28 มี.ค. 2020 เวลา 10:38
LTF และ RMF แหล่งเงินสำรองยามวิกฤติที่อาจมีต้นทุนสูง
วิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นส่งผลกระทบไปแทบทุกอุตสาหกรรมทุกธุรกิจ ทำให้หลายธุรกิจ ที่อาจต้องขาดรายได้ หรือมีรายได้ลดลง ผลกระทบนี้ทำให้หลายคนต้องหาทางแก้ปัญหาสภาพคล่องในเวลานี้ หลายคนมองหาแหล่งเงินสำรองที่พอจะเอามาใช้หมุนเวียนแก้ปัญหาสภาพคล่องที่เกิดขึ้น
แหล่งเงินสำรองแต่ละแหล่งมีข้อดีข้อเสีย เมื่อจำเป็นต้องเลือกใช้เงินจากแหล่งสำรองเหล่านี้ ก็ควรจะรู้ต้นทุนในการนำเงินมาใช้
บทความนี้ ขอพูดถึงต้นทุนของ LTF/RMF ที่จะเกิดเมื่อเรานำเงินจากแหล่งเงินออม 2 แหล่งนี้ เป็นต้นทุนด้านภาษีที่เราจะต้องถูกเรียกเก็บ เนื่องจากทั้ง LTF/RMF ใช้สิทธิประโยชน์ในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้มาเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการออม เมื่อการออมไม่เป็นไปตามเงื่อนไข สิทธิลดหย่อนที่เรารับมาก็ต้องส่งคืนกลับไป พร้อมค่าปรับในรูปของดอกเบี้ย
ก่อนที่จะเลือกนำเงินจากสองแหล่งเงินออมนี้มาใช้ ขอให้เช็คว่าเราจะต้องคืนเงินภาษีกลับไปเท่าไหร่ เพื่อเลือกว่ามีแหล่งเงินสำรองอื่นที่ต้นทุนต่ำกว่าหรือไม่
Credit : www.pexels.com
1. LTF
LTF ที่เราถือกันอยู่ตอนนี้ มีหลักเกณฑ์การใช้สิทธิลดหย่อนทางภาษี 2 หลักเกณฑ์ คือ
- LTF ที่ซื้อก่อนปี 2559 (คือ ซื้อตั้งแต่ปี 2558 ย้อนกลับไป) กฎหมายกำหนดให้ต้องถืออย่างน้อย 5 ปีปฎิทิน
- LTF ที่ซื้อตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา กฎหมายกำหนดให้ต้องถืออย่างน้อย 7 ปีปฎิทิน
หากผิดเงื่อนไขการถือ LTF มีเงินภาษีที่เป็นต้นทุน 2 ประเภท
ก. การคืนภาษีที่ได้จากสิทธิลดหย่อนในปีที่ซื้อ LTF พร้อมดอกเบี้ยย้อนหลัง
เราต้องคืนภาษีที่ได้ลดจากสิทธิลดหย่อนภาษี เงิน LTF ก้อนที่เราขายคืนให้กรมสรรพากรทั้งหมด และยังต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ต่อเดือนด้วย นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เช่น ในปี 2561 ซื้อ LTF ได้ลดหย่อนไป 10,000 บาท และมาขายในเดือนมีนาคม 2563 เราก็ต้องนำส่งเงินจากสิทธิ์ลดหย่อนภาษีปี 2561 ซึ่งยื่นภายในเดือนมีนาคม 2562 คืน พร้อมดอกเบี้ยอีก 1.5% นับจาก 1 เมษายน 2562 จนถึงวันที่คืน
เนื่องจากกองทุน LTF มีหลักเกณฑ์การถือครองเป็น 2 ระยะ จึงสรุปตามหลักเกณฑ์การถือครอง LTF สั้น ๆ ได้ว่า
- กอง LTF ที่ซื้อจนถึงปี 2558 ครบเกณฑ์ถือ 5 ปีปฎิทิน การขายไม่ผิดเงื่อนไข ไม่ต้องคืนเงินภาษี (เพราะเกิน 5 ปีปฎิทินแล้ว)
- กอง TLF ที่ซื้อตั้งแต่ปี 2559 การขายในขณะนี้จะผิดเงื่อนไขการถือครองไม่ครบ 7 ปี ต้องคืนเงินภาษีพร้อมดอกเบี้ย จนถึง"วันที่เราคืนเงิน"
2
ข. ภาษีหัก ณ ที่จ่ายจาก Capital Gain (ส่วนเงินราคาหน่วยลงทุน)
หากเป็นการขายที่ผิดเงื่อนไข บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ) จะทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายในส่วนของเงินที่ได้จากส่วนเกินการลงทุน (Capital Gain) ในอัตรา 3% และเราต้องเอาส่วนเกินเงินลงทุน (Capital Gain) นี้มาเป็นรายได้เสียภาษีด้วยนะครับ แต่หากการขายไม่ผิดเงื่อนไข ก็ไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายส่วนนี้
โดยสรุป
หากขาย LTF ที่ซื้อตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้น เป็นการขายที่ผิดเงื่อนไขการใช้สิทธิลดหย่อน ต้องคืนเงินภาษีที่ลดหย่อนพร้อมดอกเบี้ย 1.5% ต่อเดือน และหากมี Capital Gain ต้องถูกหัก ณ ที่จ่าย 3% และนำไปยื่นเป็นรายได้ประจำปีด้วย
หากจำเป็นต้องใช้เงินจาก LTF จริงๆ ให้ขาย LTF ที่ลงทุนไม่เกินปี 2558 (ถ้ายังมีเหลืออยู่) จะไม่มีต้นทุนด้านภาษี
หมายเหตุ :
- ตอนนี้มีการผ่อนผันให้ยืนภาษีเงินได้ภายในกันยายน ถ้าเราไปคืนเงินในเดือนกันยายน ดอกเบี้ยก็จะคิดไปถึงเดือนกันยายน ครับ
- การขาย LTF เป็นไปตามหลัก FIFO คือจะขายกองที่เก่าที่สุดก่อน ก่อนขายจึงต้องดูจำนวนหน่วยของกองที่ไม่ผิดเงื่อนไขให้ดีนะครับ และเลือกขายโดยใช้จำนวนหน่วย อย่าใช้จำนวนเงินเพราะ NAV (ราคาต่อหน่วย) แต่ละวันไม่เท่ากัน
อาจมีคำถามว่า เราจะไม่ยื่นคืนเงินภาษีได้หรือไม่
ขอให้ความเห็นว่า ปัจจุบันระบบฐานข้อมูลต่างๆ ถูกกรมสรรพากรเชื่อมระบบกับธนาคาร เมื่อธนาคารขายกองทุน LTF จะรายงานการขายที่ไม่เป็นตามเงื่อนไขไปให้กรมสรรพากรทราบ และตามประสบการณ์กรมสรรพากรชอบเรียกตรวจเอกสารจากผู้เสียภาษีในปีที่ 3-5 ฉะนั้นก็คงต้องลุ้นเอาครับว่าเราจะเสียภาษี 1.5% ไปเท่าไหร่
Credit : www.dhakatribune.com
2. RMF
RMF ต่างกับ LTF ตรงที่มี 2 หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการซื้อและการขาย (ผมเคยทำบทความไว้) ถ้าใครกำลังคิดจะขาย ต้องยึดหลัก คือ
- เงื่อนไขลงทุน 5 ปี ไม่ใช่ปีปฎิทิน แต่เป็นการนับเฉพาะปีที่ซื้อ RMF อย่างน้อยตามเกณฑ์ขั้นต่ำ เช่น ถ้าเราซื้อปีที่ 1/2/3/5/6 โดยระงับการซื้อในปีที่ 4 การนับ 5 ปีก็คือครบในปีที่ 6
1
- เมื่อเราถือ RMF จนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และลงทุนมาไม่ต่ำกว่า 5 ปีแล้ว จะขายทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ โดยกำไรที่ได้ไม่ต้องเสียภาษี
1
- กรณีขายคืนก่อนอายุ 55 ปี แต่ถือมากกว่า 5 ปี ต้องคืนภาษี 5 ปีย้อนหลัง แต่ได้รับการยกเว้นภาษีจาก capital gain จากการถือครบ 5 ปี
1
- กรณีขายคืนก่อนอายุ 55 ปี และถือไม่ถึง 5ปี ต้องคืนภาษีย้อนหลัง และเสียภาษีจาก Capital gain เหมือนกองทุนอื่นๆ หากมีการหัก ณ ที่จ่ายสามารถเลือกไม่นำรายได้มารวมคำนวณ
เมื่อผิดเงื่อนไขต้องยื่นภาษีภายใน มีนาคม เพื่อไม่ถูกคำนวณดอกเบี้ยล่าช้านะครับ หากเรายื่นหลังมีค จะถูกคิดดอกเบี้ยเดือนละ 1.5% แต่ในขณะนี้มีการขยายเวลายื่นภาษีเป็นเดือนกันยายน ยังไม่มีรายละเอียดว่าหากเราไปยื่นอพร้อม ภงด ในเดือนกันยายน จะถูกคิดดอกเบี้ยหรือไม่ แต่ส่วนตัวคิดว่าน่าจะเป็นไปตามเวลาที่ขยายนะครับ เพราะดอกเบี้ยที่คิดเกิดจากการยื่นภาษีล่าช้า ไม่ใช่ของ RMF โดยตรง แต่ก็ต้องขึ้นกับการตีความของกรมสรรพากรครับ
หากเราขายผิดเงื่อนไข RMF ปกติ บลจ เจ้าของกองทุนจะทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้นะครับ เมื่อยืนภาษีสามารถนำภาษีหัก ณ ที่จ่ายนี้ไปเป็นเครดิตภาษีได้ครับ รายละเอียดของ RMF สามารถกลับไปอ่านบทความเก่าของผมได้ครับ
หากมีทางเลือกแหล่งเงินสำรองที่มีต้นทุนการใช้ต่ำกว่า ก็ควรจะเป็นตัวเลือกเพื่อเปรียบเทียบด้วยนะครับ ขอเป็นกำลังใจกับทุกคนที่กำลังแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสภาพคล่องของตัวเองนะครับ
จะมีเรื่องเกี่ยวข้องอีก 2 เรื่อง คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ ประกันชิวิต จะขอแยกเป็นบทความต่างหาก เพื่อให้คนที่กำลังเผชิญปัญหาได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ เพื่อไม่ต้องเสียหายไปยิ่งกว่าเดิมครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา