1 พ.ย. 2022 เวลา 03:00
ทำความรู้จักประกันควบการลงทุน (Unit Linked) และเลือกใช้แบบประกันให้เหมาะกับแผนการเงินส่วนบุคคล EP.1
ปัจจุบันบริษัทประกันชีวิตมีผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked) เพื่อนำเสนอลูกค้า เราหลายคนอาจได้รับการนำเสนอว่าผลิตภัณฑ์นี้มีความเหมาะสมกับแผนการเงินของเรา การทำความเข้าใจเบื้องต้นถึงความแตกต่างของแบบประกันแต่ละประเภท จะช่วยให้เราสามารถเลือกประกันฯ ที่ตรงกับแนวทางของเราได้ ถ้าสนใจลองอ่านดูครับ แต่อาจต้องใช้เวลาพอสมควรกับบทความด้านล่างนี้ครับ
Credit : Pexels.com
1. Unit Linked Insurance Plan หรือ ประกันควบการลงทุน คืออะไร
Unit Linked Insurance Plan หรือเรียกสั้นๆ ว่า Unit Linked คือประกันชีวิตรูปแบบหนึ่งที่นำการออมการลงทุนในกองทุนรวมมาควบรวมไว้ในผลิตภัณฑ์เดียวกัน
Unit Linked เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย โดยแนวคิดเริ่มแรกของผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ไม่ได้เกิดจากบริษัทประกันชีวิต แต่ถูกพัฒนาขึ้นโดย Unit Trust of India (UTI) ที่ธนาคารกลางของอินเดียก่อตั้งขึ้นให้ทำหน้าที่ในการพัฒนาตลาดกองทุนรวม (Mutual Funds) ในประเทศอินเดีย
UTI ได้เปิดตัวหน่วยลงทุนที่มีชื่อว่า UTI Unit Linked Insurance Plan (ULIP) ในปี พ.ศ. 2514 โดยเป็นหน่วยลงทุนที่ไม่ได้มีเพียงแค่การออมและการลงทุน แต่ยังมีความคุ้มครองชีวิตและอุบัติเหตุ จนกลายเป็นชื่อเรียกของผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ควบรวมการลงทุนผ่านกองทุนรวม ปัจจุบัน UTI Unit Linked Insurance Plan ยังมีการบริหารจัดการการลงทุนสำหรับหน่วยลงทุนที่มีผู้ถืออยู่เดิมเท่านั้น ไม่ได้มีการจำหน่ายหน่วยลงทุนใหม่อีกแล้ว
กว่าที่ Unit Linked ตัวที่สองจะออกสู่ตลาดก็คือ ปี พ.ศ. 2532 หรืออีก 18 ปีต่อมา โดยเปิดตัวพร้อมการเริ่มดำเนินธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม LIC Mutual Fund เห็นได้ว่าในช่วงแรกผลิตภัณฑ์ชนิดนี้เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการฯ (บลจ) ต่างจากในปัจจุบันที่ผลิตภัณฑ์ Unit Linked ส่วนใหญ่ถูกพัฒนาและนำเสนอโดยบริษัทประกันชีวิต
2. Unit Linked ต่างกับประกันชีวิตอย่างไร
Unit Linked คือผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง ที่มีส่วนของความคุ้มครอง แต่แยกส่วนของการออมการลงทุนออกมาเพื่อบริหารแยกจากกัน แตกต่างจากประกันชีวิตอื่น ๆ ที่รวมสองส่วนนี้เข้าไว้ด้วยกันโดยไม่แสดงรายละเอียดให้เราทราบ
ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแทบทุกรูปแบบในปัจจุบันถูกพัฒนาจากประกันชีวิตรูปแบบดั้งเดิมที่ผู้รับประกันให้ความคุ้มครองตามจำนวนเงินที่ระบุในสัญญาหากผู้ทำประกันเสียชีวิตในระหว่างที่สัญญารับประกันมีผลบังคับ โดยผู้ทำประกันต้องจ่ายเบี้ยประกันที่ตกลงกันให้กับผู้รับประกันฯ เพื่อรับความคุ้มครองภายในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ ผู้รับประกันไม่ต้องความรับผิดชอบและไม่ต้องชำระเงินใดใดคืนให้กับผู้เอาประกันเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาคุ้มครอง
ผลิตภัณฑ์ประกันภัยในปัจจุบันที่มีความใกล้เคียงกับรูปแบบดั้งเดิมนี้ เช่น ประกันการเดินทาง (Travel Insurance) และประกันแบบชั่วระยะเวลา (Term) ที่บริษัทประกันภัยให้ความคุ้มครองภายในระยะเวลารับประกันที่กำหนดไว้ หากพ้นกำหนดเวลาสัญญาจะไม่มีผลบังคับโดยผู้รับประกันไม่ต้องจ่ายเงินให้ผู้เอาประกัน
ในการพัฒนาของแบบประกันชีวิตแต่ละแบบมีการนำส่วนของการออมเข้ามารวมในแบบประกันชีวิตเพื่อให้กรมธรรม์ประกันชีวิตมีเงินจำนวนหนึ่งมอบให้ผู้เอาประกันชีวิตทั้งในช่วงที่กรมธรรม์มีผลคุ้มครอง และ/หรือเมื่อกรมธรรม์สิ้นสุดสัญญาและความคุ้มครองชีวิตสิ้นสุดลงแล้ว
เงินจำนวนนี้เกิดจากการที่บริษัทประกันชีวิตนำเงินค่าเบี้ยประกันฯ ส่วนที่เหลือจากค่าประกันภัยและค่าใช้จ่ายบางส่วนไปลงทุนตามนโยบายการลงทุนของบริษัทภายใต้ข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับ ซึ่งเงินส่วนใหญ่จะถูกนำไปลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่นพันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น โดยบริษัทประกันชีวิตต้องรับความเสี่ยงส่วนใหญ่ที่เกิดจากการลงทุนแทนผู้เอาประกันด้วยการการันตีจำนวนเงินที่จะมอบให้ผู้เอาประกัน
นอกจากประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term) แล้ว ยังมีรูปแบบของประกันชีวิตที่เรารู้จักกันดี ก็คือ
  • ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life)
ที่ให้ความคุ้มครองระยะยาวจนกระทั่งเสียชีวิต โดยทายาทจะเป็นผู้ได้รับเงินเอาประกันตามกรมธรรม์
  • ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment)
ที่มีส่วนของความคุ้มครองชีวิตและการออมเงินซึ่งถูกพัฒนาให้มีความหลากหลายทั้งแบบที่เน้นผลตอบแทนการออมหรือแบบที่เน้นความคุ้มครองชีวิต ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์จะมีการกำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำที่ผู้เอาประกันจะได้รับอย่างแน่นอน การการันตีจำนวนเงินที่ได้รับให้กับผู้ถือกรมธรรม์เป็นผลจากการรับความเสี่ยงของการลงทุนโดยบริษัทประกันชีวิต
  • ประกันบำนาญ (Pension)
มีรูปแบบคล้ายกับประกันแบบสะสมทรัพย์ เพียงแต่การจ่ายเงินให้ผู้เอาประกันจะเป็นการทยอยจ่ายให้จนกระทั่งผู้เอาประกันเสียชีวิต ในรูปของเงินบำนาญ เพื่อวัตถุประสงค์ในการมีรายรับหรือเงินที่แน่นอนสำหรับใช้จ่ายไปตลอดช่วงหลังเกษียณอายุ ซึ่งเป็นจุดเด่นและวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงของ Living Benefit ที่ป้องกันปัญหาเงินหมดก่อนเวลา เมื่อเปรียบเทียบกับการแบ่งใช้เงินก้อนด้วยตัวเองเพราะแต่ละคนไม่สามารถกำหนดช่วงเวลาหลังเกษียญได้
  • ประกันควบการลงทุน (Unit Linked)
เช่นเดียวกับประกันชีวิตต่างๆ ข้างต้น ที่มีส่วนของความคุ้มครองชีวิต และ ส่วนของการออมการลงทุน แต่เงินสองส่วนนี้ถูกแยกออกจากกันออกจากกันตามเงื่อนไขที่กำหนดขึ้น ให้สามารถกำหนดจำนวนเงินหรือปรับเปลี่ยนแต่ละส่วนได้ตามโจทย์การเงินของเรา จึงมีความยืดหยุ่นมากกว่าประกันชีวิตทั่วไป เป็นประโยชน์ในการบริหารแผนการเงิน
ที่สำคัญ Unit Linked มีรูปแบบการออมและลงทุนที่แตกต่างจากประกันชีวิตข้างต้น ผู้เอาประกันเป็นผู้เลือกลงทุนในกองทุนรวมต่างๆ ที่บริษัทประกันชีวิตจัดหามา เป็นผู้ตัดสินใจกลยุทธการลงทุนและพอร์ตการลงทุน และเป็นผู้รับผิดชอบความเสี่ยงจากการลงทุนด้วยตนเอง
จากการที่ผู้เอาประกันเป็นผู้กำหนดแนวทางการลงทุนในกองทุนรวมต่างๆ และต้องรับความเสี่ยงจากการลงทุนด้วยตัวเองเอง กรมธรรม์ Unit Linked จึงต้องแยกรายละเอียดต่างๆ ออกจากกันให้เห็นชัดเจน เพื่อให้เห็นเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าจัดสรรและบริหารจัดการกรมธรรม์ ค่ามรณะ ค่าไถ่ถอน ค่าธรรมเนียมการสับเปลี่ยน และค่าบริหารจัดการกองทุนจาก NAV ซึ่งถูกหักตามจำนวนหน่วยที่ถือ และที่สำคัญจำนวนเงินที่จะถูกนำไปลงทุนในแต่ละงวดที่ชำระเบี้ย
การเลือกทำประกันชีวิตแต่ละรูปแบบ ขึ้นกับความจำเป็น วัตถุประสงค์ในการทำประกันชีวิต และคุณสมบัติของผู้เอาประกันภัย การเลือกทำประกันแต่ละรูปแบบโดยเฉพาะแบบ Unit Linked ตอบวัตถุประสงค์ทางการเงินได้อย่างไร ติดตามในตอนต่อไปครับ https://www.blockdit.com/posts/635b769f7a3ea9a529d2a680
โฆษณา