24 เม.ย. 2020 เวลา 12:37 • ประวัติศาสตร์
ไขัหวัด 1918 ตอนที่ 3 (ยาวมาก ขอบอก)
10.
ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า โรคระบาดระลอก 2 ที่ดุร้ายเริ่มต้นขึ้นที่ไหน
การกลายพันธุ์อาจจะค่อยๆสะสมขึ้นระหว่างที่ไวรัสแพร่ระบาดไปทั่วยุโรป
พอรู้ตัวอีกที ก็เริ่มมีการพบไวรัสที่ดุร้ายนี้โผล่ขึ้นหลายๆที่ ในเวลาใกล้เคียงกัน
แต่ที่เหมือนจะนำไปสู่การแพร่ระบาดกว้างไกลมากที่สุดเริ่มต้นขึ้นที่ .... นิวยอร์ก
1
11.
วันที่ 11 สิงหาคม 1918 ที่ท่าเรือแห่งหนึ่งในเมืองนิวยอร์ก
เรือสัญชาตินอร์เวย์ชื่อ เบอร์เกนส์ฟยอรด์ (Bergernsfjord) วิทยุแจ้งเข้ามาล่วงหน้าก่อนจะเข้าเทียบท่าที่เมืองนิวยอร์กว่า บนเรือมีคนป่วยอยู่ 10 คน และก่อนหน้านีมีคนเสียชีวิตและทิ้งศพลงทะเลไปแล้ว 4 คน ขอให้ทางนิวยอร์กเตรียมรับมือให้ดี
SS Bergensfjord
ด้วยความที่นิวยอรก์เป็นเมืองหน้าด่านที่รับผู้อพยพต่างชาติเป็นประจำอยู่แล้วจึงเคยชินกับการรับมือโรคระบาด
เมื่อเรือมาถึงฝั่ง รถพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็ไปตั้งโต๊ะรอตรวจคัดกรองไว้พร้อม จากนั้นก็รีบนำตัวผู้ป่วยและคนที่สงสัยจะติดเชื้อทั้งหมดรวมกันประมาณ 100 คนมุ่งหน้าไปที่โรงพยาบาลในทันที
ส่วนผู้โดยสารอื่นๆที่ไม่มีอาการป่วยก็อนุญาตให้แยกย้ายไปยังจุดหมายของตัวเองได้
วันที่ 16 สิงหาคม เรืออีกลำจากเนเธอร์แลนด์ก็เข้ามาเทียบท่าพร้อมกับผู้ป่วยอีก 22 คน
วันที่ 4 กันยายน เรือจากฝรั่งเศสก็นำผู้ป่วยมานิวยอร์กอีก 22 คน
และเพื่อให้แน่ใจว่าการควบคุมโรคเป็นไปได้ดีที่สุด ในวันที่ 12 กันยายนทางกรมควบคุมโรคของนิวยอร์กจึงออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ท่าเรือทั้งหมดกักตัวป้องกันการแพร่กระจายของโรค
ทุกอย่างเหมือนจะอยู่ภายใต้การควบคุมเป็นอย่างดี
แต่ก็แค่ระยะหนึ่งเท่านั้น
วันที่ 15 กันยายน มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดรายแรก จากนั้นก็ตามด้วยรายที่สองสามสี่
 
ในช่วงสัปดาห์แรกจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นวันละหลักสิบต้นๆ
สัปดาห์ต่อมาจำนวนผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้นเป็นวันละหลักร้อยคน
2
วันที่ 4 ตุลาคมหรือ 19 วันนับจากพบผู้ป่วยรายแรก
พบผู้ป่วยใหม่วันนั้น 999 คน
จำนวนผู้ป่วยสะสมทั้งหมดประมาณ 4,000 คน
1
ตลอดช่วงเวลา 19 วันที่ผ่านมานั้น ไม่ใช่ว่าทางเทศบาลเมืองนิวยอร์กจะไม่ทำอะไร แต่มีการป่าวประกาศ มีการขอร้อง ออกกฎ ให้ประชาชน พยายามอยู่ห่างกัน ไม่ไปรวมตัวในที่สาธารณะ ห้ามไอ จาม ถ่มน้ำลาย โดยไม่มีผ้าปิดปาก เมื่อพบคนป่วยก็จะแยกตัวไปกักไว้ทันที
การให้ความรู้ประชาชนเพื่อลดการแพร่กระจายของโรค
แต่ตัวเลขก็ยังเดินหน้า
วันที่ 9 ตุลาคม มีผู้ป่วยใหม่ 2,000 คน
วันที่ 11 ตุลาคม มีผู้ป่วยใหม่ 3,100 คน
วันที่ 12 ตุลาคม มีผู้ป่วยใหม่ 4,300 คน
หลังจากที่มาตรการระยะแรกควบคุมโรคไม่อยู่ การควบคุมการระบาดก็เข้มข้นมากขึ้น เริ่มมีการปิดสถานที่สาธารณะหลายแห่งที่ถือว่าเป็นสถานที่มีความเสี่ยงที่โรคจะระบาด เช่น โรงภาพยนตร์เก่าๆบางแห่ง และร้านค้าต่างๆ
เนื่องจากนิวยอร์กเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจจึงยากที่จะปิดทั้งเมือง แต่เพื่อป้องกันไม่ให้คนเดินทางอย่างแออัดในรถไฟใต้ดิน จึงบังคับให้บริษัทต่างๆมีเวลาเปิดปิดต่างกันไป เพื่อลดจำนวนคนเดินทางในช่วงเวลาเร่งด่วน เพื่อไม่ให้คนออกมากินอาหารกลางวันพร้อมๆกัน และกระจายเดินทางกลับบ้านกันคนละเวลา
วันที่ 19 ตุลาคม มีผู้ป่วยใหม่ 4,875 คน
หมอและประชาชนส่วนหนึ่งเริ่มไม่พอใจการทำงานของเทศบาล จึงออกมาวิจารณ์และมุ่งประเด็นไปว่า ความผิดพลาดเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรก เพราะแทนที่จะกักตัวดูอาการทุกคนที่มากับเรือโดยสาร แต่กลับเลือกกักตัวเฉพาะคนที่มีอาการป่วยให้เห็นเท่านั้น
แต่แล้ว จำนวนผู้ป่วยใหม่ก็ปักหัวลงอย่างรวดเร็วในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม โรคระบาดซาลงเหมือนไฟที่เผาเชื้อเผลิงจนหมดและไม่มีอะไรให้เผาอีกแล้ว
วันที่ 1 พฤศจิกายน สถานการณ์ดีขึ้นจนสามารถยกเลิกมาตราการฉุกเฉินต่างๆได้เกือบหมด
วันที่ 5 พฤศจิกายน ชาวนิวยอร์กก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนปกติ
สุดท้ายตัวเลขผู้ติดเชื้อของนิวยอร์กอยู่ที่ 147,000 คน และมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 20,608 คน
12.
27 สิงหาคม 1918 (สิบเก้าวันก่อนโรคหวัดจะเริ่มระบาดในนิวยอร์ก)
เมืองบอสตัน
ไม่มีใครรู้ว่า คนป่วยคนแรกของเมืองบอสตันเริ่มป่วยได้อย่างไร แต่เชื่อว่าน่าจะแพร่กระจายมาจากเรือลำใดลำหนึ่งที่เข้ามาเทียบท่าเมืองนิวยอร์ก
ในวันแรกของการพบคนป่วย ก็มีคนป่วยพร้อมๆกันถึง 29 ราย และโรคก็เริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นช้าๆ
ไม่กี่วันถัดมา โรคก็เดินทางไปถึงค่ายเดเวนส์ (camp Devens) ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองบอสตันไปทางทิศตะวันตกประมาณ 45 กิโลเมตร หลังจากนั้นโรคก็ระบาดในค่ายอย่างรวดเร็ว
การระบาดที่เกิดขึ้นในค่ายเดเวนส์นั้นก็มีลักษณะที่คล้ายกับที่พบในนิวยอร์กคือ โรคมาเร็วเหมือนไฟลาม แล้วก็สงบลงอย่างรวดเร็วเหมือนว่าเผาทุกอย่างจนหมดเชื้อเผลิงที่จะลามต่อ
บรรยากาศห้องพยาบาล camp Devens
เบ็ดเสร็จค่ายทหารแห่งนี้จะมีคนป่วยด้วยโรคหวัดประมาณ 15,000 คน และมีคนเสียชีวิตทั้งหมด 800 คน
แต่ก่อนที่การระบาดจะหยุดลง ทหารบางส่วนจากค่ายเดเวนส์ก็ถูกส่งตัวไปที่ค่ายทหารแกรนต์ ในรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งอยู่ในภาคกลางของอเมริกา (midwest) ห่างไกลออกไปประมาณ 1,700 กิโลเมตร
ไวรัสจากทะเลด้านตะวันออกจึงสามารถเดินทางเข้าไปยังใจกลางประเทศอเมริกาได้โดยตรง
13.
วันที่ 19 กันยายน 1918 (ประมาณ 4 วันหลังโรคเริ่มระบาดที่นิวยอร์ก)
ค่ายทหารแกรนท์ (Grant) รัฐอิลลินอยส์
1
ผู้บังคับการของค่ายแกรนท์คนใหม่ชื่อ พันเอก ชาร์ลส์ ฮากาดอร์น (Col. Charles Hagadorn) เพิ่งจะย้ายมาประจำการที่ค่ายทหารแห่งนี้ได้ไม่กี่วัน หรือไม่กี่วันก่อนที่นายทหารส่วนหนึ่งจากค่ายเดเวนส์เดินทางมาถึง
2
Col. Charles Hagadorn
ค่ายทหารแห่งนี้เป็นค่ายทหารที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดแห่งหนึ่งของอเมริกา สามารถที่จะรองรับการฝึกทหารได้มากขึ้น 48,000 นาย แต่ด้วยความที่ค่ายแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นอย่างรีบเร่ง ทำให้ไม่ค่อยพร้อมที่จะรับมือกับความหนาวเย็นของฤดูหนาวนัก
ภาพถ่าย camp Grant
พันเอกฮากาดอร์น จึงมีคำสั่งให้ทหารที่นอนตามเต๊นท์ต่างๆย้ายเข้ามาพักอาศัยในโรงนอนรวมกันอย่างหนาแน่น ซึ่งผิดหลักการของค่ายทหาร ที่พยายามจะไม่ให้ทหารอยู่กันอย่างหนาแน่นจนเกินไป เพราะเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาดขึ้น
แม้ว่าหมอประจำค่ายจะพยายามทัดทานหลายครั้ง เพราะพวกเขารู้ดีว่าขณะนี้ค่ายทหารหลายแห่งกำลังมีไข้หวัดระบาด แต่พันเอกฮากาดอร์น ก็ยังยืนกรานในคำสั่งเดิม เพราะเขามองว่า ในสภาวะสงครามเช่นนี้ บางครั้งก็จำเป็นต้องฝ่าฝืนกฎบางอย่างเพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์
1
เขาค่อนข้างมั่นใจว่าถ้ามีโรคระบาดเกิดขึ้นจริงๆ ค่อยหาทางรับมือก็ยังได้
เพราะโรคที่กำลังระบาดในค่ายต่างนั้น “เป็นแค่หวัดธรรมดา”
หนึ่งวันหลังคำสั่งให้ย้ายทหารมาอยู่รวมกันอย่างหนาแน่นออกไป ก็เริ่มมีคนป่วยด้วยโรคไข้หวัด
วันที่ 20 กันยายน มีผู้ป่วยใหม่ 108 คน
วันที่ 21 กันยายน มีผู้ป่วยใหม่ 194 คน
วันที่ 22 กันยายน มีผู้ป่วยใหม่ 371 คน
วันที่ 23 กันยายน มีผู้ป่วยใหม่ 492 คน
พอครบสัปดาห์ จำนวนผู้ป่วยสะสมมีประมาณ 4,000 คน
ปริมาณคนป่วยที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วเช่นนี้ เกินกว่าความสามารถของสถานพยาบาลในค่ายจะรับมือได้ ดังนั้นในเวลาแค่สัปดาห์เดียว หมอและพยาบาลจึงขาดแคลนทุกอย่าง ตั้งแต่ยาลดไข้ ปรอทวัดไข้ ผ้ากอซ ผ้าปูเตียง
3
แม้แต่ตัวล่อ ที่นำมาเลี้ยงไว้เพื่อลากรถเข็นคนป่วย ยังเหนื่อยจนลากต่อไปไม่ไหว จะมีแค่แมลงวันเท่านั้นที่ตื่นเต้นกับเหตุการณ์และชวนกันมาบินว่อนวนเวียนไปทั่วค่าย
2
เมื่อผู้ป่วยมากถึงจุดหนึ่ง การฝึกทหารทั้งหมดต้องยกเลิกไป ทหารที่ยังไม่ป่วยต้องทำหน้าที่ขนอาหารและเชื้อเพลิงลงจากรถไฟ ต้มน้ำ ทำอาหาร และช่วยพยาบาลดูแลคนป่วย
ทหารบางส่วนต้องไปยัดฟางเข้าถุงผ้าเพื่อทำเป็นฟูกสำหรับคนป่วยที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อข่าวไปถึงญาติพี่น้องของทหาร ประชาชนจำนวนมากจึงทยอยเดินทางมาที่ค่ายเพื่อขอเยี่ยมสามี แฟน ลูกหลานของตัวเอง
หลายคนพยายามติดสินบนหมอและเจ้าหน้าที่เพื่อให้ดูแลลูกหลานของตัวเองเป็นพิเศษ จนต้องมีการออกคำเตือนอย่างเป็นทางการว่าห้ามเจ้าหน้าที่รับสินบนอย่างเด็ดขาด
