22 มี.ค. 2020 เวลา 01:03 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
แนวทางการรักษาที่ใช้จริงสำหรับโควิด-19
และยาที่ปรากฎในแนวทางการรักษานี้
(ฉบับเข้าใจง่าย...หรอ)
**การรักษาปรับเปลี่ยนไปตามแต่ละบริบท เนื่องจากยาส่วนใหญ่ไม่มีผลการทดลองที่แน่ชัด**
จะเห็นว่าป่วยน้อยจะให้หรือไม่ให้ยาก็ได้ และให้เพียงระยะสั้นๆ
จะมีการตรวจเลือด เกี่ยวข้องกับผลข้างเคียงของยา ผลปอดจากเอ็กซเรย์ปอด และตามเชื้อดูว่าหมดหรือยัง
ยาที่ใช้สำหรับโรคโควิด-19
1. Hydroxychlroquine และ Chloroquine เป็นยารักษาโรคไข้มาลาเรีย จากโปรโตซัวชื่อพลาสโมเดียม และใช้ปรับภูมิรักษารูมาตอยด์ ลูปัส (โรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง)
หลักการในการสู้เชื้อ SARS-CoV ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อโรค SARS ที่มีหน้าตาคล้ายกับ SARS-CoV-2 ที่ก่อโรค COVID-19 อย่าสับสนนะ! คือ มันจะเพิ่มด่างภายในถุงในเซลล์ทำให้ถุงเหล่านั้นที่มีไวรัสตัวน้อยไม่ถูกปล่อยออกนอกเซลล์ และปรับแต่งตัว ACE-2 ซึ่งเป็นตัวรับกับเชื้อที่จะเข้าเซลล์ และก็ยังปรับแต่งโปรตีนหนามบนมงกุฎของเชื้ออีกด้วย
ทั้งหมดเป็นการทดลองในหลอดทดลองและจานเพาะเชื้อ มีการทดลองในคน 23 งานวิจัยที่ยังไม่เสร็จ
2. Darunavir/ritonavir และ Lopinavir/ritonavir
สองตัวนี้เป็นตัวยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส หรือเอนไซม์ที่ใช้ตัดโปรตีนอีกทีหนึ่งของเชื้อไวรัสเอชไอวีที่ก่อให้เกิดโรคเอดส์ กลไกของมันให้ลองจินตนาการว่าไวรัสมันหล่ออวัยวะของมันขึ้นมาเป็นแผงชิ้นส่วนหุ่นกันดั้ม มันจะต้องตัดเอาชิ้นส่วนหัว ขา ตัวมาจากแผงพลาสติกอันนั้น มันจะใช้เอนไซม์โปรตีเอสนี่แหละในการตัด หลักการเดียวกันนี้จึงนำยานี้มาใช้กับ MERS (ตระกูลโคโรน่าอีกตัว ที่มาจากอูฐ อัตราตายสูงมาก) และ SARS-CoV-2 ของเรา
ยาตัวนี้อยู่ในสูตรยาของโรงพยาบาลราชวิถีที่ออกมาประกาศว่าค้นพบสูตรการรักษาแล้ว! เมื่อเดือนก่อน โดยใช้ยา Lopinavir/ritonavir ร่วมกับ Oseltamivir ทดลองในผู้ป่วยจำนวน 1 คนถ้วน
ที่ประเทศจีนโดยหมอเชาและทีมได้เริ่มทดลอง open-label randomized controlled trial (RCT) แปลว่าทดลองสองกลุ่มเทียบกันแบบสุ่ม โดยคำว่า open-label เป็นชื่อเก๋ๆ ไว้บอกว่างานนี้ไม่ได้ Blind นะครับทุกคน ทั้งคนไข้และหมอรู้ว่าใครได้ยาอะไร
งานวิจัยทำกับคนไข้ 160 คนที่มณทลเหอเป่ย สุดท้ายเกณฑ์มาได้ 199 คน ความรุนแรงหลากหลายระดับตั้งแต่ไม่ใส่ออกซิเจน ไปจนถึงใช้เครื่องทดแทนปอดและหัวใจ (ECMO) พบว่าผลไม่น่าพึงพอใจนัก ไม่ได้ลดจำนวนวัน แต่แสงสว่างริบๆว่าลดการตายได้นิดนึง
เผื่อสงสัยว่าทำไมยาต้องมี 2 ตัว Lopinavir/ritonavir ใช้ Lopinavir ตัวเดียวไม่ได้หรือ? คือตัว ritonavir เอามาให้คู่กัน เพื่อเพิ่มปริมาณยา Lopinavir ให้สูงขึ้น เพราะ ritonavir จะไปยับยั้งเอนไซม์ที่ใช้ย่อย Lopinavir ในตับยังไงล่ะ! ผลข้างเคียงก็ตับอักเสบไง เลยต้องตรวจตับด้วย (LFT=liver function test)
และถ้าจะให้ยาตัวนี้ คนไข้ทุกคนถึงต้องตรวจ HIV ก่อน เพราะถ้าติดเชื้อเอชไอวีอยู่ การกินยาตัวเดียวจะทำให้เชื้อดื้อยาได้ ปัจจุบันสูตรทั่วไปของเอชไอวีต้องกินยาสามตัว
ไปดูยาตัวถัดไปที่จะเป็นพระเอกของเรื่องนี้ดีกว่า
3. Favipiravir
ตัวนี้เก็บไว้เป็นอาวุธลับ ถ้ามีอาการหนักถึงควักเอามาใช้ จากคำสั่งแพทย์ด้านบน ผู้ป่วยต้องมีออกซิเจนในเลือดต่ำ (SpO2 <94% คนปกติก็ 99-100%) ใส่ High flow nasal canula, Non-invasive ventilator, Mechanical ventilator หรือพูดง่ายๆว่าใส่ท่อช่วยหายใจนั่นเอง
ทำไมถึงเก็บไว้เป็นอาวุธลับขนาดนี้
ประเทศเรามีสต๊อกไว้แค่ 50,000 เม็ด พอสำหรับผู้ติดเชื้อแค่ 3,000 คน ถ้ามีอาการน้อย ให้ไปก็ดูไม่คุ้ม แต่ถ้าให้ช้าไปก็จะกลายเป็นรักษาไม่ทัน! แล้วเกณฑ์ที่ควรให้เมื่อไหร่ นั้นขึ้นกับหมอแล้วล่ะ
“We’ve given Avigan to 70 to 80 people, but it doesn’t seem to work that well when the virus has already multiplied,” the source told the Mainichi Shimbun.
"เราให้ยาไป 70-80 คน แต่ดูผลไม่ค่อยจะดีถ้าไวรัสมันแบ่งตัวมีจำนวนเยอะๆแล้ว"
อ้อ ตัวนี้มีชื่อการค้าที่ทุกคนรู้จักกันดีว่า Avigan ผลิตโดยบริษัท Toyama ที่มีบริษัท Fujifilm เป็นบริษัทแม่ (น่าจะเปลี่ยนชื่อบริษัทนะ แบบได้ยินแล้ว ห้ะ อะไรนะ กล้องถ่ายรูปเกี่ยวอะไรกับยา แต่บริษัทนี้แหละที่ชอบกอบกู้โลก)
Favipiravir เน้นโจมตี RNA virus โดย RNA คือรหัสสารพันธุกรรมชนิดหนึ่ง ปกติสำหรับคนจะเริ่มจาก DNA แปลงเป็น RNA แล้วแปลงเป็นโปรตีน แต่เจ้าพวกนี้ไม่มี DNA ข้ามมาเป็น RNA แล้วแปลงเป็นโปรตีนเลย
แรกเริ่มเดิมทียาตัวนี้ถูกสร้างมาเพื่อฆ่าไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยตัวมันจะเข้าไปยับยั้งเอนไซม์ที่ใช้สร้าง RNA (RNA-dependent RNA polymerase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สำคัญสำหรับสร้างลูกหลานไวรัส โดยได้อย.ญี่ปุ่นรับรองตั้งแต่ปี 2014 เพื่อใช้สู้ไข้หวัดใหญ่ระบาดรุนแรง สงสัยหลอนจากไข้หวัดใหญ่ 2009 ตอนนั้นมีคนติดทั้งโลกจำนวน 1 พันล้านคน (ฟังไม่ผิดครับ 1 พันล้านคน) และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 5 แสนคน (ใช่ครับ 5 แสนคน!) แต่ตอนนั้นไม่มีคนกลัวโรคนี้เลย น่าจะมาจากโซเชียลมีเดียที่ยังไม่บูม
แล้วเขาก็ลองนำยาตัวนี้มาลองใช้กับ SARS-CoV-2 ของเรา
หน้าตาอันเรียบง่ายของ Favipiravir
หน้าตามันดูบ้านมากๆจนนักวิจัยหลายคนคิดว่าเราน่าจะผลิตเองได้ จากการผสมน้ำตาล เครื่องเทศ สารพัดของกุ๊กกิ๊ก .... ใช่หรอ
ของจริงคืออันนี้
อะแฮ่ม... เมื่อถามว่าจะผลิต ต้องถามคำถามแรกว่า เอาเงินจากไหน?
ตัวมันเองไม่ได้ออกฤทธิ์ ต้องผ่านกระบวนการเมตาบอลิซึมก่อนถึงจะออกฤทธิ์ได้ จะเรียกยาที่ไม่ออกฤทธิ์ทันทีว่า Prodrug โดยมันจะถูกเอนไซม์ต่างๆเติมน้ำตาลไรโบสและหมู่ฟอสเฟตอีกสามตัว จะเรียกสารที่ออกฤทธิ์ได้นี้ว่า Favipiravir-RTP หน้าตาเหมือนอะไรหว่า??
หน้าตาเหมือนตัวนี้ไง Cytidine triphosphate หรือเราจะเรียกมันสั้นๆว่าเบส C จากเบสสี่ตัว A,T,C,G ที่ประกอบเป็นดีเอ็นเอ หรือ A,U,C,G ที่ประกอบเป็นอาร์เอนเอ! โดยเบส C,T, และ U เรียกว่าพิวรีน (purine) หน้าตาจะคล้ายๆกัน ส่วน A และ G จะเรียกว่าไพริมิดีน (Pyrimidine)
Cytidine triphosphate
และนี่เองอาจเป็นกลไกของยาที่เข้าไปยับยั้ง RNA polymerase เพราะหน้าตามันเหมือนเบสที่ไว้ใช้สร้าง RNA อย่างไรล่ะ ลองจินตนาการว่า RNA polymerase เป็นช่างก่ออิฐ และกำลังเลือกอิฐสี่ตัว A, U, C, G มาก่อ แต่ตัว favipiravir-RTP ดันหน้าตาเหมือนอิฐที่ใช้เลยเอามาก่อแทน อิฐตัวนี้มีคุณสมบัติพิเศษ มันทำให้คนก่ออิฐตาย! (เปรียบเทียบได้สมเหตุสมผลมากๆเลย)
pixabay
สุดท้ายยาจะถูกย่อยด้วยเอนไซม์ต่างๆแล้วขับทางปัสสาวะ ตัวยามีผลข้างเคียงคือทำให้ยูริกสูง เป็นโรคเกาต์ โรคเกาต์เนี่ยเกิดจากการกินอาหารที่มีพิวรีนสูง (จำพิวรีนได้ใช่ไหมบอกไปด้านบน) เช่น เบียร์ เนื้อแดง เครื่องในสัตว์ โดยกลไกของยาที่ทำให้กรดยูริกสูงไม่ทราบแน่ชัด ผมเดาล้วนๆว่าน่าจะเป็นเพราะตัวยาไปแย่งกรดยูริกตอนขับออกที่ไต ยูริกจึงถูกขับออกที่ไตลดลง แต่ช่าง...มันสิ ปวดเกาต์ไม่ตาย แต่ติดเชื้อถึงตายได้นะเฟ้ย!!!
ลืมบอกสิ่งสำคัญที่สุดว่ายานี้เวิร์คไหมกับผู้ป่วยจริง
งานวิจัยของ Qingxian Cai and friends ตีพิมพ์เมื่อสี่วันที่แล้ว ทดลอง open-label RCT โดยทดลองสองกลุ่ม กลุ่มแรก 35 คน ได้ Favipiravir อีกกลุ่ม 45 คน ได้ยาตัวอื่น พบว่ากลุ่มได้ Favipiravir ใช้เวลากำจัดไวรัสเพียงแค่ 4 วัน (2.5-9) ขณะกลุ่มควบคุมใช้เวลาถึง 11 วัน (8-13) และภาพรังสีปอดของกลุ่มได้ยา Favipiravir ดีขึ้นถึง 93% เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ดีขึ้นแค่ 62% ผลดูดีเลยทีเดียว แต่จำนวนที่ทดลองน้อยไปหน่อย
สำหรับ paper RCT ยา favipiravir
มีข้อสังเกตเล็กๆกับ acetylcysteine (NAC) ที่กินเป็นยาละลายเสมหะ หลายคนอาจเคยกิน มีแบบเม็ดละลายน้ำฟู่และแบบผงในซอง ใช้รักษาคนไข้ที่กินยาพาราเกินขนาด ช่วยละลายเสมหะ บางคนเอาไปกินร่วมกับวิตามินซีช่วยให้ผิวขาว
มีงานวิจัยเกี่ยวกับอาหารเสริมบ่งชี้ว่าตัว NAC ยังอาจมีฤทธิ์ฆ่า RNA virus ได้อีกด้วย มีงานวิจัยเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ พบว่าหนูที่กิน NAC ตายครึ่งหนึ่งของหนูที่ไม่ได้กิน โดยผลอาจจะมาจากหลอดลมดี เสมหะโล่ง หรืออาจเป็นฤทธิ์ฆ่าไวรัสก็เป็นได้ อีกงานพบว่าเพิ่ม IFN-alpha ที่ใช้ฆ่าไวรัส
NAC เป็นยาที่ราคาไม่แพงและผลข้างเคียงน้อยมากๆ
โฆษณา