10 เม.ย. 2020 เวลา 06:21 • ธุรกิจ
'พักชำระหนี้' กับ 'พักหนี้' ต่างกันอย่างไร?
ทำความเข้าใจความหมาย และเงื่อนไขของการ 'พักชำระหนี้' กับ 'พักหนี้' ก่อนตัดสินใจ ลดภาระหนี้ช่วงโควิด-19
บทความโดย ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์
'พักชำระหนี้' กับ 'พักหนี้' ต่างกันอย่างไร?
สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ธุรกิจ การทำงาน ชีวิตประจำวันของหลายคนเปลี่ยนไป จนส่งผลกระทบต่อเงินในกระเป๋า เมื่อการแพร่ระบาดที่ดูเหมือนว่าจะไม่จบลงง่ายๆ ทำให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ต้องเข้ามาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างจริงจัง
หนึ่งในนั้นมาตรการจัดการหนี้ ที่รัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ ทยอยออกมาตรการ “ลดภาระหนี้” ให้กับประชาชนให้สามารถบริหารจัดการรายได้ให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้
ระยะที่ผ่านมา มีหลายธนาคารออกมาตรการที่มีเงื่อนไขแตกต่างกันออกไป ที่ได้เห็นบ่อยๆ คือการเปิดให้ "พักชำระหนี้" "พักชำระเงินต้น" "ลดดอกเบี้ย" ไปจนถึง "พักหนี้" ซึ่งแต่ละคำ มีความหมายที่แตกต่างและวิธีดำเนินการที่แตกต่างกันออกไป
ดังนั้น ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการเพื่อรับเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ อยากให้ทำความเข้าใจกับคำต่างๆ เหล่านี้ เพื่อให้ไม่เกิดความสับสน และสามารถวางแผนการชำระหนี้ได้ถูกต้อง
'พีรภัทร ฝอยทอง' CFP ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย / นักวางแผนการเงินส่วนบุคคล อธิบายถึงความแตกต่างแต่คำต่างๆ ไว้ ดังนี้
พักชำระหนี้
"พักชำระหนี้" หมายความว่า ในงวดที่ได้รับการพักชำระนั้น ไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย แต่ธนาคารจะยังคิดดอกเบี้ยต่อไปเรื่อยๆ แล้วค่อยมาเก็บดอกเบี้ยในภายหลัง
นาย A เป็นลูกค้าของธนาคาร ที่ให้มาตรการพักชำระหนี้ 3 เดือน ระหว่างที่มีการพักชำระหนี้ นาย A ไม่ต้องชำระเงินให้กับธนาคารเลย ในงวดที่ 10 – 13 แต่ หลังจากพ้นระยะเวลาพักชำระหนี้ 3 เดือนนี้แล้ว นาย A จะต้องกลับมาผ่อนชำระค่างวดตามปกติในงวดที่ 14 และจะต้องจ่ายดอกเบี้ยของงวดที่ 10-13 ซึ่งยังค้างชำระเอาไว้ด้วย
ซึ่งการ “พักชำระหนี้” ณ ที่นี้ หลายคนอาจสับสน และคิดว่าเป็นลักษณะเดียวกับการ “พักหนี้” ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วไม่เหมือนกัน!
โฆษณา