18 มี.ค. 2020 เวลา 13:32 • ธุรกิจ
กลุ่มธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ที่รับผลกระทบจากภาวะ BANGKOK LOCKDOWN 14 วัน
เพิ่มขึ้นเป็น 212 รายแล้วสำหรับยอดผู้ติดเชื้อรวมสะสมของไวรัส Covid-19 ในประเทศไทย
หลังจากที่วันนี้ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโลกได้ออกมาแถลงว่าวันนี้ไทยเราตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 35 ราย (18 มีนาคม 2563) อย่างนี้ก็ต้องระมัดระวังกันให้มากแล้วนะครับกับความสะอาดในชีวิตประจำวันของเพื่อนๆทุกคน
นอกจากเรื่องของสุขภาพแล้ว เราวนกลับมาที่เรื่องของ “ปากท้อง” และเรื่องของเศรษฐกิจกันบ้าง ว่าเจ้าไวรัสตัวแสบตัวนี้ไปทำวุ่นวายอะไรไว้ที่ไหนยังไง
เดี๋ยววันนี้เราจะพาทุกท่านไปดูกันว่าในสถานะการณ์ที่มีโรคระบาดอย่างโควิดจนล่าสุดทางกรุงเทพมหานครต้องออกมาประกาศ Lockdown กันไปแบบนี้แล้ว
หุ้นกลุ่มไหนที่จะได้รับผลจะทบบ้าง ???
ต้องยอมรับเลยว่า Covid-19 หรือเจ้าเชื้อไวรัสที่มีจุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดมาจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีนในคราวนี้ กำลังสร้าง “แรงสั่นสะเทือน” ทางเศรษฐกิจของทั่วโลกให้ระส่ำระส่ายหนักมาก
เพราะหากดูตัวเลขล่าสุดของผู้ป่วยทั่วโลกนั้น จำนวนผู้ที่ติดเชื้อ Covid-19 นั้นมีอยู่มากถึง 199,309 ราย โดยเสียชีวิตไปแล้วถึง 7,994 ราย แต่ในขณะเดียวกันก็รักษาหายไปแล้วมากถึง 82,795 ราย
ซึ่งด้วยสาเหตุเหล่านี้ รวมไปถึงสถานะการณ์ยอดผู้ติดเชื้อในไทยที่ดูเหมือนจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ล่าสุดที่ประชุม ครม. ได้มีมติเห็นชอบให้สถานบริการ “หยุด” บริการเป็นเวลา 14 วัน โดยจะเริ่มมีผลวันนี้เป็นวันแรก
เรียกได้ว่า Covid-19 นั้นกำลังถูกเดินเกมส์รุกบ้างแล้ว จึงเป็นที่มาของการประกาศทำ Bangkok Lockdown ! กันในวันนี้
แน่นอนว่าคำว่า “ปิด” ทุกๆคนก็รู้กันอยู่แล้วว่านี่ดูไม่ค่อยดีเลยสำหรับธุรกิจกลุ่มบริการต่างๆ อย่างเช่นโรงหนัง ผับ ร้านนั่งชิล สปา ร้านนวดแผนไทย รวมไปถึงโรงเรียนที่ไม่ใช่สถานบริการก็โดนไปด้วยเช่นกัน
1. โรงหนัง (Cinema)
มาเริ่มกันที่ธุรกิจแรกที่น่าจะได้รับผลกระทบใน Bangkok Lockdown ในครั้งนี้กันก่อน ซึ่งธุรกิจ “โรงหนัง” ก็เป็นอีกสถานที่ที่โดนปิดนานถึง 14 วัน เนื่องจากโรงหนังนั้นเป็นสถานที่ปิดจึงอาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ง่ายขึ้น และหุ้นที่มีอยู่ในกลุ่มนี้ก็คือ MAJOR นั่นเอง
- MAJOR หรือบมจ. เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ผู้เล่นเบอร์ 1 ในอุตสาหกรรมโรงหนังของไทย
งานนี้ MAJOR ก็ต้องยอมปิดไปก่อนเพื่อสนับสนุนการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ซึ่งแน่นอนว่ามาตรการนี้กระทบกับรายได้ของบริษัทโดยตรง
เนื่องจากรายได้ของตั๋วหนัง, ขนม, เครื่องดื่ม และโบว์ลิ่งในช่วงนี้ก็จะต้องหายไปจากการ Lockdown รวมไปถึงการแพร่ระบาดของ Covid-19 ดังนั้น MAJOR จึงเป็นหุ้นที่เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของกลุ่มธุรกิจโรงหนัง ซึ่งในช่วง 2-3 เดือนนี้ก็น่าจะเป็นเดือนที่เหนื่อยไม่ใช่เล่น
2. ห้างสรรพสินค้า (Department Store)
อย่าลืมว่าธุรกิจอย่างห้างสรรพสินค้าก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งที่มีผู้คนอยู่มากมาย อีกทั้งสถานบริการต่างๆและร้านค้านั้นก็มีการรวมตัวกันอยู่ในห้างสรรสินค้าไทยซะเป็นส่วนใหญ่อีกด้วย และหุ้นในกลุ่มนี้ก็ได้แก่
- CPN หรือบมจ. เซ็นทรัลพัฒนา ประกอบธุรกิจพัฒนา-ให้เช่าพื้นที่ เป็นหุ้นเจ้าของห้างดังๆหลายแห่งเช่นเซ็นทรัล พลาซา, เซ็นทรัลเฟสติวัล, เซ็นทรัลเวิลด์ และ Central village เป็นต้น
- MBK หรือบมจ. เอ็ม บี เค เจ้าของห้าง MBK Center (ห้างมาบุญครอง)
- PLAT หรือบมจ. เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าและธุรกิจโรงแรม เป็นเจ้าของแพลทินัม แฟชั่นมอลล์ (ชั้น3-6 และ ชั้น11), โครงการเดอะ วอร์ฟ สมุย, โรงแรม โนโวเทล กรุงเทพ, แพลทินัม ประตูน้ำและโครงการ เดอะ มาเก็ต แบงคอก เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าธุรกิจกลุ่มนี้ต่างก็มีห้างสรรพสินค้าที่อยู่ในทำเลดีๆกันทั้งนั้น และรายได้จากการให้เช่าพื้นที่นี่แหละที่เป็นสิ่งสำคัญกับธุรกิจกลุ่มนี้ เพราะเพื่อนๆก็คงจะเห็นว่าในห้างนั้นต่างก็มีร้านค้ามากมายทั้งจากพ่อค้าและแบรนด์ที่มาเช่าพื้นที่
ดังนั้นก็จะเห็นได้ว่ารายได้จากค่าเช่า, จากคนที่มาใช้บริการสถานบันเทิง รวมไปถึงร้านอาหารนั้นต่างก็โดนผลกระทบจาก Covid-19 กันไปแทบทั้งสิ้น ทำให้หุ้นในกลุ่ม “ห้างสรรพสินค้า” ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่โดนไปเต็มๆ
3. จัดอีเว้นท์ (Event Organizer)
สำหรับธุรกิจกลุ่มนี้ก็ถือเป็นอีกกลุ่มนึงที่จะได้รับผลกระทบจาก Covid-19 และ Bangkok Lockdown ไปเหมือนกัน เนื่องด้วยการจัดนิทรรศการและอีเว้นท์ต่างๆในช่วงนี้ก็จะต้องโดนปิดไปก่อน
ส่วนรายได้หลักๆของธุรกิจกลุ่มนี้ก็จะมาจากค่าเช่าคล้ายๆกับห้างสรรพสินค้านั่นเอง ทำให้เมื่ออีเว้นท์และงานแสดงต่างๆโดนปิด รายได้หลักของกลุ่มนี้ก็จะต้องหายไปด้วย
- IMPACT หรือ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อิมแพ็คโกรท ทำธุรกิจลงทุนในกรรมสิทธิ์ของที่ดินและเป็นเจ้าของอาคารศูนย์แสดงสินค้า, การประชุมของ อิมแพ็คเมืองทองธานี ซึ่งรวมไปถึงระบบสาธารณูปโภคและอุปกรณ์ต่างๆด้วย
- BLAND หรือบมจ. บางกอกแลนด์ ผู้ประกอบธุรกิจด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย ธุรกิจอื่นของกลุ่มบริษัทประกอบด้วยธุรกิจค้าปลีก การให้บริการดูแลและบริหารอาคาร ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์และให้บริการและบริหารศูนย์นิทรรศการเอนกประสงค์
- K หรือบมจ. คิงส์เมน ซี.เอ็ม.ที.ไอ. ผู้รับออกแบบและก่อสร้างงาน Trade show รวมไปถึงเป็นผู้รับออกแบบโครงสร้างภายในให้กับธุรกิจอื่นๆในหลากหลายอุตสาหกรรม
4. โรงแรม (Hotel)
ลืมไปไม่ได้เลยสำหรับธุรกิจโรงแรม ธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว “โดยตรง” และแน่นอนว่า Covid-19 นั้นกำลังกัดกินวงการท่องเที่ยวอยู่อย่างหนักหน่วงในตอนนี้
- MINT หรือบมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ทำธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร (โรงแรมแมริออท, อนันตรา, ร้านก่ทอดบอนชอน, เดอพิซซ่า คอมปานี, ซิซเลอร์และสเวนเซ่นส์ เป็นต้น)
- CENTEL หรือบมจ. หรือบมจ. โรงแรมเซนทรัลพลาซา ผู้ดำเนินธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารเป็นหลัก (โรงแรมเซ็นทารา และร้าน KFC, มิสเตอร์โดนัท, อานตี้ แอนส์ เป็นต้น)
- ERW หรือบมจ. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป ผู้ดำเนินธุรกิจโรงแรมเป็นหลัก (โรงแรม JW Marriot, Novotel และ Hop INN เป็นต้น)
เชื่อว่าหุ้นในกลุ่มโรงแรมสามตัวเด่นๆนี้คงจะเป็นที่คุ้นหูและคุ้นตาเพื่อนๆนักลงทุนกันอยู่หลายคน สำหรับ MINT และ CENTEL นั้นก็จะถือว่าต้องมาลุ้นว่ายอด Delivery นั้นจะช่วยพยุงรายได้ให้กับบริษัทมากแค่ไหน เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนและไทยต่างก็ไม่กล้าที่จะไปเที่ยว ออกจากบ้านหรือจับจ่ายใช้สอย
5. บริการ (Service)
มากันที่ธุรกิจที่ชื่อก็บอกอยู่ว่าเป็นธุรกิจ “บริการ” ดังนั้น ธุรกิจสปา จึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ต้องเผชิญหน้ากับ Bangkok Lockdown
- SPA หรือบมจ. สยามเวลเนสกรุ๊ป ผู้เล่นเบอร์ 1 ในธุรกิจสปาที่ครบวงจรที่สุดของไทย (ระรินจินดา เวลเนส สปา, Let's Relax และ Baan Suan Massage เป็นต้น
เนื่องจากกลุ่มลูกค้าของ SPA นั้นมีสัดส่วนรายได้มาจากชาวต่างชาติถึง 75% ซึ่งเป็นคนจีน, ฮ่องกงและไต้หวันกว่า 55% จึงทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้ค่อนข้างจะได้รับผลกระทบเพราะมีรายจ่ายที่ตายตัวค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงต้องมาติดตามกันให้ดีสำหรับธุรกิจบริการที่จัดเป็นธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
6. โรงเรียน (School)
นอกจากสถานที่บันเทิงและสถานที่บริการต่างๆแล้ว “โรงเรียน” ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ถูกปิด เนื่องจากมีเด็กๆอยู่เป็นจำนวนมาก และในวันนี้เราก็มีหุ้นที่ทำธุรกิจโรงเรียนมาให้ดูกันหนึ่งตัว
- SISB หรือบมจ. เอสไอเอสบี ผู้ประกอบธุรกิจโรงเรียนนานาชาติจากหลักสูตรสิงคโปร์ ปัจจุบันเป็นเจ้าของโรงเรียนเอกชนอยู่ 5 แห่ง (โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์กรุงเทพฯ, สุวรรณภูมิ, ธนบุรี, เชียงใหม่ และโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์เอกมัย)
สำหรับหุ้นกลุ่มนี้ก็ถือเป็นอีกหุ้นที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 เช่นกันแต่ไม่หนักเท่าอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยล่าสุดทาง SISB ก็เพิ่งได้ออกมาแจ้งว่าไม่มีบุคลากรและนักเรียนคนใดที่ติดเชื้อไวรัส หลังจากที่ได้มีข่าวใหญ่ที่เพิ่งสร้างความแตกตื่นไปเมื่อไม่นานมานี้
เป็นยังไงกันบ้างกับหุ้นจาก 7 กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก Bangkok Lockdown ที่เป็นผลพวงมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบอย่าง Covid-19 ที่กำลังทำให้ระบบการเงินทั่วโลกโดยเฉพาะตลาดหุ้นนัเนได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ในโอกาสมีวิกฤติ และในวิกฤติก็ย่อมที่จะมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ ดังนั้นในช่วงที่อะไรๆก็ไม่เป็นใจเช่นนี้ ขอให้ทุกคนอย่าเพิ่งท้อใจกัน อดทนกันต่อไปและค่อยๆหาทางออกไปทีละนิดหน่อย ซึ่งแน่นอนว่ามันต้องใช้ความอดทน
สำหรับเรื่องราวที่อยากจะมาบอกเล่าในวันนี้ก็คงจะมีอยู่เพียงแค่นี้ ขอให้ทุกคนโดยเฉพาะชาวกรุงเทพฯนั้นระวังตัวและรักษาตัวให้อยู่รอดปลอดภัยกันให้ได้ในสถานะการณ์ลำบากเช่นนี้
เราจะสามารถผ่านมันไปได้ด้วยกัน และเชื่อเหลือเกินว่าหลังจากวิกฤติครั้งนี้ พวกเราทุกคนจะมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจที่แข็งแกร่งขึ้นได้อย่างแน่นอน เหมือนดังสำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า
“What doesn't kill you makes you stronger”
สวัสดีครับ
อีกหนึ่งช่องทางของเราใน App blockdit
กดมาเลย
ฝากติดตามพวกเราด้วยนะครับ 🙏🙏
โฆษณา