20 เม.ย. 2020 เวลา 00:03 • ประวัติศาสตร์
ลอเรนซ์ ออฟ อาราเบีย: ราชาแห่งทะเลทราย 2
ปี 1913 บรรยากาศแห่งสงครามครอบคลุมไปทั่วยุโรปและเอเชียกลาง พวกเคิร์ดที่อยู่ภายใต้การปกครองของเติร์กพยายามดิ้นรนเพื่ออิสระภาพ อังกฤษและเยอรมันก็ปีนเกลียวกันขึ้นทุกขณะ พวกอังกฤษทุกคนในทะเลทรายรู้ดีว่าอาณาจักรออตโตมาน (ก็คือดินแดนของพวกเติร์ก) เป็นพันธมิตรกับเยอรมัน หากว่าสงครามระหว่างอังกฤษกับเยอรมันเกิดขึ้น การกระทบกระทั่งกับออตโตมาน ที่ครองอำนาจส่วนใหญ่ในตะวันออกกลางจะตามมาในที่สุด
กระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษก็ได้เริ่มรับสมัครสายลับ เพื่อเอาไว้สอดแนมท่าทีของเยอรมัน และเติร์กในภูมิภาคดังกล่าว และลอว์เรนซ์ก็ไม่พลาดโอกาสที่ได้ร่วมมหกรรม หน้าที่ได้รับมอบหมายก็คือ การรวบรวมข้อมูลการสร้างทางรถไฟสายเบอร์ลิน-แบกแดด ที่อุดหนุนโดยเยอรมัน
ลอว์เรนซ์ดึงชีค อามุดดีและดาอูมเข้ามาเป็นพวก และพาไปฝึกงานที่อังกฤษ..... นอกจากนี้ลอว์เรนซ์กับเพื่อนนักโบราณคดีที่ชื่อ วูลเลน ยังได้เข้าร่วมงานลับของอังกฤษ คือการสำรวจทะเลทรายไซนายส่วนที่เป็นของเติร์ก โดยเอาโบราณคดีบังหน้า
เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มขึ้นในปี 1914 ลอว์เรนซ์ก็ไม่รั้งรอที่จะสมัครเข้าเป็นทหาร เขากลับไปอังกฤษสังกัดอยู่หน่วยสืบราชการลับ มียศร้อยตรี และงานแรกก็คือเขียนแผนที่ของทะเลทรายไซนายที่เขาพึ่งไปสำรวจมาปลายปีนั้นเองเขาก็ถูกส่งกลับไปยังทะเลทราย เพราะว่าเติร์กได้ตัดสินใจเข้าร่วมสงครามเป็นฝ่ายเยอรมันเสียแล้ว
กองทัพอังกฤษที่กรุงไคโรมีความต้องการนายทหารที่พูดอาหรับอย่างยิ่งยวด และลอว์เรนซ์ก็มีคุณสมบัติดังกล่าว เขากับวูลเลนและนายทหารอีกคนหนึ่งได้ร่วมกันก่อตั้งหน่วยงานสืบราชการลับขึ้นในไคโร ลอว์เรนซ์ยังคงทำหน้าที่เป็นนายทหารแผนที่ ไม่นานก็ได้รวมการสอบสวนเชลยเติร์กที่จับมาได้ อาหรับบิวโร หรือหน่วยงานอาหรับของกองทัพอังกฤษทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมาก และความสามารถของลอว์เรนซ์ก็เข้าตากรรมการ ผู้บังคับบัญชาชื่นชมเขามาก และพยายามมองข้ามความประหลาดต่าง ๆไป เพื่อนร่วมงานของเขาบอกว่า เขาไม่เคยแต่งตัวเนี้ยบตามระเบียบเหมือนทหารอื่น ๆ และบ่อยครั้งลืมวันทยาหัตถ์
เมื่อยิ่งทำไปเรื่อย ๆ ลอว์เรนซ์ก็เริ่มอยากจะออกรบด้วยตัวเอง ในปี 1915 ลอว์เรนซ์ได้รับข่าวการเสียชีวิตของน้องชายสองคนคือ วิลล์ กับ แฟรงค์ในระหว่างการรบที่ชายแดนตะวันตก ปี 1916 ลอว์เรนซ์ได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก เขาถูกส่งไปพร้อมกับกองหทารเพื่อไปปฏิบัติการที่เมโสโปเตเมีย (เดี๋ยวนี้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศอิรัก) เพื่อช่วยทหารอังกฤษกองหนึ่งที่ถูกเติร์กล้อมไว้ที่เมืองเล็ก ๆ ชื่อ คูต เอล อมาราบนแม่น้ำไทกริส ลอว์เรนซ์ถูกกำหนดหน้าที่ให้เป็นตัวเจรจาและติดสินบนกับกองทัพเติร์กเพื่อให้ปล่อยทหารอังกฤษออกมา เขามีอำนาจจะต่อรองให้สินบนได้ถึงหนึ่งล้านปอนด์ แต่เมื่อหน่วยเดินทางไปถึงก็สายเสียแล้ว สถานการณ์พัฒนาไปมากจนต่อรองไม่ได้แล้ว เติร์กเรียกร้องให้ทหารอังกฤษในเมืองวางอาวุธและเดินทางไปเป็นเชลยศึกยังตุรกี
เท่าที่ลอว์เรนซ์และหน่วยทำได้ก็คือแลกกันระหว่างเติร์กกับทหารอังกฤษพันคน ส่วนทหารอังกฤษอีก 9000 คนนั้นต้องเดินทางไปยังตุรกี ซึ่งส่วนมากตายเสียระหว่างทาง
เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ลอว์เรนซ์โกรธมาก เขาเขียนรายงานถึงพลเอกเมอร์เรย์ผู้บัญชาการกองทหารในอียิปต์อย่างเลือดพล่าน ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์แง่มุมการรบต่าง ๆมากมายไม่ว่าจะเป็นยุทธวิธีไปจนถึงการใช้แผนที่พื้นฐานของกองทัพอังกฤษ รายงานฉบับนี้ได้รับการดัดแปลงให้มีสำเนียงอ่อนลงก่อนที่จะถึงมือเมอร์เรย์
ในปี 1916 หน่วยของเขาก็เดินทางกลับถึงไคโร ในปีนั้นเองอาหรับก็ได้รวมตัวกันปลดแอกจากเติร์ก….. พวกอาหรับตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรออตโตมานตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 16 และก็ไม่ค่อยสนใจที่จะปลดแอกเท่าไรนัก ในปี 1908 ผู้ปกครองใหม่ของอาณาจักรออตโตมานมีนโยบายบังคับใช้วัฒนธรรมเติร์กทุกที่ จึงก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านของพวกอาหรับทั่วไป และกลายเป็นขบวนการชาตินิยมอาหรับในที่สุด
กลุ่มต่อต้านที่สำคัญที่สุดก็คือ ฮุสเซน อิบ อาลี ผู้ดูแลเมกกะ และบุตรชาย ตระกูลนี้สืบทอดเชื้อสายมาจากพระมหหมัด ศาสดาสูงสุดของศาสนาอิสลาม ฐานอำนาจของกลุ่มอยู่ที่มณฑลฮีจาซแถบทะเลแดง
เมื่อเติร์กเข้าสู่สงคราม ฮุสเซนก็เห็นเป็นโอกาสอันดีที่จะแยกตัวออกมา ปี 1916 ฮุสเซนประกาศการต่อสู้โดยยิงปืนจากระเบียงบ้านของเขาในเมกกะเข้าใส่ค่ายทหารเติร์กที่อยู่ใกล้ ๆ อังกฤษย่อมพอใจเป็นอย่างยิ่งที่เห็นเติร์กมีศัตรูเพิ่ม และเริ่มให้ความช่วยเหลือขบวนการกู้ชาติอาหรับ โดยการส่งอาวุธที่เหลือใช้หรือยึดได้จากการสงครามให้ แต่ก็หลีกเลี่ยงที่จะส่งทหารไปช่วยเหลือ เพราะว่าอังกฤษเองก็ต้องใช้กำลังทหารในการต่อรบในยุทธภูมิตะวันตก
เมื่อปราศจากการช่วยเหลืออย่างจริงจังจากอังกฤษ ขบวนการกู้ชาติอาหรับก็เริ่มอ่อนแรงลงไป ดังนั้นอังกฤษจึงส่งตัวแทนไปเจรจากับฮุสเซนเพื่อกระตุ้นการต่อต้านเติร์ก และลอว์เรนซ์ซึ่งกระตือรือล้นจะมีส่วนร่วมอย่างมาก ก็ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปด้วย นี่เป็นโอกาสที่ลอว์เรนซ์มองหามาแสนนาน
ที่เมืองเจดดาแถบทะเลแดง ลอว์เรนซ์ได้พบกับฮุสเซนและลูกชายหลายคน ซึ่งเขามองไม่เห็นความหวังในการที่จะดันคนเหล่านี้ขึ้นมาเป็นผู้นำกองกำลังกู้ชาติเลย แต่เมื่อได้พบกับ ไฟซาล ลูกชายคนที่สาม เขาก็สมหวัง ลอว์ เรนซ์เขียนในหนังสือ Seven Pillars of Wisdom ซึ่งเป็นบันทึกของเขาเกี่ยวกับสงครามอาหรับว่า "ลอว์เรนซ์เขียนว่า "ผมรู้สึกได้ในแว่บแรกที่เห็น ว่าชายคนนี้แหละ ที่ผมมาอาเรเบียเพื่อที่จะเสาะหา-ผู้ซึ่งจะนำขบวนการกู้ชาติอาหรับสู่ความแข็งแกร่ง"
เจ้าชายไฟซาลทรงประกอบด้วยความฉลาด ความมุ่งมั่นที่ทำให้ลอว์เรนซ์ประหลาดใจ นอกจากนี้หน่วยรบบนหลังอูฐของเจ้าชายก็ชำนาญการรบอย่างยิ่งยวด
แม้ว่าลอว์เรนซ์จะเห็นว่าความไร้ประสบการณ์ในการทหารสมัยใหม่ และความเป็นตัวของตัวเองอันเป็นธรรมชาติของพวกอาหรับจะก่อให้เกิดปัญหาขึ้นในไม่ช้า แต่เขาก็ไม่รั้งรอที่จะเจรจาผลักดันให้อังกฤษเชื่อว่าเจ้าชายไฟซาลและกองกำลังของพระองค์ จะเป็นหลักในการต่อสู้กับอาณาจักรออตโตมาน และกองบัญชาการที่ไคโรก็เห็นชอบตามนั้น ลอว์เรนซ์ถูกส่งกลับมาเพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาการรบที่ฮิจาซ ซึ่งเป็นที่ที่ลอว์เรนซ์แห่งอ๊อกฟอร์ดจะกลายมาเป็นลอว์เรนซ์แห่งอาเรเบีย จากปฏิบัติการอันห้าวหาญ บ้าบิ่นของเขาในเวลาสองปีที่อยู่ที่นี่...... เมื่อลอว์เรนซ์เดินทางกลับไปถึงฮิจาซ สถานการณ์ของพวกกู้ชาติอาหรับก็เข้าขั้นย่ำแย่ กองกำลังเติร์กรุกเข้ามาอย่างรวดเร็ว ความระส่ำระสายเกิดขึ้นทั่วไปในกองกำลังของไฟซาล โดยเฉพาะกับหน่วยของซาอิด น้องชาย ความสงบนิ่งของไฟซาลท่ามกลางความโกลาหลได้พิสูจน์ตัวเองอีกครั้งต่อลอว์เรนซ์ว่าเขาคิดไม่ผิด ที่เลือกสนับสนุนเจ้าชายผู้นี้ แม้กระนั้นก็ตามกองกำลังของไฟซาลทั้งหมด ก็ไม่อาจต้านเติร์กได้ต้องล่าถอยจากที่มั่นเดิมไปยังเยนโบ เมืองท่าชายฝั่งทะเลแดง
ที่นั่น ทัพเรืออังกฤษคุ้มครองพวกอาหรับอย่างเต็มที่ เติร์กที่เคลื่อนเข้าใกล้จะถูกระดมยิงอย่างหนัก ในที่สุดเมื่อเห็นว่าไม่มีทางจะยึดเมืองได้ ทัพของอาณาจักรออตโตมานอันเกรียงไกรก็ล่าถอยไป คืนนั้นเองที่ลอว์เรนซ์ประกาศเป็นแม่นมั่นว่าเติร์กจะต้องแพ้สงคราม
สมรภูมิเยนโบได้แสดงให้พวกอาหรับประจักษ์ว่าเติร์กหาใช่จะเป็นผู้ชนะตลอดกาลไม่ ความรู้สึกนี้กระจายทั่วไปในหมู่อาหรับที่อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรออตโตมานมาเนิ่นนาน ลอว์เรนซ์ได้กระตุ้นให้ไฟซาลทำศึกอีกเพื่อเรียกความศรัทธา เวจฮ์ เมืองท่าที่อยู่ไกลออกไปทางเหนือ 180 ไมล์เป็นเป้าหมายสำคัญ ไฟซาลทรงระดมพลรบได้ 8000 คน ซึ่งเป็นอาหรับต่างเผ่าที่เคยเป็นศัตรูกันมาแต่ปางบรรพ์ทั้งสิ้น
การรบเป็นไปอย่างดุเดือด ทัพไฟซาลเสียไพร่พลไปมากมาย และเมื่อฝ่ากองกำลังเติร์กเข้าเมืองได้ก็พบว่ากองทัพเรืออังกฤษ และหน่วยรบอาหรับภายใต้การนำของร้อยโทชาร์ลส์ วิคเคอรี่ได้ยึดเมืองไว้ก่อนแล้ว เมื่อลอว์เรนซ์เห็นดังนั้นก็เป็นฟืนเป็นไฟทันที เขาเชื่อว่ากองทัพอังกฤษสามารถป้องกันการล้มตายของหน่วยรบกู้ชาติอาหรับได้ แต่ก็เพิกเฉยเสีย
ในหนังสือ Seven Pillars of Wisdom ลอว์เรนซ์บันทึกไว้ว่า "ผมเชื่ออย่างยิ่งว่าการลงมือกระทำสิ่งใดที่ไม่จะเป็น อย่างเช่นการยิง การฆ่าฟัน นั้นไม่ใช่เป็นเพียงการเสียเวลาหรือเสียทรัพยากรเท่านั้น หากแต่เป็นบาปเลยทีเดียว... นักสู้ของเราไม่ได้เป็นแค่วัตถุเพื่อการสงคราม, หากแต่เป็นเพื่อนของเราเหมือนทหารอังกฤษทั้งหลาย..." ลอว์เรนซ์มักรู้สึกรับไม่ได้ต่อความตายที่เห็นตรงหน้าเสมอ ๆ แม้กระทั่งของศัตรู
เขาเชื่อว่าหากว่ากองทัพอังกฤษจะรอให้หน่วยรบของไฟซาลมาถึงและล้อมเมืองไว้ พวกเติร์กก็จะยอมแพ้โดยไม่มีการสู้รบและล้มตายกันเกลื่อนกล่นเช่นนี้
ต่อตอน 3

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา