14 เม.ย. 2020 เวลา 13:15 • ข่าว
Oil Insight : มีเรื่องน่าเป็นห่วงเกิดขึ้นอีกแล้ว !! สงครามน้ำมันจบ แต่สงครามราคายังไม่จบ !! ล่าสุดซาอุฯ ประกาศลดราคาขายน้ำมันดิบในทวีปเอเซียลงต่ำสุดในรอบกว่า 20 ปี และเพิ่มราคาขายให้กับทางสหรัฐฯ
ซาอุฯ อาจเพึ่งบรรลุข้อตกลงลดการผลิตครั้งประวัติศาสตร์ไป แต่ความท้าทายทางด้านราคากลับเข้มข้นกว่าเดิม...หลังจากที่ซาอุฯ ประกาศลด Official Selling Prices (OSP) ให้แก่ประเทศในฝั่งเอเชีย แต่กลับเพิ่มราคาขายให้แก่ฝั่งสหรัฐฯ และประเทศฝั่งยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือ
Comment : หากคิดแบบที่ภาษาบ้านเราเรียกว่า "หัวหมอ" ก็คงจะประมาณว่า "ผมสัญญาเรื่องลดกำลังการผลิต แต่ผมไม่ได้สัญญาเรื่องราคา"
นี่เป็นการลดราคาขายทางฝั่งเอเชียมากที่สุดในรอบกว่า 20 ปี !!
1. Saudi Aramco ปรับลด OSP สำหรับ Light Crude ให้แก่ผู้ซื้อในเอเชียลงถึง 4.2 $/บาร์เรล และลดลง 5.5 $/บารเรลสำหรับ Super Light Crude
2. ปรับขึ้นราคาขาย Extra Light Crude ให้แก่ผู้ซื้อในสหรัฐฯ 2.5 $/บาร์เรล และเพิ่มขึ้น 4.2 บาร์เรลสำหรับ Heavy Crude Grade
3. รายละเอียดอื่น ๆ ดูได้ตามภาพด้านล่างเลยครับ ซึ่งภาพรวมก็ตามที่กล่าวไปคือลดราคาในเอเชีย(รวมตะวันออกกลาง) และเพิ่มราคาในยุโรป-สหรัฐฯ
ทำไมซาอุฯ ถึงทำอย่างนี้ ทั้ง ๆ ที่น่าจะตกลงกันได้แล้ว ?
เรื่องนี้ World Maker สันนิษฐานได้ 2 อย่างครับ แต่ก่อนอื่นเรามาฟังเหตุผลจากคำชี้แจงของซาอุฯ และบทวิเคราะห์จากสื่ออื่น ๆ กันก่อนดีกว่าครับ
1. ซาอุฯ ได้ชี้แจงในเรื่องนี้ว่า ต้องการจะครองส่วนแบ่งทางการตลาดที่มากกว่าเดิม (โดยเฉพาะในเอเชีย) แม้ว่าได้ให้คำมั่นที่จะลดการผลิตลงเหลือประมาณ 8.5 ล้านบาร์เรล/วัน
2. สำนักข่าว Bloomberg และสื่อชั้นนำอื่น ๆ ได้ให้ความเห็นว่าเรื่องนี้เป็นความต้องการของซาอุฯ ที่จะแข่งขันกับรัสเซียในด้านส่วนแบ่งการตลาด
แต่ World Maker เห็นต่างออกไปครับ เป็นยังไงมาดูกัน
ขอเริ่มด้วยภาพที่จะแสดงให้เห็นถึง "สัดส่วนการส่งออกน้ำมันไปยังประเทศต่าง ๆ" ของสหรัฐฯ และรัสเซียครับ โดยจะมีด้วยกัน 5 ภาพดังต่อไปนี้
1. สัดส่วนการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในช่วงปี 2016-2019 ภาพนี้จะทำให้เราเห็นว่าสหรัฐฯ ส่งออกน้ำมันมาทางเอเชียเสียเป็นส่วนใหญ่เลยครับ
2. สัดส่วนการส่งออกน้ำมันของรัสเซียในปี 2016 ซึ่งจะแสดงให้เราเห็นว่าการส่งออกส่วนใหญ่ของรัสเซียมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่ยุโรปครับ
3. สัดส่วนของ Suppliers น้ำมันสำหรับทวีปยุโรปในเดือนมกราคมปี 2019 จะเห็นได้ว่ารัสเซียเป็นรายใหญ่ที่สุดของยุโรปถึง 20% เลยครับ ส่วนซาอุฯ นั่นอยู่ในกลุ่ม Others ซึ่งมีส่วนแบ่งประมาณ 6% เท่านั้น
4. ก่อนหน้านี้การส่งออกน้ำมันของรัสเซียไปยังยุโรปลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2019 ดังนั้นแล้วการที่ซาอุฯ เพิ่มราคาขายในยุโรปจะยิ่งเป็นผลดีกับรัสเซียด้วยซ้ำ
Source : Seekingalpha
5. ก่อนหน้านี้การส่งออกน้ำมันไปยังยุโรปของซาอุฯ และอียิปต์ เพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 ดังนั้นการขึ้นราคาน้ำมันเช่นนี้ อาจทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดลดลง (ถ้าอยากแข่งกับรัสเซียแล้วจะขึ้นราคาในยุโรปทำไม ?)
Source : Seekingalpha
ดังนั้นแล้ว World Maker จึงคิดว่ามันไม่สมเหตุสมผลอย่างมาก หากจะกล่าวว่านี่คือสงครามราคาระหว่างรัสเซียและซาอุฯ (ถ้าจะทำสงครามกับรัสเซียควรลดราคาขายในยุโรป ไม่ใช่เพิ่มราคาขาย นี่มันสนับสนุนกันชัด ๆ)
งั้นซาอุฯ กำลังกดดันใคร ?
แน่นอนว่าการรักษาราคาไว้ในระดับต่ำเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีต้นทุนการผลิตสูงใช่ไหมล่ะครับ ซึ่งต้นทุนการผลิตแต่ละประเทศเรียงจากน้อยไปมาก จะประมาณได้ตามตารางด้านล่างครับ (ช่องขวาสุด)
หมายเหตุ : ข้อมูลเป็นของปี 2016 นะครับ ซึ่งในปัจจุบันต้นทุนอาจเพิ่มขึ้นสูงกว่าเดิม เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง แต่ลำดับต้นทุนโดยรวมยังคงเหมือนเดิมครับ
Source : Wikipedia
แน่นอนครับผู้เล่นหลักในตลาดนี้ไม่ใช่ อังกฤษ บราซิล หรือ ไนจีเรียแน่ ๆ แต่มันคือ "U.S. Shale" ต่างหากครับ เนื่องจากมันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สหรัฐฯ ขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 สำหรับการผลิตน้ำมันทั่วโลก และทำให้สามารถใช้ค่าเงิน Dollar เพื่อซื้อขายน้ำมันเป็นหลัก
ด้วยต้นทุนการผลิตที่ประมาณ 23.35 ดอลลาร์/บาร์เรล แน่นอนว่าบริษัทกลุ่ม Shale Oil ไม่มีทางอยู่ได้โดยไม่ขาดทุนมหาศาลในระดับราคาปัจจุบันที่ประมาณ 21 $/บาร์เรล (หากคิดค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นแล้วควรขายที่ราคา 45 $/บาร์เรล เป็นอย่างต่ำด้วยซ้ำ)
Source : Investing.com
แล้วการขึ้นราคาขายจะส่งผลกระทบอะไรต่อสหรัฐฯ หรือไม่ ?
คำตอบคือกระทบแน่นอนเนื่องจากสหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้าน้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีสัดส่วนการเข้าน้ำถึงประมาณ 13% (รองจากจีนที่มีสัดส่วนประมาณ 20%)
Source : Wikipedia
อย่างไรก็ตามผลกระทบตรงนี้อาจไม่มากนัก หากสหรัฐฯ ลดการน้ำเข้ามันน้ำมันลง เนื่องจากในช่วงที่ Demand ตกต่ำเช่นนี้ ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ต้องซื้อน้ำมันมากเท่าระดับปกติ
ข้อมูลการเข้าน้ำมันแบบเป็นรายวันของสหรัฐฯ ดูได้ภาพด้านล่างครับ
Source : EIA
สัดส่วนเฉลี่ยสำหรับการนำเข้าจากประเทศต่าง ๆ ขออธิบายด้วยข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 1973-2018 ซึ่งจะทำให้เราเห็นภาพชัดเจนว่า นอกจากพันธมิตรอย่างแคนาดาแล้ว สหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันจากเม็กซิโกและซาอุฯ มากที่สุด
ตามเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา จึงทำให้ World Maker สรุปเหตุการณ์ครั้งนี้ในมุมมองที่ต่างออกไปจากสื่อกระแสหลัก ดังนี้ครับ
1. ซาอุฯ และรัสเซียยังคงกดดันสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง เหตุผลเพราะอาจยังไม่มั่นใจว่าสหรัฐฯ จะยอมทำตามสัญญาที่จะลดกรผลิตลง หรืออาจเป็นเพราะสหรัฐฯ ยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่านี่เป็นการ "ลดตามกลไกของตลาด" หรือจะเป็นการ "ลดกำลังการผลิตโดยตรง"
2. ที่ยืนยันหลายครั้งว่านี่ไม่ใช่สงครามระหว่างรัสเซียและซาอุฯ ก็เพราะความบาดหมางของ 2 ประเทศนี้ไม่เคยแสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนเลย และผลที่ตามมาจากการกระทำของทั้ง 2 ประเทศนี้ก็กลับไม่ตกอยู่ที่ประเทศตัวเองเป็นหลัก แต่ไปตกอยู่ที่สหรัฐฯ
3. OPEC + รัสเซีย และซาอุฯ ได้ Delay การประชุม รวมถึงความเคลื่อนไหวอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มสงครามน้ำมันขึ้น และไม่ได้มีทีท่ารีบร้อนใด ๆ เลย ส่วนสหรัฐฯ ออกข่าวเรื่องนี้ทุกวัน พาดหน้า 1 ทุกวัน ทรัมป์ก็บ่นเรื่องนี้เกือบทุกวัน (สำนักข่าวของรัสเซียอย่าง RT หรือสื่อฝั่งตะวันออกกลางอย่าง Arab News ยังไม่ลงเรื่องนี้ทุกวันเลย) นั่นแสดงให้เห็นชัดเจนอยู่แล้วว่าใครเดือดร้อนที่สุด
4. สถานการณ์ต่อไปคงต้องรอดูเลยครับว่าสหรัฐฯ จะเคลื่อนไหวยังไง จะลดกำลังการผลิตลงจริงหรือไม่ ? ซึ่งถ้าจริง World Maker คิดว่าต่อไปซาอุฯ และรัสเซียก็คงผ่อนคลายความตึงเครียดในเรื่องนี้ลงเช่นกันครับ
สำหรับวันนี้ก็คงจะมีเพียงเท่านี้ครับ และหากมีข่าวสำคัญออกมาใหม่ World Maker จะมาอัพเดตและวิเคราะห์ให้ทราบกันต่อไปแน่นอนครับ
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา