22 เม.ย. 2020 เวลา 10:59 • สุขภาพ
Ponstan ไม่ได้มีดีแค่ปวดประจำเดือน
Ponstan คือชื่อการค้าหนึ่งของตัวยา Mefenamic acid ที่ติดตลาดในบ้านเราในแง่ของช่วยแก้ปวดประจำเดือน
#ทำไมถึงปวดประจำเดือน
สาเหตุการปวดประจำเดือนเกิดจากเมื่อครบรอบของการตกไข่ในผู้หญิง หากไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิผนังมดลูกจะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน ซึ่งกลไกการหลุดลอกนี้เองเกิดจากมีการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อของมดลูก เพื่อขับเลือดประจำเดือนออกมา ร่างกายได้สร้างสาร PROSTAGLANDIN ออกมามากขึ้น โดยเฉพาะชนิด PGE2 และ PGF-2-alpha สารนี้จะไปออกฤทธิ์ กระตุ้นให้มีการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก จึงทำให้เกิดอาการปวดตามมา **แต่ในกรณีที่เป็นการปวดแบบทุติยภูมิ (SECONDARY DYSMENORRHEA) ในกลุ่มนี้อาการปวดเกี่ยวเนื่องกับพยาธิสภาพทางกาย เช่น มีถุงน้ำ หรือเนื้องอก บริเวณมดลูก ปีกมดลูก หรือ ในอุ้งเชิงกราน (PELVIC INFLAMATORY DISEASE) ควรไปพบแพทย์
2
#ทำไมต้องพอนสแตน
จริงๆแล้วตัวยา Mefenamic acid เป็นยาในกลุ่ม NSAIDs ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ Cyclo-oxygenase ซึ่งทำหน้าที่ในการเปลี่ยน Arachidonic acid เป็น Prostaglandin ดังนั้นเมื่อเอนไซม์ถูกยับยั้งสารชนิดนี้ที่ทำให้เกิดกระบวนการปวดจึงลดลง ทำให้ลดอาการปวดได้ ซึ่งตัวยา Mefenamic นั้นพบว่ามีความสามารถในการยับยั้ง PGE2 และ PGF-2-alpha ได้ดีกว่า NSIADs ชนิดอื่นๆ จึงนิยมนำมาใช้สำหรับการปวดประจำเดือนมากที่สุด
#ใช้ยาอื่นแก้ปวดประจำเดือนได้หรือไม่
ยาอื่นที่ใช้ในการปวดประจำเดือนมีอีกหลายตัว โดยเฉพาะตัวอื่นๆในกลุ่ม NSAIDs ก็มีการใช้ไม่น้อยเช่นกัน ได้แก่ Ibuprofen, Diclofenac, Naproxen, Meloxicam, Piroxicam, Celecoxib และ Etoricoxib เป็นต้น นอกจากยากลุ่ม NSAIDs แล้วยาอื่นที่ช่วยลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบที่มดลูกได้เช่น Hyoscine, Mebeverine เป็นต้น
1
#พอนสแตนใช้แก้ปวดอย่างอื่นได้หรือไม่
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่ายานี้ออกฤทธิ์ลด Prostaglandin ที่ทำให้เกิดกระบวนการอักเสบซึ่งสารนี้พบได้ทั่วร่างกายเมื่อเกิดการอักเสบขึ้น โดยอาการปวดที่พบได้บ่อยจากการหลั่งของ prostaglandin ได้แก่ ปวดไมเกรน ปวดฟัน ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเข่าจากข้ออักเสบ ปวดจากการออกกำลังกาย/ทำงานหนัก office syndrome ปวดเกาต์ ปวดข้อรูมาตอยด์ ปวดบาดแผลและปวดหลังผ่าตัด ดังนั้นยานี้จึงสามารถใช้กับอาการปวดอื่นๆที่กล่าวมาได้ ***แต่ยานี้มีฤทธิ์เพียงบรรเทาอาการปวดแบบเฉียบพลันเท่านั้น ในกรณีปวดแบบเรื้อรังหรืออาการไม่ดีขึ้นหลังจากใช้ยาควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุการปวด***
2
#ใครไม่ควรรับประทานพอนสแตน
ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่แพ้ยานี้หรือยากลุ่ม NSAIDs สตรีมีครรภ์ไตรมาสสุดท้าย ผู้ที่มีเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้หรือมีแผลทะลุในทางเดินอาหาร โรคไตขั้นรุนแรง และผู้ที่เป็นไข้เลือดออก และควรระวังการใช้ยานี้ในผู้มีโรคประจำตัวเช่น หัวใจ ความดันสูง โรคไต หอบหืด และผู้ที่รับประทานยาต้านเกล็ดเลือด/ยาละลายลิ่มเลือดอยู่ เพราะจะยื่งทำให้เกิดภาวะเลือดออกได้
1
#ขนาดที่แนะนำ
ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 เม็ด (500 มิลลิกรัม) วันละ 3 ครั้งหลังอาหารทันที เมื่อเริ่มมีอาการและหยุดยาเมื่อหาย
เอกสารอ้างอิง
Rita Ghelani. Ponstan (mefenamic acid) 2019. Available from: https://www.netdoctor.co.uk/medicines/aches-pains/a7366/ponstan-mefenamic-acid/
Lumsden MA, Kelly RW, Baird DT. Primary dysmenorrhoea: the importance of both prostaglandins E2 and F2 alpha. Br J Obstet Gynaecol. 1983 Dec;90(12):1135-40.
PONSTAN. Patient information. Pfizer (Thailand) Limited. 2016.
2
โฆษณา