24 มี.ค. 2020 เวลา 12:28 • สุขภาพ
Orphenadrine (Norgesic) VS Eperisone / Tolperisone (Myonal, Mydocalm)
อาการปวดตึงกล้ามเนื้อเป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกช่วงวัยโดยเฉพาะวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ โดยปกติแล้วมักมีสาเหตุมาจากการใช้กล้ามเนื้อผิดท่า เช่น ออฟฟิศซินโดรม ยกของหนัก นั่งหรือยืนอยู่ในท่าเดิมนานๆ ตกหมอน เป็นต้น ซึ่งสาเหตุต่างๆนี้นำไปสู่กระบวนการอักเสบของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งและเกิดเป็นอาการปวดขึ้นมา
อาการเหล่านี้มักหายได้เองมีการพักงานกล้ามเนื้อมัดที่ปวดหากปวดไม่มาก แต่สำหรับคนที่มีอาการปวดตึงมากหรือมีควมจำเป็นที่จะต้องทำงานหรือใช้กล้ามเนื้อต่อ ทำให้อาการปวดทุเลาได้ช้าลง การใช้ยาแก้ปวดหรือคลายกล้ามเนื้อจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่นิยมใช้กันเป็นอย่างยิ่ง
ยาแก้ปวดที่นิยมคือ ยาในกลุ่ม NSAIDs ที่จะช่วยลดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นได้ดี ในขณะที่ยาคลายกล้ามเนื้อที่พบบ่อยๆในร้านขายยาคือ
1
1. Orphenadrine เช่นยี่ห้อ Norgesic, Orgesic, Tolgesic, Nuosic, Orpar โดยปกติแล้วมักพบว่ามี Paracetamol เป็นส่วนผสมด้วย ตัวยา Orphenadrine ออกฤทธิ์โดยเป็น Muscarinic antagonist ยับยั้งการจับของ Acetylcholine กับ NMDA receptor ที่ระบบประสาทส่วนกลางซึ่งจะไปรบกวนการส่งสัญญาณประสาทไปยับไขสันหลังส่วนที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวลงได้
1
2. Eperisone / Tolperisone เช่นยี่ห้อ Myonal, Mydocalm, Biocalm เป็นยาที่มีโครงสร้างคล้ายยาชา lidocaine ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการนำไฟฟ้าของเยื่องหุ้มเซลล์ประสาทที่เกิดจากความเจ็บปวด ยับยั้ง voltage-gated sodium และ calcium channels ที่ไขสันหลังทำให้กล้ามเนื้อที่เกร็งแข็งจากการรีเฟล็กซ์ลดลง และทำให้ไขสันหลังตอบสนองต่อสิ่งเร้าลดลง จึงช่วยให้อาการปวดหรือตึงจากกล้ามเนื้ออักเสบลดลงได้
1
👇🏾👇🏾👇🏾👇🏾👇🏾
#Orphenadrine
เนื่องจาก Orphenadrine มีฤทธิ์เป็น Muscarinic antagonist จึงทำให้มีผลข้างเคียงเกี่ยวกับ Anticholinergic effect ได้แก่ ปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า ง่วงนอน ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก ซึม เห็นภาพหลอน สับสน เหงื่อออกลดลง มีปัญหาด้านความจำ และสมรรถภาพทางเพศลดลง ซึ่งปัญหาเหล่านี้มักจะพบได้สูงขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว รวมถึงผู้ที่ใช้ยาที่มีฤทธิ์ Anticholinergic ร่วมกันหลายๆตัวด้วย
ขนาดที่แนะนำในผู้ใหญ่คือ ครั้งละ 2 เม็ดวันละ 3 ครั้ง
ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคต้อหิน ต่อมลูกหมากโตหรือผู้ที่มีภาวะปัสสาวะลำบาก กล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดร้าย ผู้ที่มีภาวะทางเดินอาหารอุดกั้น ผู้ที่มีอัตราหัวใจเต้นเร็ว เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ หัวใจล้มเหลว และผู้ที่แพ้ยานี้
ในสูตรตำรับส่วนใหญ่ที่มีส่วนผสมของ Paracetamol ควรระวังการใช้ Paracetamol เกินขนาดเพราะอาจะส่งผลให้เกิดภาวะตับวายได้
ยานี้จัดอยู่ใน Pregnancy category C ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์ การใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ต้องมั่นใจว่าให้ประโยชน์ทางคลินิกมากกว่าความเสี่ยงจากการใช้ยาอย่างชัดเจน
👇🏾👇🏾👇🏾👇🏾👇🏾
#Eperisone/Tolperisone
ส่วนยา Eperisone/Tolperisone มีรานงานการเกิดอาการข้างเคียงได้เช่นกัน แต่น้อยกว่า Orphenadrine คือ ง่วงนอน อ่อนเพลีย ปากคอแห้ง ท้องเสีย ปวดศีรษะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง และมีรายงานการเกิดอาการแพ้ยาได้ด้วย
ขนาดที่แนะนำคือ Eperisone 50 mg ครั้งละ 1 เม็ดวันละ 3 ครั้ง หรือ Tolperisone 50 mg ครั้งละ 1 เม็ดวันละ 3 ครั้ง
ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่แพ้ยานี้
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ยัง ไม่มีรายงานความปลอดภัยในการใช้ยา จะใช้ก็ต่อเมื่อพิจารณาแล้วว่าการใช้ยาจะเป็นประโยชน์มากกว่าผลเสียที่เกิดขึ้น และยานี้ถูกขับออกผ่านน้ำนม ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาในหญิงให้นมบุตรในกรณีจำเป็นต้องใช้ยาควรหยุดให้นม
เอกสารอ้างอิง
Patient information. Myonal. Eisai Co., Ltd. 2013
Patient information. Norgesic. Inova Pharmaceuticals.
Fox C, et al. Anticholinergic medication use and cognitive impairment in the older population: the medical research council cognitive function and ageing study. J Am Geriatr Soc 2011;59:1477–83.
ยา Tolperisone [internet]. Available from: http://mutualselfcare.org/medicine/medicative/tolperisone.aspx?M=k&G=m
โฆษณา