29 ก.พ. 2020 เวลา 15:57 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ข้อมูลแรกจากภารกิจ "Mars Insight" ของ NASA บ่งบอกว่าดาวอังคารนั้นยังไม่ตาย แต่กำลังจะตาย 😔
จากการตรวจพบแผ่นดินไหวและสนามแม่เหล็กที่เข้มข้นกว่าที่คาดกัน ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เรารู้ได้ถึงอดีตของดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้
จากการสำรวจดาวอังคารที่ผ่านมาเมื่อมองจากภายนอกแม้ว่ามันจะดูแห้งแล้ง ไร้ชีวิตชีวาราวกับดาวเคราะห์ที่ตายไปแล้ว แต่ข้างในนั้นไม่ใช่
ดาวอังคารนั้นจัดว่ามีสภาพกึ่งกลางระหว่าง โลก และดวงจันทร์ ทั้งเรื่องขนาด ความหนาแน่นบรรยากาศ แรงดึงดูด สนามแม่เหล็ก ฯลฯ
ภาพเปรียบเทียบขนาดและโครงสร้างภายในของ โลก ดาวอังคาร และดวงจันทร์
ถ้าเปรียบเทียบกับโลก ดวงจันทร์นั้นก็เหมือนกับดาวเคราะห์ที่ตายไปแล้ว ไม่มีบรรยากาศ ไม่มีสนามแม่เหล็ก ไม่มีแผ่นดินไหว ทุกอย่างสงบนิ่ง
แต่ดาวอังคารนั้นยังมีบรรยากาศหลงเหลืออยู่บ้าง มีสนามเม่เหล็กเป็นหย่อม ๆ
และจากข้อมูลสำรวจล่าสุดจากยาน Insight บ่งบอกว่ายังมีแผ่นดินไหวบนดาวอังคาร
ยาน Insight Lander ถูกออกแบบมาเพื่อสำรวจถึงสภาพภายในของดาวอังคารตามชื่อของมัน ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2018 ด้วยจรวด Atlas V
ตัวยาน Insight Lander นั้นมีอุปกรณ์ตรวจวัดด้านวิทยาศาสตร์มากมายได้แก่
-กล้องถ่ายภาพ
-เครื่องตรวจวัดสภาพอากาศ (อุณหภูมิและความดันบรรยากาศ)
-เครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหว
-เครื่องตรวจวัดสนามแม่เหล็ก
-เครื่องตรวจวัดกระแสความร้อนใต้พิภพ (Heat Flow Probe)
อุปกรณ์มากมายบนยาน Insight Lander
โดยยาน Insight Lander นั้นลงจอดในบริเวณที่เรียกว่าที่ราบอีลีเซี่ยม (Elysium Planitia) เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2018
อยู่ไม่ห่างจากจุดลงจอดของยาน Curiosity
หลังจากเริ่มภารกิจมาได้เป็นเวลาเกือบปี วันนี้เราได้รู้อะไรเพิ่มเกี่ยวกับดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้บ้าง?
ภาพรวมภารกิจทั้งหมดของยาน Insight Lander
ก่อนหน้านี้เราคิดกันว่าดาวอังคารนั้นเป็นดาวเคราะห์ที่กำลังจะตาย นั่นคือเริ่มเย็นตัวจนหินเหลวภายในดาวหยุดการไหลวน จนทำให้สนามแม่เหล็กหายไป เหลือเพียงหย่อมเล็ก ๆ บางบริเวณ
สนามแม่เหล็กในปัจจุบันของดาวอังคารแทบไม่เหลือพอที่จะปกป้องชั้นบรรยากาศของมันได้
ทำให้พายุสุริยะเข้าพัดพาเอาบรรยากาศของดาวอังคารรวมถึงน้ำบนพื้นผิวหายไปเกือบหมด แล้วมันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า?
** ดาวอังคารยังคงมีแผ่นดินไหวอยู่ **
ไม่เหมือนกับดวงจันทร์ที่แสนสงบนิ่งดุจดาวที่ตายไปแล้ว
หลังจากตรวจกับแผ่นดินไหวได้ครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ก็มีการตรวจจับแผ่นดินไหวได้อีก 174 ครั้ง
อุปกรณ์วัดแผ่นดินไหวของ Insight Lander
โดย 150 ครั้งอยู่ในระดับเบาและเกิดขึ้นจากแรงสะเทือนที่สะท้อนไปมาในแผ่นเปลือกดาว
การสั่นไหวที่เกิดในแผ่นเปลือกจะสะท้อนไปมา แต่การไหวที่เกิดลึกลงไปคลื่นสั่นสะเทือนจะวิ่งตรงมายังอุปกรณ์วัดโดยตรง
อีก 24 ครั้งมีความรุนแรงขนาดแมกนีจูด 3-4 ใต้แผ่นเปลือกดาวลงไปในชั้นเมนทัล (ชั้นเนื้อดาว)
1
ซึ่งแผ่นดินไหวบนดาวอังคารนี้แตกจากจากโลกของเรา ที่เกิดจากกิจกรรมการไหลวนของหินหลอมเหลวใต้เปลือกโลกและการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก
กลไลการเปลี่ยนแปลงของแผ่นเปลือกโลกทำให้เกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดบนโลกเรา
กลับกันแผ่นดินไหวที่ตรวจจับได้บนดาวอังคารนั้นจัดว่าแผ่วเบา จนทำให้อนุมานได้ว่าเกิดจากการหดตัวจากการเย็นตัวลงของเปลือกดาว
นั่นคือดาวอังคารนั้นน่าจะเย็นตัวลงมากแล้ว โดยเมื่อเทียบขนาดกันแล้วดาวอังคารมีขนาดเล็กกว่าโลกครึ่งหนึ่งดังนั้นจึงเป็นธรรมดาที่จะเย็นตัวลงได้เร็วกว่าโลก
เปรียบเทียบขนาดของ ดวงจันทร์ ดาวศุกร์ โลก และดาวอังคาร
และผลการวิเคราะห์ข้อมูลแผ่นดินไหวยังทำให้ทราบได้ว่ามีน้ำอยู่ใต้ดินของดาวอังคาร แต่ก็ยังไม่อาจแน่ใจได้ว่ามีมากจนเป็นแหล่งน้ำใต้ดินหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ คือยังมีความชื้นหลงเหลืออยู่ใต้ดินของดาวอังคาร
ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงรอติดตามผลว่าจะยังมีการสั่นไหวที่เกิดจากภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่หรือเปล่า
** สนามแม่เหล็กที่วัดได้แรงกว่าที่คิดกัน **
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจมากกว่านั้นอีก นั่นคือการวัดความเข้มของสนามแม่เหล็กในบริเวณที่ยาน Lander จอดอยู่นั้นมีความเข้มกว่าที่เคยประเมินไว้จากการวัดด้วยยานสำรวจที่โคจรรอบดาวอังคาร
ความเข้มสนามแม่เหล็กรอบยาน Lander นั้นมีผลมาจากหลาย ๆ อิทธิพลภายนอกและแม้แต่ตัวยาน Lander เองในเวลาที่มีการขยับแขนกล
จากการตรวจวัดด้วยยานสำรวจที่โคจรรอบดาวอังคาร พบว่าดาวอังคารนั้นไม่มีสนามแม่เหล็กปกคลุมรอบดาวแบบโลกแล้ว เหลือเป็นหย่อม ๆ ในบางบริเวณ
ภาพเปรียบเทียบความเข้มสนามแม่เหล็กโลกกับของดาวอังคาร
แต่ผลตรวจวัดพบว่าความเข้มสนามแม่เหล็กบริเวณที่ยานอยู่นั้นมีความเข้มและเสถียรกว่าที่เคยประเมินไว้เป็น 10 เท่า
รวมถึงแร่แม่เหล็กที่อยู่ใต้ยาน lander ยังส่งอิทธิพลของสนามแม่เหล็กที่เกิดจากสนามแม่เหล็กของดาวอังคารในอดีตที่มีความแรงเท่า ๆ กับสนามแม่เหล็กโลกเลยทีเดียว
ซึ่งข้อมูลนี้น่าสนใจมากครับ เพราะทำให้ความหวังในการไปตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารสดใสมากขึ้น (ไม่ต้องสร้างบ้านที่ต้องกันรังสีอย่างหนักหน่วงอย่างที่คิดกัน)
** Dust Devils ลมหมุนบนดาวอังคาร **
ในภาพบนของการวัดสนามแม่เหล็กบนดาวอังคาร จะมีอิทธิพลหนึ่งที่รบกวนสนามแม่เหล็กที่วัดได้ก็คือ Dust Devils หรือลมหมุนบนดาวอังคาร
ซึ่งเจ้าลมหมุนนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อยบนดาวอังคาร ซึ่งก็มีผลต่อยานสำรวจเช่น ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนเบา ๆ ไปถึงหัววัดแผ่นดินไหว หรือการวัดสนามแม่เหล็ก
Dust Devils ถ่ายจากยานโรเวอร์
แต่นักวิทยาศาสตร์ก็มีวิธีหักลบผลของเจ้า Dust Devils ออกไป
และเจ้า Dust Devils ยังมีประโยชน์ในการช่วยเป่าฝุ่นที่เกาะทับถมบนยานสำรวจหลังจากโดนพายุทรายเข้าถล่มด้วย 😉
** งานต่อไปของ Insight Lander **
ยังมีงานสำรวจสำคัญอีกงานของ Insight Lander นั่นคือการติดตั้งอุปกรณ์วัดกระแสความร้อนใต้ดิน ซึ่งตอนนี้เกิดปัญหาอยู่
ภาพแสดงสภาพพื้นดินข้างใต้ยาน Lander
นั่นคือหัววัดติดไม่ยอมลงเข้าไปในช่องที่เจาะไว้ 😣
ติดแหงกแล้วจ้า
ซึ่งเจ้าหัว Probe นี้ออกแบบให้หย่อนลงไปใต้ดินประมาณ 1.2 เมตร แต่ตอนนี้ติดคาอยู่แค่ปากหลุมเอง
ชุดทดสอบการกดหัว Probe ในห้องทดลองของ NASA
ซึ่งทาง NASA พยายามแก้ปัญหาด้วยการเอาแขนกลกดลงไปนี่แหละครับ ก็รอดูผลต่อไปว่าจะเวิร์คมั้ย
และนี่ก็คือความคืบหน้าจากการสำรวจภายในดาวอังคารของยาน Insight Lander แน่นอนว่ายังคงมีข้อมูลใหม่ ๆ มาให้เราได้เข้าใจดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้มากขึ้นไปอีก ไว้จะคอย Update เรื่อย ๆ ครับ 😉

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา