26 มี.ค. 2020 เวลา 08:59 • ประวัติศาสตร์
รถถัง type 95 Ha-Go รถถังแบบเบา(มากๆ)ของญี่ปุ่น
ในปี1930 กองทัพญี่ปุ่นเริ่มพัฒนารูปแบบการรบจากแบบดั้งเดิมสู่การรบแบบเคลื่อนที่เร็ว จึงมีความต้องการรถถังที่คล่องตัวสูง เคลื่อนที่ในสนามรบได้อย่างรวดเร็ว สามารถสนับสนุนทหารราบและเป็นหัวหอกหลักในการบุกได้
1
รถถัง type89 แบบเดิมนั้นมีเกราะที่ป้องกันกระสุนปืนกลได้ ติดปืนใหญ่ขนาด 57มม.ลำกล้องสั้นที่ใช้ยิงกระสุนระเบิดแรงสูง เหมาะแก่การสนับสนุนทหารราบ แต่ปัญหาอย่างเดียวของมันคือความคล่องตัวต่ำเพราะมันวิ่งช้ามีขนาดค่อนข้างใหญ่ จึงมีการพัฒนารถถังเบาแบบใหม่ขึ้น
1
รถถัง type89
หลังจากได้ศึกษารถถังเบาจากต่างประเทศ ญี่ปุ่นก็ได้พัฒนารถถังเบาขึ้นมาโดยมีชื่อว่า type 95 หรือรถถังเบาแบบ95
รถถังเบาแบบ95 เป็นรถถังขนาดเล็กที่มีน้ำหนักเพียง 7ตัน เหมาะแก่การรบในภูมิประเทศแถบเอเชียอย่างมาก น้ำหนักที่ไม่มากเกินไปทำให้เคลื่อนที่ผ่านพื้นดินอ่อนได้โดยไม่จม ขนาดเล็กมินิของมันทำให้เข้าป่าได้สบายๆ
รถต้นแบบ type95
เกราะของมันหนา 6-16มม. แน่นอนว่ากันได้เฉพาะกระสุนปืนเล็กยาวเท่านั้น หากเจอกระสุนที่มีขนาดใหญ่กว่านั้นเกราะของมันก็ไม่ต่างจากกระดาษ ไม่สามารถต่อสู้กับรถถังคันอื่นได้เลย
อาวุธหลักของมันคือปืนใหญ่ขนาด 37mm type94 ที่มีความเร็วปากลำกล้องอยู่ที่ประมาณ 700ม./วินาที สามารถเจาะเกราะหนา 25มม. ด้วยกระสุนเจาะเกราะที่ระยะครึ่งกิโลเมตรได้ เทียบกับรถถังเบาทั่วไปแล้วรถถังtype95 ยิงใครแทบไม่เข้านอกจากจะเป็นรถถังที่เล็กจริงๆเท่านั้น หรือต้องยิงด้านข้าง
ปืนใหญ่ 37mm type94
บทบาทหลักของมันคือการสนับสนุนทหารราบ ดังนั้นกระสุนที่บรรทุกไปเกือบทั้งหมดจึงมีกระสุนหัวระเบิดแรงสูงมากกว่า นอกจากปืนหลักแล้วยังมีปืนกลอีกสองกระบอก กระบอกแรกติดอยู่ที่ตัวรถ อีกกระบอกติดอยู่ที่ป้อมปืนโดยติดในทิศทาง 5นาฬิกาของปืนใหญ่
ปืนกลถูกติดตั้งทางทิศ 5นาฬิกาของปืนใหญ่
ระบบช่วงล่างแบบ bellcrank ทำให้มันง่ายต่อการซ่อมบำรุง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยข้อจำกัดในการข้ามภูมิประเทศที่ขรุขระมาก การสั่นสะเทือนของมันมากจนทำให้เล็งเป้าหมายในขณะที่รถเคลื่อนที่เร็วไม่ได้
พลประจำรถถังมีทั้งหมด 3นาย ประกอบด้วย พลขับ,พลปืนกลที่ตัวรถ และผบ.รถ หน้าที่หนักที่สุดคือผบ.รถที่จะต้องคุมปืนใหญ่คนเดียวรวมถึงปืนกลที่ป้อมด้วย สังเกตการณ์และบัญชาการพลประจำรถในเวลาเดียวกัน การจะเป็นผบ.รถได้จึงต้องทำเป็นทุกอย่างเพราะต้องทำแทบทุกอย่าง(ยกเว้นขับ)
ในปี1939 มันต้องประมือกับรถถังเบา BT-5 และ BT-7 ของโซเวียต เทียบน้ำหนักมวยคู่นี้แล้วรถถังโซเวียตหนักกว่าราวๆสองเท่า ปืน 45มม.ของโซเวียตที่แม้จะมีความเร็วปากลำกล้องเพียง 610ม./วินาทีแต่ก็เจาะรถถังญี่ปุ่นเข้าที่ระยะ 1กม. ในขณะที่ปืนรถถังtype95 มีระยะหวังผลแค่ 500-700ม. เท่านั้นจึงเสียเปรียบอย่างมากแต่ก็ชนะมาได้เพราะเข้าโจมตีระยะใกล้
รถถัง BT-7
ในการบุกฟิลิปปินส์ทหารอเมริกายังคงเชื่อว่ารถถังไม่สามารถปฏิบัติการในป่าได้ รถถังtype95 ได้นำหน้าทหารฝ่าผืนป่าที่รกทึบเเละเข้าตีกองทัพอเมริกาได้สำเร็จ มันได้พิสูจน์แล้วว่าแม้จะเป็นรถถังแต่ก็ลุยป่าได้
อเมริกาจึงได้ส่ง M3 Stuart มาเป็นคู่ต่อสู้กับ type95 แม้จะมีปืน 37มม.เท่ากันแต่รถถังอเมริกาเกราะหนากว่ามาก ปืนของรถถังtype95 ยิงเจาะเกราะด้านหน้าไม่เข้าจึงได้โจมตีจากด้านข้างเเทนทำให้รถถังอเมริกาพ่ายแพ้ไป อเมริกาจึงได้หันมาศึกษาการรบด้วยรถถังมากขึ้นและพบว่าการเข้าโจมตีจากด้านข้างทำให้ได้เปรียบมากกว่า
2
ญี่ปุ่นได้นำรถถังชนิดนี้ไปใช้ในการยกพลขึ้นบกที่เกาะKiska ในอลาสก้าด้วย type95 จึงเป็นรถถังฝ่ายอักษะแบบเดียวที่ได้เหยียบแผ่นดินอเมริกา
รถถัง type95 ซุ่มโจมตีจากในป่า
ตลอดสงครามรถถังถูกสร้างมา 2,300คัน ด้วยความที่มันแทบสู้รถถังคันอื่นไม่ได้เลยในปี1943 จึงมีแผนที่จะแทนที่ด้วย type3 Ke-Ri แต่รถถังtype3 ก็ถูกผลิตออกมาเพียงไม่กี่คันเท่านั้น รถถังtype95 จึงยังคงมีใช้ตลอดสงครามโลกครั้งที่สอง
นอกจากญี่ปุ่นและชาติที่ยึดรถถังแบบนี้ไปใช้เองแล้ว ประเทศไทยยังได้สั่งซื้อรถถังtype95 จำนวน 50คันมาใช้ในปี1940 ด้วย โดยใช้ชื่อว่ารถถังแบบ83 และใช้จนกระทั่งปลดประจำการในปี1952

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา