17 ก.พ. 2020 เวลา 14:55 • การศึกษา
มารู้จัก "สมองไหล (Brain Drain)" การสูญเสียคนเก่ง ๆ ในประเทศ !
3
ขอบคุณภาพจาก https://www.coe.int
Session 1 : รู้จัก "ภาวะสมองไหล (Brain drain)"
"ภาวะสมองไหล" ภาษาอังกฤษเรียกว่า "Brain drain" หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Human Capital Flight หมายถึง การอพยพออกจากประเทศของกลุ่มบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะเฉพาะด้านในระดับสูง เกิดขึ้นได้ในหลายระดับตั้งแต่พื้นที่ไปจนถึงภูมิภาค สาเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำ การขาดโอกาส การขาดทรัพยากร ความไร้เสถียรภาพต่าง ๆ ภายในประเทศ หรือแม้แต่ความเสี่ยงด้านสุขภาพและอนามัย
2
คำว่า Brain drain ถูกบัญญัติขึ้นครั้งแรกโดย ราชสมาคม (Royal Society) ซึ่งเป็นสมาคมนักปราชญ์ทางวิทยาศาสตร์ อาจกล่าวได้ว่าเป็นสมาคมที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังคงอยู่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1660 โดยพระบรมราชานุญาตของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ
Brain drain หรือ "ภาวะสมองไหล" ถูกใช้เป็นนิยามของการอพยพของ "กลุ่มนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี" จากทวีปยุโรปไปยังอเมริกาเหนือ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง
ประมาณการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจาก ภาวะสมองไหล
Session 2 : "ภาวะสมองไหล" ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง ?
"ภาวะสมองไหล" มักถูกตีความว่าเป็นการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้อพยพมักจะนำทักษะความรู้ต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลหรือบริษัทเอกชนเป็นฝ่ายสนับสนุนไปด้วย ทำให้ต้องเสียเงินทุนและเวลาในการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะสูงขึ้นมาใหม่
สิ่งเหล่านี้มักเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับ "การโยกย้ายเงินทุน" ซึ่งเกิดจากนักลงทุนหรือบุคคลอื่น ๆ ได้ย้ายต้นทุนไปตามชนชั้นมันสมองนั่นเอง ภาวะสมองไหล เป็นการลดศักยภาพในการทำงานของประชากรในพื้นที่นั้น ๆ โดยปริยาย
ในประเทศที่ยากจน ภาวะสมองไหล จะเปลี่ยนโครงสร้างทักษะของแรงงาน ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน ส่งผลกระทบต่อนโยบายการคลังและเศรษฐกิจ แต่ในอีกแง่นึงอาจได้ประโยชน์จากทักษณะของผู้ที่อพยพเข้ามาใหม่และผู้ที่กลับเข้ามาในประเทศก็จะมีทักษะเพิ่มขึ้น พูดง่าย ๆ ว่าเป็นเหมือนดาบสองคมนั่นเอง
สัดส่วนการอพยพเข้าและออกในประเทศต่าง ๆ (อเมริการับคนอพยพเข้ามากที่สุด ส่วนจีนส่งคนไปอยู่ต่างประเทศมากที่สุด) ที่มา : UNESCO Institute for Statistics
สัดส่วนของชาวต่างชาติในประเทศที่พัฒนาแล้วเพิ่มขึ้น 3 เท่าตั้งแต่ปี 2503 และอัตราการอพยพของแรงงานทักษะสูงจากประเทศยากจนเพิ่มสูงขึ้น หลายประเทศมีความพยายามที่จะรักษานักเรียนต่างชาติให้มากขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เกิด "ภาวะสมองไหล" กับประเทศต้นทาง
จากฐานข้อมูลการย้ายถิ่นทั่วโลกขององค์กรสหประชาชาติ จำนวนผู้อพยพทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 75 เป็น 214 ล้านคนหรือประมาณ 3 เท่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา(พ.ศ.2503 ถึง 2553) ซึ่งพอ ๆ กับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลก ดังนั้นอัตราการอพยพทั่วโลกโลกจึงเพิ่มขึ้นเพียง 2.5% ถึง 3.1%
แต่เจาะลึกลงไปอีกหน่อยพบสิ่งที่น่าสนใจคือสัดส่วนการอพยพไปยังประเทศรายได้สูงของแรงงานต่างชาติ เพิ่มขึ้นจาก 43% เป็น 60% ระหว่างปี 2503 ถึง 2553 เมื่อเทียบกับการอพยพไปที่อื่น โดยถ้าคิดจากสัดส่วนของผู้อพยพมาจากประเทศที่กำลังพัฒนา พบว่าเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน และที่สำคัญคือแนวโน้มนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับการเติบโตของ GDP ในประเทศที่พัฒนาแล้วอีกด้วย
กราฟแสดงสัดส่วนการอพยพเข้าสู่ประเทศรายได้สูงของแรงงานต่างชาติ
แรงงานข้ามชาติเหล่านี้มาจากประเทศนอกกลุ่ม OECD* ข้อมูลการอพยพระดับโลกในปี 2554 แสดงให้เห็นจำนวนผู้อพยพทั้งหมดในปี 2543 ดังนี้
1. การอพยพภายในประเทศที่พัฒนาแล้ว
72.6 ล้านคน ประมาณ 45% ของแรงงานข้ามชาติทั้งหมด
2. การอพยพจากประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว
43 ล้านคน ประมาณ 26% ของแรงงานข้ามชาติทั้งหมด
3. การอพยพภายในประเทศที่กำลังพัฒนา
40 ล้านคน ประมาณ 24% ของแรงงานข้ามชาติทั้งหมด
4. การอพยพจากประเทศพัฒนาแล้วไปยังประเทศรายได้ต่ำ
8.6 ล้านคน ประมาณ 5% ของแรงงานข้ามชาติทั้งหมด
ข้อสังเกต : การเพิ่มขึ้นของจำนวนแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่มาจากการอพยพจากประเทศที่กำลังพัฒนาไปยังประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 10 ล้านเป็น 43 ล้านคนระหว่างปี 2503 และ 2543 ซึ่งเร็วกว่าการค้าโลกเสียอีก
*OECD คือองค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development) เป็นองค์กรระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และยอมรับระบอบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจการค้าเสรีร่วมกันและการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรปและเศรษฐกิจโลก
อัตราการอพยพของแรงงานทักษะสูงมากกว่าที่แรงงานทักษะต่ำในแทบทุกประเทศ (ข้อมูล ณ ที่นี้วัดจากระดับการศึกษา)
อัตราการอพยพของแรงงานทักษะสูงนั้นชัดเจนอย่างมากในประเทศรายได้ต่ำ อัตราการไหลของสมองที่สูงที่สุดนั้นเกิดขึ้นในประเทศเล็ก ๆ ที่ยากจนในเขตร้อน ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกว่า 80% ของ "สมอง" อพยพไปอยู่ต่างประเทศ เช่น เฮติจาเมกาและรัฐเล็ก ๆ หลายแห่งที่มีแรงงานน้อยกว่า 1 ล้านคน
และอีกประมาณ 20 ประเทศกำลังสูญเสียระหว่าง 1/3 ถึง 1/2 ของบัณฑิตวิทยาลัยให้กับประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคทะเลทราย เช่น ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน โซมาเลีย หรือแม้แต่ทวีปเอเชีย เช่น อัฟกานิสถาน กัมพูชา บางประเทศมีขนาดเล็กและมีรายได้สูง เช่น ฮ่องกง ไอร์แลนด์
การอพยพระหว่างประเทศต่าง ๆ ใน EU
แม้แต่ในอเมริกาเอง องค์กร National Science Foundation ก็ออกมาเปิดเผยว่า จำนวนผู้จบปริญญาเอกในอเมริกาที่ไปร่วมงานกับภาคเอกชน แทนที่จะเป็นอาจารย์หรือนักวิจัย เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 57 จากร้อยละ 38 เมื่อ 10 ปีก่อน
คณบดีของคณะ Computer Science ที่มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon อาจารย์ Andrew Moore บอกกับ Wall Street Journal ว่าผู้มีความรู้ด้านภูมิปัญญาประดิษฐ์สามารถสร้างผลกำไรให้กับบริษัทต่าง ๆ ในระดับ 5 ล้านถึง 10 ล้านดอลลาร์ต่อปี ยกตัวอย่างเช่น นักพัฒนา ความแตกต่างของประสิทธิภาพระหว่างผู้พัฒนาที่ดีที่สุดและเลวร้ายที่สุดของโลกนั้นมากกว่า 10 เท่า !
Session 3 : "ภาวะสมองไหล" ในปัจจุบัน
ปัจจุบันหลายประเทศต่างประสบ "ภาวะสมองไหล" คือการคนเก่ง ๆ ในประเทศไปทำงานอยู่ต่างประเทศ ส่งผลเสียต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ เช่น อิสราเอล ในตอนนี้ เหล่าอาจารย์และนักวิชาการ ต่างทำงานอยู่ต่างประเทศเนื่องจากค่าตอบแทนสูงกว่า มีความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิตมากกว่า
การศึกษาของ Dr.Dan Ben-David อาจารย์ภาควิชานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัย Tel Aviv พบว่า มีอาจารย์และนักวิชาการชาวอิสราเอลกว่าร้อยละ 25 ทำงานเต็มเวลาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของอเมริกา การสูญเสียนี้ไม่ใช่แค่การสูญเสียเชิงปริมาณ แต่ยังเป็นการสูญเสียเชิงคุณภาพของประเทศที่ไม่อาจประมาณค่าได้
สาเหตุหลักมาจากการได้รับเงินเดือนน้อย รัฐบาลให้เงินทุนสนับสนุนการวิจัยไม่เพียงพอ และความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินตามแผนการพัฒนาการศึกษาในระยะยาว สาเหตุดังกล่าวส่งผลให้ผู้ที่ได้รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศไม่อยากกลับมาทำงานในประเทศ
Dr.Dan Ben-David
รายงานการศึกษาจาก OECD แสดงให้เห็นว่า ปี พ.ศ. 2546-2547 มีอาจารย์และนักวิชาการชาวต่างชาติในมหาวิทยาลัยของอเมริกาจำนวน 82,905 คน คิดเป็น 7% ของจำนวนทั้งหมด ในจำนวนนั้นเป็นชาวอังกฤษมากที่สุดถึง 3,117 คน แต่ถือว่าเป็นจำนวนที่เล็กน้อย (2.1%) เมื่อเทียบกับจำนวนอาจารย์และนักวิชาการทั้งหมดที่มีอยู่ในอังกฤษ รองลงมาเป็นชาวแคนาดามี 12.2% เมื่อเทียบกับนักวิชาการที่มีอยู่ในแคนนาดา
สัดส่วนดังกล่าวยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับอิสราเอล ซึ่งในปีเดียวกัน มีอาจารย์และนักวิชาการชาวอิสราเอลทำงานในมหาวิทยาลัยของอเมริกา 1,409 คน แต่หากเทียบกับจำนวนอาจารย์และนักวิชาการทั้งหมดในมหาวิทยาลัยของอิสราเอล จะเห็นว่าเป็นสัดส่วนที่มากถึง 24.9% ซึ่งเป็น 2 เท่าของแคนาดา และมากกว่า 5 เท่าของประเทศที่พัฒนาแล้ว
ประเทศรัสเซียก็ประสบปัญหาสมองไหลคล้ายคลึงกับอิสราเอล ข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมอสโก (2549) ระบุว่า รัสเซียประสบปัญหาการไหลออกของบุคลากรคุณภาพสูงในสาขาสำคัญ ๆ เริ่มมาตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลายในปี พ.ศ. 2534 บุคลากรที่เชี่ยวชาญในสาขาวิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ พันธุศาสตร์ และเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นกลุ่มแรกที่อพยพออกมา
หลังจากนั้นได้เกิดภาวะสมองไหลอย่างต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญมาจากรายได้ต่ำ เครื่องมือการทำงานไม่ทันสมัย ไม่มีความก้าวหน้าในอาชีพ และไม่ได้รับการยอมรับในสังคม ปัจจัยเช่นนี้ส่งผลผลักให้บุคลากรคุณภาพเหล่านี้หลั่งไหลไปเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ แทน
จำนวนบุคคลากรอาชีพต่าง ๆ ที่อพยพไปอยู่ในสหรัฐฯ
Session 4 : "ภาวะสมองไหล" ในประเทศไทย
"ภาวะสมองไหล" ในไทยเกิดขึ้นเช่นกัน โดยส่วนหนึ่งไหลไปสู่ภาคธุรกิจที่มีค่าตอบแทนสูงว่าราชการ 2-3 เท่า อีกส่วนหนึ่งไปเป็นนักวิจัยและอาจารย์มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า รวมถึงมีความพร้อมทางทรัพยากรในการปฏิบัติและพัฒนางานมากกว่า
1
ประเทศไทยขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพสูงไว้ในประเทศ เช่น เยาวชนไทยที่ได้เหรียญจากการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการในสาขาต่าง ๆ เยาวชนกลุ่มนี้ถือเป็นระดับมันสมองของประเทศ ที่มีศักยภาพจะพัฒนาสู่การเป็นผู้นำที่เชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ แต่ประเทศไทยกลับขาดยุทธศาสตร์รองรับเยาวชนกลุ่มนี้
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน ศาสตราจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) และนักวิจัยดีเด่น สาขาฟิสิกส์ทฤษฎี ปี พ.ศ. 2530 ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน เมื่อมกราคม พ.ศ. 2548 ระบุว่า "เด็กกลุ่มนี้มีความสามารถเฉพาะทางที่เด่นมาก เขาควรจะเดินในเส้นทางนี้ต่อไป" ซึ่งรัฐบาลเพียงแค่ทุ่มเงิน แต่ไม่ได้ออกกฎที่ชัดเจนว่า หลังจากที่ได้เป็นตัวแทนประเทศในการแข่งขัน หรือได้ทุนเรียนต่อต่างประเทศจนสำเร็จการศึกษา จะต้องกลับมาทำงานเพื่อพัฒนาประเทศชาติ
เมื่อรัฐบาลไม่ได้วางยุทธศาสตร์เพื่อใช้ประโยชน์จากคนกลุ่มนี้ เส้นทางชีวิตจึงเป็นการเรียนต่อต่างประเทศ และทำงานตามสายงานที่ตนเองถนัด โดยไม่ได้มีส่วนพัฒนาประเทศตามสาขาที่เชี่ยวชาญ ที่น่าเสียดายที่สุดคือ คนเก่งหลายคนถูกดึงตัวไปทำงานในต่างประเทศ เนื่องด้วยได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่า ได้ทำงานในสภาพที่มีความพร้อมและมีมาตรฐานชีวิตที่ดีกว่า
เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย ปัจจุบันคนสิงคโปร์กว่า 150,000 คน ทำงานและเรียนอยู่ต่างประเทศ ในจำนวนนี้เป็นนักศึกษา 40% ซึ่งมีบริษัทต่างชาติเสนอรายได้สูง ๆ ให้ ขณะที่มาเลเซีย นักเรียนเก่งจะได้รับข้อเสนอเป็นทุนการศึกษาไปเรียนต่างประเทศ หลังจากเรียนจบยังสามารถอยู่ทำงานต่อได้อีก 3 ปี โดยได้รับเงินเดือนในอัตราที่สูงกว่าในมาเลเซีย ทั้งยังมีโอกาสได้รับสถานภาพทางสัญชาติอย่างถาวรอีกด้วย
1
Session 5 : การแก้ปัญหาสมองไหล
"ภาวะสมองไหล" มักเกิดขึ้นในประเทศที่ "กำลังพัฒนา" โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ให้อำนาจในการวางแผนทางเศรษฐกิจกับ "ศูนย์กลาง" ซึ่งทำให้ทักษะทางการค้าไม่ได้รับผลตอบแทนทางการเงิน สามารถป้องกันได้ด้วยการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การให้โอกาส ให้อาชีพกับคนที่มีความสามารถและความชำนาญเฉพาะด้านได้พิสูจน์ความสามารถของตนเอง
ในแง่ของธุรกิจ ไม่ว่าในยุคสมัยใด บุคลากรที่มี "ความรู้" และ "ศักยภาพ" ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาองค์กรนั้น ๆ ให้ไปสู่จุดสูงสุด แต่ปัญหาก็คือ บุคลากรที่มีศักยภาพสูงมักจะไม่อยู่กับองค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นเวลานาน เนื่องจากคนเหล่านี้มีความสามารถสูง จึงต้องการความก้าวหน้าและสิ่งตอบแทนที่สูงตาม หากองค์กรไม่สามารถตอบสนองได้ เช่น ไม่ขึ้นเงินเดือน ไม่เลื่อนตำแหน่ง พวกคนเก่งเหล่านี้ก็จะเริ่มย้ายออกไปเติบโตที่อื่น ซึ่งหมายถึง "สมองไหล"
ในปัจจุบัน โลกของธุรกิจแข่งขันกันอย่างเข้มข้น เป็นความท้าทายอย่างมากที่องค์กรจะต้องวางแผนเพื่อรับมือกับ "ภาวะสมองไหล" และการเป็น "Employee of Choice" ซึ่งทำให้บริษัทกลายเป็น “ตัวเลือก” ของบุคลากร โดยเฉพาะบรรดา "มันสมอง" ที่มีโอกาสไหลออกไปที่อื่นได้ง่าย
การเป็น Employer of Choice ไม่ใช่แค่การเป็นองค์กรที่คนอยากเข้ามาทำงานด้วย แต่ยังหมายถึงการที่บุคคลากรซึ่งกำลังทำงานในองค์กร มีความรู้สึกภูมิใจ ความสุข ความผูกพัน การเจริญเติบโต และความมีส่วนร่วมกับองค์กร มีเอกลักษณ์ เป็นของตัวเอง มีวัฒนธรรมองค์กรที่โดดเด่น
ทุกคนในองค์กรควรทำงานเป็นทีม รับผิดชอบงานที่ของตนเอง ช่วยเหลือผู้อื่น มีอิสระในการคิดสิ่งที่สร้างสรรค์ มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เคารพผู้อื่น" ส่วนเรื่องของค่าตอบแทน และสวัสดิการ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่องค์กรต้องตอบโจทย์ของผู้ร่วมงาน เพื่อให้แน่ใจว่ายังสามารถแข่งขันกับตลาด และสามารถรักษาผู้ร่วมงานที่ดีให้อยู่กับองค์กรได้
นอกเหนือจากเรื่องค่าตอบแทนแล้ว สิ่งแวดล้อมในการทำงาน และ โอกาสในการพัฒนาตนเองของผู้ร่วมงานก็สำคัญไม่แพ้กัน สภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีโอกาสจะทำในสิ่งที่แตกต่าง และท้าทายความสามารถ มีการสื่อสารในองค์กรแบบสองทาง รับฟังความคิดเห็นของผู้ร่วมงานอย่างต่อเนื่อง มีผู้นำที่ดีที่คอยให้ความช่วยเหลือสนับสนุน และเป็นตัวอย่างที่ดีของคนในองค์กร
ความผ่อนคลาย และการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมขององค์กรเองก็สำคัญ ส่วนในด้านการพัฒนาบุคลากร จำเป็นต้องมีการพูดคุยระหว่างหัวหน้างานและลูกน้องเพื่อมองหาสิ่งที่ต้องการพัฒนา ให้โอกาสบุคลากรได้เจริญเติบโตก้าวหน้าในตำแหน่งและหน้าที่ พร้อมกับการสนับสนุนให้มีสภาพแวดล้อมต่อการเจริญเติบโตที่เหมาะสม
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมบทความในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา