26 ก.พ. 2020 เวลา 10:26 • ข่าว
ส่องแหล่งฟอกเงินปี 2020 "หมู่เกาะเคย์แมน" ครองแชมป์ สหรัฐ-อังกฤษ อันดับพุ่ง ไทยอยู่อันดับ 17 ของโลก
ปัจจุบันจำนวนเงินผิดกฎหมายหวุนเวียนในระบบพอ ๆ กับจำนวนหนี้สาธารณะทั่วโลก !
หลังการเปิดเสรีทางการเงินโลกในปี 1980 นักลงทุนก็สามารถเคลื่อนย้ายเงินได้อย่างอิสระทั่วโลก หลายประเทศต้องการดึงดูดเม็ดเงินมหาศาลเหล่านี้ เพื่อให้เงินทุนไหลเข้าประเทศ จึงออกกฎหมายและนโยบายต่าง ๆ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก รวมถึงปกปิดข้อมูลของนักลงทุนหรือชาวต่างชาติที่นำเงินมาลงทุนในประเทศ
ดัชนี "Financial Secrecy Index (FSI)" หรือดัชนี "ความลับทางการเงิน" คือมตราวัด ที่เปิดเผยทุก ๆ 2 ปี จัดทำโดยองค์กรเครือข่ายภาษียุติธรรม หรือ The Tax Justice Network (TJN) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลก
ดัชนี FSI จะบ่งชี้ถึงความน่าดึงดูดเงินเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับเงินผิดกฎหมายจากประเทศต่าง ๆ โดยประเมินจากความเข้มงวดของระบบการเงินและกฎหมายต่าง ๆ ที่ช่วยปกปิดข้อมูลของลูกค้าเพื่อประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการเลี่ยงภาษีและฟอกเงิน
Source : Tax Justice Network
การสำรวจในปี 2020 พบว่า "หมู่เกาะเคย์แมน" คือดินแดนอันดับ 1 ที่เป็นสวรรค์ของนักฟอกเงิน ซึ่งค่าดัชนีดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึง 24% จากปี 2018 ทำให้หมู่เกาะแห่งนี้ไต่จากอันดับ 2 ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในขณะที่ "สวิตเซอร์แลนด์" แชมป์เก่าตกไปอยู่อันดับ 3
"สหรัฐอเมริกา" กลายเป็นประเทศที่เหมาะสำหรับการฟอกเงินอันดับ 2 ของโลกแซงหน้าสวิตเซอร์แลนด์ โดยดัชนี FSI เพิ่มขึ้น 15% จากปี 2018 สาเหตุมาจากที่รัฐบาลออกกฎหมายอนุญาตให้ "มูลนิธิ" ในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ ไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ
สหรัฐฯ ถือเป็นแหล่งเลี่ยงภาษีและฟอกเงินที่สำคัญอันดับต้น ๆ ของโลก ด้วยสัดส่วนการบริการทางการเงินข้ามประเทศถึง 21.4% ของทั้งโลก
ขณะที่ "อังกฤษ" ไต่อันดับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จาก 23 มาเป็นอันดับ 12 โดยค่าดัชนี FSI เพิ่มขึ้น 26% ซึ่งอังกฤษมีสัดส่วนบริการทางการเงินข้ามประเทศอยู่ที่ 15.59% ของทั้งโลก ทำให้อังกฤษกลายเป็นแหล่งรวมเงินผิดกฎหมายที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของโลก
ค่าตัวเลขของดัชนี FSI (Source : Tax Justice Network)
"จอห์น คริสเตนเซ่น" ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการของ TJN แสดงความกังวลว่า อังกฤษและสหรัฐฯ จะกลายเป็นศูนย์กลางของเงินหนีภาษี เงินผิดกฎหมาย และการฟอกเงินของโลก โดยเฉพาะหลังการ Brexit จาก EU
ลองมาดูดัชนี "Corporate Tax Haven Index (CTHI)" หรือดัชนี "ดินแดนภาษีต่ำ" ซึ่งบ่งชี้ถึงประเทศหรือเขตที่มีอัตราภาษี "ที่มีผลจริง" ต่ำมากสำหรับคนต่างด้าว พูดง่าย ๆ คืออัตราภาษีสำหรับ "นักลงทุนต่างชาติ" ที่ระบุในข้อกฎหมาย สูงกว่าอัตราภาษีที่ต้องจ่ายจริง ๆ นั่นเอง
ดัชนี CTHI มักจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนี FSI ซึ่งจากรายงานเราพบว่า 3 อันดับแรกที่มีดัชนี CTHI มากที่สุด เป็นสถานที่และเขตที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ "อังกฤษ" ทั้งสิ้น
ค่าตัวเลขของดัชนี CTHI (Source : Tax Justice Network)
ข่าวดีก็คือรายงานของ TJN พบว่า ดัชนี FSI ในภาพรวมทั่วโลกลดลง 7% จากเมื่อปี 2018 เนื่องจากหลายประเทศเริ่มหันมาใส่ใจกับการหนีภาษีและการฟอกเงินระหว่างประเทศ
1
มีการร่วมมือกันของสถาบันการเงินในระดับนานาชาติเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลลูกค้าระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะในสวิตเซอร์แลนด์ที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหลายประเทศมากขึ้น ทำให้ดัชนี FSI ของประเทศลดลงถึง 12%
การสำรวจใน 133 ประเทศพบว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการเป็นแหล่งพักเงินเหล่านี้ ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาเป็นผู้ที่สูญเสียรายได้จากการเก็บภาษี รวมถึงผลกระทบจากกิจกรรมที่ผิดกฎหมายต่าง ๆ โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา
รายงานประเมินว่าตั้งแต่ปี 1970 ประเทศในแถบแอฟริกาต้องเผชิญกับการไหลออกของเงินทุนไปยังต่างประเทศ ซึ่งคิดเป็นเงินผิดกฎหมายมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เป็นเงินหนีภาษีและเงินจากธุรกิจผิดกฎหมายของกลุ่มชนชั้นนำที่เป็นคนส่วนน้อยของประเทศ ซึ่งนำไปฝากไว้กับสถาบันการเงินในต่างประเทศที่ช่วยปกปิดข้อมูลของเงินมืดเหล่านี้
ปัจจุบันมีเม็ดเงินหนีภาษีที่หมุนเวียนกระจายอยู่ในสถาบันการเงินต่าง ๆ ทั่วโลกถึง 21-32 ล้านล้านดอลลาร์ ซ่งพอ ๆ กับจำนวนหนี้สาธารณะทั่วโลกในขณะนี้ที่ระดับ 23.3 ล้านล้านดอลลาร์ โดยในแต่ละปีจะมีการเคลื่อนย้ายเงินแบบผิดกฎหมายประมาณ 1-1.6 ล้านล้านดอลลาร์
อาจพอสรุปได้ว่า นโยบายที่ช่วยปกปิดความลับให้กับลูกค้ากลับเป็นการดึงดูดเม็ดเงินผิดกฎหมายและเป็นการสนับสนุนให้ทำผิดกฎหมายทางอ้อม
ยิ่งไปกว่านั้นรายงานยังพบว่า "หมู่เกาะเคย์แมน" เป็นที่ตั้งของบริษัทยิบย่อยมากกว่า 100,000 แห่ง มากกว่าจำนวนประชากรที่อาศัยในเกาะเสียอีก
นอกจากนี้หลักฐานจากรายงานยังชี้ให้เห็นว่า "หมู่เกาะเคย์แมน" เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายแบบ "ใยแมงมุม" ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของรัฐบาลอังกฤษ โดยจะมีอำนาจควบคุมด้านกฎหมายและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้บริหารเกาะ และทางการอังกฤษก็ได้อนุญาตให้ "หมู่เกาะเคย์แมน" สามารถกำหนดอัตราภาษีของตนเองได้
ช่องว่างทางกฎหมายภาษีของเกาะเคย์แมน ถือเป็นโอกาสชั้นดีให้มหาเศรษฐีทั่วโลกใช้เป็นแหล่งซุกซ่อนความมั่งคั่งของตนเองเพื่อเลี่ยงภาษี
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา