8 เม.ย. 2020 เวลา 09:31 • การศึกษา
ถูกฟ้องล้มละลายและถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด อาจเป็นสาเหตุให้ถูกเลิกจ้างได้?
ในโลกของการทำงาน ความน่าเชื่อถือนับว่าเป็นเรื่องที่มีสำคัญไม่แพ้ความรู้ความสามารถ และถ้ามองอย่างไม่มีอคติแล้ว คนทั่วไปก็มักจะตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอก เช่น การแต่งกาย บุคคลิกภาพ ก่อนเป็นอันดับแรก
แต่สำหรับบางอาชีพหรือบางตำแหน่งหน้าที่นั้น ความน่าเชื่อถือในด้านการเงินส่วนบุคคลก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน และในบางครั้งนายจ้างอาจถือเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ๆ ในการจ้างงานเลยก็ว่าได้
ในบางบริษัทอาจถึงกับกำหนดระเบียบข้อบังคับไว้เลยว่า “...หากพนักงานมีความประพฤติไม่เหมาะสม หรือมีพฤติการณ์ไม่น่าไว้วางใจแต่ไม่ถึงกับมีความผิด หรือมีหนี้สินรุงรัง หรือมีมลทินมัวหมอง...บริษัทมีสิทธิเลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชยได้”
สำหรับคนที่เป็นลูกจ้างอาจฟังดูน่าตกใจว่าเรื่องแค่นี้นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้เลยเหรอ แต่ในมุมของนายจ้าง ในบางตำแหน่งหน้าที่ที่จะต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และลูกค้า
อย่างเช่นตัวแทนประกันชีวิตนั้น แม้การมีหนี้สินรุงรังจะถือเป็นเรื่องส่วนตัวของลูกจ้างก็ตาม แต่ก็อาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือ และภาพลักษณ์ของนายจ้างได้
ขอยกตัวอย่างคดีเรื่องหนึ่ง...
ลูกจ้างมีตำแหน่งเป็น “ตัวแทนประกันชีวิต” ของบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง
ต่อมา ลูกจ้างคนดังกล่าวได้ถูกฟ้องล้มละลายและศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด* (มีอธิบายเรื่องนี้ไว้ตอนท้าย)
นายจ้าง (บริษัทประกันภัย) ได้เลิกจ้างและจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย แต่ลูกจ้างไม่พอใจจึงมาฟ้องต่อศาลแรงงานเพราะเห็นว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ศาลแรงงานพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามระเบียบของนายจ้างนั้นได้กำหนดไว้ว่า บริษัทอาจมีความจำเป็นต้องให้พนักงานออกจากงานในกรณีดังต่อไปนี้...มีหนี้สินรุงรัง มีมลทินมัวหมอง หรือกระทำในสิ่งที่ไม่สมควร บริษัทมีสิทธิเลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมายได้
การที่บุคคลใดถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดต้องเป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ดังนั้น ลูกจ้างย่อมได้ชื่อว่ามีหนี้สินรุงรังตามความหมายของระเบียบนายจ้างดังกล่าว
ประกอบกับลูกจ้างทำหน้าที่เป็นตัวแทนประกันชีวิตซึ่งต้องเป็นบุคคลที่มีความเชื่อถือหรือไว้วางใจของผู้เอาประกันภัย
หากผู้เอาประกันภัยหรือบุคคลที่จะเข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับนายจ้าง รู้ว่าลูกจ้างถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ย่อมส่งผลให้บุคคลดังกล่าวไม่เชื่อถือในการประกอบธุรกิจของนายจ้างไปด้วย
การที่นายจ้างเลิกจ้างจึงถือว่ามีเหตุอันสมควร ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
*อธิบายเสริมเรื่องล้มละลาย
บุคคลที่จะถูกฟ้องล้มละลายได้จะต้องเข้าลักษณะที่ “มีหนี้สินล้นพ้นตัว” (อธิบายง่าย ๆ คือ มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน หรือเข้าข้อสันนิษฐานที่กฎหมายกำหนดไว้) และ
1. บุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคน เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท
2. นิติบุคคลเป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคน เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท
3. หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน (สรุปกันได้ว่าเป็นหนี้จำนวนเท่าไร)
เมื่อลูกหนี้ถูกฟ้องล้มละลาย และศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่าลูกหนี้มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ก็จะมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ไว้ เพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
ผลของการถูกพิทักษ์ทรัพย์ ก็คือ ลูกหนี้จะไม่สามารถจัดการทรัพย์สินของตัวเองได้อีกต่อไป อำนาจจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้จะเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตั้งแต่ศาลได้มีคำสั่ง
(จริง ๆ แล้วเรื่องล้มละลายยังมีรายละเอียด และขั้นตอนอีกพอสมควร ซึ่งในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพกว้าง ๆ นะครับ)
อ้างอิง
- คำพิพากษาฎีกาที่ 882/2559
- พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน มาตรา 118
- พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49
- พ.ร.บ. ล้มละลาย มาตรา 7 , 8 , 9 , 22 , 24
- photo : pixabay

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา