3 พ.ย. 2022 เวลา 03:00
ทำความรู้จักประกันควบการลงทุน (Unit Linked) และเลือกใช้แบบประกันให้เหมาะกับแผนการเงินส่วนบุคคล EP.2
หลาย ๆ คนอาจมีคำถามว่าเราจำเป็นต้องทำประกันหรือเปล่า? และถ้าต้องทำประกันควรเลือกทำประกันแบบไหน?
จุดมุ่งหมายหลักของประกันชีวิตคือ การประกันความเสี่ยงในกรณีเสียชีวิต หากการเสียชีวิตนั้นส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและการเงินกับบุคคลใกล้ชิดและการทำประกันชีวิตสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ ย่อมเป็นการแสดงถึงความจำเป็นที่ต้องทำประกันชีวิต ขณะเดียวกันประกันชีวิตส่วนใหญ่มีผลพลอยในด้านการออมและการลดหย่อนภาษี บทความตอนที่แล้วได้พูดถึงประกันชีวิตรูปแบบต่างๆ แล้วเราจะเลือกทำประกันแบบไหนดี?
Credit : Pexels.com
ตัวอย่างสมมุติอย่างง่ายๆ คือ นายเอ ตั้งใจวางแผนการเงินเพื่อให้เด็กชายบีจะเข้าเรียนระดับปริญญาตรีในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะต้องใช้เงินรวมๆ กันประมาณ 1 ล้านบาท โดยเงินจำนวน 1 ล้านบาทนี้จะมาจากเงินที่แบ่งจากรายได้ในการทำงานของนายเอ เป็นเงินปีละ 1 แสนบาทตลอดระยะเวลา 10 ปีก่อนที่ เด็กชายบีจะเข้าเรียน ฉะนั้นความคุ้มครองที่จำเป็นสำหรับนายเอ ณ วันนี้ ก็คือเงิน 1 ล้านบาทในอีก 10 ปีข้างหน้านั่นเอง
หากยึดจำนวนเงิน 1 ล้านบาทในการทำประกันชีวิต ทางเลือกของนายเอ คือ
ทางเลือกที่ 1 : ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ทุนประกันชีวิต 1 ล้านบาท ครอบคลุมถึงอายุ 99 ปี
ทางเลือกที่ 2 : ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ทุนประกันชีวิต 1 ล้านบาท ครอบคลุมระยะเวลา 10 ปี
ทางเลือกที่ 3 : ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา ทุนประกันชีวิต 1 ล้านบาท ครอบคลุมระยะเวลา 10 ปี
ทางเลือกที่ 4 : ประกันชีวิตแบบ Unit Linked ทุนประกันชีวิตเริ่มต้น 1 ล้านบาท ครอบคลุมระยะเวลา 10 ปี
ในด้านความคุ้มครองจะเห็นได้ว่า แต่ละทางเลือกให้ความคุ้มครองนายเอ ได้ 10 ปีตามความต้องการ
ในด้านเป้าหมายการออมการลงทุน ทางเลือกที่ 2 ประกันสะสมทรัพย์ เป็นทางเลือกที่นายเอจะได้รับเงิน 1 ล้านบาทเมื่อครบ 10 ปีอย่างแน่นอน โดยนายเอไม่จำเป็นต้องออมเงินเพิ่มเติมจากเบี้ยประกันที่จ่ายในแต่ละปี เนื่องจากเบี้ยประกันได้รวมส่วนของการออมไว้แล้ว และบริษัทประกันฯ เป็นผู้รับประกันการจ่ายเงินโดยรับความเสี่ยงจากการลงทุนไว้เอง
ขณะที่ทางเลือกที่ 4 ประกันควบการลงทุน นายเอ มีโอกาสได้รับเงินขั้นต่ำ 1 ล้านบาท หากนายเอเสียชีวิต หรือนายเอ สามารถขายเงินกองทุนใน Unit linked เพื่อนำเงิน 1 ล้านบาทออกมา แต่นายเอเป็นผู้รับความเสี่ยงจากการลงทุนเอง จำนวนเงินที่สามารถขายกองทุนได้ จึงขึ้นกับผลการดำเนินการของกองทุนรวมที่นายเอเลือกลงทุน
สำหรับทางเลือกที่ 1 และ 3 นายเอจำเป็นต้องลงทุนด้วยตนเองเพิ่มเติม เนื่องจากทางเลือกที่ 3 เป็นแบบประกันที่ให้ความคุ้มครองเพียงอย่างเดียว ขณะที่ทางเลือกที่ 1 มีแนวทางลงทุนระยะยาว(ตามระยะเวลากรมธรรม์ที่ครบกำหนดอายุ 99 ปี) ส่วนของการออมที่มีจึงเท่ากับมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์เท่านั้น ทั้งสองทางเลือกจึงต้องมีการออมการลงทุนเพิ่มเติมและแยกออกจากการทำประกันชีวิต
หากนำส่วนของการออมของทั้ง 4 ทางเลือก จะเห็นได้ว่า ทางเลือกที่ 2 เป็นทางเลือกที่บริษัทประกันฯ รับความเสี่ยงจากการลงทุนไว้ทั้งหมด ขณะที่ทางเลือกที่เหลือนายเอต้องรับความเสี่ยงจากการลงทุนส่วนใหญ่ไว้ด้วยตนเอง
หากคุณเป็น นายเอ คุณจะเลือกทางเลือกใดครับ?
ไม่ว่าคุณจะเลือกทางเลือกไหนก็ตาม ในความเป็นจริงคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีเป้าหมายการเงินที่ต้องเตรียมการเพียงเป้าหมายเดียว แต่ละเป้ามีความแตกต่างกัน ทั้งความคุ้มครอง การออมการลงทุน และระยะเวลา เช่น นายเอ ยังต้องการเก็บเงินเพื่อการเกษียณอายุในอีก 25 ปีข้างหน้า ซึ่งจำนวนเงินขั้นต่ำที่นายเอจะต้องการเพิ่มเติมจากการออมเพื่อการเกษียณคือ 10 ล้านบาท นอกจากนี้ นายเอยังต้องการสร้างความคุ้มครองเป็นเงิน 5 ล้านบาทเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตให้กับครอบครัวหากนายเอเกิดจากไปก่อนเวลา เป็นต้น
เมื่อเรามีเป้าหมายการเงินหลายเป้าหมาย บางคนเลือกที่จะแยกวางแผนการเงินสำหรับแต่ละเป้าหมาย ขณะที่บางคนก็เลือกที่จะวางแผนแบบรวมเป้าหมายต่างๆ เข้าด้วยกัน ถึงตรงนี้ทางเลือกของรูปแบบประกันชีวิตอาจแตกต่างออกไปจากเดิม
จะเห็นได้ว่านายเอ ต้องการความคุ้มครองใน 10 ปีแรก รวมเป็นจำนวนเงิน 6 ล้านบาท และอีก 15 ปีต่อมา จำนวนเงิน 5 ล้านบาท (กราฟหมายเลข 1 ในภาพ) ซึ่งการกำหนดจำนวนเงินความคุ้มครองลักษณะนี้สามารถนำประกันชีวิตรูปแบบต่างๆ เข้ามาตอบความต้องการได้
แต่ในความเป็นจริง ความคุ้มครองทางการเงินของนายเอทั้งสองเป้าหมาย ยังอาจเปลี่ยนไปตามระยะเวลาอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ความคุ้มครองเงินเป้าหมายเพื่อการศึกษา 1 ล้านบาทระยะเวลา 10 ปี มาจากการคำนวณความต้องการจำนวน 1 แสนบาทต่อปี ฉะนั้นเมื่อเวลาผ่านไปและนายเอสามารถออมและลงทุนได้ตามเป้าหมาย จำนวนเงินที่นายเอต้องการความคุ้มครองจะเท่ากับจำนวนเงินส่วนที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งควรจะลดลงจากความต้องการในปีแรก (กราฟหมายเลข 2 ในภาพ)
ในกรณีแบบนี้แบบประกันชีวิตที่มีความยืดหยุ่นให้เราสามารถเพิ่มหรือลดจำนวนเงินเอาประกันภัยจะสอดคล้องกับเป้าหมายการเงิน และช่วยให้เราไม่ต้องมีจำนวนเงินเอาประกันภัยสูงเกินความจำเป็นเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่ง Unit Linked เป็นประกันชีวิตรูปแบบที่เราสามารถปรับเปลี่ยนจำนวนเงินที่เราต้องการความคุ้มครอง(ขึ้นกับเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์ที่เลือก) ความยืดหยุ่นนี้จึงนำมาใช้ประโยชน์ได้ดีเมื่อแผนการเงินมีความซับซ้อนขึ้น
ตัวอย่างแบบประกันที่สามารถปรับเปลี่ยนจำนวนเงินที่ต้องการคุ้มครอง เมื่อมีเงินออมและลงทุนเพิ่มขึ้นตามระยะเวลา
แบบประกันแต่ละรูปแบบมีความเหมาะสมสำหรับใช้กับเป้าหมายการเงินที่แตกต่างกัน และผู้เอาประกันที่แตกต่างกันตามทัศนคติ/ความสามารถในการรับความเสี่ยง/ความสามารถทางการเงิน อีกด้วย ทางเลือกของแต่ละคนจึงอาจแตกต่างกัน ยังมีประเด็นเรื่องจำนวนเงินค่าเบี้ยประกัน เงินออมและลงทุนที่แตกต่างกัน รวมถึงรายละเอียดด้านอื่นๆ ของประกันแต่ละรูปแบบที่แตกต่างกันอีกด้วย
ที่สำคัญแบบประกันแต่ละแบบอาจไม่ได้เหมาะสำหรับทุกๆ คนเหมือนกัน จึงไม่สามารถระบุแบบประกันแบบใดแบบหนึ่งที่เหมาะกับทุก ๆ คนเหมือนกัน คำแนะนำคือปรึกษานักวางแผนการเงิน ที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อรวบรวมเป้าหมายการเงินที่จำเป็นและจัดทำทางเลือกของรูปแบบประกันที่สามารถตอบเป้าหมายที่มีเพื่อพิจารณาเปรียบเทียบในด้านต่างๆ ว่าทางเลือกรูปแบบใดที่เหมาะสมกับคุณและครอบครัว
นอกจากนี้แล้วควรจะขอให้ตัวแทน/ที่ปรึกษาฯ ให้รายละเอียดระบบและการบริการหลังจากทำประกันว่าบริษัทฯ ที่เราเลือกมีระบบและการบริการที่รองรับการติดตามและบริหารแผนการเงินของเราด้วยนะครับ โดยเฉพาะประกันรูปแบบที่มีการออมที่เราต้องรับความเสี่ยง ซึ่งเราต้องติดตามดูข้อมูลเช่นเดียวกับการดูข้อมูลการลงทุนอื่นๆ จึงควรให้มั่นใจว่ามีระบบเหล่านี้รองรับด้วย
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยให้คนอ่านเข้าใจหลักการเบื้องต้นในการเลือกทำประกันชีวิตให้เหมาะสมกับตัวเอง และไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน สำหรับการจำนวนความคุ้มครอง หากสนใจสามารถอ่านบทความเก่าในซีรี่ย์ เมื่ออ่านจบแล้วทุกคนสามารถให้ความเห็นในบทความเพื่อแชร์มุมมองร่วมกันและเป็นการแลกเปลี่ยน เพื่อช่วยพัฒนาแนวคิดและการเขียนของผู้เขียนครับ ขอบคุณครับ
อ่านบทความ EP.1 ได้ที่ https://www.blockdit.com/posts/63594e13943b413912f4d6ca
หมายเหตุ : ตัวอย่างในบทความและการคำนวณจำนวนเงินไม่ได้เป็นการคำนวณจริง แต่เป็นการใช้ตัวเลขง่ายๆ เพื่อให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้นเท่านั้น
โฆษณา