14 ก.พ. 2020 เวลา 08:32
JARS System : #2 มองพฤติกรรมการใช้เงินของเราผ่านกระปุกทั้ง 6ใบ
2
หลักการของ JARS System คือการแยกเงินออกเป็นส่วนๆ ตามลำดับความสำคัญของการใช้เงิน และระยะเวลาของการเก็บการใช้เงินส่วนนั้น ๆ ความจริงก็เป็นหลักการพื้นฐานของการวางแผนทางการเงินนั่นเอง เพียงแต่ทำให้ง่ายและเข้ากับเรื่องพื้นฐานที่เราคุ้นเคย
การแยกเงินออกจากกันเป็นส่วน ๆ มีข้อดีเมื่อเทียบกับการเก็บเงินไว้เป็นก้อนรวมกันและเราก็หยิบใช้ไปกับทุกเรื่องจนไม่รู้ว่าเงินหมดไปกับค่าใช้จ่ายอะไร ซึ่งเป็นเรื่องของวินัยทางการเงิน และการกำหนดกลยุทธการนำเงินไปลงทุนนั่นเอง
จากบทความตอนที่ 1 ปิดท้ายด้วยความเห็นส่วนตัวของผมที่ว่า สัดส่วนที่ T Harv Eker เขียนเป็นแนวทางนั้น เราอาจไม่จำเป็นต้องอิงกับสัดส่วนนั้น เนื่องจากอิงตามมาตราฐานการครองชีพและการใช้ชีวิตในอเมริกาเหนือที่ T Harv Eker อยู่ โดยเราควรจะอิงตามสภาพเศรษฐกิจ และ โครงสร้างรายได้ของบ้านเรา และก็ต้องขอบคุณความเห็นจากสมาชิกที่ให้ความเห็นมาในทำนองคล้ายๆ กันมาด้วยครับ
เรามาสังเกตรูปแบบหรือพฤติกรรมการใช้เงินของเรากันครับ
ทบทวนสั้นๆ JARS System แบ่งกระปุกเงินออกเป็น 6 ใบ ตามภาพนะครับ
ดูจากการเรียงลำดับของกระปุก จะเห็นได้ว่าเป็นการจัดเรียงตามลำดับจากความจำเป็นพื้นฐานเพื่อการใช้ชีวิต ในกระปุกใบที่ 1 (NECESSITIES) ไปจนถึงการคืนสู่สังคม ในกระปุกใบที่ 6 (GIVE)
ในความเป็นจริงกระปุกเงินทั้งหมดนี้ทำหน้าที่เพียงช่วยให้เราแบ่งเงินออกเป็นส่วนๆ เพื่อแยกการใช้และการบริหารเงิน เพื่อไม่ให้เราใช้เงินปนเปกันไปจนหมดโดยไม่รู้ตัวว่าเราใช้เงินไปกับอะไรบ้าง คนส่วนใหญ่นั้นจะรู้ว่าตัวเองมีรายได้เท่าไหร่ แต่มักไม่รู้ว่าตนมีรายจ่ายเท่าไหร่ กระปุกเงินจึงไม่ได้บอกว่าเราจะต้องใส่เงินในกระปุกแต่ละใบเท่าไหร่ ดังนั้นเราต้องหาจำนวนและสัดส่วนค่าใช้จ่ายของเราเพื่อแบ่งเงินให้กระปุกแต่ละใบ
การวางแผนชีวิตจึงต้องใช้ความรู้ความเข้าใจด้านต่างๆ มาประกอบกัน โดยเฉพาะความเข้าใจเรื่องความต้องการเทียมที่ถูกขับเคลื่อนจากสังคมบริโภคนิยม ช่วงอายุ และเป้าหมายของแต่ละคน
สังคมบริโภคนิยมทำให้มีการบริโภคมากเกินความจำเป็น ราคาของแพงขึ้นมาก ค่านิยมต่างๆ ทำให้เกิดความคิด ของมันต้องมี โทรศัพท์มือถือกลายเป็นปัจจัยที่ 5 และต้องเป็นรุ่นใหม่ตามเทรนด์เพื่อให้มีเหมือนคนอื่น ๆ กระแสบริโภคนิยมทำให้เราเลือกใช้เงินมากกว่าการออมเงิน
ผมเคยนึกถึงตัวเองว่าสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ผมใช้เงินเดือนละเท่าไหร่ ใช้ของอะไร เทียบกับจำนวนเงินที่ใช้หลังจากทำงานไปได้ 1 ปี 5 ปี ก็เห็นได้ว่าเมื่อเราหาเงินได้เองเราใช้เงินมากขึ้นมาก คนรอบ ๆ ตัวก็มีพฤติกรรมคล้ายกัน คงเพราะเรารู้สึกว่าเรามีเงินใช้มากขึ้น เราก็เลยใช้เงินมากขึ้นตามความรู้สึกอยากของเรา รวมทั้งการถูกกระตุ้นจากสื่อต่างๆ แม้แต่แคมเปญของภาครัฐที่กระตุ้นการบริโภคตามหลักการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปัจจุบัน
Maslow’s Hierachy of Needs กับการสร้างความอยากของเราให้เพิ่มขึ้น
ในทางการตลาดและทางธุรกิจได้นำพื้นฐานแนวคิดของ Maslow’s Hierachy of Needs หรือ ลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ มาใช้เพื่อเสนอให้ลูกค้าซื้อสินค้า/บริการที่ใช้สนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น เพราะหากสินค้ามีหน้าที่เพียงตอบสนองความต้องการพื้นฐาน สินค้านั้นก็แทบจะไม่มีความแตกต่างสำหรับลูกค้า ราคาสินค้าก็จะใกล้เคียงกันและธุรกิจจะไม่สามารถทำกำไรได้มากนัก และนี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการเพิ่มการใช้จ่ายของเรา
กลยุทธทางธุรกิจและการตลาดในปัจจุบัน จึงใช้เรื่อง Hierarchy นี้เพื่อ”ต่อยอด”ให้สินค้าของตนมีหน้าที่เพิ่มขึ้นจากการตอบสนองความต้องการพื้นฐาน (Basic Needs) โดยจะสร้างให้ลูกค้ามีความต้องการในขั้นที่สูงขึ้นเพื่อให้สินค้าสามารถเพิ่มการตอบสนองความต้องการที่เกิดจากอารมณ์และความปรารถนาในขั้นของ Belonging and Esteem ด้วย ทำให้สินค้าเกิดความแตกต่าง สามารถเพิ่มราคาขายให้สูงขึ้นมาก และมีอายุการใช้งานที่สั้นลง(ตามความอยากได้ของชิ้นใหม่ที่ตอบความต้องการเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ)
เมื่อเราอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบบริโภคนิยมที่ถูกขับเคลื่อนด้วยการสร้างความต้องการที่สูงขึ้น และยินดีจ่ายเงินบ่อยขึ้น แพงขึ้น จึ่งเป็นสาเหตุของการมีค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นและก่อผลกระทบกับเงินส่วนที่ต้องแบ่งให้กับกระปุกเงินแต่ละใบ
เราลองยกตัวอย่างสมมุติให้เห็นภาพสัดส่วนการใช้เงินของเราผ่านกระปุกเงินทั้ง 6 ใบ กันครับ
ตัวอย่างแรก
นาย ก อายุ 25 ปี รายได้ 20,000 บาทต่อเดือน
นาย ก มีรายจ่ายพื้นฐานรวม ๆ กัน ปีละ 59% ของรายได้ และมีรายจ่ายอื่นๆ รวมกัน 17.5% ของรายได้ เมื่อหักค่าใช้จ่ายทั้งสองก้อนจะมีเงินเหลือ 47,500 บาท หรือประมาณ 20% ของรายได้ นาย ก เลือกจะใช้เงิน 27,500 บาท เพื่อซื้อของใช้ส่วนตัวให้ตัวเอง และเก็บเงินส่วนที่เหลือ 27,500 บาทเป็นเงินออม ซึ่งนาย ก มีการจ่ายประกันสังคมทุกเดือนด้วย สัดส่วนการแบ่งเงินของนาย ก เป็นตามภาพข้างล่าง
2
ตัวอย่างที่สอง
นาย ค อายุ 40 ปี รายได้ 40,000 บาทต่อเดือน
นาย ค เปรียบเหมือนนาย ก ที่ได้รับเงินเดือนเพิ่มปีละ 4-5% นาย ค มีภาษีเงินได้ปีละ 8,600 บาท ด้วยเงินเดือนที่สูงขึ้นตามอายุงาน นาย ข จึงใช้ชีวิตในมาตราฐานที่สูงขึ้นในแต่ละด้าน ทั้งค่าอาหาร ที่พัก และค่าใช้จ่ายส่วนตัวต่างๆ ทำให้มีรายจ่ายพื้นฐาน รวมปีละ 63% ของรายได้รวม และมีรายจ่ายอื่นๆ รวมกัน 20% ของรายได้ เมื่อหักค่าใข้จ่ายทั้งสองก้อนจะมีเงินเหลือ 62,950 บาท ซึ่งนาย ค มีความรู้สึกว่าตัวเองมีการออมเงินเพิ่มขึ้นกว่าเดิมแล้ว นาย ค เลือกใช้เงิน 31,475 บาท เพื่อซื้อของใช้ส่วนตัวให้ตัวเอง และเก็บเงินส่วนที่เหลือ 31,475 บาทเป็นเงินออม จะเห็นได้ว่าเมื่อนาย ค ได้รับการตอบสนองความต้องการพื้นฐานแล้ว นาย ค เลือกที่จะตอบสนองความต้องการในขั้นที่สูงขึ้นคือ Social Belonging (การเป็นส่วนหนึ่งของสังคม), Esteem (การได้รับการเคารพ) ทำให้นาย ค ใช้เงินมากขึ้นกว่าการเพิ่มของรายได้ ดังนั้นเมื่อจัดสรรเงินใส่กระปุกแต่ละใบจะเห็นได้ว่าแม้นาย ค จัดสรรเงินใส่กระปุกใบที่ 5 มากขึ้นแต่กลับเป็นไปในสัดส่วนที่ลดน้อยลง. การมีรายได้มากขึ้นจึงไม่ได้หมายถึงการออมมาขึ้น. นาย ค เปรียบเป็นตัวแทนของพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนกลุ่ม Henry ที่รายได้สูง กินหรู ใช้ชีวิตหรู
เปรียบเทียบกับตัวอย่างที่ 3 นาย ข ที่มีรายได้เหมือนนาย ค
แต่นาย ข เลือกที่จะลดการตอบสนองความต้องการลงโดยใช้เงินในส่วนรายจ่ายพื้นฐาน เพิ่มขึ้นตามสมควร เป็นสัดส่วน 52.0% ของรายได้ และปรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ เป็นสัดส่วน 15% ของรายได้ นาย ข จะมีเงินคงเหลือ 140,950 บาท หรือเท่ากับ 29.4% ของรายได้ นาย ข จึงมีการออมเพิ่มขึ้นทั้งในรูปตัวเงิน และสัดส่วนของการออมต่อรายได้
กระปุกใบที่สำคัญสำหรับอนาคตคือกระปุกใบที่ 2 Long Term Funds for Spending (อนาคตระยะกลาง) และ กระปุกใบที่ 5 Financial Freedom (อนาคตระยะยาว) หากเราใช้ชีวิตตามความต้องการ จะพบว่ากระปุกสองใบนี้มีสัดส่วนเงินต่อรายได้ที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จึงควรให้ความสำคัญกับกระปุก 2 ใบนี้เป็นพิเศษ โดยการปรับลด % ของกระปุกใบแรกลง หรือลดเป้าหมายในกระปุกใบที่2 ลงด้วยเมื่อเรามีรายได้ที่เพิ่มขึ้นในระยะยาว การเพิ่มเงินที่ประหยัดได้ไปใส่ในกระปุกที่มีความสำคัญนี้ เป็นการสร้างวินัยทางการเงิน และหากทั้งนาย ข และ นาย ค มีพอร์ตการลงทุนระยะยาวเหมือนกันนาย ข จะก้าวสู่อิสรภาพทางการเงินในอนาคตได้เร็วกว่านาย ค
ลองนำรายได้และรายจ่ายของเรามาแบ่งใส่กระปุกดูครับว่าเรามีสัดส่วนเงินในกระปุกคล้ายกับ นาย ก นาย ข หรือ นาย ค หรือเรามีสัดส่วนที่แตกต่างออกไปอย่างไร. หวังว่าจะทำให้เห็นพฤติกรรมการใช้จ่ายของเราที่จะสะท้อนถึงอนาคตในวันข้างหน้าครับ
ตัวอย่างทั้งสามตัวอย่างอาจไม่สะท้อนคนทุกคนแต่ก็เป็นลักษณะที่พบได้ทั่วไป และนำมาเพื่อเป็นตัวอย่างแบบง่ายๆเท่านั้นครับ เราอาจมีข้อมูลที่แตกต่างออกไป และการแบ่งเงินในบางกระปุกไม่ได้นำมาใช้ในตัวอย่างเพื่อให้ง่ายในการเปรียบเทียบ. หวังว่าจะมีประโยชน์บ้างนะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา