1 เม.ย. 2020 เวลา 05:34
เตรียมตั้งครรภ์รับประทาน “Folic acid” อย่างไรดี
👼 การได้รับสารอาหารที่เพียงพอจำเป็นอย่างยิ่งในช่วงเตรียมตั้งครรภ์และระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งสำคัญต่อการเจริญของทารกในครรภ์ พบว่าภาวะขาดสารอาหารหรือแร่ธาตุที่จำเป็นจะส่งผลให้ทารกในครรภ์ได้รับอันตรายได้ ไม่ว่าจะเป็น การแท้งบุตร ทารกมีความผิดปกติหรือพิการ
👼 Folic acid (Folate) คือวิตามิน B9 ที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาของตัวอ่อนในครรภ์ โดยพบว่าการขาด folic นี้จะทำให้เกิดภาวะ Neural tube defects (#NTDs) คือภาวะหลอดประสาทไม่ปิด เป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดของระบบประสาทส่วนกลางและไขสันหลัง ซึ่งในแต่ละปีมีทารกที่เป็น NTDs ประมาณ 3 แสนคน อุบัติการณ์สูงสุดใน Middle East คือ 20.9 ต่อ 10,000 การคลอด, Southeast Asia พบ 15.8 ต่อ 10,000 การคลอด และต่ำสุดใน Western pacific 6.9 ต่อ 10,000 การคลอด
👼 มีเปเปอร์ตีพิมพ์ในวารสาร Cochrane ซึ่งเป็น systematic review เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับ folic acid กับกลุ่มที่ไม่ได้รับยาเพื่อดูความเสี่ยงในการเกิดภาวะ NTDs และผลเสียอื่นๆต่อมารดาและทารก โดยรวบรวมข้อมูลจาก 5 การศึกษาผู้ป่วยจำนวน 7391 ราย พบว่า
1. ในกลุ่มที่ได้รับ folate ความเสี่ยงในการเกิด NTDs ลดลงถึง 69% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยา/ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ
2. สำหรับ outcome อื่นได้แก่ โรคปากแหว่งเพดานโหว่ หัวใจพิการแต่กำเนิด (congenital cardiovascular defects) แท้ง และภาวะผิดปกติอื่นๆ ไม่มีหลักฐานระบุชัดเจนถึงความแตกต่างกันในทั้งสองกลุ่ม
👼 👉 องค์การอนามัยโลกหรือ WHO แนะนำให้หญิงทุกคนที่วางแผนตั้งครรภ์รับประทาน Folic acid อย่างน้อย 400 ไมโครกรัมต่อวันขึ้นไป เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 12 สัปดาห์ (3 เดือน) ก่อนตั้งครรภ์
👶🏻 ส่วนใหญ่ขนาดยาที่พบบ่อยในบ้านเราคือ 5 mg (เม็ดเหลือง) เช่น ยี่ห้อขององค์การเภสัชกรรม, Folivit, F-min เป็นต้น ส่วนยี่ห้ออื่นที่ไม่ใช่ขนาด 5 มิลลิกรัม เช่น Blackmores ขนาด 0.5 มิลลิกรัม (500 ไมโครกรัม) ต่อเม็ด และแบบวิตามินรวมที่มีโฟลิก เช่น Obimin มี folic 1 มิลลิกรัมต่อเม็ด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อไหนก็สามารถรับประทานก่อนเริ่มตั้งครรภ์เพื่อป้องกันการขาดโฟลิกได้ โดยเริ่มอย่างน้อย 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์ รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 1 ครั้งหลังอาหารเช้า
🤰 ส่วนหญิงที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิด NTDs เช่น ตนเองหรือคู่สมรสเป็น NTDs หรือเคยมีบุตรเป็น NTDs ควรรับประทาน folic acid เสริมขนาดสูงอย่างน้อย 4 mg ต่อวัน เริ่มรับประทาน 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์ไปจนกระทั่งอายุครรภ์ครบ 12 สัปดาห์ จะสามารถลด NTDs ได้ถึงร้อยละ 70
เอกสารอ้างอิง
- Periconceptional folic acid supplementation to prevent neural tube defects. WHO. 2007.
- De‐Regil LM, Peña‐Rosas JP, Fernández‐Gaxiola AC, Rayco‐Solon P. Effects and safety of periconceptional oral folate supplementation for preventing birth defects. Cochrane Database of Systematic Reviews 2015, Issue 12. Art. No.: CD007950.
- Neural tube defect (NTD). OB GYN CMU.
โฆษณา