Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
THE FREE SPIRIT'S STORIES
•
ติดตาม
21 เม.ย. 2020 เวลา 18:36 • ความคิดเห็น
อ่านมาแล้วเอามาเล่า : ชัยยะ ( JAYA)
🌕 ก่อนมาเป็นมหาภารตะ 🌕
ก่อนจะเล่าถึงที่มาของมหาภารตะ ขอเล่าถึงเรื่องที่มาของหนังสือเล่มนี้กันเล็กน้อยว่าได้ซื้อมาเนื่องจากความประทับใจยิ่ง เรื่องก็มีอยู่ว่า คิดมาตลอดว่า อยากอ่านมหาภารตะแบบเต็มๆสักครั้งหนึ่งในชีวิต
ก็นะ เป็นที่รู้กันดีว่าพูดถึงเรื่อง วรรณกรรมอมตะประเภท epic หรือ มหากาพย์ของอินเดียที่ทรงอิทธิพลต่อภูมิภาคนี้ก็เป็นที่รู้ๆกันอยู่ว่าเด่นๆเป็นที่รู้จักกันดีมีอยู่ 2 เรื่อง คือ เรื่องรามายณะ หรือ รามเกียรติ์ ที่นำมาเป็นบทเรียน มาเป็นโขน มาเป็นละครในไทย และอีกหลายประเทศในดินแดนสุวรรณภูมิ หรือ อุษาคเนย์ก็ได้รับอิทธิพลมาโดยตรง ส่วนอีกเรื่องคือ มหาภารตะ ที่ อาจจะไม่ได้เรียนทั้งหมดแต่มีพวกตำนาน นิทาน หรือเรื่องราวในวรรณคดีหลายๆเรื่องแตกออกมาจากเรื่องนี้ เลยคิดว่าหากมีโอกาสได้อ่านเต็มก็น่าจะดี
และแล้ว วันหนึ่งในร้านหนังสือขนาดใหญ่กลางกรุงนิวเดลี ก็เดินเข้าไปหาหนังสือก็พบว่า โอ้ว! แม่เจ้าฉบับเต็มๆของมหาภารตะนั้นหนังสือชุดเป็นไซส์ขนาดวิทยานิพนธ์กว่า 10 เล่ม อึ้งสิ ..เพราะมหากาพย์มหาภารตะนั้นมีจำนวนคำถึง 1.8 ล้านมีทั้งสิ้น 18 บท ( แต่ละบทเรื่องราวแทรกเยอะมาก เห็นแล้วคงไม่ไหวทั้งเอากลับไม่ไหวและอ่านไม่ไหว เดินดูต่อไป อ้าวก็พบเล่มนี้ Jaya
พอเห็นชื่อเรื่องและมีคำบรรยายว่า an illustration retailing of Mahabharata เอ๊ะๆ !น่าสนใจ ว่าแล้วหยิบมาอ่าน อ่านไปอ่านมาชักสนุก ก็ทรุดนั่งลงกับพื้นอ่านต่อ พนักงานร้านเห็นก็เดินเข้ามา ทีแรกก็นึกว่าจะมาว่าที่เราทรุดตัวลงไปตั้งหน้าตั้งตาอ่านแบบนั้น ดูว่าอาจจะอ่านนานแล้วไม่ซื้อ หรือว่าไปเกะกะเขา แต่แล้วผิดคาดมาก ปรากฎว่า เขากลับเป็นเดินไปหยิบเก้าอี้เล็กๆมาให้นั่ง ด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใสพร้อมบอกว่า …take a seat ma'am ว่าแล้วด้วยความมีน้ำใจนี้และด้วยความสนุกของเรื่องราว ก็ตัดสินใจหยิบเล่มนี้กลับมา
เอาละว่าแล้วก็ได้เวลาเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง
พออ่านแล้วจึงรู้ว่า มหาภารตะ มหากาพย์อันเลื่องชื่อนี้ เดิมทีเรื่องราวนี้ถูกบันทึกไว้ในชื่อเรื่อง “ชัย/ “ชัยยะ” (Jaya) หรือชัยชนะ ผู้เล่าเรื่องคือฤษีไวยสาหรือ วยาสะ (Vyasa) ผู้บันทึกเรื่องราวคือ คเณศ ( Ganesha) ผู้ที่ดูแลรักษาเรื่องเหล่านี้เอาไว้คือ ไวสัมปัญญาณะ ( Vaisampayana) ซึ่งได้เอามาเล่าต่อให้กับ ชนเมชัย/ชนะมีชัย (Janamejaya) ผู้สืบทอดกรุงหัสตินปุระ อันเป็นเมืองในเรื่องราวหลักของเล่มนี้ ที่เล่าถึงเรื่องราวที่เกี่ยวกับเการพและปาณฑพและกษัตริย์ทั้งหมดปกครองดินแดนที่เรียกว่าภารตะ (ซึ่งชื่อภารตะนี้ ได้มาจากชื่อของกษัตริย์ที่ชื่อ ภารตะ (Bharat) ซึ่งเป็นลูกของท้าวทุษยันต์กับนางสกุนตลา (Dushyanta – Shakuntala )เป็นกษัตริย์หัสตินปุระที่สามารถครองได้ทั้งแคว้นชมพูทวีป (Jambudvipa) ได้ทั้งแคว้น (หัสตินปุระ ปัจจุบันคือ แคว้นอุตตรประเทศ)
เหตุที่ไวสัมปัญญานะ ได้เอาเรื่องนี้มาเล่า เนื่อจาก ชนะมีชัย ( ขออนุญาตออกเสียงแบบคุ้นลิ้นคนไทย) มีความแค้นที่เห็นพ่อคือ ปริคสิฐ (Parikshit) ถูก(เผ่า)นาคฆ่าตายก็เลยตั้งใจจะฆ่านาคเสียทั้งหมด แต่ อัสติกะ (Astika) ได้มาบอกถึงสาเหตุที่แท้จริงว่าทำไมปริคสิฐถึงถูกนาคฆ่า และยังบอกว่า จริงๆแล้ว ชนะมีชัย นั้นก็มีส่วนเกี่ยวพันกับนาคด้วยเช่นกัน แต่ถ้าอยากรู้เรื่องราวทั้งหมดให้ไปถามไวสัมปัญญานะ เล่าให้ฟัง เรื่องราวที่ไวยสัมปัญญานะ เล่าให้ฟังที่ถูกบันทึกอยู่ในชื่อ Jaya หรือชัยยะ ก็ได้กลายมาเป็นเรื่องมหาภารตะอันเลื่องชื่นจนถึงทุกวันนี้น
สำหรับหนังสือ Jaya เล่มนี้ อาจเรียกได้ว่ามหาภารตะ เป็นฉบับ simplify มีเนื้อหาครบทุกตอนแต่แบบที่เรียกว่าย่อยมาให้แล้วและได้ทำเรื่องราวให้อ่านได้ง่ายๆ แถมมีการ์ตูนประกอบ เรื่องราวสนุกสนาน พร้อมบทวิเคราะห์และคำอธิบายเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆที่อาจสร้างความสับสนกับผู้อ่านที่อาจไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมฮินดู ดังนั้น แม้ไม่ได้อ่านฉบับจริง แต่การอ่านเล่มนี้ก็เชื่อว่าไม่ได้ทำให้ขาดอรรถรสใดๆ
เขียนไปเริ่มจะยาวไปแล้ว มาฟังต่อก็แล้วกันถึงที่มาของ “จันทรวงศ์” อันเป็นวงศ์ของเการพและปาณฑพซึ่งเป็นเนื้อหาหลักใน มหาภารตะ .. เกริ่นเอาไว้ว่า แค่เริ่มต้นจากการที่ เมียของพฤหัสฯไปเป็นชู้กับจันทร์ แล้วคลอดลูกออกมาเป็นพุธ แล้วพุธก็ถูกสาปให้เป็นหญิงก็ไม่ใช่ชายก็ไม่เชิงก็แซ่บแล้ว
🌍 ผู้ชายมาจากดาวอังคาร ผู้หญิงมาจากศุกร์
ส่วน LGBT คงจะมาจากดาวพุธนี่เอง🌍
มาว่ากันต่อถึงเรื่องก่อนที่จะเข้าสู่เหตุการณ์หลักในมหาภารตะ ที่เล่าไปก่อนหน้านี้ว่าชื่อภารตะ อันเป็นที่มาของการเรียกชื่อประเทศอินเดียหรือชาวอินเดียว่าภารตะ ว่าเป็นชื่อของกษัตริย์ที่ครองหัสตินปุระ ซึ่งเป็นโอรสของทุษยันต์และสกุนตลา ซึ่งเรื่องสกุนตลาก็เป็นเรื่องย่อยเรื่องหนึ่งในเล่มนี้ และมีหนังสือเกี่ยวกับเรื่องสกุนตลาที่เป็นเรื่องราวอย่างละเอียดที่มีความดราม่าอยู่ไม่น้อย คราวนี้จะเล่าถึงที่มาก่อนที่จะมาเป็นจันทรวงศ์ที่ครองหัสตินปุระ
เริ่มต้นเรื่องที่ พระพฤหัสบดี (Brihaspati- Jupiter) กษัตริย์แห่งองค์ทวยเทพทั้งปวง มีมเหสีคือ ดารา (Tara) เทพีแห่งดวงดาว จะประกอบพิธีบูชาไฟหรือยัญณะ ( Yagna) พิธีจะไม่สำฤทธิ์ผลถ้ามเหสีไม่มานั่งอยู่เคียงข้างในพิธีด้วย ด้วยจึงให้ไปตามดารามา ร้อยวันพันปีก็ไม่เคยเรียกหา แต่วันนี้ดันมาเรียกซึ่งตอนนั้น ดาราก็ไปสมสู่อยู่กับ จันทรา ( Chandra) ซะแล้ว กลับมาพร้อมกับอุ้มท้องพร้อมมีเด็กในครรภ์มาด้วย สืบความไปมาเมื่อรู้ว่าไม่ได้ท้องกับตน พฤหัสฯก็สาปแช่งออกไปว่า ก็ให้ลูกที่คลอดออกมาเป็นเพศกลางเรียกว่า จะเป็นหญิงก็ไม่ใช่เป็นชายก็ไม่เชิง และ ในที่สุดดาราก็คลอดออกมา มีนามว่า พุธ (Budhi หรือ Budh – Mercury) และก็เป็นไปตามคำสาปนั้นว่าไม่หญิงไม่ชาย
ตอนโตขึ้นมา พุธก็กลุ้มใจว่าแล้วตนเองจะมีคู่ได้ไหม แลัวจะเป็นใคร ในเมื่อเพศของตัวเองก็ไม่ชัดเจน ( ที่จริงควรให้ดาวพุธเป็นสัญญลักษณะแห่ง LGBT ) ดารา ผู้เป็นแม่ก็บอกว่า ก็ต้องมีสักคนแหละที่แบบไหนก็ได้น่ะ เพราะว่า “Everything happens for a reason เมื่อเจ้าถูกสาปมาอย่างนี้ก็ต้องมีบางอย่างที่เกิดขึ้นรออยู่เช่นกัน” ( เปรียบเป็นแม่ผู้ทันสมัย เข้าใจในความต่างของลูก)
และแล้ววันหนึ่ง พุธ ก็ได้เห็นอิลา สาวงามก็ให้พึงใจยิ่ง แต่ความจริงแล้วนางอิลานั้น ไม่ใช่ผู้หญิงตั้งแต่เดิมนะ (ในรามเกียรติ์จะมีเรื่องของท้าวอิลราช และในหนังสืออ่านของไทยมีเรื่องอิลราชคำฉันท์นี่เป็นเรื่องอิลา เรื่องนี้ไปอยู่ในรามายะณะเพราะอิลาหรือท้าวอิลราชมาทางสายสุริยวงศ์) อิลา ที่แท้ในภาคผู้ชายคือสุทยัมนะ (Sudyumna) เป็นลูกของพระมนูไววัสสัต ซึ่งถูกพระศิวะสาปให้เป็นหญิงในข้างแรมและเป็นชายในข้างขึ้น( อันนี้อาจเปรียบเป็นความลื่นไหลทางเพศของคนยุคนี้ได้มั้ยนะ)
พุธเห็นอิลาก็ถูกใจยิ่งนักก็ได้แต่งงานกัน ช่างเป็นคู่ที่ได้ชื่อว่าเป็น perfect match ยิ่งนัก เมื่อคนหนึ่งไม่ใช่หญิงไม่ใช่ชาย ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นทั้งหญิงและชาย และทั้งคู่ก็มีลูกด้วยกันคือ ปุรุรพ (Pururava บ้างเรียกว่าปุรุรวัส) และปุรุรพนี่เองที่เป็นปฐมกษัตริย์แห่งจันทรวงศ์ ขึ้นครองเมืองที่ขณะนั้นชื่อ กรุงประดิษฐาน
ปุรุรพ แต่งงานกับ นางอัปสรชือ อุรวศี และมีลูกหลานที่สืบต่อกันมาเรื่อยๆในสายจันทรวงศ์ มีกษัติริย์ทั้งหมด 28 องค์ ทุษยันต์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 8 แต่งงานกับสกุนตา มีลูกคือภารตะ เป็นกษัตริย์องค์ที่ 9 ทำให้ได้ที่มาของคำว่าดินแดนภารตะ หัสติน เป็นกษัตริย์องค์ที่ 12 เป็นหลาน (ทวด) ภารตะ ย้ายเมืองหลวงจากประดิษฐานมาก่อตั้ง “หัสดินปุระ” เรื่องราวที่นำมาก่อนที่จะเข้าสู่มหาภารตยุทธ หรือการรบที่ทุ่งคุรุเกษตรและที่มาของเการพ กับ ปาณฑพ เริ่มต้นขึ้นในกษัติย์องค์ที่ 20 คือ ศานตานุ
แล้วจะมาเล่าให้ฟังกันต่อไป ตอนนี้ก็จบ part บรรพบุรุษ แล้วค่อยมาต่อยุคพ่อแม่ที่เริ่มตั้งแต่ ศานตานุเป็นต้นไป ตอนนี้พักไว้ตรงนี้ก่อน
Note: คนในยุคนี้จะตื่นเต้นกับเรื่อง LGBL กันไปไย พออ่านเรื่องนี้แล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย เห็นคนชอบถามคู่รักเพศเดียวกัน หรือคู่รักที่ทอมไปแต่งงานกับสาวประเภทสองแล้วมีลูกว่าจะงงมั้ย ใครเป็นพ่อเป็นแม่ ดูเรื่องมหาภารตะสิเป็นเรื่องเล่ามาตั้งแต่กว่าพันปีมาแล้ว และเกิดในเหล่าทวยเทพ ดังนั้น ในหลายครั้งที่มีคนอ้างพระผู้เป็นเจ้า ไม่ว่าจะในทางศาสนาใดที่ไม่ยอมรับเรื่องแบบนี้ก็น่าจะคิดใหม่นะ พระเจ้ายอมรับเรื่องนี้มาตั้งนานแล้ว และแผ่นดินภารตะหรือกรุงหัสตินปุระนั้นมีปฐมกษัติรย์ที่กำเนิดมาจากพ่อแม่ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือเป็น LGBT นะ หึหึ
🔥รบเถิดอรชุน🔥
ว่าจะเล่าเรื่องที่มาที่ไปของเการพ กับปาณฑพ ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ ศานตานุกับคงคาและคำสาป คำแช่งทั้งปวงที่นำไปสู่ปัญหาในรุ่นต่อมา ตรงนั้นอาจจะต้องเล่ากันยาว ขอเอาสรุปใจความสำคัญ และสิ่งที่เรียนรู้จาก Jaya มานำเสนอก่อนแล้วค่อยเก็บรายละเอียดให้กันอีกที หวังว่าคงไม่ว่ากัน
เรื่องราวหลักของมหาภารตะคือการสู้รบกันระหว่างตระกูลเการพกับปาณฑพซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน แย่งชิงสมบัติและอำนาจกันเองโดยเกณฑ์เอากษัตริย์ แคว้นต่างๆมาเข้าร่วมมากมาย ที่มาของเรื่องคือ การแบ่งสมบัติไม่ลงตัว ซึ่งกลุ่มปาณฑพแพ้พนัน เลยต้อถูกอัปเปหิให้ไปอยู่ป่าถึง 11 ปี พอกลับเข้ามา เการพก็จะฮุบราชสมบัติอีกไม่ยอมคืนให้จึงเกิดการทำสงครามกันกันขึ้น
การต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือที่ทุ่งคุรุเกษตร (ว่ากันว่าใกล้เดลีในปัจจุบัน) กฤษณะ เข้าข้างฝ่ายปาณฑพ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่อรชุนเริ่มท้อแท้จะถอดใจด้วยเห็นว่าไม่ควรจะสู้รบกันเอง กฤษณะได้สอนและให้กำลังใจแก่อรชุน ตรงนี้จึงเกิดเป็นคัมภีร์อันเลื่องชื่อคือ “ภควัทคีตา” อันเป็นที่มาของวลีที่ว่า “รบเถิดอรชุน” ขึ้นมา (มีงานแปลภาษาไทยให้อ่านอยู่พอสมควรแต่เล่มนี้ซื้อมานานกว่า 20 ปีแล้วกระมัง) ในภควัทคีตา ได้สอนให้เห็นถึงความสำคัญของภาระและหน้าที่ที่จะต้องทำให้สำเร็จและเชื่อว่ามนุษย์มีหลายภพ หากทำความดีก็จะหลุดพ้นและได้ไปสวรรค์ การฆ่าทางกายแต่จิตวิญญาณยังอยู่ ทุกอย่างเป็นไปตามกำหนดของพระเจ้าโดยมีมนุษย์เป็นเครื่องมือ อะไรทำนองนี้
เรื่องนี้ได้ทำให้เห็นถึง “ความไม่พอ” ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ ยักษ์ รากษส หรือ อสุรกาย
เห็นถึงความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมของชาวฮินดู และการสาปแช่งที่จะเป็นจริงหากผู้แช่งเป็นผู้ครองพรหมจรรย์ (ฤษี) และ หญิงม่าย
เรื่องนี้ถูกเรียกว่าชัยยะ หรือชัย (Jaya) เพราะจริงๆแล้วไม่มีการชนะที่แท้จริงจากการสู้รบ แต่ในโลกนี้มีชัยชนะอยู่ 2 อย่างคือ วิชัย และ ชัย วิชัยคือการชนะทางวัตถุ ตรงนี้มีผู้แพ้ได้ แต่ชัย คือการชนะทางจิตวิญญาณ ตรงนี้ไม่มีผู้แพ้ ตอนที่รบกันที่ทุ่งคุรุเกษตรนั้นเป็นเพียงวิชัย ที่มีผู้แพ้ แต่เมื่อยุทธิษฐิระ เอาชนะใจตนเอง อภัยให้กับฝ่ายเการพได้จึงถือเป็น “ชัย” ที่แท้จริง
ปล. ค้างส่วนที่เป็นตำนานหรือเรื่องสนุกๆเอาไว้ สำหรับผู้ที่สนใจและติดตามอ่านอยู่ อยากให้เล่าเรื่องไหนก็บอกมาได้ หรือจะเรื่องใครถูกแช่งด้วยอะไรบ้าง หรือว่าแล้วชนะมีชัยตั้งแต่ตอนแรกนั้นนั้นเกี่ยวพันกับพวกนาคอย่างไร แล้วจะได้นำมาเล่าตามคำขอ
หากชอบและสนใจจะอ่านเพิ่มฝากไลค์ เมนต์ทิ้งไว้ และฝากติดตามกันด้วยนะคะ เพิ่งเข้าทดลองใช้เพียงวันเดียว จะได้มีกำลังเล่าต่อค่ะ 😏😏
บันทึก
4
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อ่านมาแล้วเอามาเล่า
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย