2 ก.พ. 2020 เวลา 23:09 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ถั่วเขียว: แหล่งกำเนิดของพืชสารพัดประโยชน์
ถั่วเขียว [Vigna radiata] เป็นพืชที่เราทุกคนรู้จัก และอาจจะเป็นพืชชนิดแรกที่เราได้ปลูกตอนที่เรียนในโรงเรียน
จากถั่วเขียว เราก็สามารถปลูกให้งอกออกมาเป็นถั่วงอก ซึ่งเอาไปทำอาหารต่างๆ ได้และจากถั่วงอกถ้าเราปลูกต่อไปเรื่อยๆ ก็จะได้ออกมาเป็นต้นใหญ่ ออกฝัก ออกเมล็ด ตัวเมล็ดสามารถนำไปทำถั่วเขียวต้มน้ำตาลกิน และสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตสิ่งต่างๆ เช่น วุ้นเส้น แป้งถั่วสำหรับทำขนม ถั่วเขียวซีกทอด ถั่วบด และอื่นๆ อีกมากมาย
พืชสารพัดประโยชน์อย่างถั่วเขียวนี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไร มาจากไหน เข้ามาในประเทศไทยเมื่อไหร่? วันนี้เราจะมาสำรวจกัน
ต้นและฝักของถั่วเขียว
ถั่วเขียวป่าเป็นพืชที่มีการแพร่กระจายในป่าผลัดใบเขตร้อนเป็นบริเวณกว้างตั้งแต่เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลียทางเหนือจนถึงบางส่วนของแอฟริกา แต่จากการเปรียบเทียบพันธุกรรมระหว่างถั่วเขียวที่นำมาเพาะปลูกกับถั่วเขียวในธรรมชาติ พบว่าถั่วเขียวที่นำมาปลูกมีความใกล้ชิดกับประชากรในเอเชียใต้เพียงที่เดียว ทำให้เชื่อได้ว่า มนุษย์ในเอเชียใต้เป็นกลุ่มคนที่เริ่มนำถั่วเขียวมาเพาะปลูกเป็นกลุ่มแรก และหลังจากนั้นการเพาะปลูกถั่วเขียวได้แพร่กระจายไปยังอารยธรรมต่างๆ เช่น จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หลักฐานทางโบราณคดีก็สนับสนุนแนวคิดที่ว่า ถั่วเขียวที่นำมาเพาะปลูกมีจุดกำเนิดที่เอเชียใต้ โดยมีการขุดค้นพบถั่วเขียวในแหล่งโบราณคดีหลายแหล่งในประเทศอินเดีย โดยพื้นที่ที่ถูกเสนอว่า เป็นพื้นที่ที่ถั่วเขียวถูกเริ่มนำมาปลูกในยุคหินใหม่ ได้แก่ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย บริเวณตีนเขาหิมาลัยในรัฐปัญจาบซึ่งพบเมล็ดถั่วเขียวที่อายุประมาณ 4,500 ปี (รูปสามเหลี่ยมในภาพข้างล่าง) หรืออาจจะบริเวณถัดลงมาทางตอนใต้ที่พบเมล็ดถั่วเขียวอายุประมาณ 4,000 ปี (รูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดในภาพข้างล่าง)โดยเป็นไปได้ว่าการที่ถั่วเขียวถูกนำมาเพาะปลูกเป็นอาหารในทั้งสองพื้นที่นี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน
พื้นที่แพร่กะจายในธรรมชาติของถั่วเขียวและถั่วดำ (เส้นขีดเฉียง: Wild [Vigna radiata] แสดงพื้นที่การกระจายของถั่วเขียว ส่วน Wild [Vigna mungo] แสดงพื้นที่การกระจายของถั่วดำ) รูปทรงเรขาคณิตแสดงแหล่งโบราณคดีที่พบถั่วเขียว (ขาว - [Vigna radiata] และถั่วดำ (ดำ - [Vigna mungo]) (ที่มา Fuller, 2007)
ที่น่าสนใจคือ หลักฐานทางโบราณคดีชี้ให้เห็นว่า ขนาดของเมล็ดถั่วเขียวที่ถูกนำมาเพาะปลูกนั้นไม่ได้มีการคัดเลือกให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นจากถั่วเขียวในธรรมชาติเป็นเวลาถึง 2,000 ปี ในขณะที่พืชในกลุ่มหญ้าที่นำมาเพาะปลูกกัน เช่น ข้าว ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ มีการคัดเลือกให้ขนาดของเมล็ดใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงร้อยปีแรกที่ถูกนำมาเพาะปลูก นักวิทยาศาสตร์จึงเกิดคำถามว่า ทำไมมนุษย์ในสมัยโบราณจึงไม่ทำการคัดเลือกเมล็ดถั่วให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเช่นเดียวกันกับการคัดเลือกเมล็ดข้าว?
นักวิทยาศาสตร์ให้แนวคิดว่า การที่ถั่วเขียวถูกคัดเลือกให้มีขนาดใหญ่ขึ้นจากการเพาะปลูกในช่วง 2,000 ปีหลังจากมนุษย์เริ่มนำถั่วเขียวมาเป็นอาหารนั้นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเทคนิคการเพาะปลูก โดยหลังจากมนุษย์เริ่มเข้าสู่ยุคเหล็ก และเกิดเทคโนโลยีทางการเกษตรใหม่ขึ้นในอินเดีย คือ คันไถ ทำให้มนุษย์ขุดดินสำหรับการเพาะปลูกได้ลึกขึ้น ทำให้เมล็ดพืชที่มีขนาดใหญ่จะงอกทะลุหลุมที่ลึกได้ดีกว่า และถูกคัดเลือกไว้ ทำให้เมล็ดถั่วจึงเริ่มถูกคัดเลือกให้มีขนาดใหญ่ขึ้นหลังจากมีคันไถเกิดขึ้น
ถั่วเขียวป่า [Vigna radiata var. sublobata] (ที่มา https://www.gene.affrc.go.jp/databases-plant_images_detail_en.php?plno=5420610039)
การใช้คันไถและสัตว์ไถพรวน ทำให้เกิดการคัดเลือกถั่วเขียวที่มีเมล็ดขนาดใหญ่ขึ้น (ที่มา https://www.piqsels.com/th/public-domain-photo-srocz)
ในเวลาต่อมา ถั่วเขียวเริ่มแพร่กระจายไปในจีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยถั่วเขียวเริ่มแพร่กระจายมายังบริเวณประเทศไทยมาตั้งแต่เมื่อกว่า 2,200 ปีก่อน โดยถั่วเขียวถูกขุดพบในแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้วในจังหวัดชุมพร ที่มีการอยู่อาศัยเริ่มตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 2 (2,300 ปีก่อน) และเจริญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 5 -10 (2,000 - 1,500 ปีก่อน)
ในทางตรงกันข้าม ถั่วดำที่ถูกเพาะปลูกคู่กันกับถั่วเขียวในอินเดีย กลับไม่มีการแพร่กระจายมาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาถึงประเทศไทยในสมัยโบราณ โดยถั่วดำแพร่มาทางตะวันออกมาถึงเพียงพื้นที่ประเทศเมียนมาร์ในปัจจุบัน
เอกสารอ้างอิง
1. Fuller, D. Q. (2007). "Contrasting patterns in crop domestication and domestication rates: recent archaeobotanical insights from the Old World". Annals of Botany. 100 (5): 903–924. doi:10.1093/aob/mcm048
2. Castillo, Cristina; Fuller, Dorian Q. (2010). "Still too fragmentary and dependent upon chance? Advances in the study of early Southeast Asian archaeobotany". In Bellina, B.; Bacus, E. A.; Pryce, O.; et al. (eds.). 50 Years of Archaeology in Southeast Asia: Essays in Honour of Ian Glover. Bangkok/ London: River Books. pp. 91–111.
โฆษณา