16 เม.ย. 2020 เวลา 23:09 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ผีเสื้อฟ้าใหญ่ - The Large Blue - ผีเสื้อที่เข้าไปอยู่ในรังมด
2
(ดัดแปลงจาก By Pengannel - Large Blue, CC BY 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=4242595)
มดเป็นสัตว์สังคมที่ประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิตอย่างสูง การสร้างรังและอยู่ร่วมกันเป็นรังใหญ่ช่วยให้มดประสบความสำเร็จในการหาอาหาร และเก็บทรัพยากรไว้ในรังของมันมากมาย ทำให้มีสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นพยายามจะแทรกซึมเข้าไป เพื่อที่จะใช้ทรัพยากรของมดนั้น หนึ่งในนั้นคือ ผีเสื้อฟ้าใหญ่ในสกุล [Phengaris]
ผีเสื้อฟ้าใหญ่นี้เป็นผีเสื้อในวงศ์ผีเสื้อฟ้า (Family Lycaenidae) พบแพร่กระจายในทวีปยุโรปและในเขตอบอุ่นของทวีปเอเชีย เช่น ประเทศจีน ประเทศมองโกเลีย ประเทศญี่ปุ่น ประกอบไปด้วยผีเสื้อหลายชนิด และบางชนิดก็มีวงจรชีวิตแบบพิเศษแตกต่างจากผีเสื้อทั่วไปที่ตัวหนอนกินพืชเป็นอาหารหลัก
โดยในระยะหนอนของผีเสื้อฟ้าใหญ่นี้จะเข้าไปดำรงชีวิตอยู่ในรังมด นักวิทยาศาสตร์เรียกสิ่งมีชีวิตที่มีพฤติกรรมในการพึ่งพิงมดในการเจริญเติบโตแบบนี้ว่า Myrmecophile (Myrmeco แปลว่า เกี่ยวกับมด และ phile - แปลว่า ชอบ)
สีเหลืองแสดงขอบเขตการแพร่กระจายของผีเสื้อฟ้าใหญ่ ชนิด Phengaris arion (ที่มา By Joan Carles Hinojosa, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=18186564)
ผีเสื้อฟ้าใหญ่ตัวเต็มวัยจะวางไข่บนพืชกลุ่ม Thyme หรือ Majoram (เป็นพืชสมุนไพรที่ให้กลิ่นหอมเวลาทำอาหาร กลุ่มใกล้เคียงกับออริกาโน) เมื่อไข่ฟักช่วงแรกหนอนจะกินพืชอาหารจนถึงตัวหนอนระยะที่ 4 แล้วจะทิ้งตัวลงมาบนพื้นดิน เมื่อมดงานในสกุล [Myrmica] มาเจอหนอน หนอนจะปล่อยกลิ่นฟีโรโมนที่เหมือนกลิ่นของตัวอ่อนของมดออกมา ทำให้มดงานเข้าใจผิดว่า หนอนผีเสื้อนั้นคือหนอนของตัวเอง แล้วหนอนผีเสื้อก็จะถูกมดงานขนกลับไปเลี้ยงที่รัง
ผีเสื้อฟ้าใหญ่อัลคอนกำลังวางไข่บนพืชอาหาร (ที่มา By Ocrdu - Own work, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=72446728)
หนอนของผีเสื้อฟ้าใหญ่บางชนิดเมื่อเข้าไปในรังแล้วจะใช้วิธีเหมือนนกกาเหว่า (Cuckoo strategy) คือ จะทำเสียงเลียนแบบตัวอ่อนของราชินีมดเพื่อที่จะขออาหาร และทำให้มดงานเชื่อว่า ตัวอ่อนผีเสื้อคือตัวอ่อนของราชินี และนำอาหารมาป้อน จากการเลียนแบบของตัวหนอนผีเสื้อแบบนี้ สถานะในรังของหนอนผีเสื้อจะสูงกว่าสถานะของตัวอ่อนธรรมดาของมด โดยมดงานจะมาป้อนอาหารหนอนผีเสื้อก่อนตัวอ่อนของมดงาน และถ้าเกิดความผิดปกติในรัง มดงานจะช่วยเหลือหนอนผีเสื้อก่อนตัวอ่อนของตัวเอง
หนอนผีเสื้อเหล่านี้จะซ่อนอยู่ในรังของมดที่เป็นโฮสต์ กินอาหารจากโฮสต์จนเจริญและเข้าเป็นดักแด้ในรังมด เมื่อเป็นดักแด้ ตัวดักแด้ก็ยังปล่อยฟีโรโมนไม่ให้มดมาทำอันตรายดักแด้จนผีเสื้อพัฒนาจนเป็นตัวเต็มวัย แล้วจึงหนีออกไปจากรังมด เพื่อไปผสมพันธุ์กับผีเสื้อฟ้าใหญ่ตัวอื่นต่อไป
หนอนและดักแด้ของผีเสื้อฟ้าใหญ่อัลคอน (Alcon large blue) [Phengaris alcon] ที่อยู่ในรังมดที่เป็นโฮสต์ (ที่มา Tartally et al. (2014))
ดักแด้ของผีเสื้อฟ้าภูเขาอัลคอน (Mountain Alcon blue) [Phengaris rebeli] ที่อยู่ในรังมดที่เป็นโฮสต์ (ที่มา Tartally et al. (2014))
ในขณะที่ผีเสื้อฟ้าใหญ่ชนิด [Phengaris arion] จะใช้อีกวิธีหนึ่งในการหาอาหารจากมด นั่นคือ เมื่อมันสามารถเข้าไปในรังมดได้แล้ว ตัวหนอนจะเข้าไปกินตัวหนอนและดักแด้ของมดในรัง (Predator strategy) นั่นทำให้บ้างครั้งผีเสื้อฟ้าใหญ่ชนิดนี้อาจจะถูกมดในรังกลับมาโจมตีได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่รังมดขาดอาหาร และเมื่อตัวหนอนของผีเสื้อเจริญจนมีขนาดใหญ่กว่าตัวหนอนของมด
ตัวเต็มวัยของผีเสื้อฟ้าใหญ่ (The Large Blue) [Phengaris arion] (ดัดแปลงจาก By Pengannel - Large Blue, CC BY 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=4242595)
รูปแบบการดำรงชีวิตที่ซับซ้อน และการที่ผีเสื้อกลุ่มนี้ต้องการทั้งพืชอาหาร และมดที่เป็นโฮสต์ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อที่จะอยู่รอดและสืบพันธุ์ได้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการแพร่กระจายของพืช หรือของมดที่เป็นโฮสต์ ทำให้ผีเสื้อฟ้าใหญ่หลายชนิดสูญพันธุ์ไปจากบางพื้นที่ หรือมีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์ในปัจจุบัน
ถ้าสนใจพฤติกรรมของสัตว์ สามารถอ่านบทความนี้ต่อได้ครับ
เอกสารอ้างอิง
1. Tartally A, Koschuh A, Varga Z (2014) The re-discovered Maculinea rebeli (Hirschke, 1904): Host ant usage, parasitoid and initial food plant around the type locality with taxonomical aspects (Lepidoptera, Lycaenidae). ZooKeys 406: 25-40. https://doi.org/10.3897/zookeys.406.7124
4. Thomas, J.A. (1980). "Why did the large blue become extinct in Britain?". Oryx. 15 (3): 243–247. doi:10.1017/s0030605300024625
5. Thomas, Jeremy; Karsten Schönrogge; Simona Bonelli; Francesca Barbero; Emilio Balletto (2010). "Corruption of ant acoustical signals by mimetic social parasites". Communicative and Integrative Biology. 3 (2): 169–171. doi:10.4161/cib.3.2.10603
6. Thomas, J.A.; J.C. Wardlaw (1990). "The effect of queen ants on the survival of Maculinea arion larvae in Myrmica ant nests". Oecologia. 85 (1): 87–91.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา