13 เม.ย. 2020 เวลา 10:27
ทำประกันชีวิต เท่าไหร่ดี
ไหนๆ ก็เขียนเรื่องประกันชีวิตแล้ว ขออีก 1 บทความเพื่อเติมบทความตอนที่แล้วให้ครบมิติของประกันชีวิตกับการวางแผนการเงินนะครับ
ในบทความตอนที่แล้ว "(จะ)ทำประกัน..ไปทำไม" แบ่งเงื่อนไขการจ่ายเงินของแบบประกันออกเป็น 2 แบบ คือ
- ประกันที่จ่ายเงิน เมื่อผู้เอาประกัน เสียชีวิต ที่เป็นการป้องกันความเสี่ยงของเงินรายได้ที่จะเสียไปหากเสียชีวิตในระหว่างวัยทำงาน และ
- ประกันที่จ่ายเงิน เมื่อผู้เอาประกัน มีชีวิต ที่เป็นการบริหารความแน่นอนของเงินรายได้ที่จะต้องการจะได้รับในระหว่างที่เรามีชีวิตอยู่
Credit : Unsplash.com
ทำประกันชีวิต ควรทำมากน้อยแค่ไหน...ให้พอดีพอเหมาะสำหรับเรา
บทความนี้ขอพูดในเรื่องต่อจากบทความก่อนหน้า ในส่วนของประกันที่จ่ายเงินเมื่อเราเสียชีวิตนะครับ เงื่อนไขนี้ คือการสร้างความคุ้มครองภาระที่จะตกทอดจากเราไปยังคนที่ยังอยู่ จำนวนเงินที่เราควรจะได้รับก็คือจำนวนเงินตามภาระที่เราต้องการจะคุ้มครอง ดังนั้นเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราควรจะทำประกันเท่าไหร่ดี
สำหรับคนที่มีประกันชีวิตอยู่แล้ว ลองเอาทุนประกันในกรมธรรม์ทั้งหมดมารวมกันดูว่า จำนวนเงินที่เราทำประกันไว้จะช่วยบรรเทาภาระให้ครอบครัวได้เป็นะระยะเวลาเท่าไหร่ครับ
ตารางข้างล่างนี้ คำนวณหาระยะเวลาที่ทุนประกันจะเพียงพอกับค่าใช้จ่าย ลองดูครับว่า จำนวนทุนประกันที่เรามีอยู่จะใช้ได้นานแค่ไหน (ไม่ได้เอาทรัพย์สินลงทุนอื่นๆ มาคำนวณด้วยนะครับ)
ทุนประกันที่เหมาะสมสำหรับตัวเรา มีวิธีการประมาณการหลัก ๆ 2 วิธีที่ใช้กันแพร่หลาย (แล้วแต่ว่าจะเลือกใช้แบบไหน) คือ
1. การคุ้มครองรายได้ที่จะหายไป
2. การคุ้มครองรายจ่ายที่ต้องการและภาระหนี้ที่มีอยู่
ระหว่าง การคุ้มครองรายได้ หรือ การคุ้มครองรายจ่าย เราเลือกทางไหนกันครับ?
1. การคุ้มครองรายได้
เป็นการประเมินจากรายได้ที่เราสามารถทำได้ในอนาคต ซึ่งก็คือการคุ้มครองมูลค่าของคุณ โดยทำให้เป็นมูลค่าเงินในปัจจุบัน เพื่อจะได้ใช้คำนวณทุนประกัน)
เมื่อเป็นการคุ้มครองรายได้ จึงมีเรื่องการเพิ่มของรายได้ และผลตอบแทนจากการนำรายได้ไปลงทุนมาร่วมคำนวณ
- ข้อดีของวิธีนี้ คือ ครอบครัว จะยังคงใช้ชีวิตในมาตราฐานการครองชีพเดิม เสมือนว่าเรายังสร้างรายได้ตามปกติ
- ข้อด้อยหลักของวิธีนี้ คือ จำนวนเงินที่ต้องคุ้มครองมีจำนวนสูง ทำให้มีเบี้ยประกันสูง
2. การคุ้มครองรายจ่ายและภาระหนี้
1
เป็นการหาจำนวนเงินที่ต้องการความคุ้มครอง โดยดูจากความจำเป็นของครอบครัวในด้านต่างๆ เช่น ค่าใช้จ่ายครอบครัวในช่วงที่ต้องพึ่งพารายได้จากเรา และพันธะทางการเงินด้านต่างๆ และดูว่าหากเราใช้เงินจากแหล่งเงินที่มีแล้ว ยังขาดอีกจำนวนเท่าไหร่ ก็ทำความคุ้มครองตามจำนวนนั้น
ในมุมการคุ้มครองรายจ่าย จึงต้องนำเรื่องผลตอบแทนจากเงินและเงินเฟ้อมาร่วมคำนวณครับ
- ข้อดีของวิธีนี้ คือ จำนวนเงินที่ต้องคุ้มครองมีจำนวนไม่สูง และสามารถแยกวิธีการสร้างความคุ้มครองได้ ตามภาระแต่ละเรื่อง เช่น ภาระหนี้ก็มีประกันเฉพาะรองรับ
- ข้อด้อยของวิธีนี้ คือ ครอบครัวอาจจะต้องดำเนินชีวิตในมาตราฐานการครองชีพที่ต่างจากเดิม
ปกติ จำนวนเงินทุนประกันจาก 2 วิธีจะมีจำนวนเงินไม่เท่ากัน โดยการคุ้มครองรายได้จะมีจำนวนเงินที่คำนวณได้สูงกว่ามาก เพราะหลักคิดคือการคำนวณมูลค่าของตัวเราที่หายไป จึงไม่ได้นำสินทรัพย์ต่างๆ มาใช้คำนวณ และจำนวนปีที่คุ้มครองจนกระทั่งเกษียณหยุดทำงาน ตัวอย่างด้านล่าง จะทำให้เราเปรียบเทียบจำนวนเงินจากทั้ง 2 วิธีการ
1
ตัวอย่างเพื่อศึกษา
ชาย อายุ 45 ปี ตั้งใจเกษียณอายุ 60 ปี ปัจจุบันมีรายได้จากการทำงานบริษัทปีละ 780,000 บาท มีภาษีและค่าใช้จ่ายส่วนตัว 320,000 บาท ค่าใช้จ่ายครอบครัว 360,000 มีลูก 1 คน ตั้งใจจะให้เรียนปริญญาตรีภาษาอังกฤษ ค่าใช้จ่าย 1,000,000 บาท มีหนี้บ้าน 1,250,000 บาท มีประกันชีวิตหมู่ของบริษัท 1,000,000 บาท มีสินทรัพย์ลงทุน 2,000,000 บาท รายได้เพิ่มเฉลี่ย 6% ต่อปี ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนหลังภาษี 5%
วิธีการคุ้มครองรายได้จนเกษียณอายุ
ทุนประกันที่มีอยู่จะขาด 5.4 ล้านบาท
ทุนประกันที่มาจากวิธีนี้ จะทำให้ครอบครัวยังใช้มาตราฐานชีวิตเดียวกับเรายังมีรายได้อยู่
วิธีการคุ้มครองรายจ่ายตามช่วงเวลาที่จำเป็น และหนี้สินที่มี
ทุนประกันที่มีอยู่จะขาด 2.5 ล้านบาท
ทุนประกันที่ได้จากวิธีนี้ ครอบคลุมภาระที่จำเป็นภายในระยะเวลาที่เรากำหนดไว้
จะเห็นความแตกต่างระหว่างการคิดทุนประกันในแต่ละแบบ จริงๆ ยังมีวิธีการอื่นอีกแต่ 2 วิธีนี้เป็นวิธีหลักที่มีการใช้แพร่หลายในการวางแผนการเงิน เพราะแต่ละคนต่างกัน แต่ละคนจะคำนวณจำนวนเงินออกมาได้ต่างกัน และจะเลือกจะปรับเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับเราก็ได้นะครับ ขึ้นกับวัตถุประสงค์และความพร้อมที่จะรองรับเบี้ยประกันที่จะเกิดขึ้น
ขอให้บทความนี้เป็นความรู้เผื่อวันหนึ่งที่คิดจะสร้างความคุ้มครองให้กับครอบครัวของเรา ถือเป็นการอัพเดตความรู้ในช่วง Social Distancing นะครับ บทความเกี่ยวกับประกัน 2 บทความนี้น่าจะเพียงพอสำหรับความเข้าใจในการทำประกันชีวิตที่เหมาะสม
เมื่อเราได้ทราบจำนวนเงินเอาประกันภัย (ทุนประกัน) ที่เราควรจะต้องมี ขั้นตอนต่อไปก็คือการเลือกประเภทของประกัน และเลือกแบบประกันตามเป้าหมายและความพร้อมทางการเงิน แต่สำหรับผมคงจบบทความเกี่ยวกับประกันชีวิตไว้เท่านี้ เรื่องของประกันไม่ว่าจะเป็นประกันเกี่ยวกับอะไร ทำไว้เพื่ออุ่นใจ ทำไว้แล้วไม่ต้องใช้ดีที่สุด
Credit : Unsplash.com
ขอบคุณที่อ่านถึงตอนท้ายนะครับ
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นบทความไม่ยาวแต่ใช้เวลาเขียนนานเกินคาด ระหว่างการเขียนผมต้องไปทบทวนความรู้ความเข้าใจ และต้องคำนวณค่อนข้างมาก จากเรื่องง่ายๆ กลายเป็นยากไปซะอย่างงั้น แต่เป็นการทบทวนความรู้ความเข้าใจของตัวเองได้ดี หากมีความเห็นสามารถแชร์เพื่อเป็นความรู้ร่วมกันครับ ทั้งนี้มุมมองของผู้อยู่ในงานด้านนี้อาจแตกต่างจากผมซึ่งมองในมุมของการวางแผนการเงินเป็นหลักนะครับ
โฆษณา