6 เม.ย. 2020 เวลา 07:02
(จะ)ทำประกันชีวิต...ไปทำไม?
ช่วงเวลาของ Social Distancing และ สถานการณ์เคอร์ฟิว น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราจะได้ทบทวนและอัพเดตความรู้ต่างๆ ให้ตัวเอง เป็นการเตรียมตัวให้พร้อมรับกับเรื่องต่างๆ ที่กำลังจะเข้ามา
1
วันนี้เปลี่ยนบรรยากาศมาคุยเรื่องประกันชีวิตบ้างนะครับ บทความนี้ได้ความคิดจากความเห็นในบทความก่อนหน้า ที่พูดถึงคำ 2 คำ คือ "ซื้อประกัน" และ "ทำประกัน" ทำให้ผมคิดว่าน่าจะเขียนเรื่องประกันบ้าง เพราะคำ 2 คำใช้เพื่อสื่อความนัยที่แตกต่างกัน และหากเราได้เข้าใจก็จะทำให้ประกันชีวิตกลายเป็นเครื่องมือในการรับมือความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้
Credit : unsplash.com
A. ชาว BD ใช้คำไหนกันครับ.... "ซื้อประกัน" .หรือ. "ทำประกัน"
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า "ซื้อ" และ "ทำ" ไว้ว่า
ซื้อ = เอาเงินตราแลกกับสิ่งของ
ทำ = กระทํา ประกอบขึ้น ผลิตขึ้น สร้างขึ้น ก่อขึ้น
ประกันชีวิต คือ สัญญาที่"ทำ"ขึ้นจากการตกลงกันสองฝ่ายด้วยความสมัครใจ และสัญญาจะมีผลผูกพันตามข้อตกลงไปตลอดสัญญา โดยที่บุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับประกันภัย ตกลงจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้รับประโยชน์โดยอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง และในการนี้ผู้เอาประกันภัยตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย ให้แก่ผู้รับประกันภัย
B. แล้วเราจะทำประกันชีวิตไปทำไม
การตัดสินใจทำประกันชีวิต มีวิธีคิดง่าย ๆ คือ เมื่อเรารู้ว่าเรามีความเสี่ยงประเภทใด เราจะเลือก
1. หลีกเลี่ยงความเสี่ยง
2. ลดหรือควบคุมความเสี่ยง
3. รับความเสี่ยงไว้เอง
4. โอนความเสี่ยงให้คนอื่น
การทำประกันทุกชนิดไม่ว่า ประกันภัย ประกันราคา ประกันชีวิต คือวิธีโอนความเสี่ยงให้คนกลางหรือบริษัทประกันชีวิตเป็นผู้รับภาระความเสี่ยงไว้แทนเราตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน ในขณะที่อีก 3 ข้อเราคือผู้รับความเสี่ยงด้วยตัวเอง จึงต้องพิจารณาผลกระทบหากไม่เป็นไปตามที่เราคิดไว้ หลักการหนึ่งที่ใช้ในการตัดสินใจเลือกวิธีการรับมือกับความเสี่ยงคือ ต้นทุนในการบริหารความเสี่ยง ที่คำนวณจากความน่าจะเป็น เช่น
เรากู้เงินเพื่อซื้อบ้านจำนวน 1 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 20 ปี หากตลอดระยะเวลา 20 ปี เราสามารถจ่ายคืนหนี้ได้ครบ หนี้บ้านก็จะหมดไป เราและครอบครัวก็มีบ้านอยู่ไปตลอด แต่หากเราคิดถึงความเสี่ยงหากเราเสียชีวิตก่อนหนี้บ้านจะหมดไป ทำให้เราไม่สามารถชำระหนี้บ้านได้ บ้านก็จะถูกยึดและทำให้ครอบครัวของเรามีปัญหา เราก็คงต้องดูว่ามีทรัพย์สินอะไรที่จะนำมาใช้จ่ายหนี้แทนเราได้ เช่น หากเรามีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ในจำนวนที่เพียงพอต่อการใช้หนี้ เราก็สามารถเลือกรับความเสี่ยงไว้เอง เพราะเงินกองทุนสำรองที่ได้รับเมื่อเราเสียชีวิตเพียงพอจะชำระคืนหนี้สินที่มี แต่หากเรากู้เงินจำนวน 2 ล้าน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีอยู่จะไม่เพียงพอที่จะชำระคืนหนี้สินทั้งหมด เราก็สามารถเลือกที่จะโอนความเสี่ยงในส่วนที่กองทุนฯ ไม่ครอบคลุมด้วยการทำประกันสินเชื่อบ้าน
1
C. ต้นทุนในการทำประกันชีวิต
เบี้ยประกันชีวิตที่เราจ่ายให้บริษัทประกันชีวิต มีโครงสร้างแยกเป็น
ก. ค่ารับประกัน (Cost of Insurance)
ข. เงินออม/เงินลงทุน (Cost of Investment)
ค. ค่าใช้จ่ายในการรับประกัน ซึ่งประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการขาย ค่าใช้จ่ายในการบริหารและดำเนินธุรกิจ และค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองตามกฎหมาย
1
D. บริษัทประกันชีวิตได้กำไรจากส่วนไหน
เบี้ยประกันที่บริษัทประกันชีวิตได้รับจากเรา ไม่ได้เป็นกำไรโดยตรง เพราะหลักการประกันคือการถัวเฉลี่ยความเสี่ยง เบี้ยประกันคือการถัวเฉลี่ยความเสี่ยงนั่นเอง จึงต้องเอาไว้จ่ายให้ผู้ที่เข้าเงื่อนไขของการรับประกัน แล้วบริษัทประกันชีวิตได้กำไรจากอะไรล่ะ
บริษัทประกันชีวิตจะได้กำไรจากส่วนต่างที่เกิดขึ้น คือ
ก. ค่ารับประกัน : ส่วนต่างของเงินชดเชยจากการรับประกันเที่ยบกับที่ประมาณการไว้
ข. เงินออม/เงินลงทุน : ส่วนต่างของผลประโยชน์จากการลงทุนที่เกิดขึ้น
ค. ค่าใช้จ่ายในการรับประกัน : ปกติบริษัทประกันจะไม่ค่อยได้ประโยชน์จากเบี้ยประกันส่วนนี้ โดยเฉพาะหากผู้เอาประกันเวนคืนกรมธรรม์ก่อนหมดสัญญา เพราะค่าใช้จ่ายส่วนนี้มักถูกคำนวณเป็นต้นทุนตามระยะเวลาตลอดสัญญา แต่อาจจะถ่วงน้ำหนักในปีแรกๆ ที่สูงกว่า
E. จะทำประกันควรเลือกประกันแบบไหน
ประกันชีวิตมีเงื่อนไขการจ่ายเงินของแต่ละแบบประกัน 2 รูปแบบ คือ
- ประกันที่จ่ายเงิน ให้ผู้รับประโยชน์ เมื่อผู้เอาประกัน เสียชีวิต และ
- ประกันที่จ่ายเงิน ให้ผู้เอาประกัน เมื่อผู้เอาประกัน ไม่เสียชีวิต
แบบประกันบางแบบมีรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้น แต่บางแบบประกันจะนำรูปแบบทั้งสองมาผสมรวมกัน
1
รูปแบบที่ 1 ประกันที่จ่ายเงิน หากผู้ทำประกัน เสียชีวิต
1
ประโยชน์ของประกันแบบนี้ พูดให้สั้นๆ ก็คือ "การคุ้มครองภาระต่างๆที่มี" เพราะจะความคุ้มครองความเสียหายหรือภาระต่างๆ หากผู้ทำประกันเสียชีวิต ประกันชีวิต จึงเหมาะสำหรับคนที่มีภาระคงเหลือหากต้องเสียชีวิต สำหรับคนที่ไม่มีภาระคงเหลือก็ไม่จำเป็นต้องทำประกันในเงื่อนไขนี้แต่อย่างใด
รูปแบบที่ 2 ประกันที่จ่ายเงิน หากผู้ทำประกัน มีชีวิตอยู่
ประกันชีวิตที่มีเงื่อนไขแบบนี้ยังแยกออกได้เป็น 2 รูปแบบตามวัตถุประสงค์ของการจ่ายเงินผลประโยชน์ คือ
2.1 เพื่อการออมเงินและการสร้างรายได้ ประกันแบบนี้จะจ่ายเงินให้เราตามเงื่อนไข เช่นจ่ายผลประโยชน์ให้เรา XX% ทุกเดือน หรือทุกปี ตลอดสัญญา หรือจ่ายผลประโยชน์เป็นบำนาญให้เรา XX% ทุกปี ตั้งแต่เรามีอายุ 60ปี (เกษียณ) จนเราเสียชีวิต
2.2 เพื่อการป้องกันค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น และกระทบกับสินทรัพย์ที่เราสะสมไว้ เช่นจ่ายค่ารักษาเมื่อคุณเจ็บป่วย เราจึงไม่ต้องใช้เงินออมมาจ่ายค่ารักษา(หรือต้องกู้ยืมมาจ่ายค่ารักษา) จ่ายเงินก้อนเมื่อป่วยด้วยโรคร้ายแรง จ่ายเงินก้อนทดแทนรายได้หากประสบเหตุและต้องรักษาตัวระยะยาว เป็นต้น
ในปัจจุบันที่มีความหลากหลายของคน จึงทำให้มีการนำเงื่อนไขทั้งสองมาใช้ในผสมกันในแบบประกันต่างๆ เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองครบถ้วนตามที่ต้องการ
1
จากตัวอย่างแบบประกัน 4 แบบประกันที่หาได้จาก Internet เมื่อเปรียบเทียบจะเห็นได้ว่า แบบประกัน A มีเงื่อนไขจ่ายเงินเมื่อเสียชีวิตเพียงอย่างเดียว เบี้ยประกันประมาณปีละ 3พันบาท ในขณะที่แบบประกัน D ไม่มีความคุ้มครองการเสียชีวิต เพราะเบี้ยประกันเท่ากับจำนวนเงินประกันภัย ผลประโยชน์จึงมีเฉพาะการจ่ายผลตอบแทนในแต่ละปีเท่านั้น สำหรับแบบประกัน B และ C เป็นลักษณะผสมผสาน โดยมีสัดส่วนการจ่ายผลประโยชน์เมื่อเสียชีวิตและเมื่อมีชีวิตแตกต่างกัน แบบประกัน 2 แบบนี้จะพบได้ในทุกบริษัทประกันชีวิต หากเป็นแบบที่มีความคุ้มครองการเสียชีวิตสูงและระยะเวลานานจนถึง 80-99 ปี เราเรียกว่า แบบประกันตลอดชีพ ในขณะที่แบบประกันที่มีความคุ้มครองชีวิตต่ำกว่าแต่เน้นการให้ผลตอบแทนระหว่างสัญญาและมีอายุสัญญาที่ไม่ครอบคลุมชีวิตของเรา จะเรียกว่าแบบประกันออมทรัพย์นั่นเอง
เมื่อเราเข้าใจหน้าที่ของประกันชีวิตแล้ว เราก็สามารถเลือกหรือตัดสินใจในการทำประกันได้สอดคล้องกับความต้องการของเรา โดยไม่ต้องฝืนใจเลือกแบบประกันที่มีผู้เสนอให้เราโดยเราไม่เห็นประโยชน์กับเรา
ตัวอย่างสมมุติ คน 2 คน คือ นาย ก และ นาย ข
นาย ก ไม่มีครอบครัว ได้รับมรดก บ้าน และ เงินสด 100 ล้านบาท
= ไม่มีความจำเป็นต้องทำประกันคุ้มครองภาระ เพราะไม่มีภาระอะไร หากนาย ก เสียชีวิต แต่นาย ก สามารถทำประกันประเภทออมทรัพย์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของ Portfolio ของการลงทุนได้ และยังสามารถใช้ประโยชน์จากสิทธิลดหย่อนทางภาษีด้วย
นาย ข แต่งงานมีครอบครัวและมีลูกวัยกำลังเรียน มีบ้านต้องผ่อนชำระ
= นาย ข มีภาระการเลี้ยงดูครอบครัว ภาระด้านการเรียนของลูก และยังมีภาระผ่อนบ้าน หากนาย ข เสียชีวิตก่อนหมดภาระเหล่านี้ จะมีปัญหาให้ครอบครัวไม่สามารถดำเนินไปได้ นาย ข ควรมีการคุ้มครองภาระเหล่านี้ หากนาย ข ต้องการเพียงความคุ้มครองภาระหากเสียชีวิต นาย ข ก็สามารถเลือกประกันที่มีลักษณะเดียวกับแบบประกัน A แต่ต้องให้มีระยะเวลาครอบคลุมเพียงพอ หรือหาก นาย ข ต้องการการคุ้มครองระยะยาวและมีการออมเงินด้วย ก็สามารถเลือกแบบประกันแบบ B ที่เป็นประกันตลอดชีพประกอบด้วย
จากความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นและมีผลกระทบกับประกันชีวิต ทั้งด้านบวกและด้านลบ เช่น
ด้านบวก : ต้นทุนการรับประกันในอนาคต อาจจะลดลงจากการเข้ามาของเทคโนโลยี การขยายตัวของช่องทางการขายใหม่ๆ ที่สะดวก
ด้านลบ : ระเบียบข้อกำหนดที่จะเคร่งครัดยิ่งขึ้นจากหน่วยงานกำกับ (เช่นเดียวกับสถาบันการเงินต่างๆ) ความแปรปรวนของผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุน รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่จะสูงขึ้นมากจากการรับประกันด้านสุขภาพ ซึ่งเราจะเห็นได้จาก ไวรัสโควิด-19 ที่ต่อไปจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นตามฤดูกาลในประเทศต่างๆ ทำให้คนมีโอกาสเจ็บป่วยมากขึ้น และค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงเพราะต้องใช้เวลารักษายาวนาน ทำให้ต้นทุนการรับประกันเพิ่มขึ้น และอาจจะมากกว่าผลกระทบด้านบวก
ในอนาคต แบบประกันต่างๆ คงต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง เช่น แบบประกันบางแบบอาจมีขายเฉพาะบางช่องทางการขาย (เห็นแล้วจากช่องทางออนไลน์) การปรับเพิ่มเบี้ยประกันหรือการลดผลประโยชน์ต่าง จากผลตอบแทนการลงทุนที่ต่ำลง รวมถึงการลดการรับประกันผลตอบแทนของแบบประกัน โดยผู้เอาประกันต้องเข้ามาร่วมรับความเสี่ยงของผลตอบแทนด้วยบางส่วน เป็นต้น ทั้งหมดนี้จะมีผลให้เกิดต้นทุนที่สูงขึ้นในการที่เราจะตัดสินใจทำประกันในอนาคตนั่นเอง
ขอบคุณที่อ่านมาจนจบบทความที่ยาวมาก และเป็นเรื่องประกันที่คนมักไม่ค่อยอยากอ่าน หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ
1
ข้อมูลต่างๆ นี้อาจแตกต่างจากที่บริษัทประกันนำเสนอนะครับ แต่เป็นไปตามหลักการวางแผนการเงินที่ใช้กันทั่วไปครับ
โฆษณา