5 ก.พ. 2020 เวลา 09:30 • การศึกษา
“รอยสัก” ศิลปะบนเรือนร่าง หรือ การตีตราทางสังคม ?
สมัยนี้หลายคนมองว่ารอยสักเป็นศิลปะอีกรูปแบบหนึ่งบนเรือนร่างมนุษย์ แต่ในทางกลับกัน คนมีรอยสักกลับถูกสังคมมองในแง่ลบ ในหน่วยงานราชการ หรือในบริษัทเอกชนบางแห่งก็ถึงขั้นไม่รับคนมีรอยสักเข้าทำงาน…ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ?
ในปัจจุบัน การสักร่างกายได้รับความนิยมมากขึ้น สวนทางกับค่านิยมเดิมที่มองมันในแง่ลบ โดยตอนนี้ค่านิยมเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง และมองว่านี่คือสิทธิ และความชอบส่วนบุคคล
โดยจุดประสงค์ของการสักก็แตกต่างกันไปในแต่ละคน บ้างก็เพื่อความสวยงามและความชื่นชอบ บ้างก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงใคร หรืออะไรบางอย่างที่ควรค่าแก่การจดจำ
แต่ถึงอย่างนั้น การสักก็ยังถูกมองในแง่ลบอยู่ดี...
อันที่จริง การสักนั้นก็อยู่คู่กับสังคมไทย (และหลายๆ ประเทศทั่วโลก) มาช้านาน แต่จุดประสงค์การสักของคนในอดีตนั้นไม่ใช่เพื่อความสวยงาม หรือเป็นแค่เพียงแฟชั่นเท่านั้น แต่ส่วนมากจะสักอักขระเลขยันต์ นัยว่าเป็นควาเชื่อทางไสยศาสตร์ แน่นอนว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่ใครนึกอยากจะสัก
แต่นอกจากนี้ รอยสักก็ยังมีความเกี่ยวข้องกับ “นักโทษ” อีกด้วย เนื่องด้วยว่าเหล่านักโทษก็มีรอยสักอันเป็นเอกลักษณ์ที่ได้มาจากในเรือนจำ ซึ่งจะแตกต่างจากรอยสักที่เห็นได้ทั่วไปเนื่องจากอุปกรณ์และแบบพิมพ์ในการสักนั้นไม่เอื้ออำนวยเหมือนอย่างข้างนอกเรือนจำ และวัฒนธรรมของเหล่านักโทษในรูปแบบดังกล่าวนี้ก็ไม่ได้มีแค่ในไทย แต่ยังมีในอีกหลายประเทศ เช่น อเมริกา หรือรัสเซีย
หรือที่ประเทศญี่ปุ่น ก็มีค่านิยมเกี่ยวกับการสักที่เป็นไปในทางลบเช่นกัน โดยเหล่าคนถึงขั้นมองมันว่าเป็น “ตราบาป” หรือ “เครื่องหมายแห่งความน่าละอายเลยทีเดียว”
เพราะตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา รอยสักก็ถูกใช้เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของ “แก๊งอันธพาล” ซึ่งแต่ละแก๊งก็จะมีรอยสักที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งโดยรวมแล้วมันมีบทบาทสำคัญในการแสดงถึงเอกลักษณ์ของแก๊ง และแสดงถึงเจตจำนงค์ของผู้สักที่จะตัดขาดจากสังคมทั่วไป และหันหน้าเข้าสู่เส้นทางอาชญากรรม
ทั้งหมดนี้ก็พอจะสรุปได้ว่า เหตุผลที่ผู้คนบางกลุ่มยังมีอคติกับการสักนั้นก็เป็นเพราะว่าส่วนหนึ่งมันถูกนำไปใช้ในทางสีเทาๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับนักโทษ หรืออาชญากรรม และบทบาทในทางสีเทาๆ นี้เอง ที่กลายมาเป็นภาพจำของคนในสังคม และก่อให้เกิดอคติต่อการสักขึ้นมา
แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า บทบาทของรอยสักไม่ได้เป็นเหมือนก่อนอีกต่อไป ในยุคนี้การสักมีรูปแบบที่หลากหลาย เน้นความสวยงามและความเป็นศิลปะมากขึ้น จนกลายเป็นว่าผู้คนนิยมสักกันมากขึ้นไปโดยปริยาย ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างเต็มที่ก็ตาม
เรียกได้ว่าการสัก และคนที่มีรอยสักก็ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายอะไร แต่ส่วนหนึ่งกลับดูไม่ดีจากบทบาทที่ถูกสังคมหยิบยื่นมาให้นั่นเอง
เขียน : POLALOY
ภาพประกอบ : สมองไหล
โฆษณา