13 เม.ย. 2020 เวลา 01:00 • การศึกษา
เหตุเกิดเมื่อเยือนญี่ปุ่น
หลักการวางตัวของพระสงฆ์ในต่างแดน
สายตาคนท้องถิ่นเวลาเห็นพระภิกษุสงฆ์มีหลากหลายมาก ยกตัวอย่างจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับอาตมภาพตอนไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น พอเรียนไปสักระยะหนึ่งทุกอย่างเริ่มลงตัวแล้ว ก็เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปตามสูตรเหมือนกัน
เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเป็นเมืองพุทธอยู่แล้ว แม้จะเป็นพุทธมหายาน ซึ่งเป็นคนละแบบกับเราก็ตาม เวลาเห็นเรา เขารู้นะว่านี่คือพระสงฆ์ แต่ชาวญี่ปุ่นจะรู้สึกว่า จีวรพระสงฆ์ไทยแปลกไปจากจีวรพระสงฆ์ในประเทศเขา
มีคราวหนึ่งอาตมภาพยืนรอรถเมล์ กำลังจะกลับหอพักนักศึกษานานาชาติ ตอนนั้นยังไม่มีวัดไทยในประเทศญี่ปุ่นเลย อาตมภาพจึงพักที่หอพักนักศึกษานานาชาติ
ขณะนั้น ทั้งประเทศญี่ปุ่นมีอาตมภาพเป็นพระไทยอยู่เพียงรูปเดียวเท่านั้น และไม่มีลูกศิษย์ไปรับ แต่ยังดีที่หอพักนักศึกษานานาชาติมีนักศึกษาไทยอยู่ราว 30 คน หมุนเวียนกันมาถวายภัตตาหาร นานวันก็มีคนไทยเริ่มรู้จึงมาอุปัฏฐากบ้าง
วันหนึ่งอาตมภาพยืนรอรถเมล์อยู่ ก็มีคุณยายอายุราว ๆ 70 -80 ปี เดินเข้ามาถึงก็ยิ้มแย้มอ่อนน้อม ก้มโค้งคำนับ แล้วพยายามจะเอามือมาแตะจีวร อาตมภาพก็ขยับหลบ
คุณยายถามว่า “นี่คืออะไร...เห็นแล้วรู้สึกสบายใจเลยขอเสียมารยาทเข้ามาถาม” โดยปกติคนญี่ปุ่นจะขี้เกรงใจ เวลาเจอคนแปลกหน้าเขาจะไม่ยุ่งด้วย แต่คราวนี้เขาเห็นอาตมภาพแล้วรู้สึกสบายใจอยากจะเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ด้วย จึงเข้ามาถามว่า “นี่คืออะไร”อาตมภาพก็ตอบเขาไปว่า “นี่คือจีวรของพระ”
วันหนึ่งมีพระญี่ปุ่น มาบวชอยู่เมืองไทยแล้วกลับไปประเทศญี่ปุ่น พอท่านทราบว่าอาตมภาพอยู่ที่นั่น ก็อุตส่าห์ ไปถามไถ่จนได้เบอร์โทรศัพท์ แล้วติดต่อนัดเจอกันที่สถานีรถไฟอิเคะบุคุโระ (Ikebukuro)
ท่านบอกว่า ตอนที่บวชพระอยู่เมืองไทยนั้น พูดไทยไม่ได้เลย อ่านหนังสือไทยก็ไม่ออก พอจะรู้ว่าพระภิกษุสงฆ์ต้องรักษาศีล 227 ข้อ แต่ไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง ก็ไปหาตำรามาดูแล้วรู้เรื่องหลัก ๆ แต่รายละเอียดบางอย่างไม่รู้ว่าถูกหรือผิด จึงอยากจะขอพบอาตมภาพ เพื่อซักถามข้อสงสัยเรื่องพระธรรมวินัย
ตอนนั้นอาตมภาพกำลังทุ่มเทเรื่องการเรียนอย่างเต็มที่ พอหามุมยืนได้ที่ปั๊บ ก็หยิบกระดาษโน้ตขึ้นมาท่องศัพท์ภาษาญี่ปุ่นทันทีขณะรอก็ท่องศัพท์ไป ใช้เวลาทุกนาทีให้เกิดประโยชน์ ยืนนิ่ง ๆ อยู่ริมผนัง คนเดินไปเดินมาก็ช่างเขา เราก็ท่องคำศัพท์ของเราไป
อาตมภาพยืนอยู่อย่างนั้นสักพัก ปรากฏว่ามีคุณยายท่านหนึ่งอายุประมาณ 80 กว่าปี ค่อย ๆ เดินเข้ามาหา จากนั้นเดินวนรอบ ๆแล้วเอียงศีรษะมอง อาตมภาพจึงยิ้มให้เขา เขาก็ยิ้มตอบแล้วถอยห่างออกไป
อีกสักพักหนึ่งอาตมภาพรู้สึกว่า เอ...ทำไมพระท่านยังไม่มาสักที จึงเดินไปหาตู้โทรศัพท์ ซึ่งในสมัยนั้น ประเทศญี่ปุ่นยังไม่ค่อยมีโทรศัพท์มือถือใช้กัน พออาตมภาพไปถึงตู้โทรศัพท์สาธารณะ ก็มีคนยืนรอคิวกันอยู่ จึงไปต่อคิวรอใช้โทรศัพท์
ท่องอยู่เพลิน ๆ ก็มีมือข้างหนึ่งยื่นเข้ามา แล้วมีเสียงบอกว่า “สุโกะชิเคะโดะ” แปลว่า “นิดหน่อยนะ” จากนั้นเขาก็วางเหรียญ 500 เยน, 100 เยน และธนบัตรใบละ 1,000 เยน, 5,000 เยน ลงบนกระดาษคำศัพท์ รวม ๆ กันเป็นหมื่นเยนเลยทีเดียว
พออาตมภาพมองดู อ้าว...คุณยายท่านที่ก่อนหน้านี้มาเดินวนรอบ ๆ อาตมภาพและส่งยิ้มให้ อุตส่าห์เดินตามมาเพื่อจะมาขอทำบุญด้วย และวางปัจจัยลงบนกระดาษคำศัพท์ที่อาตมภาพถือท่องอยู่นั่นเอง
คุณยายบอกว่า เห็นพระแล้วรู้ว่าไม่ใช่พระญี่ปุ่น แต่เขามองแล้วรู้สึกสบายใจ มีความสุข เกิดความรู้สึกว่าอยากจะสร้างบุญสร้างกุศล คราวหลังขอให้แวะมาที่นี่อีกบ่อย ๆ เผื่อเขาจะได้มีโอกาสทำบุญ อย่างนี้อีก
ถ้าเป็นประเทศแถบเมืองพุทธ ผู้คนจะพอรู้จักพระพุทธศาสนาแต่ถ้าเป็นประเทศทางแถบตะวันตก ก็อีกแบบหนึ่ง เพราะประเทศแถบตะวันตกนั้นเป็นเมืองคริสต์ ผู้คนยังไม่ค่อยรู้จักพระพุทธศาสนากันมากนัก ในสมัยนี้การสื่อสารก้าวหน้ามาก ชาวตะวันตกก็เริ่มรู้จักพระสงฆ์กันมากขึ้นว่าคือ “Buddhist monk” หรือ “พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา” แต่ยังรู้จักไม่มากเท่ากับคนในแถบเอเชีย
ปฏิกิริยาที่มีต่อพระสงฆ์ของคนทั่วไปมีหลากหลาย แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่การวางตัวของพระภิกษุสงฆ์เอง ไม่ว่าจะไปถึงที่ใด ยิ่งไปต่างประเทศ ยิ่งต้องสำรวมให้มากกว่าอยู่เมืองไทย เพราะบ้านเราเป็นเมืองพุทธ ทุกคนรู้อยู่ว่าต้องปฏิบัติต่อพระสงฆ์อย่างไร แต่พอไปอยู่เมืองนอก เขาไม่รู้ พระสงฆ์จึงต้องมีสติสำรวมระวังตนเองให้มาก
ถ้ามีโยมสีกาเดินมา เราต้องดูให้ดีว่าจะไม่เดินไปเบียดกัน ต้องขยับหลบให้ดี แล้วเราเป็นพระสงฆ์ ในสายตาของเขาดูแปลก ดังนั้นสายตารอบข้างจะจ้องมาที่เรามากมายอยู่แล้ว เราจึงต้องสงบ สำรวมเป็นพิเศษ
สิ่งที่พระสงฆ์ประพฤติปฏิบัตินั้น เสมือนเป็นโปสเตอร์เคลื่อนที่ประกาศว่า พระภิกษุในพระพุทธศาสนานั้นเป็นฉันใด ซึ่งพบว่า เมื่อเรามีความสงบ สำรวม จะเดิน จะยืน หรือจะทำอะไรก็แล้วแต่ ให้ใจเรานิ่ง ๆ เหมือนกับทำสมาธิไปด้วย แล้วมีความสงบ สำรวม ทุกคนที่มาปฏิสัมพันธ์ด้วยเขาจะให้ความเกรงใจ
ทุกอย่างเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เหมือนเราไปเจอใครแล้วรู้สึกว่าเขาเป็นคนสงบ นิ่ง เราจะเกิดความรู้สึกเกรงใจขึ้นมาโดยอัตโนมัติคล้าย ๆ อย่างนั้น เพราะฉะนั้น หัวใจสำคัญที่สุดไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใดก็ตาม คือการประพฤติปฏิบัติตนของพระภิกษุสงฆ์เอง
เจริญพร
ปล.เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์เมื่อ ปี พ.ศ. 2534

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา