8 ก.พ. 2020 เวลา 03:52
JARS System : #1 แยกกระปุก...สร้างวินัยการเงิน
ทำงานมาหลายปีแต่ยังไม่มีเงินเก็บเท่าที่ควร ยังใช้เงินเดือนชนเดือน ถึงรายได้เพิ่มทุกปีก็ยังคงชักหน้าเกือบไม่ถึงหลัง เหตุผลเพราะขาดวินัยทางการเงิน
วินัยทางการเงิน เป็นสิ่งที่ต้องสร้างต้องฝึกด้วยตัวเอง วิธีสร้างวินัยการเงินอย่างง่ายๆ ที่หลายคนรู้จัก คือ JARS System ระบบกระปุกเงิน 6 ใบที่ช่วยให้มีการบริหารเงินอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น
JARS System เป็นวิธีบริหารรายได้วิธีหนึ่งที่ง่ายและมีประสิทธิภาพ คิดขึ้นโดย T Harv Eker นักคิดทางด้านการเงินการลงทุน เจ้าของหนังสือ Secrets of the Millionaire Mind ที่ใช้กระปุกหรือขวดโหลแทนสัญลักษณ์แทนเงินแต่ละส่วน
กระปุกหรือขวดโหลเหล่านี้คล้ายกับกระปุกออมสินที่ในวัยเด็กที่เราใช้หยอดเหรียญนั่นเอง แต่แทนที่จะใส่ไว้ในกระปุกออมสินใบเดียว ก็แยกกระปุกตามวัตถุประสงค์ของเงินที่จะใช้ในแต่ละเรื่อง ให้สะดวกในการบริหารและจัดการเงินแต่ละส่วนไม่ให้ปนกันจนแยกไม่ออกว่าควรจะใช้หรือเก็บอย่างไร เป็นการในหลักการง่ายๆ ในการสร้างวินัยทางการเงินที่เราไม่รู้สึกอึดอัด
กระปุกเงินทั้ง 6 ใบของ T Harv Eker
คนส่วนใหญ่มักจะใช้เงินแบบกระปุกรวมใบเดียวทั้ง ซื้อของ ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนมือถือ ลงทุน สังสรรค์ เที่ยว บางคนอาจแย้งว่าได้ทำการแยกบัญชีเงินออกเป็นหลายบัญชีแล้ว แต่ถ้ายังใช้เงินในแต่ละบัญชีปนๆ กันก็ยังคงเหมือนกระปุกเงินรวมนั่นเอง ทำให้ไม่มีเงินเหลืออย่างที่ควร ซึ่งก็เป็นลักษณะของคนที่ยังไม่มีวินัยทางการใช้จ่ายเงินนั่นเอง
ตามทฤษฎี JARS system จะแบ่งเงินรายได้ที่เราได้รับออกเป็น 6 กระปุก เพื่อใช้จ่ายและเลือกวิธีการออมตามหน้าที่ของกระปุกแต่ละใบ เพราะแต่ละกระปุกมีหน้าที่และวัตถุประสงค์ต่างกัน เราจึงกำหนดกฎการใช้เงินที่แตกต่างกันออกไปตามวัตถุประสงค์และระยะเวลาของแต่ละกระปุก โดยเราต้องคุมการใช้เงินให้อยู่ในกระปุกแต่ละใบแยกจากกัน และ ต้องไม่ไปกระทบกระปุกใบอื่นๆ
มาทำความเข้าใจกับกระปุกแต่ละใบกัน
กระปุกเงินใบแรก : Necessities หรือ ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวัน
กระปุกแรกนี้เป็นกระปุกหลักสำหรับใส่เงินที่ต้องใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพในแต่ละวัน เช่น ค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่ากิน ค่าที่พัก ค่าอินเตอร์เน็ต และสารพัดค่าใช้จ่ายรายเดือน
กระปุกเงินใบนี้ควรจะมีจำนวนเงินที่คงที่ในแต่ละเดือน เพิ่มลดได้บ้างในบางเดือนแต่ไม่มากนัก ใส่ให้มีจำนวนพอสำหรับใช้จ่ายต่อเดือนเท่านั้น ทำให้เรารู้ว่าเราใช้จ่ายสำหรับเรื่องพื้นฐานในแต่ละเดือนอย่างไร เมื่อเราแบ่งเงินไว้ชัดเจนก็จะทำให้เราไม่ไปดึงเงินจากกระปุกใบอื่นๆ มาใช้จนไม่เหลืออีกต่อไป
www.pexels.com
ถ้าให้เราใส่เงินในกระปุกนี้ เราทราบหรือเปล่าครับว่าเราจะต้องใส่เงินจำนวนเท่าไหร่ คนส่วนมากจะไม่ทราบว่าแต่ละเดือนเราใช้เงินไปกับการดำรงชีวิตอย่างไร ลองคำนวณดูแล้วมาดูกันว่าถึงสิ้นเดือนเราจะยังคงมีเงินพอดีใช้หรือเปล่า
กระปุกเงินใบที่สอง : Long Term Saving for Spending หรือ เก็บเป็นค่าใช้จ่ายในระยะยาว (ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายประจำเดือน) หรือเก็บเพื่อซื้อของราคาแพง
กระปุกเงินใบนี้เอาไว้เก็บออมเงินที่เป็นค่าใช้จ่ายที่เราจะต้องใช้ในอนาคต เพื่อซ่อมบำรุงทรัพย์สินหรือตัวเอง และรวมทั้งเงินที่ต้องเก็บเป็นสำรองฉุกเฉินต่างๆ บางคนอาจแบ่งเงินในกระปุกนี้แบ่งได้เป็น 2 ส่วนคือ
เงินส่วนแรก คือ เงินที่เอาไว้ใช้ซ่อมแซม ดูแลบำรุงรักษา เปลี่ยนแปลงปรับปรุงสิ่งต่างๆ ที่เมื่อใช้งานระยะยาวจะมีสภาพเสื่อมต้องดูแล เช่น ค่าซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของบ้าน งบประมาณปรับปรุงบ้านในอีก 5 ปี ค่าซ่อมรถยนต์ ค่ายางรถยนต์ ค่าแบตเตอรี่รถยนต์ ค่าซ่อมสิ่งของเครื่องใช้ที่ชำรุดเสียหาย และยังรวมถึงค่ารักษาพยาบาลตัวเราหากเกิดการเจ็บป่วยต่างๆ รวมทั้งค่าเบี้ยประกันต่างๆ ทั้งประกันรถ ประกันบ้าน ประกันสุขภาพ เป็นต้น
เงินส่วนนี้ยังรวมถึงเงินที่เราสะสมเอาไว้เพื่อซื้อสิ่งของที่ต้องเก็บเงินระยะยาวเพื่อซื้อ เช่น รถยนต์ พาหนะอื่นๆ โทรศัพท์มือถือ เพื่อให้เราสามารถกำหนงบประมาณละบริหารจัดการเป้าหมายการเงินที่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นเหล่านี้ได้
สำหรับคนที่มีครอบครัว และมีลูก เงินที่จะต้องออมเพื่อการศึกษาของลูกก็ควรจะอยู่ในกระปุกใบนี้เช่นกัน เพราะเป็นเงินทุนระยะยาวนั่นเอง
เงินส่วนที่สอง คือ เงินสำรองฉุกเฉินหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นในชีวิต เช่น ตกงานหรือไม่มีรายได้เข้ามาในช่วงเวลาหนึ่ง จำนวนเงินที่ควรจะมีเพื่อใช้จ่ายให้อยู่รอด คือ จำนวนเงินที่พอใช้สำหรับกระปุกใบแรกเป็นเวลา 3-6 เดือน
บางคนจะแยกเงินส่วนนี้ออกไปเป็นกระปุกอีกหนึ่งใบก็ได้ แต่สำหรับผมเห็นว่าไม่จำเป็นนัก เพราะเมื่อถึงเวลาหนึ่งเงินในส่วนแรกก็สามารถใช้เป็นเงินสำรองฉุกเฉินได้เช่นกัน เช่นหากเราไม่ต้องทำงานเราก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้รถยนต์อีกต่อไป เป็นต้น
เงินทั้งสองส่วนในกระปุกนี้ จะต้องไม่นำไปใช้ในกรณีอื่นๆ จนกว่าเกิดเหตุการณ์ที่เรากำหนดไว้เท่านั้น และเมื่อเราเก็บเงินก้อนได้เต็มตามจำนวนที่ต้องการแล้ว เราก็เพียงแต่ดูแลให้มีจำนวนเงินตามที่กำหนดไว้ และเลือกวิธีการจัดการหรือลงทุนให้เหมาะสม เมื่อเงินส่วนนี้มีเพิ่มขึ้นก็สามารถนำกลับไปแบ่งใส่กระปุกอื่นๆ ได้
กระปุกเงินใบที่ 3 : PLAY หรือรางวัลจากการทำงาน
กระปุกใบนี้ใช้เก็บเงินที่เอาไว้ใช้จ่ายเพื่อความสุขและสนองความต้องการตัวเอง เป็นการให้รางวัลกับตัวเองจากการหาเงิน หรือเมื่อบรรลุเป้าหมายที่เราตั้งไว้ ตัวอย่าง: เที่ยว, นัดสังสรรค์กับเพื่อน, เดทกับแฟน, ซื้อของที่อยากได้, ซื้อเกมส์
สำหรับคนที่ไม่มีวินัยการเงิน หรือเก็บเงินรวมๆ กัน เงินในส่วนของ Play นี้อาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เราไม่มีเงินเหลือเก็บ หรือเป็นสาเหตุของการมีค่าใช้จ่ายเกินตัว เมื่อเราเก็บเงินส่วนนี้แยกออกมาแล้ว เราก็ต้องบริหารจัดการค่าใช้จ่ายเหล่านี้ให้อยู่ในงบประมาณหรือเงินที่มีมีกระปุก และเมื่อเราแยกเงินส่วนนี้ออกมาแล้ว เราก็สามารถใช้เงินส่วนนี้ได้เต็มที่ ไม่ต้องเหลือไว้ก็ได้ครับ แต่ถ้าหมดแล้วก็ห้ามไปเอาเงินจากกระปุกอื่นมาใช้เพื่อเรื่องเหล่านี้
กระปุกเงินใบที่ 4 : Education หรือ การพัฒนาตนเอง
กระปุกสำหรับเก็บเงินที่ใช้จ่ายเพื่อ “พัฒนาตัวเองในด้านต่างๆ” เช่น ค่าเรียนภาษาต่างประเทศ ค่าเรียนเรื่องการเงินการลงทุน ค่าหนังสือตำรา องค์ความรู้ค่าช่วยให้สามารถสร้าง income ในทางใหม่ๆ หากเราไม่แยกกระปุกออกมาต่างหาก เชื่อว่าเราก็อาจไม่ได้คิดถึงการใช้เงินเพื่อพัฒนาตัวเราเอง โดยเฉพาะในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน การทำให้ตัวเรามีความสามารถเพิ่มขึ้น สามารถแข่งขันหรือเทียบกับคนอื่นๆ ที่มีอาชีพเหมือนกัน รวมทั้งการเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เราจึงควรกันเงินส่วนนี้ออกมาและใช้เพื่อพัฒนาตัวเราเองให้มีความรู้ความสามารถดีอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังรวมถึงการเรียนเพื่อสร้างอาชีพที่สองหรืออาชีพสำรอง เพื่อสร้างเงินได้เพิ่มหรือสำหรับใช้ประกอบอาชีพหากออกจากงานที่ทำในปัจจุบันด้วย
1
www.pexels.com
กระปุกใบที่ 5 : Financial Freedom หรือ เงินเพื่อสร้างอิสรภาพทางการเงิน
อิสรภาพทางการเงินควรเป็นเป้าหมายระยะยาวของเรา เพื่อเราจะไม่ต้องหาเงินด้วยการทำงานอีกต่อไป อาจเป็นเงินสำหรับใช้หลังเกษียณ หรืออาจเป็นเงินที่เราต้องการสำหรับเป้าหมายชีวิตที่เราอยากไปทำอะไรตามฝันก็ได้
เงินที่เก็บในกระปุกใบนี้ ต้องการจำนวนเงินก้อนใหญ่ เพราะการใช้ชีวิตโดยไม่มีรายได้จากการทำงาน แต่ยังคงมีรายจ่ายต่างๆ จึงต้องเตรียมเงินก้อนใหญ่ให้เพียงพอ โดยเฉพาะการที่คนเรามีอายุยืนยาวขึ้น และมีความไม่แน่นอนในการหารายได้จากการทำงานอีกต่อไป จึงเป็นเงินที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่กลับพบว่าคนส่วนมากละเลยที่จะให้ความสำคัญหรือเตรียมเงินส่วนนี้จนเมื่อถึงเวลาที่ขาดรายได้ จึงไม่มีเงินเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิต
เงินในกระปุกนี้นอกจากการเก็บการออมแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับการนำไปลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงย เงินในกระปุกนี้จึงไม่ควรปล่อยให้อยู่นิ่งๆ และก่อนที่จะได้เงินก้อนเต็มตามเป้าหมาย เราจะต้องไม่นำเงินนี้ออกมาใช้ในเรื่องต่างๆ นอกจากการนำเงินไปลงทุนเพื่อเพิ่มเงินในกระปุก
ตัวอย่างของการบริหารเงินในกระปุกนี้ ก็เช่น การลงทุนในหุ้น, ลงกองทุน LTF/RMF, กองทุนฯ หรือสินทรัพย์ทางเลือกต่างๆ , เปิดร้านขายของเพื่อสร้างกำไร ซื้อบ้านให้เช่น หรือการลงทุนอะไรก็แล้วแต่
ส่วนที่เราลงไปแล้วได้รับผลตอบแทนกลับมาเราจะนำไปลงทุนต่อ หรืออาจนำไปใช้ในแผนอื่นๆ ที่กำหนดไว้แล้วก็ได้ เงินและผลตอบแทนในกระปุกนี้ ก้คือเงินที่ใช้เป็น passive income ของเราเพื่ออิสรภาพทางการเงินนั่นเอง
กระปุกใบที่ 6 : GIVE หรือเงินเพื่อการกุศล
กระปุกเก็บเงินสำหรับใช้จ่ายเพื่อบริจาค การกุศล หรือเงินสำหรับทำบุญ หรืองานแต่งงาน เป็นต้น เพื่อสร้างความสุขใจในการเป็นผู้ให้ และร่วมสร้างให้สังคมที่เราอยู่เป็นสังคมที่มีน้ำใจต่อไป และเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสนั่นเอง
www.pexels.com
เมื่อแบ่งเงินออกเป็นหกกระปุก เราก็จะสามารถเห็นภาพของเงินที่มี เงินที่ใช้ได้ชัดเจน เราจะสามารถมีวินัยในการใช้เงินแต่ละเรื่องได้ดีขึ้น การนำ JARS system มาใช้บริหารจัดการเงินรายได้ จะใช้กระปุกเงินจริงๆ หรือใช้บัญชีเงินฝากต่างๆ ก็ได้ แทนที่เราจะให้เงินทั้งหมดอยู่ในบัญชีเงินเดือนหรือบัญชีเงินได้ เราก็จัดการโอนเงินแต่ละส่วนเข้าไปอยู่ในบัญชีอื่นที่กำหนดไว้ และบัญชีเหล่านั้น ก็อาจไม่ต้องมีบัตรเอทีเอ็มหรือโมบายแบงค์กิ้งที่เราจะถอนมาได้อย่างสะดวกจนเสียวินัยก็ได้เช่นกัน
ในบรรดากระปุกทั้ง 6 ใบ มีกระปุก 2 ใบที่มีระยะเวลายาว และมีจำนวนเงินที่ต้องการเป็นเงินก้อนขนาดใหญ่ คือ กระปุกใบที่สอง Long Term Saving for Spending และ กระปุกใบที่ 5 Financial Freedom กระปุกสองใบนี้จึงต้องบริหารจัดการการออมและการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อให้มีโอกาสบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่กระปุกใบที่เหลือเป็นกระปุกที่มีระยะเวลาใช้เงินสั้น ๆ บางกระปุกอาจเน้นเรื่องสภาพคล่องมากกว่าการลงทุน
ความเห็นส่วนตัว :
การแบ่งสัดส่วนของเงินในแต่ละกระปุกจะเป็นอย่างไรนั้น T Harv Eker ก็ได้เขียนไว้เป็นแนวทางเบื้องต้น ดังนี้
กระปุกใบที่หนึ่ง Necessities 55% ของเงินรายได้
กระปุกใบที่สอง Long Term Saving for Spending 10% ของเงินรายได้
กระปุกใบที่สาม Play 10% ของเงินรายได้
กระปุกใบที่สี่ Education 10% ของเงินรายได้
กระปุกใบที่ห้า Financial Freedom 10% ของเงินรายได้
กระปุกใบที่หก Give 5% ของเงินรายได้
แต่ในความเห็นส่วนตัว สัดส่วนเหล่านี้ควรจะปรับให้เหมาะสมกับแต่ละคน ไม่จำเป็นต้องอิงกับสัดส่วนนี้ เนื่องจากเป็นการกำหนดแนวทางโดยอิงมาตราฐานการครองชีพและการใช้ชีวิตของคนอเมริกัน ซึ่งอาจมีระบบความช่วยเหลือจากรัฐอยู่ค่อนข้างสูง ถ้าเป็นไปได้ในตอนต่อไปอาจจะลองเปรียบเทียบกับสภาพเศรษฐกิจและโครงสร้างรายได้ของบ้านเราเพื่อดูแนวทางที่แต่ละคนควรใช้ครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา