22 มี.ค. 2020 เวลา 11:00 • กีฬา
“ขอให้พวกผมเป็นกลุ่มสุดท้าย” คำบอกเล่าของผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากสนามมวย
เซียนมวย เป็นอาชีพที่ถูกสังคมวงกว้างกล่าวถึง หลังพบว่า คนกลุ่มนี้มีการติดเชื้อโควิด-19 ไม่ต่ำกว่า 100 ราย
ตัวเลขที่สูงจนน่าตกใจ ทำให้ผู้คนทั่วไปในสังคม ต่างหวาดหวั่น และวิตกกับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 จากเดิมที่ดูทำท่าว่า ยอดผู้ติดเชื้อทรงตัวไม่เพิ่มขึ้นมาก กลับกลายเป็น มีตัวเลขพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
“หนุ่ม บางกระดี่” ศรัณวุฒิ ธีระสูตร์ คือ เซียนมวยชื่อดังคนแรกๆ ที่เข้าสู่กระบวนการรักษาในโรงพยาบาลฯ เขายินดีที่เปิดเผยข้อมูลอีกด้านจากประสบการณ์ตรงให้สังคมรับรู้ ผ่านทาง Main Stand
ด้วยความหวังที่อยากเห็น “บุคคลจากวงการมวย” เป็น คนกลุ่มสุดท้ายของสังคมไทย ที่ต้องติดเชื้อโควิด-19
ไม่คิดว่าจะเป็น ?
“ผมติดตามข่าวเกี่ยวกับ โควิด-19 มาตลอด แต่ไม่ได้วิตกอะไร เพราะเคยสอบถามคุณหมอที่เวทีมวย ท่านก็บอกว่า โรคนี้ไม่ได้ติดกันง่ายๆ แต่ตัวผมประมาท ไม่ค่อยระวังตัวเอง ไม่ได้ป้องกัน เพราะไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นโรคนี้”
Photo : หนุ่ม บางกระดี่
ศรัณวุฒิ ที่ประกอบอาชีพมวยหู ผู้ให้บริการแจ้งราคาต่อรอง สภาพแวดล้อมในเวทีมวย แก่สมาชิกที่สมัครกล่าวเริ่มกับ Main Stand ก่อนเล่าต่อถึงเหตุการณ์ต่อมา ที่ทำให้เขาได้รับเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ร่างกาย
“ในวันนั้น (6 มีนาคม) ผมยืนอยู่ในจุดเสี่ยง ระหว่างล็อก 2 กับล็อก 3 ซึ่งเป็นพื้นที่เซียนมวยมักไปยืนอัดกัน เพราะสามารถเล่นพนันได้ทั้งสองล็อก หลังจากนั้น วันจันทร์ ผมเริ่มมีไข้ รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว ทีแรกคิดว่าอาจเป็นเพราะผมดูบอล นอนดึก ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ เลยไม่สบาย ก็ไม่ได้คิดอะไร”
“พอตกกลางคืน ผมมีไข้สูง ตัวสั่น หนาว อาการไม่ไหวแล้ว ก็บอกให้แฟนพาไปโรงพยาบาล ตอนนั้นก็ยังคิดว่าคงเป็น ไข้หวัดใหญ่ จนผ่านไป 1-2 วัน เริ่มเห็นข่าวว่า มีเซียนมวยตรวจเจอโควิด-19 ผมก็เลยขอ คุณหมอ ให้ตรวจหาเชื้อไวรัส ปรากฏว่าผมเป็น”
Photo : Lumpinee Boxing Stadium
แม้ว่าทางเวทีมวยลุมพินี และผู้จัดฯ ได้มีการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อภายในสนาม ก่อนวันดังกล่าว ไปจนถึงการตรวจวัดไข้
แต่ก็ยังมีผู้ที่มีเชื้อในตัว ผ่านการคัดกรองเข้าไปในเวที แพร่เชื้อออกมา จนเหล่าเซียนมวยจำนวนมากได้รับไวรัสตัวนี้เข้าไป
ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่พบ เซียนมวยจำนวนมาก ติดเชื้อโควิด-19 มาจากการที่ บรรดาเซียนมวย ผู้ถูกตรวจพบค้นพบกลุ่มแรกๆ แสดงตัว และออกมาแจ้งเตือน ให้คนรอบข้างและผู้ที่อยู่ในข่ายเสี่ยงที่เข้าสนามมวย ในห้วงเวลาดังกล่าว รีบกักตัว หรือไปตรวจเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด นั่นเอง
สัปดาห์แห่งความทรมาน
“7 วันแรกที่อยู่ในการรักษา เป็นสัปดาห์ที่ผมทรมานสุดในชีวิต ผมไอจนเจ็บหน้าอก กินก็ไม่ได้ แค่อาหารเข้าปากก็อ้วกออกมาทันที ร่างกายทรุดโทรมเรื่อยๆ สภาพจิตใจย่ำแย่ เพราะต้องอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมคนเดียว ไม่ได้เห็นหน้าใครเลย แม้แต่พยาบาล ก็สวมชุดเหมือน นักบินอวกาศเข้ามาตรวจผม”
“ที่สำคัญผมป่วยเป็นโรคที่ยังไม่มียารักษาออกมา คุณหมอก็ให้กินยาต้านไวรัส HIV จำนวน 7-8 เม็ด ซึ่งผลข้างเคียงของมันรุนแรงมาก กัดกระเพาะ”
Photo : หนุ่ม บางกระดี่
ศรัณวุฒิ ยอมรับว่า นี่เป็นการเจ็บป่วยที่ทุกข์และทรมานมากสุดของตนเอง เพราะนอกจากสภาพร่างกายที่แย่ลงแล้ว สภาพจิตใจของเขา ก็มีความวิตกกังวลมากมาย โดยเฉพาะเป็นห่วงที่มีต่อ ภรรยา และลูกน้อยที่เพิ่งคลอดมา ที่ต้องเฝ้าระวังอาการ อยู่ที่บ้านด้วย
ในเวลาต่อมา ศรัณวุฒิ เริ่มมีอาการดีขึ้น หลังจากได้รับประทานยาต้านไวรัส โควิด-19 ที่ส่งมาจากประเทศจีน ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม แต่เขาก็ยังไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหน กว่าที่ตนจะได้ออกจากโรงพยาบาล ไปใช้ชีวิตอย่างคนปกติ
“ลูกผมเพิ่งคลอดมาได้ไม่นาน แต่ผมกับไม่สามารถเจอใครได้เลย ปกติผมไม่ชอบแสดงความอ่อนแอให้เห็น บางครั้งผมเปิดดูคลิปลูก ผมร้องไห้ออกมา เพราะคิดถึงลูกมาก มันเป็นความรู้สึกที่ไม่สามารถเก็บ หรือกดมันไว้ได้ ต้องระบายมันออกมา” คุณพ่อลูกอ่อน เล่าถึงสิ่งที่อยู่ในใจ
ขอเป็นคนกลุ่มสุดท้าย
“ผมไม่ปฏิเสธว่า วงการมวย เป็นส่วนหนึ่งในการขยายจำนวนผู้ติดเชื้อ ถ้าวันนั้นมีการหยุดจัดชกตั้งแต่แรก ก็คงไม่มีคนเข้าไปดูมวย เล่นมวย ตอนแรกที่มีกระแสอยากให้หยุดจัดมวย ผมเห็นด้วยนะ เพราะผมอยากพักผ่อนอยู่บ้าน ผมไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงิน แต่ในเมื่อเขาไม่หยุด เราก็ต้องไปทำงาน จนสุดท้ายก็ติดโควิด-19”
“แต่ในอีกมุมหนึ่ง ผมมองว่า คนวงการมวยมีความเป็นสุภาพบุรุษ พวกเรากล้าที่ออกเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้ว่า โรคนี้ไม่ได้ติดต่อกันยากเหมือนที่ใครหลายคนเคยคิด มันสามารถติดได้ง่ายมาก ในที่มีคนอยู่กันเป็นจำนวนมาก”
Photo : Lumpinee Boxing Stadium
ศรัณวุฒิ เห็นด้วยกับแนวทางต่างๆ ที่สนับสนุนให้ประชาชนอยู่ในบ้าน, หลีกเลี่ยงการออกไปในที่สาธารณะ เพื่อลดการแพร่ระบาดและไม่ให้สถานการณ์ลุกลาม
พร้อมกับหวังให้เรื่องราวของตน และทุกๆคนที่เวทีมวยเป็นอุทาหรณ์ สำหรับคนที่อาจใช้ชีวิตด้วยไม่ระมัดระวัง เพื่อที่จะไม่ได้ต้องเป็น หนึ่งในผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างเช่นเขา
“นี่เป็นเรื่องทุกคนต้องอดทน พยายามอยู่ในบ้าน เพราะมันปลอดภัยที่สุดแล้ว เลี่ยงการไปในการที่มีคนเยอะๆ เชื่อผมเถอะ อดทนอยู่บ้าน 14 วัน ยังไงก็ดีกว่ามานอนโรงพยาบาล โดยที่ไม่รู้จะได้ออกวันไหน”
“ผมขอให้พวกเรา (เซียนมวย) เป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่ติดเชื้อนี้ ผมไม่อยากให้ใครต้องมาเจออะไรแบบที่เราเป็น มันทรมานมากจริงๆ”
บทความโดย อลงกต เดือนคล้อย
โฆษณา