24 ก.พ. 2020 เวลา 17:23 • การเมือง
การรับผิดของนิติบุคคล
มีคนตาไวสอบถามเลคเชอร์บนกระดานขออธิบายดังนี้ครับ
บนกระดานเป็นการอธิบาย เกี่ยวกับประเด็นการรับผิดของนิติบุคคลประเภทต่างๆ ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแพ่งฯ
โดยหลักที่สำนักฝึกอบรมฯ นำมาออกข้อสอบทนายความบ่อยๆนั้นจะมีดังนี้
1. #นิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด /มหาชน (ลูกศรบนสุด)
- ผู้มีอำนาจของนิติบุคคลประเภทบริษัทเรียกว่ากรรมการผู้จัดการ โดยหลักแล้วในกรณีนิติบุคคลประเภทบริษัทตกเป็นจำเลยในคดีแพ่ง กรรมการผู้จัดการจะไม่ต้องรับผิดเป็นจำเลยที่ 2 เนื่องจากกรรมการผู้จัดการ มักจะกระทำไปภายใต้ขอบเขตของบริษัท จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย ดังนั้นโดยหลักการฟ้องคดีแพ่งหากบริษัทตกเป็นจำเลยแล้วจะไม่ต้องฟ้องกรรมการผู้จัดการด้วย
#เว้นแต่ แต่อย่างไรก็ดีมีข้อยกเว้นที่น่าสังเกต ดังนี้ กรณีกรรมการผู้จัดการของบริษัทจะตกเป็นจำเลยที่ 2 นั้น เกิดขึ้นได้ในกรณีที่กรรมการผู้จัดการ เข้าไปทำสัญญาประกอบเช่นเข้าไปเป็นผู้ค้ำประกัน เข้าไปเป็นผู้จำนำ หรือเข้าไปเป็นผู้จำนอง แบบนี้กรรมการผู้จัดการจะตกเป็นจำเลยที่ 2 แต่เป็นจำเลยที่ 2 เนื่องจาก ผูกมัดตามสัญญาที่ตนเข้าไปเป็นผู้ค้ำประกันนั่นเอง ไม่ได้รับผิดในฐานะกรรมการผู้จัดการ
มีข้อสังเกตุที่กรรมการผู้จัดการฯอาจต้องรับผิดในกรณีที่ข้อสอบของสำนักฝึกอบรมรุ่นหนึ่ง ได้ระบุถึงกรณีที่ กรรมการผู้จัดการเป็นจำเลยที่ 2 เนื่องจากงดเว้นสิ่งที่ต้องกระทำ (งดเว้นไม่ดูแลอุปกรณ์เครื่องเล่นในสวนสนุกจนเป็นเหตุให้ชำรุดเสียหาย แต่ยังคงเปิดใช้งานจนมีผู้เสียหาย)
นอกจากนี้ยังมีกรณีที่กรรมการผู้จัดการชำระค่าหุ้นไม่ครบถ้วนด้วย
ิิิืื #หลักคือกรรมการผู้จัดการไม่ต้องรับผิดเว้นแต่เข้าข้อยกเว้นข้างต้น
 
2. #ห้างหุ้นส่วนจำกัด (ลูกศรที่ 2)
ประการแรกผู้มีอำนาจของนิติบุคคลประเภทนี้จะมีชื่อเรียกแตกต่างจากกรณีของบริษัทคือ #หุ้นส่วนผู้จัดการ ในส่วนนี้เป็นจุดหักคะแนนสำคัญอีกจุดหนึ่งเช่นกันเพราะยังมีนักศึกษาหลายคนใช้ชื่อเรียกสลับกัน
การรับผิด ในส่วนของนิติบุคคลประเภทนี้มีบุคคลที่ต้องรับผิดคือ
2.1 ห้างฯ กล่าวคือตัวนิติบุคคลนั่นเอง ที่จะต้องรับผิดเป็นจำเลยที่ 1 เสมอ
2.2 หุ้นส่วนผู้จัดการ เนื่องจากหุ้นส่วนผู้จัดการนั้นถือเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด จึงต้องร่วมรับผิดกับนิติบุคคลเสมอ และหากหุ้นส่วนผู้จัดการมีมากกว่า 1 คนก็ต้องฟ้องทุกคนเรียงไปตามลำดับจนครบ
2.3 หุ้นส่วน โดยหลักแล้วหุ้นส่วน ถือว่าเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด ไม่ต้องร่วมรับผิดกับนิติบุคคลด้วย #เว้นแต่ หุ้นส่วนนั้นได้เข้าทำสัญญา ค้ำประกัน จำนำ จำนอง จึงอาจเข้ามาเป็นจำเลยในฐานะคู่สัญญาได้ (กรณีเช่นเดียวกับกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯตามที่เขียนไว้ข้างต้น ) รวมทั้งกรณีที่หุ้นส่วนได้นำชื่อตนเองระคนชื่อห้างฯหมายความว่าส่วนหนึ่งของชื่อห้างฯนั้น เป็นชื่อของหุ้นส่วน แบบนี้ แม้เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดก็ต้องร่วมรับผิดเป็นจำเลยในคดีแพ่งด้วย
3. #ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล (ลูกศรล่างสุด)
ผู้มีอำนาจของนิติบุคคลประเภทนี้ใช้ชื่อเรียกว่าหุ้นส่วนผู้จัดการเช่นเดียวกัน โดยบุคคลที่ต้องร่วมรับผิดกับห้างฯ มีดังนี้
3.1 ห้างฯ ใช้หลักการเช่นเดียวกับนิติบุคคล อื่นๆกล่าวคือตัวนิติบุคคลจะต้องรับผิดเป็นจำเลยที่ 1 เสมอ
3.2 หุ้นส่วนผู้จัดการ กล่าวคือหุ้นส่วนผู้จัดการหรือเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด จะต้องรับผิดร่วมกับห้างฯเช่นเดียวกัน และหากหุ้นส่วนผู้จัดการมีหลายคนจะต้องร่วมรับผิดทุกคน
3.3 หุ้นส่วน ในกรณีนิติบุคคลประเภทนี้ หุ้นส่วนจะต้องร่วมรับผิดกับห้างฯด้วย โดยอัตโนมัติ
ดังนั้นการวิเคราะห์ ความรับผิดของบุคคล ในกรณีนิติบุคคลนั้นจึงเป็นส่วนสำคัญด่านแรกในการสอบใบอนุญาตทนายความ เพราะหากผู้สอบวิเคราะห์ผู้รับผิด ไม่ตรงกับกฎหมาย จะทำให้การบรรยายคำฟ้องคดีแพ่ง ถูกหักคะแนนหลายส่วน เนื่องจากจำนวนของจำเลยจะไม่ตรงกับธงในข้อสอบ
 
วันนี้ผู้เขียนได้บรรยายในส่วนรายละเอียดของผู้รับผิด กรณีนิติบุคคลประเภทต่างๆ โดยละเอียดหวังว่านักศึกษาที่เข้าฟังเลคเชอร์จะสอบผ่านวิชานี้(LLB458) ได้เกรดดี และหลังจากจบชั้นปริญญาตรีคงมีโอกาสที่จะนำหลักการต่างๆ ที่ได้บรรยายเพื่อนำไปใช้สอบใบอนุญาตทนายความผ่านได้ในครั้งเดียวครับ
ภูดิท โทณผลิน
23/2/2563
โฆษณา