Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ
•
ติดตาม
16 เม.ย. 2020 เวลา 03:00 • การศึกษา
Japanese Style
ประวัติศาสตร์ที่หยั่งรากฝังลึก
หลายคนมีโอกาสได้ไปเยือนประเทศญี่ปุ่น บางคนประทับใจเรื่องอาหาร บางคนประทับใจเรื่องธรรมชาติที่งดงาม แต่เกือบทุกคนประทับใจในความ อ่อนน้อมถ่อมตน ระเบียบวินัย และการตรงต่อเวลามาก ๆ ของคนญี่ปุ่น ทำ ไม ประเทศญี่ปุ่นถึงขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศผู้นำแห่งเศรษฐกิจ “...เพราะความมีระเบียบวินัย เพราะความรับผิดชอบ หรือเพราะความตรงต่อเวลา”
คนญี่ปุ่นมีจิตสำนึกส่วนรวมสูง ทำงานเป็นทีมเก่ง ด้วยเหตุ 3 ประการ ดังนี้
ประการที่ 1 “เกิดจากสภาพดิน ฟ้า อากาศบังคับ” ประเทศญี่ปุ่นมีภัยธรรม ชาติเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ในปีหนึ่งๆ มีพายุเข้า ประมาณ 30 กว่าลูก มีพายุมากจนเขาจำชื่อไม่ไหว ใช้เรียกเป็นหมายเลขแทน พอพายุหมายเลข 1 ประจำปีเข้าแล้วพายุลูกต่อไปก็จะเรียกเป็นพายุหมายเลข 2, 3, 4... ไล่ไปเรื่อย ๆ บางทีพายุหมายเลข 18 กำลังเข้าทางทิศตะวันตกของประเทศ จู่ ๆ พายุหมายเลข 19 ก็เข้าทางทิศตะวันออก พร้อมกับที่พายุหมายเลข 20 เข้าทางทิศใต้ พายุเข้ามาพร้อมกันทีเดียว 3 ลูกก็มี แผ่นดิน ไหวเกิดขึ้นเป็นปกติทุกปี ปีละหลายครั้ง
ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งความเสียหายมีมากเกินกว่าบุคคลเดียวจะ ต้านทานไว้ได้ จำเป็นจะต้องอาศัยกำลังของหมู่คณะเข้ามาช่วยกัน เพราะฉะนั้น พอเกิดเรื่องร้าย ๆ ขึ้นแล้ว ผู้ที่ไม่ได้ ประสบภัยจะอยู่เฉย ๆ โดยไม่สนใจเพราะไม่ใช่บ้านเราไม่ได้
ในประเทศไทย บางคนไม่อยากยุ่งกับใคร อยู่คนเดียวในท้องไร่ท้องนาป่า เขาก็อยู่ได้เพราะภัยธรรมชาติไม่หนักหนาสาหัส แต่ในประเทศญี่ปุ่นอยู่คนเดียวไม่รอด จำเป็นต้องอยู่กันเป็นหมู่คณะ พอเกิดปัญหาต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือถึงจะเอาตัวรอดได้ เพราะสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติบังคับให้เขาต้องมีสำนึกในกลุ่ม
ประการที่ 2 “เกิดจากรากฐานทางประวัติศาสตร์” ประเทศญี่ปุ่นในสมัยเอ โดะ ราวยุคอยุธยาของไทย ปกครองด้วยระบบโชกุน คือ ผู้บัญชาการทหาร “โชกุน” คือ “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด” จักรพรรดิอยู่ที่เมืองเกียวโต แต่เป็น เพียงสัญลักษณ์ ไม่มีอำนาจสั่งการ อำนาจที่แท้จริงอยู่กับโชกุนที่คามาคุระ ต่อมาย้ายไปที่เมืองเอโดะ คือกรุงโตเกียวในปัจจุบันนั่นเอง
พระราชวังหลวงโตเกียว (Tokyo Imperial Palace)
พระราชวังหลวงโตเกียว (Tokyo Imperial Palace) ที่ประทับขององค์จักรพรรดิในปัจจุบันตั้งอยู่ในกรุงโตเกียว ซึ่งแต่เดิมเป็นสถานที่บัญชาการของโชกุนที่ปกครองประเทศอยู่ โชกุนมีฝีมือในการปกครองประเทศที่ไม่ธรรมดา เขาใช้วิธีการแบ่งประเทศออกเป็นเมืองต่าง ๆ ราว ๆ 200 กว่าเมือง แต่ละเมืองมีเจ้าเมืองปกครอง เรียกว่า “ไดเมียว”
1
ทุกปีจะมีการสลับการประจำการของไดเมียวมาอยู่ที่เมืองเอโดะกับโชกุน คือถ้ามีเจ้าเมืองทั้งประเทศ 200 คน ปีนี้มีเจ้าเมือง 100 คนจะเข้ามาประจำอยู่ที่เมืองเอโดะกับโชกุน พอปีถัดไปก็กลับไปบริหารเมืองของตนเอง แล้วไดเมียวที่เหลืออีก 100 คน ก็สลับมาประจำอยู่ที่เมืองเอโดะกับโชกุน ปีเว้นปีอย่างนี้ ผลคือไม่มีเจ้าเมืองคนใดคิดก่อการกบฏได้ เพราะตลอดเวลาโชกุนจะมีเจ้าเมืองถึงครึ่งประเทศอยู่ข้าง ๆ ตนเอง
การสลับประจำการของไดเมียวยังมีผลทางเศรษฐกิจด้วย เพราะพอเจ้าเมืองแต่ละเมืองจะมาอยู่ที่โตเกียว ก็จะไม่มาคนเดียวต้องมีซามูไรลูกน้องบริวารคนรับใช้ตามมาเป็นพันคน ต้องประกวดประขันกันไม่ให้น้อยหน้าเจ้าเมืองอื่นการมาแต่ละครั้งจะมีขบวนแห่ของเจ้าเมืองแต่ละเมืองไม่ให้น้อยหน้าใคร ซึ่งการแห่อย่างนี้ต้องใช้เงินมาก เพราะฉะนั้น เจ้าเมืองทั้งหลายจึงไม่มีเงินทองเหลือเก็บไปใช้เป็นทุนในการก่อการปฏิวัติได้เลยพอไปอยู่ที่เอโดะกับโชกุนปีเว้นปี กลับไปทำงานปีหนึ่งก็ต้องเก็บเงินทอง อีกปีก็ต้องนำมาใช้ที่ เมืองเอโดะ เพราะฉะนั้น เงินไม่มีเหลือมากนัก ผลคือเอโดะเกิดความคึกคักตลอดเวลา
เพราะแต่ละหัวเมืองพยายามเอาข้าวของตนเองมาขาย มาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ส่วนหนึ่งเส้นทางสัญจรระหว่างเมืองเอโดะกับเมืองต่าง ๆ ทั้งญี่ปุ่นก็ได้รับการพัฒนา ส่งผลให้ในสมัยเอโดะ โตเกียวมีประชากรอยู่เกินล้านคนเป็นมหานครแห่งหนึ่งของโลก การค้าขายสะพัดมาก
นอกจากนี้ โชกุนแช่แข็งสังคมญี่ปุ่นให้แน่นิ่งกับที่ เพื่อป้องกันความผันผวน ทางการเมือง เพราะเมื่อใดมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อนั้นจะเกิดโอกาสสร้าง ความไม่มั่นคงทางการเมืองโชกุนแช่แข็งสังคมญี่ปุ่นเกือบทุกระบบให้นิ่งอยู่กับที่เช่น
ประชากรทุกคนในประเทศญี่ปุ่นจะต้องมีสังกัด เกิดที่หมู่บ้านใด ต้องสังกัดอยู่หมู่บ้านนั้น ห้ามย้ายหมู่บ้าน ไม่ใช่ว่าไม่ชอบที่นี่ก็จะชวนครอบครัวอพยพไปอยู่หมู่บ้านอื่นได้ง่าย ๆ เหมือนในปัจจุบัน เขาไม่รับคนจากชุมชนอื่นเข้าอยู่ เพราะเขาถือว่าทุกที่มีประชากรเต็มหมดแล้ว
เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเป็นเกาะ มีพื้นที่น้อย แต่มีคนจำนวนมาก ถ้าใครถูกขับออกจากหมู่บ้านเมื่อใด ก็จะไม่มีที่อยู่เลยทั้งประเทศกลายเป็นคนร่อนเร่พเนจรนอนข้างถนน เพราะฉะนั้น สถานการณ์และสิ่งแวดล้อมบีบบังคับให้ ทุกคนต้องใส่ใจส่วนรวม ไม่เฉพาะกับหมู่บ้านทั่วไป ระบบของวัดก็ถูกแช่แข็งเช่นกัน เช่น เราเกิดมาในครอบครัวนี้ พอตายแล้วต้องไปฝังศพที่วัดแห่งนี้เท่านั้น ห้ามย้ายวัด ทุกอย่างต้องนิ่งขนาดนั้นทีเดียว
ทุกหมู่บ้านจะมีทั้งคนขยันมาก ขยันน้อย คนฉลาดมาก ฉลาดน้อย คนยากจนและรํ่ารวย ฐานะแตกต่างปะปนกันไป บางคนทำการค้าเก่ง ก็มีฐานะขึ้นมาหน่อย แต่มีบางคนหัวหมอก็เกิดความคิดว่า
รถแห่ศาลเจ้าจำลองที่เรียกว่ามิโคะชิ " Mikoshi " หรือเรียกอีกชื่อว่า โอะมิโคะชิ
แต่ละปีจะมีขบวนแห่โดยคนจำนวนมากจะช่วยกันแบกศาลเจ้าเล็ก ๆ ไว้บนบ่า เรียกว่า “โอะมิโคะชิ” คนหนุ่มจะมาร่วมขบวนแห่กัน โดยนุ่งคล้ายผ้าเตี่ยว มีอาการคล้ายเจ้าเข้า ปรากฏว่าเจ้ามักจะดลใจให้ขบวนแห่มุ่งไปยังร้านค้าที่ขายของแพง เป็นต้น หรือถ้ามีคนในหมู่บ้านเป็นเจ้าของร้านที่นิสัยไม่ดี เจ้าก็มักจะเข้าคนแห่ แล้วพาขบวนแห่นั้นลุยร้านค้าจนราบเรียบ ซึ่งเอาผิดอะไรไม่ได้เพราะถือว่าเป็นเรื่องของเจ้าเข้าทรง ใครจะไปร้องเอาผิดก็ต้องไปฟ้องเทพเจ้า เพราะเทพเจ้าเป็นผู้ดลใจ
เพราะฉะนั้น ทุกคนจะถูกสังคมสอนว่า ไม่ว่าจะทำอะไรอย่าให้เดือดร้อนคนอื่น ถ้าเขาไม่ชอบเราแล้วจะอยู่ลำบาก ถึงจะยังไม่ถูกขับออกนอกหมู่บ้าน แต่จะต้องถูกขบวนแห่ทำลายบ้าน ทำลายร้านค้า ถ้าหนักหนาสาหัสแล้วยังไม่รู้สำนึก เขาจะลงมติแล้วขับออกจากหมู่บ้าน ไล่ออกไปทั้งครอบครัวก็มี ไล่เฉพาะคนก็มี ถูกปล่อยทิ้งให้ไปซัดเซพเนจร
ผู้คนถูกปลูกฝังอย่างนี้มานานกว่า 250 ปี ในยุคเอโดะ มันจึงฝังลึกลงไปใน วัฒนธรรมญี่ปุ่นว่า จะทำอะไรต้องสนใจใส่ใจส่วนรวม เหลียวซ้ายแลขวาว่าใครทำอะไร อย่าไปลํ้าหน้าลํ้าตาเขาสังคมญี่ปุ่นมีคติว่า “ทุบตะปูทุกตัวที่โผล่ขึ้นมา” คือ ถ้าใครทำตัวเด่นเหมือนตะปูที่โผล่ขึ้นมา ก็จะถูกทุบลงไปโดยเร็ว
เพราะฉะนั้น ต้องพยายามทำตนเองให้ดูอ่อนน้อมที่สุด เราจึงเห็นคนญี่ปุ่นโค้งคำนับแล้วคำนับอีก พอคุยกันเรียบร้อยลากลับก็โค้งทีหนึ่ง เดินถึงประตูก็หันกลับมาโค้งอีกทีหนึ่ง โค้งแล้วโค้งอีกอย่างนั้น ซึ่งคนญี่ปุ่นต้องฝึกเรื่อง มารยาทและความเกรงใจผู้อื่นอย่างมากทีเดียว เขาถูกปลูกฝังอย่างนี้มานานถึง 200 กว่าปี จนซึมลึกเข้าไปในวัฒนธรรมญี่ปุ่น
ตอนนี้ถ้าเราไปประเทศญี่ปุ่นได้เห็นแล้วจะแปลกใจว่า ขนาดเขาจะขุดดินกันยังพร้อมเพรียงเลย ถ้าเป็นบ้านเราใครคว้าจอบขุดดินก็ขุดไป ใครแรงเยอะ ก็ขุดเร็ว ใครแรงน้อยก็ค่อย ๆ ขุดไป ไม่พร้อมเพรียงกัน แต่ในญี่ปุ่น ถ้ามีคนขุดดิน 5 คน ใหม่ ๆ อาจจะฟันดินได้ไม่พร้อมกัน แต่แป๊บเดียวเท่านั้น เขาจะปรับให้พร้อมกัน คิดดูว่าขนาดสับดินยังพร้อมเพรียงกันเลย เพราะเขารู้สึกว่าพอทำอะไรพร้อมคนอื่นแล้วสบายใจ ถ้าทำไม่เหมือนคนอื่นแล้วรู้สึกโหวงเหวง ไม่สบายใจ เพราะเขาถูกปลูกฝังหล่อหลอมมาจากรากฐานทางประวัติศาสตร์จนกระทั่งซึมลึกเป็นวัฒนธรรมขนาดนั้นเลยทีเดียว
ประการที่ 3 “เกิดจากการปลูกฝังอบรม” ตั้งแต่เกิดมาในครอบครัว ปูพื้นฐานมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเข้าโรงเรียน ในประเทศญี่ปุ่นนักเรียนในห้องเรียน จะถูกแบ่งออกเป็นกลุ่ม ถ้าได้รับรางวัลอะไรเขาจะไม่ให้เป็นรายบุคคล แต่จะมอบรางวัลให้เป็นกลุ่ม ส่วนกลุ่มใดทำบกพร่อง ก็จะถูกลงโทษเป็นกลุ่มด้วย เช่นกัน
เพราะฉะนั้น สำนึกกลุ่มถูกตอกยํ้าตลอดเวลาให้รู้ว่า คนแต่ละคนมีสังกัดกลุ่มใด ต้องจงรักภักดีและทุ่มเทเพื่อกลุ่ม ถ้าทำงานบริษัทก็ต้องจงรักภักดีต่อบริษัท บริษัทใหญ่มีหลายฝ่าย หลายแผนก หลายหน่วยย่อยลงไป แต่ละหน่วยแข่งขันกัน แต่ถ้าเมื่อใดที่มีการแข่งขันกันของแต่ละแผนก ทุกหน่วยในแผนกเดียวกันก็จะร่วมมือกันทั้งหมด
พอมีการแข่งขันกันในแต่ละฝ่าย ทุกแผนกในฝ่ายเดียวกันก็จะรวมตัวสามัคคีกัน จากสำนึกกลุ่มจึงใหญ่ขึ้นเป็นสำนึกของฝ่าย แต่ถ้าต้องไปแข่งกับบริษัทอื่นเมื่อใด ทุกฝ่ายในบริษัทจะรวมตัวกันเกิดเป็นสำนึกของบริษัท
เวลาพนักงานบริษัทในญี่ปุ่นแนะนำตัว เขาจะไม่แนะนำตัวโดยการเริ่มจาก บอกชื่อของตนเอง แต่เขาจะบอกชื่อบริษัทให้รู้สังกัดตนเองก่อน ให้รู้ว่าฉันเป็นคนจากกลุ่มใด แล้วจึงบอกชื่อของตนเวลาเจอกันคนญี่ปุ่นจะชอบแจกนามบัตร เพราะถ้ายังไม่มีนามบัตร เขาจะประเมินไม่ออกว่าอีกฝ่ายเป็นใครระดับไหน แล้วจะรู้สึกไม่สบายใจ ไม่รู้จะพูดคุยกันอย่างไร วางตัวไม่ถูกเพราะ ไม่รู้ว่าใครใหญ่กว่าใคร เพราะฉะนั้น วิธีการที่ง่ายที่สุดคือให้นามบัตรกัน เพราะนามบัตรจะบ่งบอกไว้หมดแล้วว่าใครอยู่บริษัทอะไร มีตำแหน่งอะไรและชื่ออะไร
คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญในการวางบทบาทตนเองในกลุ่มในสังคมอย่างถูกต้องสมบทบาท ผู้น้อยต้องประพฤติตนเป็นผู้น้อยผู้ใหญ่ต้องประพฤติตนเป็นผู้ใหญ่ คนใกล้เคียงเสมอกันต้องมีวิถีในการปฏิบัติที่เหมาะสม สังคมจึงรวมกันเป็นกลุ่มได้ง่าย
"ซามูไรคนสุดท้าย" ของจักรวรรดิญี่ปุ่น
สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมซามูไร คือ มีหัวหน้า มีรองหัวหน้าแล้วค่อย ๆ ไล่ลำดับลดหลั่นกันลงมา ทั้งระบบการศึกษาและระบบธุรกิจในญี่ปุ่นเป็นแบบซามูไร ทั้งนั้น “โตโยต้า” บริษัทผลิตรถยนต์ที่เรารู้จักกันดี เป็นบริษัทใหญ่ที่มีอำนาจ เปรียบได้คือ “หัวหน้าซามูไร” บริษัทไม่ได้ผลิตชิ้นส่วนเองทั้งหมด แต่จะมีบริษัทซัพพลายเออร์รายใหญ่ ๆ มารับช่วงต่อเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ เช่น เรื่องยาง ระบบไฟฟ้า ระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ แยกไปเป็นสายงานการผลิตอื่น ๆ แล้วบริษัทซัพพลายเออร์ใหญ่ ๆ ก็จะมีบริษัทซัพพลายเออร์รายย่อยมารับช่วงงานต่อไปอีกทอดหนึ่ง
ยกตัวอย่าง บริษัทที่เป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ ๆ สัก 10 บริษัท แต่ละบริษัทส่งต่องานให้บริษัทย่อยอีก 10 บริษัท บริษัทย่อยส่งต่องานไปยังบริษัทเล็ก ๆ อีก 10 บริษัท ซึ่งแต่ละบริษัทจะต้องน้อมรับฟังคำสั่งจากบริษัทใหญ่ที่นำงานมาให้ตนเองอย่างดีภายใต้บริษัทโตโยต้า ซึ่งมีบริษัทที่รับช่วงงานในระดับ ต่าง ๆ อยู่นับร้อยนับพันบริษัท
บริษัทที่รับช่วงงานต่อจากโตโยต้า บางบริษัทมียอดขายเป็นแสนล้าน เรียกว่าเป็นการทำงานที่บริษัทใหญ่ส่งต่องานออกไปเป็นทอด ๆ มีการกระจาย ขยายส่วนงานออกไปเป็นระบบอย่างนี้ ซึ่งแม้แต่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ ปุ่นก็มีระบบคล้ายคลึงกัน
University of Tokyo
มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นระดับปริญญาโทและปริญญาเอกมักจะมีห้อง วิจัย และมีศาสตราจารย์ประจำห้องวิจัย พูดง่าย ๆ คือเป็นหัวหน้าซามูไรในห้องวิจัย แล้วมีรองศาสตราจารย์อีกประมาณ 2-3 คน มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ มีนักศึกษาปริญญาเอก มีนักศึกษาปริญญาโท และมีนักศึกษาปริญญาตรีไล่เรียงตามลำดับเหมือนกับระบบบริษัทเลยทีเดียว
ส่วนในประเทศไทย คนที่มีความเชื่อมั่นในตนเองสูงมาก ๆ กลุ่มหนึ่ง คือ ครูบาอาจารย์ โดยเฉพาะอาจารย์มหาวิทยาลัยแต่ละคนเก่งหมด ทั้งรองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ แล้วไปรวมอยู่ในภาควิชาเดียวกัน ไม่มีใครยอมใครเพราะต่างคนต่างเก่ง บางที่หาทางออกโดยเลือกหัวหน้าภาควิชาที่อายุน้อย เพราะผู้ใหญ่ไม่อยากยุ่งงานบริหาร แต่บางที่ใช้วิธีสลับหมุนเวียนกันเป็นหัวหน้าถ้าถามว่า อาจารย์ในภาควิชาเคารพเชื่อฟังหัวหน้าภาคหรือไม่ บางทีก็ไม่เคารพกันเท่าไร บางที่อาจารย์ยังไม่เชื่อฟังคณบดีเลยก็มีเพราะแต่ละคนมีความเชื่อมั่นในตนเองสูงมาก แต่ในประเทศญี่ปุ่นเขาสั่งงานกันได้เป็นทอด ๆ เพราะเขาถูกปลูกฝังมาอย่างนั้นตั้งแต่เล็กจนโต
ในประเทศญี่ปุ่น การทำงานเป็นทีมเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ปลูกฝังลงลึก ในวิถีชีวิต วิถีการปฏิบัติตั้งแต่ในบ้าน ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย ในที่ทำงาน รอบตัวเขาเป็นอย่างนี้หมด ผู้คนจึงคุ้นเคยวิถีแห่งการปฏิบัติ จนกระทั่งซึมซับเข้าไปเป็นระเบียบแบบแผนในการดำเนินชีวิตตนเองโดยไม่รู้ตัว นี่คือผลจากวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นการที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับส่วนรวมมากและมีวินัยมาก เกิดมาจากเหตุนี้เอง
เจริญพร
5 บันทึก
34
1
8
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ตามหลวงพี่ไป go inter in Japan
5
34
1
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย