20 มี.ค. 2020 เวลา 13:03 • ธุรกิจ
ผมเพิ่งไปพบญาติที่ทำร้านกาแฟอยู่เชียงใหม่มาเมื่อช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อน สถานการณ์ย่ำแย่เอาพอตัว จากเดิมที่เชียงใหม่ในช่วงหน้าร้อนนั้นจะมีปัญหาฝุ่นควัน ปัญหาไฟไหม้ป่า เผาป่ากันจนค่า PM2.5 พุ่งจนขึ้นไปถึงตัวเลข 200-300 ทุกๆปีอยู่แล้ว (ล่าสุดนี้เหมือนจะเคยพุ่งทะลุเกิน 400 เพราะภัยทางธรรมชาติอีกด้วย)
ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วง Low season ผู้คนหนีอากาศร้อนและฝุ่นควันไปอยู่จังหวัดอื่นกันหมด (ใครมาเชียงใหม่บ่อยๆคงพอทราบว่า ถ้าไม่ใช่เดือนธันวาคมหรือต้นมกราคม เชียงใหม่นั้นร้อนไม่น้อยหน้ากรุงเทพฯ หรือแถบๆปทุมธานีที่ต้นไม้น้อยๆกันเลยทีเดียว)
1
พอมีสถานการณ์ไวรัสแพร่ระบาดในไทยเพิ่มขึ้นมาจนทางส่วนกลางออกประกาศเตือนทางสาธารณสุขถึงมาตรการการปิดสถานบริการแห่งต่างๆไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา สถานบันเทิง โรงยิม ร้านสปา ร้านนวด ร้านคาราโอเกะ โรงหนัง ไปจนถึงถนนคนเดิน (ซึ่งทางผู้ว่าฯเชียงใหม่ก็ออกมารับลูกแล้วเมื่อ 2 วันก่อน)
ตอนนี้สถานประกอบการในเชียงใหม่เลยค่อนข้างย่ำแย่โอดครวญไปหลายแห่ง เพราะต้องปิดสถานประกอบการตัวเองไปชั่วคราวประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคภายในพื้นที่สาธารณะและภายในชุมชน ผมไม่ค่อยอยากและไม่สนับสนุนให้ใช้คำพูดในเชิงซ้ำเติมว่า “เชียงใหม่เป็นเมืองปราบเซียน”
เพราะในหลายๆครั้งผู้ประกอบการ หรือนักลงทุนหลายๆรายคงคิดประเมินกันมาก่อนหน้าแล้วว่าหากต้องการจะลงทุนในตลาดเชียงใหม่นั้นจะมีโอกาสเติบโตในทิศทางแบบใด ซึ่งแน่นอนไม่มีใครคิดฝันว่า COVID-19 จะสร้างผลที่ร้ายแรงอะไรขนาดนี้ (ขนาดฝุ่นควัน PM2.5 มีมาทุกปียังไม่เคยทำให้เชียงใหม่เงียบขนาดนี้เลย)
แต่ปีนี้มันรุนแรงมาก ปกตินักท่องเที่ยวชาวจีนมักไม่เคยกลัว หรือหวั่นอะไรกับ PM2.5 และภัยพิบัติด้านไฟป่า (ไฟไหม้เชียงใหม่ในหลายๆดอย ทุกปี อย่างล่าสุดผมเพิ่งไปดอยผ้าห่มปก ดอยหลวง ไปฝางแถบๆชายแดนไทย-พม่ามา ทุกๆแห่งมีกลิ่นควันไฟกันหมด แม้กระทั่งตอนกลางคืน)
พอภัยเรื่องโรคระบาดเริ่มก้าวไปถึงจุดที่ควบคุมไม่ได้ภายในจีนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์จนถึงต้นมีนาคมที่ผ่านมา มีนโยบายการปิดพรมแดน การปิดล็อคเมืองภายในอู่ฮั่น การเพิ่มมาตรการทางสาธารณสุขภายในจีน จนนักท่องเที่ยวชาวจีนหลายคนออกมาท่องเที่ยวไม่ได้
ปัญหาหลักใจกลางเลย คือ เชียงใหม่นั้นพึ่งพานักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมานานนับ 10 ปี สังเกตได้จากสถิติการบินเข้าเชียงใหม่ก็ได้ ช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านๆมามีขาเข้ากันประมาณวันละ 2,000-3,000 คนต่อวัน และคนในแถบๆถนนนิมมานฯและตลาดวโรรสจะเยอะมาก
แต่ช่วงที่ผ่านมานั้นนิมมานฯเงียบสุดๆ ผมไปนั่งอยู่ร้านกาแฟแถว One Nimman เพื่อสังเกตการณ์ดูสถานการณ์ของร้านรวงที่คนจีนนิยมไปเที่ยว ไปช็อปปิ้งกัน ตั้งแต่เช้ายันเย็น ร้านที่คนจีนนิยมมาเหมาสินค้ากลับประเทศกันอย่างร้านกระเป๋าแฮนด์เมดแห่งหนึ่งแทบไม่มีนักท่องเที่ยวจีนเลย
ปกติย่านนิมมานฯจะมีคนจีนเดินกันเต็มถนนตั้งแต่ 8-9 โมงเช้า เป็นกลุ่มใหญ่ๆตลอดเวลา ช่วงนี้มีเดินกันเป็นหย่อมๆผมนั่งนับหัวดูตอนสายๆประมาณ 2 ชั่วโมง มีนักท่องเที่ยวจีนเดินกันไม่ถึง 20 คน ส่วนตลาดวโรรส (คนที่นี่เขาเรียกกาดหลวงกัน) ยิ่งแย่ไปใหญ่
ใครที่ชอบมาเหมาเสื้อผ้า หรืออาหารไปขายต่อจากที่ตลาดแห่งนี้น่าจะได้ยินกิตติศัพท์กันดีว่าเป็นเหมือนแหล่งชุมชนของนักท่องเที่ยวจีนอีกแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ นั่นขนาดวันเสาร์อาทิตย์นะ คนเงียบกันมาก รถก็ไม่ติด ที่จอดไม่เต็มเหมือนอย่างเคย ไปกินร้านปาท่องโก๋รูปไดโนเสาร์ก็ไม่ต้องต่อคิว
คนขับรถแดงนั่งตบยุง ร้านอาหารหลายร้านขายอาหารไม่หมด ร้านข้าวแกงบางร้านที่คนนิยมไปกิน ปกติบ่ายสองก็ขายอาหารหมดแล้ว ช่วงนี้ 5 โมงเย็นยังขายได้ไม่กี่จานเลย เพื่อนของเพื่อนที่ทำร้านนวด (นวดแผนโบราณนะ ไม่ใช่อาบอบนวด) ก็แทบจะต้องเลิกจ้างพนักงานไปเลย
เพราะไม่รู้ว่านักท่องเที่ยวจีน และลูกค้ารายอื่นๆจะกลับมากันอีกเมื่อไร หลายๆคนที่ทำร้านอาหารต้องลดพนักงานลง เด็กนักศึกษาหลายคนถูกเลิกจ้าง (ไม่ต้องอะไรหรอก ขนาดเด็กๆมหาวิทยาลัยที่ฝึกงานกันอยู่ตามองค์กรต่างๆตอนนี้ยังถูกพักเรื่องฝึกงานกันดื้อๆเลย ทั้งๆที่ยังฝึกงานไม่จบ)
ตอนนี้ห้างร้านหลายๆแห่ง ไม่ว่าจะร้านอาหาร หรือร้านประกอบการอะไรอื่นๆเริ่มทยอยเลิกจ้างกันแล้ว เพื่อนผมที่ทำร้านกาแฟกับโรงแรมก็มีแผนที่จะเลิกจ้างลูกน้องบางส่วนออกแล้ว เพราะยอดจองโรงแรมไม่เต็ม ขนาดปกติมันเอาห้องเข้าระบบ Airbnb และ Bookings ไปแล้วนะ ยอดจองช่วงนี้ยังได้ไม่ถึง 10 วันเลย
ที่เชียงใหม่ (และคิดว่าที่อื่นก็น่าจะคล้ายๆกัน) อุตสาหกรรมโรงแรมรายย่อยมักจะพึ่งพาตลาดของ Airbnb ซึ่งพฤติกรรมผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวนั้นเน้นเช่าระยะยาวเป็นเดือนมากกว่าตลาดโรงแรม เลยทำให้โรงแรมขนาดเล็กและรายย่อยที่เชียงใหม่ขายห้องออกง่าย สำหรับกลุ่มลูกค้าที่นิยมการมาโฮมสเตย์หรือพักร้อนระยะยาว
คนรู้จักหลายคนที่เคยทำธุรกิจงานยุ่งทั้งวันเพราะมัวแต่รับลูกค้าและกลุ่มทัวร์ตอนนี้เริ่มพากันออกมาขับ Grab ขับ FoodPanda ส่งอาหารหารายได้เสริมกันแล้ว ผู้ใหญ่ที่รู้จักกันท่านหนึ่งเมื่อก่อนร้านเคยเปิดรับลูกค้าทั้งรอบกลางวันและกลางคืน ถึงเป็นช่วง Low season ก่อนหน้านี้ถึงคนไทยไม่มาเที่ยวก็ยังมีทัวร์จีนมาลงตลอด
ล่าสุดต้องปิดยกเลิกรอบกลางคืน เพราะไม่มีทั้งลูกค้าจีนและลูกค้าต่างชาติ หรือคนไทยเข้ามาอุดหนุนเลย จริงๆจะบอกว่ามันเป็นผลกระทบมาจากเศรษฐกิจชะลอตัวมาก่อนหน้านี้ทั่วโลกที่ต้องเตรียมตัวรับมือกันแต่แรกก็ถูก แต่เรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสนี้ไม่ว่าใครก็คงไม่ได้เตรียมตัวกันมาก่อนอยู่แล้ว
ถือว่ากระทบกันทั่วหน้า คนทำธุรกิจ ห้างร้านที่เชียงใหม่นี้หลายๆคนเริ่มท้อ ตอนนี้ที่ไทยเราสถานการณ์ไวรัสช่วงหลังๆนี้มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นวันละ 30-40 คน ถือว่ายังไม่ถึงจุดพีคของการแพร่ระบาดนะ อันนี้ไม่แน่ใจว่าของไทยนั้นจะถึงจุดพีคแบบที่อู่ฮั่นเมื่อช่วงปลายกุมภาพันธ์ และที่อิตาลีช่วงต้นมีนาคมเมื่อไร
ความเป็นไปได้หลังจากนี้คือ ผู้ประกอบการ ห้างร้าน ร้านค้าอะไรต่างๆน่าจะต้องเตรียมรับกับผลกระทบทางเศรษฐกิจของการปิดสถานประกอบการชั่วคราวไปอีกพักใหญ่ๆ (โดยเฉพาะในกรณีที่หลังจากปิด 14 วันตามมาตรการที่รัฐบาลออกมาแถลงแล้วสถานการณ์มันยังไม่ดีขึ้น)
หลายธุรกิจตอนนี้น่าจะเต็มกลืนกันแล้ว หากมีมาตรการปิดสถานประกอบการชั่วคราวในระยะเวลาที่เกิน 14 วัน ขึ้นมา อาจมีธุรกิจห้างร้านรายย่อยและกลางหลายๆราย ที่จะต้องล้มเพราะหมุนเงินไม่ทันแน่ๆ
ขนาดแค่ช่วงเริ่มต้นของการขยายกรอบมาตรการทางสาธารณสุขตอนนี้หลายๆบริษัทที่ว่าให้ Work from home นั้นมีการตัดเงินเดือนออก 30-40% กันแล้ว บางอุตสาหกรรมก็พบกับการ Non-paid Leave หรือหยุดงานไม่มีรายได้มาให้เห็นกันแล้ว เพราะได้รับผลกระทบจากมาตรการทางสาธารณสุข
สำหรับจังหวัดอื่นอาจจะยังไม่ค่อยเห็นชัดเพราะไม่ใช่หัวเมืองทางเศรษฐกิจแบบเชียงใหม่ แต่เชียงใหม่ตอนนี้ค่อนข้างชัดเจนน่าดูครับ เจอทั้งฝุ่นควัน PM2.5 ทั้งไฟป่า ทั้งโรคระบาดที่กระทบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นหัวใจหลักของเชียงใหม่รวมๆกันกลายเป็นวิกฤติที่แย่กว่าปีก่อนๆเลยก็ว่าได้
จากที่ถามไถ่กันมา หลายๆคนเริ่มหมดหวังและกังวลกันมากว่าการแพร่ระบาดในไทยจะกินระยะเวลาไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งถ้าเป็นอย่างจริงๆ หลายๆคนที่อยู่ในส่วนงานที่เกี่ยวข้องก็คงต้องเตรียมตัวและความพร้อมกันให้มากๆ อาจมียอดคนตกงาน หรือธุรกิจเจ๊งเพิ่มมากขึ้นทั้งเชียงใหม่และในจังหวัดอื่นๆที่ได้รับผลกระทบหนักๆจากไวรัส
ถือเป็นกรณีศึกษาจากเชียงใหม่ที่น่าสนใจ คิดว่าจังหวัดอื่นๆคงเห็นผลกระทบตามมาในไม่ช้านี้
โฆษณา