19 เม.ย. 2020 เวลา 12:40 • ธุรกิจ
ไม่เพียงคนเท่านั้นที่ว่างงาน เครื่องบินก็ด้วย...
การระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปยังทุกภาคส่วนทั่วโลก ภาคเศรษฐกิจหนึ่งที่กระทบหนักคือภาคบริการ โดยเฉพาะธุรกิจสายการบิน เนื่องจากประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็น และบางประเทศมีการปิดหรือไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศ
ทำให้ไม่เพียงคนเท่านั้นที่ว่างงาน แต่ยังรวมถึงเครื่องบินด้วย
ปัจจุบันทั่วโลกมีเครื่องบินที่ให้บริการขนส่งผู้โดยสารคร่าวๆอยู่ที่ประมาณ 25,000 ลำ จำนวนการใช้งานที่หายไปของผู้โดยสารจากผลกระทบของโรคระบาดในครั้งนี้ คาดว่าทำให้มีเครื่องบินที่ต้องหยุดให้บริการมากกว่า 16,000 ลำ หรือประมาณสองในสามของทั้งหมด (ตัวเลขจากการคาดการณ์ของสถาบันวิจัย Cirium)
แล้วเครื่องบินที่ไม่ได้ขึ้นบินให้บริการในช่วงนี้ ต้องทำอย่างไรกับพวกมันบ้าง?
อันดับแรกต้องหาที่เก็บหรือที่จอดที่เหมาะสม
Parked airplanes at Hong Kong International Airport on March 5. Photographer: Justin Chin/Bloomberg
กว่า 16,000 ลำของแต่ละสายการบินต่าง ๆเหล่านี้ถูกกระจายไปจอดยังสถานที่ที่ให้บริการจอดเครื่องบินต่าง ๆทั่วโลก เช่น ตามสนามบินนานาชาติขนาดใหญ่แต่ละแห่ง เช่น สนามบินนานาชาติฮ่องกง หรือสถานที่ให้บริการเก็บหรือจอดเครื่องบินโดยเฉพาะ เช่น สถานให้บริการจอดเครื่องบิน Tarmac ที่มีพื้นที่ให้บริการในประเทศฝรั่งเศสและสเปน, Pinal Airpark ในรัฐอริโซน่า
โดยแต่ละสถานที่สายการบินต้องคำนึงถึงภูมิอากาศ สภาพความชื้นของอากาศ ฝุ่น และปัจจัยอื่น ๆอีกมากมายเพื่อไม่ให้เครื่องบินเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากภูมิอากาศ และเนื่องจากจำนวนเครื่องบินที่ต้องจอดเยอะมาก ทำให้ในบางสนามบินหรือพื้นที่จอดอื่นๆต้องใช้รันเวย์เป็นพื้นที่จอดชั่วคราวเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการจอดให้แต่ละสายการบิน
อันดับต่อมาต้องมีการดูแลและตรวจสอบการทำงานของเครื่องบินอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ
เครื่องบินที่ไม่ได้ขึ้นบินไม่สามารถจอดไว้เฉยๆเป็นเวลานานได้ ต้องมีการสตาร์ทเครื่องยนต์ ทดสอบระบบการบินต่างๆ ระบบเซนเซอร์ เครื่องยนต์ที่ปีกต้องมีตาข่ายหรือผ้าใบใสมาปิดไว้เพื่อป้องกันฝุ่นและนกหรือแมลงเข้าไปด้านในรวมถึงต้องใส่ถุงซิลิกาขนาดใหญ่ในเครื่องยนต์เพื่อดูดความชื้นด้านใน
A grounded Air France plane with a covered engine to block insects and nesting birds at the Paris-Charles de Gaulle airport on March 24. Photographer: Thomas Samson/AFP via Getty Images
น้ำมันต้องเติมให้เต็มถังไว้ถึงแม้จะไม่ได้ขึ้นบิน เพื่อรักษาศูนย์ถ่วงให้ตัวเครื่องและเพื่อให้ถังไม่ฝืดแห้ง ต้องหยอดน้ำมันป้องกันสนิมและทดสอบระบบไฮดรอลิคสม่ำเสมอ ระบบล้อและยางต้องได้รับการตรวจสอบเสมอ บางสายการบินที่มีเครื่องลำใหญ่อย่าง Delta Airlines จะต้องให้เครื่องบินได้ทดสอบการหมุนของล้อทุกสองอาทิตย์
ในเรื่องของค่าใช้จ่าย ค่าจอดเพียงอย่างเดียวจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละที่ เช่น ในอินเดียเครื่องบินลำใหญ่อาจมีค่าจอดถึง 1,000 ดอลลาร์ต่อวัน แต่ถ้านำเครื่องบินจำนวนมากมาจอดก็จะได้ส่วนลดที่ถูกลง
ยกตัวอย่างกรณีของ Delta Airlines มีเครื่องบินประมาณ 870 ลำ ถ้าให้มีเครื่องบินที่ไม่ได้ขึ้นบิน 500 ลำ และมีค่าจอดเฉลี่ยลำละ 800 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน
● หนึ่งวันจะมีค่าใช้จ่ายในการจอด 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ
● หนึ่งเดือนจะมีค่าใช้จ่ายในการจอด 12,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ
● หกเดือนจะมีค่าใช้จ่ายในการจอด 72,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ
หมายความว่าถ้าวิกฤติยืดยาวอย่างน้อยหกเดือน Delta ต้องเสียค่าจอดเครื่องบินเพียงอย่างเดียวถึง 72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,300 ล้านบาท
Delta Air Lines jets parked in Victorville, California on March 28. ที่มา : AirTeamImages
ส่วนค่าใช้จ่ายในส่วนค่าดูแลและซ่อมบำรุง ในกรณีของ Delta Airlines ในปี 2019 มีค่าใช้จ่ายส่วนดูแลและซ่อมบำรุง 1,751 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถ้าสมมติให้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้น 60% เป็นเวลา 6 เดือน ค่าใช้จ่ายในการดูแลเครื่องบินที่ไม่ได้ขึ้นบินจะเพิ่มเป็นประมาณ 2,275 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ผลประกอบการของ Delta Airlines ในปี 2019
รายได้ 47,007 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
กำไร 4,767 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในส่วนของค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 40,389 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น ค่าใช้จ่ายที่มากสุดสองอันดับแรกคือ
● เงินเดือนพนักงาน 11,225 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 27.79% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
● ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 8,519 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 21.09% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
แม้ว่าการว่างงานของเครื่องบินจำนวนถึงสองในสามนั้นจะช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงลง แต่นั่นหมายความว่าต้องเสียรายได้จากการให้บริการไปด้วย และการไม่ได้ขึ้นบินของเครื่องบินเหล่านี้ไม่สามารถจอดเฉยๆโดยไม่ทำอะไรหรือไม่ดูแลได้ สายการบินมีต้นทุนที่ต้องจ่ายคือค่าจอด และค่าดูแลรักษา
อีกประเด็นหนึ่งคือสายการบินส่วนมากมีหนี้สินสูง สำหรับ Delta Airlines ในปี 2019 มีสินทรัพย์หมุนเวียน 8,249 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มีหนี้สินหมุนเวียนมากถึง 20,204 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อรายได้ลดลง สายการบินก็ต้องปรับลดต้นทุนในส่วนที่มากที่สุดและสามารถทำได้ง่ายที่สุดก็คืองดจ่ายค่าจ้าง ลดค่าจ้าง หรือเลิกจ้างพนักงานของตนเองลง
ในสหรัฐฯและหลายประเทศ รัฐบาลก็มีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบินออกมาบ้างแล้ว คงต้องรอติดตามตัวเลขชัดๆปีนี้กันอีกครั้งว่ารายได้ของแต่ละสายการบินจะหายไปมากแค่ไหน และจะกำไรขาดทุนกันเท่าไรบ้างในภาวะการณ์ที่กระทบการดำเนินธุรกิจไปเต็มๆเช่นนี้
ที่มา : https://hexaware.com/industries/travel/airlines/
ปีนี้คงเป็นปีที่ท้องฟ้าสดใสสำหรับพวกเราเพราะเครื่องบินที่บินผ่านไปมานั้นหายไปเกือบหมด แต่สำหรับสายการบินแล้วการนั่งมองดูท้องฟ้าที่ว่างเปล่า คงเป็นอะไรที่เจ็บปวดทรมาณไม่ใช่น้อย...
● ติดตามเรื่องเล่าอ่านง่ายๆแบบนี้ อย่าลืมกด follow เพจ EASY STORY กันนะครับ.
References

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา