20 ก.พ. 2020 เวลา 02:49 • ปรัชญา
ทำไมเราจึงมักหลงเชื่อข่าวปลอม กับนิทานเรื่อง ‘มนุษย์ในถ้ำ’
...
เครดิตภาพประกอบ : https://www.cavelodge.com/
ปัจจุบันข้อมูลบนโลกถูกเชื่อมต่อกันด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘โซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network)’ หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตคนหนึ่งสามารถเชื่อมโยงกับเพื่อนอีกนับสิบ รวมไปถึงเพื่อนของเพื่อนอีกนับร้อยผ่านเครือข่ายนี้ได้
...
และสิ่งที่สำคัญที่ของโซเชียลเน็ตเวิร์กคือ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วและฉับไว
...
แม้ดูแล้วเหมือนมันจะให้ประโยชน์กับพวกเรามากมาย แต่ทุกอย่างบนโลกเปรียบเสมือนเหรียญ 2 ด้าน เมื่อมีด้านดีก็ย่อมมีด้านลบแฝงอยู่ด้วยเช่นกัน หากมันถูกนำไปใช้อย่างไม่ถูกที่ถูกทาง
...
เมื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ก คือการเชื่อมต่อข้อมูลที่รวดเร็วแล้ว แต่สุดท้ายแล้วโซเชียลเน็ตเวิร์กมันก็คือโลกเสมือนจริงอีกโลกหนึ่ง ที่ผู้คนที่อยู่ในนั้นจะสามารถเป็นใครก็ได้ (แอคเคาท์อวตาร) ข้อมูลที่ปรากฏบนโลกโซเชียลจึงแฝงไปด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘ข่าวปลอม (Fake News)’ ปะปนเข้ามาด้วยเช่นกัน
...
และทุกวันนี้มันเริ่มแพร่กระจายขยายตัวได้น่ากลัวยิ่งกว่า ‘ไวรัสโควิด-19 หรือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่’ เสียอีก
...
ทั้งๆ ที่มีข่าวหรือการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ระวังข่าวปลอมแทบจะทุกครั้งเวลาที่มีข่าวใหญ่ๆ เกิดขึ้น แต่คำถามคือ ‘ทำไมข่าวปลอมจึงยังมียอดแชร์หรือคนหลงเชื่อเยอะแบบแทบไม่ลดลงเลย?’
...
หรือบางทีมันอาจเป็นเหมือนนิทานเรื่อง ‘มนุษย์ในถ้ำ’ ซึ่งเป็นการบอกเล่าแนวคิดของนักปรัชญาชาวกรีกโบราณที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อแนวคิดตะวันตก เขาเป็นลูกศิษย์ของโสเครตีส และเป็นอาจารย์ของอริสโตเติล เขาชื่อ ‘เพลโต (Plato)’
...
รูปปั้น ‘เพลโต (Plato)’ : เครดิตภาพ https://wol.jw.org/th/wol/d/r113/lp-si/102013048
“ณ ถ้ำแห่งหนึ่งในจินตนาการของเพลโต มีคนกลุ่มหนึ่งถูกล่ามไว้ด้วยโซ่และถูกบังคับให้หันเข้าหาผนัง เบื้องหน้ามีภาพกระพริบของเงาของวัตถุที่ถูกชูส่องอยู่หน้ากองไฟเบื้องหลังของพวกเขา
...
เครดิตภาพ : https://en.wiktionary.org/wiki/gyve
พวกเขาเริ่มคาดเดากันว่าเงานั้นคืออะไรกันแน่ และเมื่อพวกเขาฟันธงกันแล้วว่าเงานั้นคือของของอย่างที่เขาคิดแน่นอน พวกเขาก็เชื่อว่าเป็นแบบนั้นไปตลอดชีวิต เพราะพวกเขาเชื่อโดยสุจริตว่าเงาที่ปรากฏบนผนังนั้นคือโลกแห่งความเป็นจริง
...
จากนั้นมีชายคนหนึ่งก็หาทางเป็นอิสระจากโซ่ตรวนจนสำเร็จ เขาจึงรีบหันกลับไปดูกองไฟ ตาเขาพร่ามัวในตอนแรกแต่แล้วตาเขาก็ค่อยๆ คุ้นชิน และเขาก็เห็นว่าเขาอยู่ที่ไหน และตัวจริงของเงาที่ว่านั้นคืออะไร
...
เครดิตภาพ : https://www.flickr.com/photos/flickr/11990696506/sizes/l
เขาอยากรู้มากกว่านั้น จึงพาร่างตัวเองเดินโซซัดโซเซออกจากถ้ำ เขาเห็นตะวันสาดแสง เขาเห็นก้อนเมฆลอยคล้อยไปตามสายลม เขารู้ความจริงทุกอย่างเท่าที่เขาต้องการจะรู้แล้ว
...
เขาจึงรีบวิ่งกลับเข้าไปในถ้ำ เพื่อบอกเล่าสิ่งที่เขาพบและตัวตนที่แท้จริงของเงา เพราะเงาที่ปรากฏนั้นคือภาพมายาไม่ใช่ความจริง ปรากฏว่าผู้คนที่เหลือล้วนแต่ไม่เชื่อในสิ่งที่เขาพูดเลยสักนิด แต่ยังคงจ้องเงาที่ผ่านทาบผนังนั้น และพึงพอใจกับการคาดเดาของตัวเองต่อไป”
...
ดังนั้น หากเราปุจฉากับเพลโตว่า “ทำไมคนเราจึงมักหลงเชื่อข่าวปลอมกัน?”
...
เพลโตก็จะวิสัชนากลับมาว่า “ก็เพราะพวกเขาพอใจกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าแล้วยังไงล่ะ”
...
เพราะนิทานเรื่องมนุษย์ในถ้ำ มีพื้นฐานความคิดที่ว่า ‘โลกนี้อาจไม่ได้เป็นดั่งที่ปรากฏแม้แต่น้อย ความจริงกับสิ่งที่เห็นอาจแตกต่างกันอย่างยิ่งยวด’
...
แล้วมีปัจจัยอะไรบ้างล่ะที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้น เกิดความรู้สึกพึงพอใจกับข่าวสารที่อยู่ตรงหน้าแล้ว?
...
ผมจะขอพาทุกท่านออกมาจากโลกแห่งปรัชญา และนำทุกท่านไปสู่โลกจิตวิทยาเพื่อมาหาคำตอบข้างต้นกันครับ
...
นักเขียนหนังสือ และนักวิจารณ์ภาพยนตร์เจ้าของนามปากกา ‘ผมอยู่ข้างหลังคุณ’ ได้เขียนเรื่องความลำเอียงในหนังสือ ‘โลกหมุนรอบกลัว’ ได้อย่างน่าสนใจ
...
หนึ่งในหนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมเริ่มอยากสร้าง Signature ให้กับเพจตัวเอง
ซึ่งผมขอยกความลำเอียง 2 ประเภทมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้
...
1. ความเอนเอียงเพื่อยืนยันความคิดของตน (Confirmation bias) คือการที่เราให้ความสำคัญกับเฉพาะข้อมูลหรือหลักฐานที่สนับสนุนความเชื่อของตัวเองเท่านั้น และจะไม่สนใจข้อมูลหรือหลักฐานอื่นที่มาหักล้างความเชื่อของตัวเอง
...
1
ตัวอย่างเช่น ชายผู้เป็นอิสระจากโซ่ตรวนได้เห็นแล้วว่าตัวจริงของเงานั้นคืออะไร เขาหันกลับไปบอกชายอีกคนที่ยังคงมองเงาบนผนังว่า “จริงๆ แล้วเงานั้นคือ ดอกไม้”
...
แต่ชายคนนั้นกล่าวกลับบอกว่า “ข้าไม่เชื่อเจ้าหรอก ดูเงานั้นสิยังไงข้าก็คิดว่ามันคือ แจกัน”
...
"ใช่! ข้าก็คิดว่ามันคือแจกัน" ชายหัวล้านผู้เฝ้ามองเงาอีกคนพูดแทรกขึ้นมา
...
"เห็นไหม" ชายผู้มองเงาบนผนังรีบรับลูก "ใครๆ ก็เห็นว่ามันคือแจกันกันทั้งนั้น ข้าไม่รู้หรอกนะว่าเจ้าไปเลอะเลือนหลงคิดว่ามันคือดอกไม้ได้อย่างไร"
...
หากยกกรณีที่ไม่ไกลตัวเรามากนัก ผมก็ขอยกตัวอย่างเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น ข่าวบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เมื่อปีที่แล้วมาเล่าสู่กันฟังครับ
...
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ชาวบ้านตำบลด่านช้าง อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ได้พบว่าบริเวณใต้ต้นมะม่วงที่ปลูกอยู่ในสวนข้างบ้านได้มีน้ำผุดออกมาคล้ายตาน้ำ (คือทางน้ำเล็กๆ ที่อยู่ใต้ดิน มีน้ำไหลตลอดไม่ขาดสาย) และเชื่อว่ามันเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์
...
ชาวบ้านจึงไปสอบถามหมอดูและได้ความว่า “เป็นเพราะพญานาคมาขอใช้สถานที่ในการคายน้ำออกจากถ้ำใต้ดิน” ชาวบ้านเชื่อโดยสนิทใจ (เพราะข้อมูลนั้นตรงกับความเชื่อของตัวเอง) จึงทำการล้อมเอาไว้ด้วยรั้วไม้ไผ่ พร้อมทั้งมีการนำเสื่อมาปู วางกระถางธูปและโต๊ะวางดอกไม้เพื่อเซ่นไหว้
...
แต่ครั้นเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุข จ.นครราชสีมา ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำ แล้วพบว่ามีการปนเปื้อนของเชื้อโรคและมีฤทธิ์เป็นกรด ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้ จึงสั่งห้ามไม่ให้นำไปดื่มกินกัน
...
แต่คราวนี้ชาวบ้านกลับไม่เชื่อคำเตือนของเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุข โดยชาวบ้านโต้แย้งว่า “เรื่องเชื้อโรคที่ตรวจสอบก็เนื่องจากเอาน้ำจากผิวดินมาตรวจก็ต้องมีเชื้อโรคอยู่แล้ว” ซึ่งไม่น่าแปลกใจว่าทำไมชาวบ้านถึงไม่เชื่อ นั้นก็เพราะข้อมูลของทางเจ้าหน้าที่ขัดกับความเชื่อของชาวบ้านนั้นเอง
...
เครดิตภาพ : https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_3012481
ซึ่งเหตุการณ์ข้างต้นจึงสะท้อนให้เห็น เรื่องของความเอนเอียงเพื่อยืนยันความคิดของตน (Confirmation bias) ได้อย่างชัดเจน
...
2. การแยกทัศนคติออกเป็นสองขั้ว (Polarization Effect) หรือพวกข้าและพวกมัน ซึ่งจะทำให้เรามีแนวโน้มที่จะเชื่อข่าวที่สนับสนุนจุดยืนของฝั่งเดียวกับตัวเอง
...
เช่น ตัวอย่างเดิม ชายผู้เป็นอิสระจากโซ่ตรวนได้เห็นแล้วว่าตัวจริงของเงานั้นคืออะไร เขาหันกลับไปบอกกับชายอีกคนที่มีชื่อว่า ‘เมเลตุส’ ซึ่งยังคงมองเงาบนผนังว่า “จริงๆ แล้วเงานั้นคือ ดอกไม้”
...
เมเลตุส จำได้ว่าเสียงนี้เป็นเสียงของชายผู้เป็นสาวกของโสเครตีส ซึ่งเป็นขั้วฝั่งตรงข้ามกับตน จึงสวนกลับไปว่า “ข้าไม่เชื่อพวกสาวกโสเครตีสหรอก พวกเจ้าล้วนแต่มดเท็จ”
...
ข้อมูลเพิ่มเติม
...
เมเลตุส (Meletus) มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ เขาเป็นคนฟ้องโสเครตีสต่อศาลว่า “โสเครตีสเป็นคนที่ไม่เคารพต่อเทพเจ้าของชาวเอเธนส์ ทั้งโสเครตีสยังมีพฤติกรรมเป็นปรปักษ์ต่อรัฐ” ซึ่งเป็น 2 ข้อหาที่ร้ายแรงมาก
...
ภาพวาดเมเลตุสกำลังร่ายฟ้องปรับปรําโสเครตีส : เครดิตภาพ https://medium.com/@zihnibassaray/meletus-laneti-5de772b1fb49
ประกอบกับที่ผ่านมาบางครั้ง โสเครตีสได้มีการตั้งคำถามเรื่องประชาธิปไตยของเอเธนส์พอดี และเนื่องด้วยโสเครตีสมักตั้งคำถามที่หลายคนตอบไม่ได้ ทำให้เหล่าคนที่ตอบคำถามโสเครตีสไม่ได้นั้นรู้สึกเสียหน้า (กรณีของโสเครตีสจึงเข้ากับสุภาษิตที่ว่า ‘คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ’)
...
ทำให้ประชาชนชาวเอเธนส์เกินครึ่ง (เพียงเล็กน้อย) ลงมติให้โสเครตีสมีความผิดตามฟ้องจริง และให้ลงโทษประหารด้วยการดื่มยาพิษ
...
ภาพวาดของโสเครตีสในขณะที่กำลังดื่มยาพิษ : เครดิตภาพ https://iversity.org/blog/great-educators-socrates/
ปิดตำนาน ‘โสเครตีส ชายผู้ชอบตั้งคำถามแห่งเอเธนส์'
...
ด้วยเหตุนี้ ในตัวอย่างข้างต้นผมจึงจงใจมอบชื่อเมเลตุสให้กับชายที่ยังมองเงาที่ผนัง และชายผู้เป็นอิสระจากโซ่ตรวนซึ่งผมก็ติ๋งต่างให้เขาเป็นสาวกโสเครตีส เพื่อสื่อถึงความเป็นขั้วตรงข้ามให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
...
ดังนั้นกรณีศึกษาใกล้ตัวที่ทำให้เราเห็นภาพของ ‘การแยกทัศนคติออกเป็นสองขั้ว (Polarization Effect)’ ได้ชัดเจนที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง (ที่ชวนปวดหัว) นั้นล่ะครับ
...
เช่น เรามักเชื่อคำพูดของนักการเมืองหรือนักวิชาการที่เราชื่นชอบโดยปราศจากเงื่อนไข แม้บางครั้งมันจะฟังดูสุดโต่งไปบ้างก็ตาม ซึ่งอริสโตเติลเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า 'ความจริงโดยอำนาจ (truth by authority)' แต่ในขณะเดียวกันก็ยี้คำพูดของนักการเมืองและนักวิชาการฝั่งตรงข้ามในทุกกรณี แม้บางครั้งคำพูดนั้นอาจจะมีเหตุผลที่รับฟังได้อยู่ก็ตามที
...
และไม่ใช่แค่นั้น เราเองก็มักจะเชื่อข่าวสารที่มาจากพวกเดียวกับเราเสมอ โดยไม่สนว่าข่าวนั้นจะมีน้ำหนักแค่ไหน แต่ก็อีกเช่นกันหากข่าวนั้นมาจากฝั่งตรงข้าม เราก็เลือกที่จะไม่สนโนแคร์ไม่รับฟังไปโดยปริยาย (ยกเว้นข่าวลบของฝั่งตรงข้ามนะ ฮ่าๆ)
...
ดังนั้น การแยกทัศนคติออกเป็นสองขั้ว (Polarization Effect) ถือเป็นเหตุอย่างหนึ่งที่นำไปสู่ความเอนเอียงเพื่อยืนยันความคิดของตน (Confirmation bias) ต่อไปในบั้นปลายได้เช่นกัน
...
แต่ถึงอย่างไรก็ตามหากเราพิจารณาดีๆ แล้ว เราจะเห็นว่าทั้ง ความเอนเอียงเพื่อยืนยันความคิดของตน (Confirmation bias) และ การแยกทัศนคติออกเป็นสองขั้ว (Polarization Effect) นั้น
...
ได้ย้อนกลับไปยึดโยงสู่นิทานของเพลโตที่ว่า ‘เพราะพวกเขาพอใจกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าแล้ว’ ได้อย่างน่ามหัศจรรย์ (คำตอบของเพลโตนั้นเรียบง่าย แต่เข้ากลางเป้า)
...
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เพลโตจะเรียกชายที่หลุดพ้นนั้นว่า ‘ผู้พยายามมองและค้นหาไปให้ลึกและไกลกว่าแค่ภาพที่ปรากฏตรงหน้า’ หรือจะเรียกว่าผู้ใฝ่รู้ก็ย่อมได้ครับ
...
และเพลโตเรียกกลุ่มชายที่เหลือว่า ‘ผู้พึงพอใจกับแค่สิ่งที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า’
...
และนี้อาจเป็นหนึ่งในหลายๆ เหตุผลที่สามารถตอบคำถามเราได้ว่า “ทำไมเราจึงมักหลงเชื่อข่าวปลอม?”
...
แล้วเพื่อนๆ พี่ๆ ชาว Blockdit ล่ะครับ คิดว่ามีปัจจัยใดอีกบ้างที่ยังทำให้คนเรามีแนวโน้มที่จะเชื่อข่าวปลอมได้อยู่
...
แชร์ความคิดเห็นกันได้ที่ช่องคอมเม้นด้านล่างเลยครับ
...
ช่วงข้าพเจ้ามีความประสงค์ที่จะอยากแถม
...
นิทานเรื่อง ‘มนุษย์ในถ้ำ’ นี้ ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดแน่ว่าเป็นแนวคิดของนักปราชญ์คนใดระหว่าง ‘โสเครตีส’ กับ ‘เพลโต’ เนื่องจากโสเครตีสนั้นไม่นิยมชมชอบการจดบันทึก เขาชอบที่จะโต้ตอบผ่านการพูดคุย หรือโต้วาทีกันเสียมากกว่า
...
ทำให้ทฤษฎีและแนวคิดต่างๆ ของโสเครตีส ล้วนแต่ถูกจดบันทึกโดยเพลโตลูกศิษย์ที่คอยตามอาจารย์ไปยังที่ต่างๆ
...
แต่นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่า มันเป็นนิทานของตัวเพลโตเองเสียมากกว่า (แม้ในบันทึกจะเป็นถ้อยคำที่ออกจากปากของโสเครตีส แต่นักวิชาการเชื่อว่าเพลโตจงใจยัดนิทานเรื่องนี้เข้าไปในปากอาจารย์ของตัวเอง)
...
หน้าปกหนังสือบันทึกการสนทนาของโสเครตีส ผ่านการบันทึกของเพลโต : เครดิตภาพ https://www.google.co.th/imgres?imgurl=https%3A%2F%2Flookaside.fbsbx.com%2Flookaside%2Fcrawler%2Fmedia%2F%3Fmedia_id%3D10156251229177798&imgrefurl=https%3A%2F%2Fwww.facebook.com%2Fsnfsiam%2Fposts%2F976061272555259%2F&tbnid=iUEYf2NuPHzPLM&vet=10CBMQxiAoAmoXChMIqPjq6_Dd5wIVAAAAAB0AAAAAEA4..i&docid=amwTnyNltSjuvM&w=720&h=960&itg=1&q=%E0%B9%82%E0%B8%AA%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%AA%20%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD&ved=0CBMQxiAoAmoXChMIqPjq6_Dd5wIVAAAAAB0AAAAAEA4#h=960&imgdii=OAVPRsP6nFkp4M:&vet=10CBMQxiAoAmoXChMIqPjq6_Dd5wIVAAAAAB0AAAAAEA4..i&w=720
รายชื่อภาพยนตร์และซีรี่ย์ที่ปรากฏในหนังสือ ‘โลกหมุนรอบกลัว’
...
ใครที่ไม่เคยดูภาพยนตร์เรื่องไหน อย่าได้กังวลว่าจะอ่านไม่รู้เรื่อง เพราะผู้เขียนเขาสปอยเนื้อหาสั้นๆ ให้เราทำเข้าใจได้ง่ายๆ เเล้ว (เพราะมีหลายเรื่องเหมือนกันที่ผมยังไม่เคยดู...ส่วนตัวไม่นิยมดูหนังสยองขวัญเท่าไร)
บรรณานุกรม
ไนเจล วอร์เบอร์ตัน. (2561). ปรัชญา : ประวัติศาสตร์สายธารแห่งปัญญา. แปลจาก A Little History of Philosophy. แปลโดย ปราบดา หยุ่น และ รติพร ชัยปิยะพร. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป.
ผมอยู่ข้างหลังคุณ. (2562). โลกหมุนรอบกลัว. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ Geek Book.
ข่าวสดออนไลน์. (29 ตุลาคม 2562). แห่ดื่มน้ำปริศนาผุดจากดินรักษาโรค! เชื่อพญานาคคายน้ำ เผยฝันประหลาดก่อนพบ. [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_3012481
Pnsamtv. (8 พฤศจิกายน 2562). บ่อน้ำผุด ชาวบ้านโต้มีเชื้อโรค แห่ตักกินเมิน สธ. เตือน ฉะกลับ “น้ำส้วมที่ไหนจะไหลเป็นเดือน”. [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก https://www.amarintv.com/news-update/news-24188/453075/
โฆษณา