาประดับตู้โชว์ของโรงเรียนไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะโรงเรียนยังขาดงบประมาณในการสนับสนุน หากต้องเทียบกับโรงเรียนชื่อดังหลายแห่ง ที่มีต้นทุนทุกอย่างดีกว่าที่นี่
“เราขาดความพร้อมหลายอย่าง เราไม่มีโดมเป็นหลังคากันฝน ช่วงหน้าฝน ถ้าวันไหนฝนตกหนักเราซ้อมไม่ได้ กับข้าวกับปลาผมออกเงินซื้อเองนะ ทุกเช้า 6 โมงครึ่งต้องไปตลาดไปซื้อกับข้าวมาเตรียมไว้ให้เด็กนักบอล”
“โรงเรียนใหญ่ที่มีชื่อเสียงนักฟุตบอลเขานอนห้องแอร์ อาหารการกินอย่างดี ชนะฟุตบอลสักครั้งเลี้ยงกินกันอิ่มสบาย ส่วนที่สุรศักดิ์มนตรีลำบากกว่านั้นเยอะ ผมต้องดูแลเองเกือบหมด สปอนเซอร์แทบไม่มี กว่าจะหาได้สักที เลือดตาแทบกระเด็น ค่ากินอยู่ของเด็ก ผมเลี้ยงเอง บอลชนะพาไปเลี้ยงผมจ่ายให้หมด”
“เด็กที่มาเข้าเป็นนักบอลที่นี่ ไม่ใช่พวกเด็กเก่ง เด็กพรสวรรค์เท่าไหร่นะ เด็กพรสวรรค์ไปหาสวนกุหลาบ ไปหาเทพศิรินทร์หมด พอคัดไม่ติดถึงมาหาโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี”
“ความพยายาม” สามารถเอาชนะ “พรสวรรค์”
แม้จะไม่ได้นักเรียนที่เป็นเพชรชั้นเลิศไว้ในมือตั้งแต่เริ่มต้น แต่สำหรับครูสกล เขาไม่เคยมองว่านี่เป็นปัญหาใหญ่ของการสร้างทีมฟุตบอลนักเรียนขาสั้นชั้นเลิศ เพราะเขามองว่า มีบางสิ่งที่สำคัญกว่าฝีเท้าพรสวรรค์
“เวลาจะรับเด็กที่จะมาเป็นนักบอลที่สุรศักดิ์มนตรี สิ่งสำคัญที่ผมดูคือมีใจที่เป็นนักสู้หรือเปล่า มีความพยายาม ความอดทนไหม คุณสมบัติเหล่านี้เป็นข้อสำคัญของการเป็นนักฟุตบอลที่ดี ถึงจะเป็นนักฟุตบอลที่ไม่ได้มีพรสวรรค์ แต่ถ้าใจสู้ไม่ยอมแพ้ ผมพร้อมรับเข้าทีม เด็กพวกนี้เก่งกว่าเด็กที่มีพรสวรรค์แต่ใจไม่สู้เยอะ”
ตัวอย่างจาก สองนักเตะที่ครูสกลปลุกปั้น จนมีชื่อเสียง กลายเป็นแข้งดาวรุ่งแถวหน้าของวงการฟุตบอลไทย อย่าง ศศลักษณ์ ไหประโคน และ จักรกฤษณ์ เวชภิรมย์ ล้วนแล้วเป็นแข้งที่เข้าข่ายนักเตะใจนักสู้ ตามแบบฉบับที่ครูสกลต้องการ
และเราไม่รู้สึกแปลกใจแม้แต่นิด ที่ได้เห็นลูกศิษย์ของ สกล เกลี้ยงประเสริฐ ทั้งสองรายได้ดิบได้ดีในปัจจุบัน
“ตอนผมเจอศศลักษณ์ครั้งแรกที่บุรีรัมย์ ตัวเขาเล็กมาก ผอมแห้งเลย ตอนนั้นยังไม่ได้รับเข้าทีม เพราะคิดว่าตัวเล็กเกินไปที่จะเล่นบอล เขาไปคัดที่ไหนก็ไม่ติดเพราะเรื่องขนาดตัวนี่แหละ แต่สุดท้ายก็มีเหตุการณ์ที่ทำผมได้รับเจ้าพีมาเล่นที่สุรศักดิ์มนตรี”
“ศศลักษณ์เป็นคนที่สุดยอดมากเรื่องระเบียบวินัย ตื่นตี 5 ครึ่งทุกวัน เป็นคนปลุกเพื่อนพี่น้องไปซ้อมบอล ให้ซ้อมแบบไหนซ้อมหมด ให้เล่นแบบไหนเล่นหมด ขยันและตั้งใจมาก ขยันเรียนด้วย”
“เพราะเขาตัวเล็ก ตอนแรกผมเลยให้ไปเล่นฟุตซอลก็ไปเล่น เล่นดีมาก ทักษะหลายอย่างที่เขาใช้ในการเล่นฟุตบอลตอนนี้ พัฒนามาจากฟุตซอล ถ้าเขาเล่นฟุตซอลต่อ ผมว่าเขาเป็นนักเตะเบอร์หนึ่งของเมืองไทยแน่นอน”
“หลังจากนั้นศศลักษณ์ได้เล่นทั้งฟุตบอลและฟุตซอล เล่นหมดเอาหมดทั้งสองกีฬา แถมเล่นแบกอายุด้วย ตอนอายุ 15 ไปเล่นรุ่นยู-16 พออายุ 16 ไปเล่นรุ่นยู-17 ทำแบบนี้ไปตลอด สำหรับผมศศลักษณ์ เป็นเด็กที่นักฟุตบอลไทยควรศึกษา ควรเอาเป็นแบบอย่าง ผมไม่แปลกใจที่เขาจะได้ดี ไปอยู่กับบุรีรัมย์ ไปติดทีมชาติ”
“ส่วนจักรกฤษณ์จะเป็นเด็กห้าวๆ ตอนเจอกันครั้งแรกที่กรุงเทพ เขามีเด็กลูกน้องเดินตามเป็นขบวนเลย เราชอบเด็กคนนี้ รู้สึกถูกชะตา เลยไปชวนมาเป็นนักบอลที่สุรศักดิ์มนตรี”
“แต่กว่าจะได้มาเข้าทีม ไม่ง่ายนะ ต้องไปหาพ่อเขาที่จันทบุรี พ่อเขาก็อยากทดสอบเรา ว่าเราจะเป็นคนจริงที่ดูแลลูกเขาได้ไหม กรีดเลือดจระเข้สดๆให้เรากินพร้อมกับเหล้าขาว เพื่อวัดใจ กินเข้าไปจำไม่ลืมเลย อธิบายไม่ถูก แต่คือที่สุดของชีวิตแล้วประสบการณ์นี้”
“ถามว่าทำไมต้องทำ เพราะเราอยากได้จักรกฤษณ์ ผมเป็นคนแบบนี้แหละบ้าๆนิดนึง แค่เพราะอยากได้นักบอล ถึงกับต้องไปกินเลือดจระเข้ แต่ผมว่าคุ้มนะ ได้จักรกฤษณ์มาร่วมทีม”
“จักรกฤษณ์เป็นคนบ้าเหมือนกัน มีครั้งหนึ่งเล่นบอลเจออุบัติเหตุ แขนหักกระดูกโผล่ ยังไม่ยอมออกจากสนาม อยากจะเล่นต่อ”
“อีกครั้งหนึ่ง ได้รับบาดเจ็บข้อเท้าหัก ไปหาหมอใส่เฝือกมา วันหนึ่งแข่งชิงแชมป์กับปทุมคงคา จักรกฤษณ์มานั่งดูด้วย อยู่ดีๆมาหาผม บอก ครูครับผมขอลงเล่น ผมบอกลงไม่ได้ เพราะยังใส่เฝือกหมออยู่เลย เขาก็ไม่ฟังผมนะ ไปหากรรไกรมาตัดเฝือก แล้วบอกผมว่า ให้เชื่อใจเขา ไม่ได้เจ็บแล้วเล่นได้แน่นอน”
“สุดท้ายเล่นได้จริงๆ พาทีมได้แชมป์ ได้รางวัลได้ไปดูบอลที่อังกฤษกันยกทีม สำหรับผมจักรกฤษณ์เป็นเด็กที่บ้า มีความอดทน และไม่รู้จักคำว่ายอมแพ้มากที่สุดคนหนึ่งที่ผมเคยเจอ”
“ความเป็นนักสู้ คือคุณสมบัติที่นักฟุตบอลควรจะมีขอแค่มีใจที่สู้ เราก็สามารถสู้ได้ทุกทีม ไม่ว่าจะเก่งแค่ไหน สำหรับผมสนามฟุตบอลมันเหมือนสนามรบ ที่ต้องสู้เพื่อเอาชัยชนะ ถ้าไม่สู้แล้วจะชนะได้อย่างไร”
“ใจแลกใจ” เคล็ดลับของความสำเร็จ
การทำทีมฟุตบอลนักเรียนขาสั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องสร้างทีม ปลุกปั้นนักเตะ ที่ยังเป็นเพียงต้นกล้าขึ้นมาด้วยตนเอง อีกทั้งยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อชีวิต ที่ต้องดูแลแข้งเยาวชนให้ดี ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางเสียก่อน
แม้จะเป็นงานยาก แต่สกล เกลี้ยงประเสริฐ ก็สามารถประสบความสำเร็จมาตลอด 30 ปี กับการทำฟุตบอลนักเรียน จนได้กลายมาเป็น อคาเดมีที่เคยปั้นนักเตะให้กับสโมสร ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด และปัจจุบันกับสโมสรโปลิศ เทโร
หากถามถึงเคล็ดลับความสำเร็จของเขาในการทำทีมฟุตบอลขาสั้น ครูสกล บอกกับเราว่า ไม่มีอะไรที่มากมาย แค่ดูแลลูกศิษย์ ด้วยหัวใจ ด้วยความรัก และจิตวิญญาณของความเป็นครู
“ผมใช้หัวใจของผมดูแลนักเรียนทุกคน เพื่อให้ได้ใจของนักเตะ ต้องใช้ใจแลกใจ” ครูสกล กล่าวเริ่ม
“ที่โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี สวัสดิการไม่ดีเหมือนโรงเรียนใหญ่ๆ แต่ผมจะยอมให้นักเรียนของผมอดอยากหรือขาดความพร้อมในการเป็นนักบอลไม่ได้ กับข้าวกับปลาผมยอมจ่ายเงินเอง หามาให้เขากิน บอลชนะ เดี๋ยวผมพาไปเลี้ยง เสื้อผ้าไม่มีเดี๋ยวครูซื้อให้”
“รถรับส่งไม่มี ผมซื้อเอง ผมซื้อรถกระบะกับรถตู้เอามาไว้ใช้ไปรับส่งนักเรียน คนขับไม่มีเดี๋ยวผมขับไปเอง แม้เราจะขาดความพร้อม แต่เราต้องพร้อมให้เหมือนโรงเรียนใหญ่ อาจจะขาดเรื่องเงิน แต่เรื่องใจเราไม่ขาดแน่นอน”
“หลายคนถามว่าทำไมผมต้องขับรถพานักบอลไปเตะด้วยตัวเอง เพราะผมอยากดูแลนักเตะของผมด้วยตัวเอง จะยอมให้นักการภารโรงมาขับผมไม่เอา ผมต้องทำให้ทั้งเด็กและพ่อแม่เขาเชื่อใจ ว่าผมดูแลพวกเขาได้ ไปต่างจังหวัดไกลแค่ไหนก็ต้องขับไปเอง”
“ลำบากนะทำแบบนี้ แต่ผมต้องให้เด็กเชื่อใจ ผมดูแลเขาแบบพ่อแม่คนหนึ่ง ให้เขารักเรา เชื่อใจเรา และเขาจะเล่นเพื่อเรา เชื่อฟังเรา”
อีกทั้ง ครูสกล ยังปฏิบัติตัวเองอยู่ในระเบียบวินัยอยู่เสมอ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียน ไม่ให้นักบอลของเขาต้องกลายเป็นเด็กไม่ดี หรือกลายเป็นตัวปัญหา เมื่อจบจากโรงเรียนไปเข้าสู่วงการฟุตบอลเต็มตัว
“หนึ่งในเป้าหมายของการสร้างนักฟุตบอล คือผมต้องไม่ให้ลูกศิษย์ เรียนจบแล้วกลายไปเป็นสัตว์ร้าย สร้างปัญหาในวงการฟุตบอล ผมเป็นครู เป็นคนดูแลพวกเขา ผมต้องเป็นแบบอย่างที่ดี เหล้าเบียร์ไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ การพนันไม่เล่น เพื่อเป็นแบบอย่างให้ลูกศิษย์”
“ผมคิดว่าผมประสบความสำเร็จที่สามารถทำให้ นักเรียนส่วนใหญ่ เชื่อฟัง ไม่เกเรออกนอกลู่นอกทาง มีระเบียบวินัยในการเป็นนักบอล ตั้งใจและขยันฝึกซ้อม”
อีกหนึ่งภาพของครูสกลที่ติดตา แฟนฟุตบอลขาสั้น คือการเป็น ครูจอมโหด ที่คอยตะโกนด่าและต่อว่าลูกทีมของเขา ตลอด 90 นาทียามลงสนาม จนหลายคนสงสัยว่า ชีวิตจริงเขาคือคุณครูใจร้ายเหมือนยามอยู่ในสนามหรือเปล่า?
“จริงๆผมเป็นคนใจดี เป็นกันเอง แต่ที่ต้องดุมากเวลาคุมทีมข้างสนาม เพราะผู้เล่นของเรายังเป็นเด็ก ความตั้งใจบางทีไม่เต็มร้อย ผมต้องคอยดุเพื่อกระตุ้นนักเตะตลอด ว่าจะเล่นเอื่อยเฉื่อยไม่ได้ ต้องมีเป้าหมายในการเล่น เพื่อให้เขาได้พัฒนาตัวเอง”
“ถ้ายังไม่หมด 90 นาที นกหวีดยังไม่เป่า ห้ามยอมแพ้เด็ดขาด ต้องสู้ให้ถึงที่สุด ทั้งตัวผมที่เป็นโค้ชและนักเรียน แต่พอจบแมทช์ก็คือจบ ว่ากันใหม่นัดหน้า ไม่มีการจับเด็กมานั่งต่อว่าหลังจบเกม ผมไม่ทำแบบนั้น แค่ตั้งเป้าหมาย นัดหน้าเอาใหม่ทำให้เต็มที่”
บทส่งท้ายของ “เรือจ้าง” ที่ชื่อสกล
ปัจจุบันครูสกล เกลี้ยงประเสริฐ อายุ 58 ปี เข้าสู่ช่วงปลายของอาชีพราชการ เขาเหลือเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น กับการเป็นโค้ชจอมโหดคอยคุมลูกศิษย์วิ่งหวดลูกบอลอยุ่ข้างสนาม
แม้จะต้องใช้ชีวิตการเป็นโค้ชอย่างยากลำบาก ผ่านอุปสรรคมามากมาย แต่หากมองย้อนกลับไป ครูสกล บออกับเราว่า เขามีความสุขมากกับเส้นทางที่ตัวเองได้เลือก ในฐานะเรือจ้างลำหนึ่ง ที่ส่งลูกศิษย์ขึ้นไปติดทีมชาติหลายราย และมีอนาคตที่ดี
“ทุกวันนี้ ผมยังทำในสิ่งที่ทำมาตลอด ตื่นตี 5 พาเด็กมาวอร์ม ออกกำลังกายแต่เช้า 6 โมงครึ่งออกไปตลาดซื้อกับข้าว กลับมาสอนหนังสือจนเย็น พอสอนเสร็จก็พาเด็กซ้อมฟุตบอลต่อ”
“ผมมีความสุขกับการอยู่ตรงนี้ แม้จะลำบาก ที่ผ่านมา ผมเคยได้รับข้อเสนอจากหลายโรงเรียน ให้ย้ายไปเป็นโค้ชให้ที่อื่น ที่ให้เงินผมเยอะกว่าที่สุรศักดิ์มนตรี มีสวัสดิการงบประมาณให้เต็มที่ในการทำทีมฟุตบอล”
“แต่ที่ผมไม่ย้ายไป เพราะสุรศักดิ์มนตรีเป็นโรงเรียนที่ให้โอกาสผมได้กลับมาทำงานที่ผมรัก อีกส่วนหนึ่งผมมองเรื่องการทำหน้าที่โค้ชฟุตบอล เป็นเรื่องของใจมากกว่าเงิน ผมไม่ชอบการเป็นโค้ชที่ทำงานโดยมีผลประโยชน์เป็นแรงจูงใจ มันสู้การทำงานด้วยพลังใจไม่ได้”
แม้จะเหลือเวลาในการทำงานอีกไม่นาน ครูสกลยังยืนยันจะทำหน้าที่ในหน้าที่โค้ชนักเรียนฟุตบอลอย่างเต็มที่จนถึงวันสุดท้ายของการทำงาน ส่วนชีวิตหลังจากเกษียณอายุราชการ สกล เกลี้ยงประเสริฐ วางแผนที่จะทำงาในวงการฟุตบอลต่อไป โดยอาจปรับบทบาทมาเป็น ผู้วางแผนพัฒนาเยาวชน ให้กับหน่วยงานรัฐหรือเอกชนที่สนใจ
เพราะตลอดชีวิตของผู้ชายชื่อ สกล เกลี้ยงประเสริฐ ทุกลมหายใจเข้าออก มีแต่เรื่องของฟุตบอล และเขายังคงไม่หยุดที่จะอุทิศชีวิต เพื่อพัฒนาและสร้างนักฟุตบอลให้กับประเทศนี้ต่อไป ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู
“ผมเป็นครู หน้าที่ของผมคือการสั่งสอนลูกศิษย์ให้เติบโตไปได้ดีและเป็นคนดี ผมพอใจกับการทำหน้าที่ตรงนี้ ได้สร้างนักเตะขึ้นสู่ทีมชาติ เห็นพวกเขาไปได้ดีในเส้นทางฟุตบอลมันก็เป็นความสุขของเรา เรื่องความลำบากไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่เราได้ทำไป ทิ้งผลงาน ทิ้งชื่อของผมเอาไว้ ให้ผู้คนได้จดจำ”
บทความโดย ณัฐนนท์ จันทร์ขวาง
โฆษณา