8 เม.ย. 2020 เวลา 13:52 • ประวัติศาสตร์
ในอดีตที่คนไทยดื่มน้ำในแม่น้ำลำคลอง!!
น้ำจืดจากแหล่งใด มีรสชาติดี เป็นที่นิยมและมีชื่อเสียงที่สุดในอดีต
ช่วงนี้อากาศร้อนอบอ้าวมาก น้ำจึงเป็นตัวช่วยสำคัญในการแก้กระหายคลายร้อน และจำเป็นอย่างมากที่เราต้องหาน้ำสะอาดมาดื่ม
ปัจจุบันความสะดวกสบายมีมากกว่าอดีต เราเพียงเข้าร้านสะดวกซื้อหยิบน้ำดื่มยี่ห้อที่เราคุ้นชินในรสชาติ
ภาพจาก: https://www.npitrade.com/อุตสาหกรรมผลิตน้ำดื่ม/
อย่างแอดมินชอบดื่มน้ำยี่ห้อหนึ่ง ดื่มจนรู้สึกติดใจในรสชาติ พอเปลี่ยนไปดื่มยี่ห้ออื่นกลับรู้สึกไม่อร่อยซะงั้น
ในอดีตผู้คนทั่วไปจะบริโภคน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น น้ำฝน น้ำบ่อ รวมทั้งน้ำในแม่น้ำลำคลอง
แม่น้ำเจ้าพระยา
ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ น้ำเสวยของพระเจ้าแผ่นดิน คือ น้ำฝนและน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนในช่วงที่ใสสะอาด โดยนำมาผ่านกรรมวิธีทำให้เป็นน้ำบริสุทธิ์สำหรับเสวย
แต่แหล่งน้ำที่มีชื่อเสียงและรสชาติดีที่นิยมที่สุด คือ น้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี
ซึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบว่าน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีเป็นน้ำที่มีรสชาติอร่อยกว่าน้ำในลำน้ำอื่นๆ
แม่น้ำเพชรบุรี มีต้นน้ำจากเทือกเขาสูงชันทางด้านตะวันตกของจังหวัดเพชรบุรี ไหลผ่านอำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง ลงสู่อ่าวไทย ที่อำเภอบ้านแหลม มีความยาว 210 กิโลเมตร
เมื่อมาถึงอำเภอบ้านแหลม แม่น้ำจะแยกเป็นสองสาย สายหนึ่งออกสู่อ่าวไทยที่ตำบลบ้านแหลม อีกสายไหลไปทางทิศเหนืออกสู่อ่าวไทยที่ตำบลบางตะบูน
แม่น้ำเพชรบุรี ภาพจาก: https://www.matichon.co.th/education/religious-cultural/news_879735/attachment/1-แม่น้ำเพชรบุรี
รสชาติของน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีจะดีขนาดไหน ได้มีบันทึก จากพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่มีถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2465 ทรงกล่าวถึงเรื่องน้ำในลำน้ำเพชรบุรี ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเสวยกว่าน้ำในแม่น้ำอื่น ความว่า
”…เรื่องแม่น้ำเพชรบุรีนี้ เคยทราบมาแต่ว่าถือกันว่าเป็นน้ำดีเคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 5 รับสั่งว่านิยมกันว่ามันมีรสแปลกกว่าลำน้ำเจ้าพระยา และท่านรับสั่งพระองค์เองเคยเสวยน้ำเพชรบุรีเสียจนเคยแล้วเสวยน้ำอื่นๆไม่ อร่อยเลยต้องส่งน้ำเสวยจากเมืองเพชรบุรีและน้ำนั้นเป็นน้ำเสวยจริงๆตลอดมา กาลปัจจุบัน....”
เขื่อนแก่งกระจาน ต้นลำน้ำเพชรบุรี ภาพจาก: https://www.thailandtopvote.com/ที่เที่ยว/ที่เที่ยว-77-จังหวัด/38312/
น้ำเสวยนี้ ตักจากตำบลท่าชัย เป็นตำบลที่อยู่เหนือตำบลบ้านปืน และไม่มีราษฏรอาศัยอยู่ โดยเป็นทางน้ำที่ไหลผ่านกรวดทรายจึงเป็นน้ำใสสะอาด
ส่วนกระบวนการนำจืดจากลำน้ำเพชรบุรี มาเป็นน้ำเสวยนั้น เป็นหน้าที่ของเจ้าเมืองเพชรบุรี ตั้งแต่ตักน้ำ นำมาต้มใส่ในกระทะใบใหญ่ ตลอดจนกระบวนการกรองใส่ภาชนะดินเผาส่งเข้าพระนคร
ภาพเก่าลำนำ้เพชรบุรี
แม้น้ำเพชรจะมีรสชาติอร่อยเป็นที่ถูกพระโอษฐ์พระมหากษัตริย์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปสภาพบ้านเมืองพัฒนาเจริญขึ้น ผู้คนมีจำนวนเพิ่มขึ้นจึงส่งผลกระทบกับแม่น้ำเพชรบุรี
วันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2465 เจ้าพระยายมราชเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดเพชรบุรี พบว่ามีสิ่งปฏิกูลปนเปื้อนในแม่น้ำเพชรบุรี
เจ้าพระยายมราชยังกราบทูลถึงเหตุที่น้ำเพชรไม่สมควรจะเป็นน้ำเสวยอีกต่อไป ความว่า
“..เมื่อนึกถึงความเข้าใจของมหาชนทั่วไป แลชาวต่างประเทศด้วยแล้ว การที่ยังจัดอยู่ในราชการปรากฏว่าน้ำในลำน้ำเพ็ชรบุรีเปนน้ำเสวยดังนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าดูเปนการเสื่อมเสียพระเกียรติยศและเกียรติคุณของน้ำเสวย...”
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น การใช้น้ำยังคงอาศัยน้ำจากแม่น้ำลำคลองและน้ำฝนเป็นน้ำอุปโภคบริโภค
แผนที่คูคลองเมืองบางกอก ภาพจาก: https://w.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11227806/E11227806.html
ในสมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าให้มีการขุดคูคลองเชื่อมโยงกับแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมากมายให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่ของประชาชน
ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 หลังจากพระองค์เสด็จประพาสยุโรปถึง 2 ครั้ง
เสด็จประพาสยุโรป
ได้มีพระราชดำริ การจัดหาน้ำบริโภคสำหรับประชาชนในเขตพระนคร เพื่อให้พสกนิกรของพระองค์มีความเป็นอยู่อย่างถูกสุขอนามัย ปราศจากโรคภัยร้ายแรง
และทรงเล็งเห็นว่า ในขณะนั้นประชาชนทั่วไปยังคงใช้น้ำ ซึ่งปราศจากความสะอาดบริสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูแล้ง น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีระดับต่ำ ทำให้น้ำทะเลหนุน
น้ำจึงมีรสชาติกร่อยไม่เหมาะสำหรับการบริโภค
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2452 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ประกาศพระบรมราชโองการทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมสุขาภิบาลจัดการนำน้ำมาใช้ในพระนคร จนต่อมาได้ทำการเปิดกิจการประปากรุงเทพฯขึ้นในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2457
เป็นอันสิ้นสุดการบริโภคน้ำในแม่น้ำลำคลองที่ดื่มกินกันมาอย่างยาวนาน การเปลี่ยนผ่านมาใช้น้ำปะปาก็ได้พัฒนาไปทั่วภูมิภาคของประเทศไทยในเวลาต่อมา
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
โฆษณา