12 เม.ย. 2020 เวลา 06:02 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เทคนิคการถ่ายภาพดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์ให้มีขนาดใหญ่อลังการ
ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ตก ณ วัดพระธาตุดอยสุเทพฯ จ.เชียงใหม่ เป็นตัวอย่างการถ่ายภาพโดยอาศัยหลักการวัดขนาดเชิงมุมทางดาราศาสตร์และการคำนวณตำแหน่งการตกของวัตถุท้องฟ้าอย่างแม่นยำ ภาพโดย วิรติ กีรติกานต์ชัย
หลายท่านเข้าใจว่าเป็นภาพตัดต่อ จริงๆแล้วเราสามารถถ่ายภาพแบบนี้ได้ใช้ความเข้าใจสองประการหลักๆดังต่อไปนี้
1.การวัดขนาดและระยะเชิงมุมทางดาราศาสตร์
อยู่ห่างจากฉากหน้าให้มากพอจนฉากหน้าและดวงอาทิตย์-ดวงจันทร์มีขนาดใกล้เคียงกัน (ขนาดของฉากหน้าจะเล็กลงเมื่อออกห่างและโตขึ้นเมื่อเข้าใกล้ ในขณะที่ดวงอาทิตย์-ดวงจันทร์อยู่ที่อินฟินิตี้จะมีขนาดคงที่)
เราสามารถวัดขนาดและระยะทางเชิงมุมได้โดยประมาณด้วยการใช้นิ้วมือเปรียบเทียบ ขอบพระคุณภาพโดย ชมรมคนรักในมวลเมฆ
เราใช้การวัดขนาดเชิงมุมมีหน่วยเป็นองศาเพื่อวัดขนาดและระยะทางบนท้องฟ้า ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์มีขนาดเชิงมุมที่ระยะอินฟินิตี้คือ 0.5 องศาหรือประมาณครึ่งนิ้วก้อย เมื่อเราเหยียดแขนออกสุด หลับตาซ้ายเล็งดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ด้วยตาขวาจะพบว่าปลายนิ้วก้อยสามารถบังดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ได้พอดี (การสังเกตดวงอาทิตย์ให้ทำด้วยความระมัดระวังไม่มองโดยตรง อาจตาบอดได้)
หรืออาจใช้สูตรง่ายๆ
*** ระยะห่างที่เหมาะสม=ขนาดของฉากหน้า(เมตร) x 100
เช่นฉากหน้ามีความกว้าง 40 เมตร ระยะที่เหมาะสมคือ 40x100=4000 เมตรหรือ 4 กิโลเมตร
ฝุ่นควันทำหน้าที่เป็นเสมือนแผ่นกรองแสงธรรมชาติ ทำให้เห็นจุดดับบนดวงอาทิตย์ได้ชัดเจน ภาพโดย วิรติ กีรติกานต์ชัย
2.การคำนวณตำแหน่งขึ้นหรือตกของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่แม่นยำ
-ดวงอาทิตย์-ดวงจันทร์ขึ้นตกอยู่ในแนวเส้นสุริยะวิถี โดยเปลี่ยนตำแหน่งวันต่อวัน เราสามารถเช็คตำแหน่งได้จากแอพพลิเคชั่นแผนที่ดาวหรือดวงอาทิตย์-ดวงจันทร์ทั่วไป หากเห็นว่าเป็นไปได้ตำแหน่งของดวงอาทิตย์-ดวงจันทร์ขึ้นและตกสัมพันธ์กับฉากหน้าที่วางแผนให้คำนวณโดยละเอียดต่อไป
ทรงกลมฟ้าหรือ Celestial sphere เป็นเครื่องมืออธิบายพิกัดของวัตถุท้องฟ้าได้เป็นอย่างดี https://images.app.goo.gl/7PZgV1co4d8aLMSX7
-ใช้แอพพลิเคชั่นช่วยในการคำนวณตำแหน่งที่ใช่ แอพพลิเคชั่นที่นิยมได้แก่ Photopills และ TPE ศึกษาเพิ่มเติมจากสไลด์ที่ผมได้เรียบเรียงไว้ตาม Download link นี้ครับ https://joo.gl/eOj2
การเตรียมตัวและศึกษาความเป็นไปได้ โดยการสำรวจหน้างานก่อนถ่ายภาพ ว่ามีอาคาร มีต้นไม้หรืออุปสรรคในการถ่ายภาพหรือไม่ อย่างไร เพื่อศึกษาข้อจำกัดหรือคำนวณตำแหน่งอื่นๆที่เป็นไปได้
ภาพดวงอาทิตย์ตก ณ วัดพระธาตุดอยคำ จ.เชียงใหม่ โดย คุณสุทิน สร้อยมะโน สมาชิกชมรมคนรักในดวงดาว
การตั้งค่ากล้องถ่ายภาพ
1.ติดตั้งกล้องบนขาตั้งที่มั่นคง
2.ควบคุมการถ่ายภาพด้วย Remote timer ในกล้องหรือภายนอกตามถนัด
3.ISO ต่ำ 50-100 สำหรับดวงอาทิตย์ ถ่ายเป็น Raw file / 14 bits depth
4.วัดแสงที่ดวงอาทิตย์
5.Exposure หรือ shutter speed สูง 1/4000-1/8000
6.โฟกัสฉากหน้าที่ระยะ Infinity
7.Aperture หรือรูรับแสงแคบที่สุด
8.Black Polymer ปิดหน้าเลนส์เพื่อลดปริมาณแสง
9.สั่งถ่ายภาพต่อเนื่อง
ดวงอาทิตย์ตก ณ วัดม่อนพระเจ้าหลาย แม่ขะจาน จ.เชียงราย ภาพโดย วิรติ กีรติกานต์ชัย
VDO การวัดขนาดและระยะเชิงมุมทางดาราศาสตร์
หรือ
เรียบเรียงโดย
นายวิรติ กีรติกานต์ชัย
นักวิชาการอิสระด้านดาราศาสตร์และสิ่งแวดล้อม
ผู้ประสานงานชมรมคนรักในดวงดาว
ผู้อำนวยการโรงเรียนเอกปัญญา
ฑูตสะเต็ม สสวท. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ
Etc.
โฆษณา