13 ก.พ. 2020 เวลา 06:33 • ความคิดเห็น
ศีล 5 ว่าไงนะ?
จากเหตุการณ์รุนแรงหลายเรื่องที่ผ่านมาทำให้เห็นได้ว่า เรากำลังอยู่ในยุคที่ผู้คนมีแต่ความแตกแยกเกลียดชัง ขาดศีลธรรมประจำใจ เมื่อเกิดปัญหาจึงขาดปัญญาในการแก้ไข
"ปัญญา" จะทำให้เรารู้ว่าสิ่งไหนควรทำหรือไม่ควรทำ รู้ว่าอะไรเป็นบุญหรือบาป ปัญญาจะทำให้เราละสิ่งที่เป็นบาป และเลือกหนทางที่นำไปสู่ความสุขความเจริญ
พุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า สีลํ รกฺเขยฺย เมธาวี (สีลังรักเขยยะเมทาวี) มีความหมายว่า "ผู้มีปัญญาพึงรักษาศีล"
สำหรับชาวพุทธเราอาจเคยรู้จัก ศีล 5 กันแล้ว บางคนอาจท่องได้ แต่น้อยคนนักที่จะเข้าใจความหมายและปฏิบัติได้อย่างแท้จริง
cr : ภาพถ่ายน้องกร วัดป่ามณีกาญจน์
ท่าน ติช นัท ฮันห์ นักบวชในพุทธศาสนาชาวเวียดนาม ได้พูดถึงศีล 5 ไว้ว่า...
สตินั้นก่อให้เกิดปัญญา แต่การที่เราจะมีสติได้นั้นเราต้องฝึกการมีสติให้ได้เป็นประจำเสียก่อน ซึ่งการฝึกรักษาศีล 5 ก็เป็นการฝึกสติชนิดหนึ่ง
ถ้าเรารักษาศีล 5 ได้จะทำให้เรามีความคิดเห็นที่ถูกต้อง ขจัดความเชื่อที่เห็นผิด ขจัดความโกรธ ความกลัว และความสิ้นหวัง เมื่อรักษาศีลให้ดีให้เคร่งครัดแล้ว ศีล 5 จะเป็นเกราะป้องกันเราจากสิ่งไม่ดี
ศีล 5 ว่าไงนะ?
ขึ้นชื่อว่าศีล 5 แน่นอนอยู่แล้วว่าต้องมี 5 ข้อแน่ ๆ ถ้ายังจำกันได้
1. เว้นจากการฆ่าสัตว์
2. เว้นจากการลักทรัพย์
3. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
4. เว้นจากพูดเท็จ
5. เว้นจากการดื่มสุรา
นี่คือสิ่งที่เราท่องจำกันมา แต่ยังปฏิบัติได้ไม่ครบ นั่นอาจเป็นเพราะยังไม่เห็นความสำคัญและยังไม่เข้าใจหลักการที่แท้จริง
ท่าน ติช นัท ฮันห์
ท่าน ติช นัท ฮันห์ ได้อธิบายการฝึกปฏิบัติเพื่อรักษาศีลทั้ง 5 ข้อนี้ไว้ในหนังสือ "กลัว หัวใจของปัญญาญาณเพื่อผ่านพ้นพายุ" ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า...
ศีลข้อ 1 ที่สอนให้เราเว้นจากการฆ่าสัตว์นั้น เป็นศีลเพื่อการปกป้องชีวิต...
การจะฝึกรักษาศีลข้อนี้เราต้องตระหนักรู้ถึงความทุกข์ความรุนแรงของการทำลายชีวิต เพื่อหล่อเลี้ยงความเมตตากรุณาให้เกิดขึ้นในจิตใจของเรา
การก่อความรุนแรงทั้งหลายล้วนมีสาเหตุมาจากความโกรธ ความกลัว ความอยาก ความคับแค้น และความเชื่ออย่างงมงาย ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการแบ่งแยกและความเกลียดชัง
วิธีการที่เราจะฝึกจิตให้มีความเมตตากรุณานั้น เราต้องมีทัศนคติที่ไม่ยึดติดกับความเห็นใดความเห็นหนึ่ง ทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่ง หรือระบบความคิดแบบใดแบบหนึ่ง เมื่อเราทำได้จิตใจเราจะเปิดกว้างไร้การแบ่งแยกไร้ความเกลียดชัง ซึ่งจะทำให้เราไม่ทำร้ายหรือเบียดเบียนชีวิตทั้งของตนเองและผู้อื่น
ศีล ข้อ 2 ที่สอนให้เว้นจากการลักทรัพย์นั้น เป็นหลักปฏิบัติเพื่อความสุขอันแท้จริง...
เราต้องฝึกมองอย่างลึกซึ้งเพื่อเห็นความสุขและความทุกข์ของผู้อื่นว่ามีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับความสุขและความทุกข์ของเรา ความสุขที่แท้จริงจะมีไม่ได้ถ้าปราศจากความรักและความเข้าใจซึ่งกันและกัน
หลักปฏิบัติสำหรับศีลข้อนี้คือ เราควรตระหนักรู้ถึงความทุกข์จากการหาผลประโยชน์ส่วนตัว การลักขโมย การกดขี่ข่มเหง การสร้างความอยุติธรรมในสังคม
เมื่อเราเข้าใจความทุกข์ที่เกิดจากการกระทำเหล่านี้ เราก็จะประกอบอาชีพต่าง ๆ ด้วยความสุจริตชอบธรรม นอกจากเป็นการไม่ก่อเวรแล้วยังจะช่วยบรรเทาความทุกข์ของผู้อื่นได้อีกด้วย
และการหาความสุขโดยมุ่งแสวงหาอำนาจ ชื่อเสียง ความร่ำรวย และกามารมณ์ ที่สุดแล้วจะนำไปสู่ความทุกข์และความสิ้นหวังให้กับตัวเองได้เช่นกัน
ความสุขที่แท้จริงนั้นไม่ได้เกิดจากภายนอก แต่เกิดจากภายในจิตใจของเรานี่เอง ถ้าเราดำเนินชีวิตตามความพอดีลดความอยากได้อยากมี ชีวิตของเราก็จะมีความสุข ทั้งนี้เราต้องเข้าใจให้ได้ก่อนว่าความสุขที่แท้จริงคืออะไร เราจึงจะฝึกใจให้ยอมรับได้
ศีล ข้อ 3 ที่สอนให้เว้นจากการประพฤติผิดในกามนั้น หลักปฏิบัติสำหรับศีลข้อนี้คือให้เราเข้าใจความรักที่แท้จริง...
เราต้องตระหนักรู้ถึงความทุกข์จากการประพฤติผิดในกาม และเข้าใจว่าการมีเพศสัมพันธ์และความรักนั้นเป็นสิ่งที่แตกต่างกัน
โดยเฉพาะการมีความสัมพันธ์ทางเพศที่ประกอบด้วยความใคร่นั้นจะนำความทุกข์และความร้าวฉานมาสู่ตนเองและผู้อื่น
ที่สำคัญคือเราต้องเรียนรู้ที่จะดูแลความต้องการทางเพศอย่างเหมาะสมเพื่อความสุขที่แท้จริง นั่นคือความสุขจากความดีงามของจิตใจที่ได้รับการขัดเกลาแล้ว
ศีล ข้อที่ 4 ที่สอนให้เว้นจากพูดเท็จนั้น แท้จริงแล้วยังมีอะไรที่มากกว่านั้น...
หลักธรรมข้อนี้นอกจากการพูดแต่ความจริงแล้ว เรายังต้องรู้จักกาลเทศะหรือโอกาสอันควรด้วย เรื่องจริงบางเรื่องที่พูดแล้วไม่เกิดประโยชน์ หรือพูดแล้วทำให้เกิดความแตกแยกเกลียดชังเราก็ไม่ควรพูด
รวมถึงไม่ควรกระพือข่าวที่ตัวเองไม่รู้แน่ชัด หรือเชื่อด้วยทัศนคติส่วนตัว อันก่อให้เกิดความแตกแยกความเกลียดชัง
เพราะเมื่อความแตกแยกเกลียดชังถูกสั่งสมและกระจายออกไปสู่คนหมู่มากจะมีอำนาจทำลายล้างอย่างน่ากลัว
ที่สำคัญคือเราไม่ควรพูดอะไรออกไปในขณะที่ยังมีความโกรธ เพราะความโกรธเป็นรากฐานของความเห็นผิด ขณะโกรธเราอาจพูดสิ่งที่ไม่ดีไม่งามและทำให้เรื่องราวลุกลามใหญ่โตได้
เราต้องตระหนักรู้ถึงความทุกข์จากการกล่าวถ้อยคำที่ไม่ยั้งคิดนี้ ซึ่งการที่จะทำเช่นนั้นได้เราต้องมีความสามารถในการรับฟังอย่างลึกซึ้ง เพื่อเข้าใจถึงปัญหาและหยิบยื่นความเมตตากรุณาเพื่อแบ่งเบาความทุกข์ให้ผู้อื่น
ศีลข้อ 5 ไม่ใช่แค่การเว้นจากการดื่มสุรา แต่รวมถึงการบริโภคที่ขาดสติ...
ท่านติช นัท ฮันห์ สอนให้เรามองอย่างลึกซึ้งว่าอาหารนั้นแท้จริงมีอยู่ 4 ประเภท คือ
อาหารที่รับผ่านทางปาก
อาหารทางประสาทสัมผัส
อาหารทางความปรารถ
และอาหารทางวิญญาณ
เพื่อให้เราหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นพิษทั้งหลาย
ไม่ว่าจะเป็น การพนัน สารเสพติด รวมถึงการบริโภคข่าวสารจากแหล่งต่าง ๆ อย่างเท่าทันและมีสติ
เราไม่ควรปล่อยให้ความเศร้าเสียใจดึงเราไปจมอยู่ในอดีต ไม่ปล่อยให้ความกังวล ความกลัว ความอยาก ดึงให้เราหลงไปในโลกอนาคต และไม่ควรบริโภคเพื่อกลบเกลื่อนความทุกข์ ความเหงา และความกังวล
เราควรหัดเรียนรู้วิธีบริโภคอาหารทั้งสี่ในหนทางที่จะรักษาความสงบสุขในกายในใจของตนเอง ของสังคม และโลกของเรา
ท่านพุทธทาสเคยกล่าวไว้ว่า "เมื่อศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ"
แล้ว ศีลธรรม คืออะไร อยู่ที่ไหน ใครจะเป็นคนไปตามให้ศีลธรรมกลับคืนมา
ความหมายตามพจนานุกรม "ศีล" คือ ข้อปฏิบัติ ที่ทำให้มนุษย์เป็นบุคคลผู้สมบูรณ์ไปด้วยคุณงามความดี มีความบริสุทธิ์ทั้งกายและใจ
ส่วน "ธรรม" ในพจนานุกรมฉบับ อ.เปลื้อง ณ นคร ให้ความหมายไว้ว่า คือ คุณความดี
รวมแล้วคำว่า ศีลธรรมจึงหมายถึง ความประพฤติที่ดีที่ชอบ
ดังนั้นศีลธรรมจึงไม่ได้อยู่ที่ไหนไกล ไม่ต้องไปตามหา เพราะศีลธรรมอยู่ในความคิดและการกระทำของเราทุกคน
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะช่วยกันดึงศีลธรรมให้กลับคืนมา หรือจะปล่อยให้โลกวุ่นวายกว่านี้...?
กลับมาเถิด ศีลธรรม กลับมาเถิด
ความเลวร้าย ลามเตลิด จวนหมดหวัง
รีบกลับมา ทันเวลา พาพลัง
มายับยั้ง โลกไว้ ให้ทันกาลฯ
(จากบทกวีของท่าน พุทธทาส ภิกขุ)
อยากให้ศีลธรรมกลับมาทำได้ง่าย ๆ ด้วยการฝึกรักษาศีล 5 ให้ได้เป็นอันดับแรกนะคะ...
ศีล 5 ว่าไงนะ?
เรียบเรียงโดย...pordee
ถ้าชอบบทความหรือเห็นว่ามีประโยชน์
ฝากกดไลค์❤️ กดเแชร์💞 กดติดตาม📌
เป็นกำลังใจให้แอดมินด้วยนะคะ
โฆษณา