1 เม.ย. 2020 เวลา 03:00
กรมธรรม์ประกันชีวิต ช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องให้เราได้
1
แหล่งเงินสำรองที่คนมักนึกถึงคืออะไรครับ คำตอบส่วนใหญ่อาจเป็น สินเชื่อบุคคล การขายทรัพย์สิน หรือสินเชื่อทรัพย์สินทางใดทางหนึ่ง น้อยคนจะนึกถึงการกู้เงินจากกรมธรรม์ประกันชีวิต บทความนี้จะพาไปรู้จักเงินกู้จากกรมธรรม์ ที่อาจจะช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องให้เราได้ระยะหนึ่งครับ
3
Credit unsplash.com
เงินกู้กรมธรรม์ มาจาก"มูลค่าเงินสด"ที่สะสมอยู่ในกรมธรรม์
1
ถ้าหยิบกรมธรรม์ประกันชีวิตขึ้นมาดู และเป็นกรมธรรม์ที่เราสามารถกู้เงินได้ ในกรมธรรม์จะมีตัวเลขต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมเงินจากกรมธรรม์ คือ
1. ตารางมูลค่ากรมธรรม์
สมมุติว่า เรามีกรมธรรม์ตามตัวอย่างในภาพที่กำลังอยู่ในระหว่างปีที่ 9 ของกรมธรรม์ ก็คือเราถือมาครบ 8 ปีเต็ม ให้ดูเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย ณ สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 8 ในภาพ ก็คือ 400 บาท หมายความว่ากรมธรรม์นี้มีมูลค่าเงินในเวลานี้ 400 บาท ต่อ จำนวนเงินเอาประกันภัยทุก 1,000 บาท และถ้ายิ่งถือยาวจำนวนเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยก็จะเพิ่มขึ้น หากเราเวนคืนกรมธรรม์ก็จะได้รับเงินจำนวนนี้คืนจากบริษัทประกันชีวิต
2
ภาพตารางประกอบจาก google
2. จำนวนเงินเอาประกันภัย และ อัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในแบบประกัน
กรมธรรม์ของเราจะมีข้อมูลบอกว่ากรมธรรม์มีจำนวนเงินเอาประกันภัยอยู่เท่าไหร่ และบางแบบประกันจะบอกด้วยว่าใช้อัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่ในการคำนวณเบี้ยประกันภัย
สมมุติกรมธรรม์นี้มีจำนวนเงินเอาประกันภัย 500,000 บาท และใช้อัตราดอกเบี้ยในการคำนวณเบี้ยประกันภัย 2.5% มูลค่าเวนคืน ณ สิ้นปีที่ 8 คือ (500000/1000*400) 200,000 บาท โดยบริษัทประกันใช้อัตราดอกเบี้ย 2.5% ในการคิดเบี้ยประกันต่อปี
อัตราดอกเบี้ยของแต่ละกรมธรรม์แต่ละช่วงเวลาอาจต่างกัน ทั้งนี้แบบประกันในปัจจุบันส่วนใหญ่อาจใช้ดอกเบี้ย 4% - 6% ในการคำนวณเบี้ย
3. อัตราดอกเบี้ยเงินกู้
บริษัทประกันจะคิดอัตราดอกเบี้ยตามเงื่อนไขที่ระบุในกรมธรรม์ ภาพตัวอย่างนี้คิดตามอัตราดอกเบี้ยที่ใช้คำนวณเบี้ย และบวกค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายประมาณ 2% เพิ่ม ในกรณีนี้อัตราดอกเบี้ยที่บริษัทประกันชีวิตจะคิดจากคุณจะประมาณ 4.5% หากเป็นกรทธรรม์ที่คิดเบี้ยประกันด้วย อัตรา 5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้กรมธรรม์ก็เท่ากับ 7% เป็นต้น
4. วงเงินกู้ที่กู้ได้จากกรมธรรม์
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ เราจะพออนุมาน วงเงินกู้ที่จะกู้ได้จากกรมธรรม์ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่บริษัทประกันจะคิดจากการกู้
บริษัทประกันชีวิตจะกำหนดวงเงินกู้ไว้สูงสุด 80-90% ของมูลค่าเงินที่กรมธรรม์มีอยู่ (มูลค่าเวนคืน) ตัวอย่างข้างบน จึงพอประมาณวงเงินกู้สูงที่สุดที่เราจะกู้ได้ว่าประมาณ 160,000-180,000 บาท (รายละเอียดอาจแตกต่างต้องสอบถามจากบริษัทประกันชีวิตที่เรามีกรมธรรม์)
ตัวอย่างกรมธรรม์ประกันข้างบน บอกคุณได้คร่าวๆ ว่า คุณสามารถกู้เงินได้ 180,000 บาท ด้วยอัตราดอกเบี้ยการกู้ประมาณ 4.5%
1
5. วิธีการกู้เงินจากกรมธรรม์
เป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยากเลย เพราะใช้กรมธรรม์ที่มีค่้ำประกันโดยไม่ต้องมีบุคคลหรือหลักทรัพย์อื่นมาค้ำประกัน และน่าจะได้รับเงินภายใน 1-2 วันหลังจากเรายื่นเรื่องเข้าไปที่บริษัทประกันฯ หรืออย่างช้าไม่น่าจะเกิน 15 วัน
2
6. ระยะเวลาการกู้และการชำระเงินกู้
ระยะเวลาการกู้ก็คือระยะเวลาที่กรมธรรม์ยังมีผลบังคับ และเงินต้นคงเหลือรวมอัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกินมูลค่าเงินสดรวมของกรมธรรม์นั้น การชำระเงินกู้ก็สามารถตกลงกับบริษัทประกันชีวิตได้เลยว่าจะชำระรายเดือน รายไตรมาสหรือรายปี เป็นต้น
1
คำถามที่หลายคนมักถามเกี่ยวกับการกู้กรมธรรม์ พอจะสรุปได้ดังนี้
คำถาม 1 :
เมื่อกรมธรรม์มีมูลค่าเงินสด ทำไมไม่ใช้วิธีการเวนคืนกรมธรรม์ แทนการกู้เงินจากกรมธรรม์เพราะไม่ต้องเสียดอกเบี้ย
คำตอบ :
การกู้ยืมจากกรมธรรม์ กรมธรรม์ยังมีผลคุ้มครองเราอยู่ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นบริษัทฯ ประกันจะยังชดใช้ค่าสินไหมตามจำนวนเงินเอาประกันโดยหักลบหนี้สินส่วนที่คงค้าง เราจึงยังได้รับความคุ้มครองที่ต่อเนื่อง และเมื่อคืนเงินกู้ครบแล้ว กรมธรรม์ก็มีผลคุ้มครองเต็มจำนวนตามเดิมต่อไปจนครบกำหนดสัญญา ในขณะที่การเวนคืนเป็นการยกเลิกกรมธรรม์เพื่อรับเงินทำให้ความคุ้มครองสิ้นสุดลง หากเกิดปัญหาขึ้นจะไม่มีกรมธรรม์ความคุ้มครองที่จ่ายค่าสินไหมให้เรา
2
คำถาม 2 :
อัตราดอกเบี้ยที่บริษัทประกันชีวิตคิดจากการกู้ยืมเป็นอัตราที่สูงมากกว่าแหล่งเงินกู้อื่นหรือไม่
คำตอบ :
เมื่อต้องการเปรียบเทียบว่าการกู้จากกรมธรรม์มีอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมหรือไม่ เราควรเทียบกับ 2 อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงคือ
ก. อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากแหล่งอื่นๆ :
หากเราสามารถกู้เงินจากแหล่งอื่นๆ ที่ได้ดอกเบี้ยต่ำกว่า ทางเลือกที่ดีก็คือการกู้จากแหล่งที่คิดดอกเบี้ยแท้จริงต่ำกว่า ดอกเบี้ยแท้จริงไม่ใช่ดอกเบี้ยที่เป็นเป็นตัวเลขนะครับ (บทความแรกๆ ของผมเคยพูดเรื่องอัตราดอกเบี้ยแท้จริงไว้)
ข. อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่บริษัทประกันคิดจากการกู้ของเรา :
เบี้ยประกันถูกคำนวณตามหลัก Time Value of Money เพื่อหามูลค่าปัจจุบันที่คิดลดคิดเพิ่มจากอัตราดอกเบี้ยที่ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยที่บริษัทคาดว่าจะทำได้ตลอดระยะเวลาที่รับประกัน
อัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการคำนวณจึงเปรียบเสมือนการรับประกันอัตราผลตอบแทนให้กับเราทางอ้อม และการกู้ยืมเงินจากกรมธรรม์ก็คือการที่เราดึงเงินออกจากกรมธรรม์ของเรา ในแง่ของบริษัทก็คือการย้ายแหล่งลงทุนของเงินนั่นเอง บริษัทจึงคิดต้นทุนดอกเบี้ยกับเราเท่ากับที่บริษัทได้ลดให้เราไว้ล่วงหน้า
ดังนั้นเมื่อเราชำระเงินกู้ครบ มูลค่าเงินสดในกรมธรรม์ก็กลับไปเป็นตามตารางในกรมธรรม์ เพราะคิดดอกเบี้ยในอัตราเดียวกัน คงเหลือดอกเบี้ยแท้จริงที่เราจ่ายให้กับบริษัทประกันชีวิตที่เป็นดอกเบี้ยส่วนที่บริษัทประกันคิดเพิ่มกับเรา ซึ่งก็คือ 2% ตามที่ระบุในตัวอย่างกรมธรรม์ข้างต้น
เมื่อพิจารณาจากอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงทั้งสองอัตรา ลองดูตัวอย่างกันครับ
ดอกเบี้ย MRR (สำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี) ในเวลานี้คือ 6.5% หากเราสามารถกู้เงินได้ที่อัตราดอกเบี้ยนี้ ถ้าหักดอกเบี้ยที่บริษัทคิดจากการกู้กรมธรรม์คือ 2% ส่วนที่เหลือคือ 4.5% ก็ยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในกรมธรรม์ซึ่งกำหนดไว้ 2.5% แสดงว่าการกู้กรมธรรม์มีต้นทุนที่ต่ำกว่า แต่หากอัตราดอกเบี้ยที่กรมธรรม์ใช้คิดเบี้ยคือ 5% การกู้กรมธรรม์มีต้นทุนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ย MRR เป็นต้น แต่หากแหล่งเงินที่เรากำลังมองหาคือ สินเชื่อบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต จะมีอัตราดอกเบี้ยแท้จริงสูงกว่ามาก
ใครที่มีกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบที่มีมูลค่าเงินสด (มูลค่าเวนคืน) ในจำนวนเงินที่เพียงพอกับความจำเป็นเร่งด่วน และกำลังหาแหล่งเงินสำรองมาเสริมสภาพคล่องหรือแก้ปัญหาหนี้ต้นทุนสูงที่มีอยู่ก็สามารถพิจารณาเลือกใช้เงินกู้จากกรมธรรม์ประกันชีวิตแทนการไปหาแหล่งเงินกู้อื่นๆ ที่มีต้นทุนสูงกว่า และยังสามารถใช้เงินกู้ได้นานเกือบเท่าระยะเวลาที่กรมธรรม์ยังมีผลบังคับอยู่อีกด้วย
1
หมายเหตุ : ตัวอย่างทั้งหมดเป็นตัวอย่างที่ยกมาเปรียบเทียบเพื่อช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้นเท่านั้น การต้องการตัวเลขที่ถูกต้องต้องดูรายละเอียดในกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีอยู่ หรือสอบถามจากบริษัทประกันฯ ที่มีกรมธรรม์อยู่
โฆษณา