6 ก.พ. 2020 เวลา 23:09 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
แหล่งกำเนิดของถั่วเหลือง
บทความที่แล้วผมเขียนถึงแหล่งกำเนิดของถั่วเขียวว่ามาจากอินเดีย และแพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชีย วันนี้เรามาลองดูพืชตระกูลถั่วอีกชนิดกันบ้าง ว่าถั่วเหลืองมีแหล่งกำเนิดอยู่ที่ใด และจากอดีตมาถึงปัจจุบัน ถั่วเหลืองมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใดไปบ้าง
(ดัดแปลงจาก By Scott Bauer - USDA Image Number K5267-7, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=16014)
ถั่วเหลือง [Glycine max] เป็นพืชที่นำมาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย ทั้งนำมาผลิตน้ำมัน เป็นอาหารของคน และนำมาเป็นอาหารของสัตว์เลี้ยง ต่างจากถั่วเขียวที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศอินเดีย ถั่วเหลืองเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดและแพร่กระจายอยู่ในเอเชียตะวันออก โดยมีพืชที่ถูกพัฒนาสายพันธุ์มาจากถั่วเหลืองป่าชนิด [Glycine soja] ที่พบแพร่กระจายในประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และรัสเซียตะวันออก
ฝักของถั่วเหลือง (ที่มา By H. Zell - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=10283252)
ถั่วเหลืองป่า (ที่มา By Dalgial - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=5661312)
การนำถั่วเหลืองมาเพาะปลูกเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า ถั่วเหลืองอาจจะถูกนำมาใช้ในการเพาะปลูกในหลายพื้นที่ทั้งในประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี โดยในการศึกษาของ Lee และคณะ (2011) มีการพบถั่วเหลืองที่มีอายุเก่าแก่ถึง 9,000 ถึง 8,600 ปีก่อนในทางตอนเหนือของประเทศจีนทางตอนเหนือ และ 7,000 ปีในประเทศญี่ปุ่น และกว่า 4,000 ปีก่อนในประเทศเกาหลี
ในบทความที่แล้วที่เกี่ยวกับถั่วเขียว มีการระบุว่าเมื่อถั่วเขียวถูกปลูกโดยมนุษย์ก็จะมีการคัดเลือกพันธุ์ให้เมล็ดมีขนาดใหญ่ขึ้น เราพบแนวโน้มนี้ในถั่วเหลืองเช่นกัน โดยถั่วเหลืองป่าจะมีลักษณะเมล็ดมีขนาดเล็กและมีสีดำมีองค์ประกอบของโปรตีนสูงและไขมันต้ำ แต่หลังจากการคัดเลือกโดยมนุษย์ เมล็ดของถั่วเหลืองจะมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีสีเหลือง องค์ประกอบภายในเมล็ดก็มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยจะมีโปรตีนน้อยลงและมีสัดส่วนของไขมันเพิ่มขึ้น
ถั่วเหลืองป่า (รูป A) เปรียบเทียบกับถั่วเหลืองที่นำมาปลูกในปัจจุบัน (B และ C) (ที่มา Lee et al., 2011)
แต่หลักฐานทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่า ในช่วงแรกที่ถั่วเหลืองถูกนำมาปลูกในสมัยยุคหินใหม่ในประเทศจีนนั้น ถั่วเหลืองนั้นมีขนาดเล็กลงกว่าถั่วเหลืองป่า และมีการคัดเลือกให้ถั่วเหลืองที่นำมาปลูกมีขนาดใหญ่ขึ้นในเวลาต่อมา
1
และขนาดของถั่วเหลืองโบราณในสามประเทศในช่วงเวลาเดียวกันก็มีขนาดที่แตกต่างกัน เช่น ในช่วง 5,000 ปีก่อน ในประเทศญี่ปุ่น (ยุคโจมง) ถั่วเหลืองที่พบมีขนาดใหญ่กว่าถั่วเหลืองที่พบในประเทศจีนและประเทศเกาหลีมาก และกว่าที่จะพบถั่วเหลืองที่มีขนาดเท่ากับในประเทศญี่ปุ่นในประเทศจีนและเกาหลีจะเป็นเวลา 1,500 ปีต่อมา (3,500 ปีก่อน)
1
มีเอกสารโบราณของราชวงศ์โจว (3,000-2,000 ปีก่อน) ว่ามีการนำถั่วเหลืองมาจากดินแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือ จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า ในช่วงดังกล่าวอาจจะมีการนำเข้าเมล็ดของถั่วเหลืองที่มีขนาดใหญ่มาจากประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลีที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของราชวงศ์โจว เข้ามาในดินแดนของราชวงศ์โจว ทำให้เกิดการปรับปรุงพันธุกรรมของถั่วเหลืองที่ปลูกในประเทศจีน ทำให้มีเมล็ดขนาดใหญ่ขึ้นตามที่พบในหลักฐานทางโบราณคดี แต่ข้อสันนิษฐานนี้ก็ต้องการข้อพิสูจน์ต่อไป
ตัวอย่างของเมล็ดถั่วเหลืองที่ขุดพบในแหล่งโบราณคดีในประเทศญี่ปุ่น (ที่มา Lee et al., 2011)
เขตแดนของราชวงศ์โจวในประเทศจีนเมื่อ 3,000 ปีก่อน (ที่มา Albert Herrmann (1935). History and Commercial Atlas of China. Harvard University Press. from "The Chou Dynasty, 11th-9th Centuries B.C.")
การค้นพบว่าถั่วเหลืองที่ปลูกในพื้นที่ต่างๆ ในสมัยโบราณมีลักษณะที่หลากหลาย ร่วมกับการทดสอบทางพันธุกรรมที่พบว่าถั่วเหลืองในประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่นมีพันธุกรรมที่แตกต่างกันทำให้เชื่อว่า การนำถั่วเหลืองป่ามาปลูกอาจจะเกิดขึ้นหลายครั้งในหลายพื้นที่ในเอเชียตะวันออก ทั้งในประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น
หลังจากในยุคของราชวงศ์ฮั่น (2,000 กว่าปีก่อน) ถั่วเหลืองเริ่มมีการแพร่กระจายมาทางตอนใต้ของประเทศจีน และมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ในช่วง 2,000-1,500 ปีก่อน ผ่านการค้ากับประเทศจีนผ่านทางบกและทางทะเล
ถ้ายังไม่ได้อ่านเรื่องของถั่วเขียวลองอ่านดูนะครับ
เอกสารอ้างอิง
1. Lee G-A, Crawford GW, Liu L, Sasaki Y, Chen X (2011) Archaeological Soybean (Glycine max) in East Asia: Does Size Matter? PLoS ONE 6(11): e26720. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0026720
โฆษณา