เมื่อญาติพี่น้องที่มาเยี่ยมเดินทางแยกย้ายกลับบ้านก็นำโรคติดตัวไปด้วย ระหว่างทางแวะที่ไหนโรคก็ระบาดไปเรื่อยๆตลอดเส้นทางที่เดินทางไป
จำนวนทหารที่ค่ายแกรนท์เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนในแต่ละวันมีทหารเสียชีวิตประมาณ 75-100 คนต่อวัน
แรกๆก็ยังพอรับมือกันไหว แต่ไม่นานก็เริ่มจัดการศพไม่ค่อยทัน
ศพที่จัดการไม่เรียบร้อยจากเมื่อวานก็เริ่มพอกมาวันนี้ ศพของวันนี้ที่มาใหม่ก็ยิ่งจัดการไม่ทัน
1
ปริมาณศพที่ไม่ได้รับการจัดการให้เรียบร้อยจึงเริ่มพอก จนโลงศพมีไม่พอใช้
ศพเปล่าๆที่คลุมด้วยผ้าหรือถุงจึงถูกนำมากองซ้อนๆกันไว้เหมือนกองฟืนเพื่อรอสัปเหร่อจากนอกค่ายมาช่วยรับศพไปจัดการ
 
สถานการณ์ยังเลวร้ายลงเรื่อยๆ
เช้าวันที่ 8 ตุลาคม 1918
หลังจากที่พันเอกฮากาดอร์น รับฟังรายงานอัพเดทตัวเลขผู้เสียชีวิตล่าสุดเขาก็พยักหน้าเงียบๆ
เมื่อทหารที่ทำหน้าที่รายงานออกจากห้องไป พันเอกฮากาดอร์นก็หยิบหูโทรศัพท์ขึ้นมาแล้วโทรสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งหมดออกไปตั้งแถวรอการตรวจแถว ซึ่งเป็นคำสั่งที่แปลก แต่ก็ไม่มีใครว่าอะไร
1
ผ่านไปประมาณครึ่งชั่วโมง เสียงปืนก็ดังขึ้นหนึ่งครั้ง
พันเอก Hagadorn ตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง
แม้ว่าเขาจะไม่ได้เขียนจดหมายลาตายไว้ แต่ทุกคนก็พอจะรู้ว่าเขา รู้สึกผิดกับการฝืนคำทัดทานและสั่งให้ทหารมาอยู่รวมกันอย่างแออัด จนเป็นเหตุให้คนหนุ่มเกือบ 500 คนต้องเสียชีวิตไป
เขาคงจะทนเห็นตัวเลขขึ้นต่อไปอีกเรื่อยๆไมไหว จึงตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองลงในเช้าวันนั้น
1
แต่สิ่งที่เขาพลาดจะรับรู้ไปคือ
ไม่กี่วันหลังจากนั้น ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็หันหัวลงอย่างรวดเร็ว
จากผู้เสียชีวิตวันละเป็นร้อยภายในเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็เหลือแค่เลขหลักหน่วย
และพอถึงวันที่ 30 ตุลาคม ทุกอย่างก็กลับเข้าสู่สภาวะเกือบปกติ
เบ็ดเสร็จในเวลาไม่ถึงเดือนมีคนป่วยประมาณ 10,000 คนและเสียชีวิตไปประมาณ 1,400 คน
14.
วันที่ 19 กันยายน 1918 (ประมาณ 4 วันหลังไข้หวัดเริ่มระบาดในนิวยอร์ก)
เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย
โรคระบาดมาถึงเมืองฟิลาเดลเฟียประมาณวันที่ 19 กันยายน โดยเชื่อว่ามาพร้อมกับทหารเรือที่ถูกส่งตัวมาจากบอสตัน
1
ช่วงวันแรกๆแม้ว่าจะจำนวนผู้ป่วยจะค่อนข้างสูง คือประมาณ 600 คน
และแม้ว่าฟิลาเดลเฟียจะเป็นเมืองใหญ่ที่มีคนอยู่กันอย่างหนาแน่นและมีชุมชนแออัดมากมาย
แต่ดูเหมือนการระบาดระยะแรกจะเพิ่มไม่เร็วมากนัก
อาจจะเพราะโรคจำกัดอยู่ในกลุ่มคนที่สามารถดูแลการแพร่ระบาดได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 27 กันยายน ก็พบว่ามีผู้ป่วยเป็นประชาชนนอกค่ายทหาร 123 คน
ไวรัสเริ่มเข้าไปปะปนอยู่ในหมู่ประชาชนแล้ว
แต่หลังวันที่ 28 กันยายนไปทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังตีน
ชาวฟิลาเดลเฟีย ไม่ค่อยตื่นเต้นกับไข้หวัดที่ระบาดมากนัก เพราะทุกคนกำลังสนใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเสียมากกว่า
เนื่องจากการทำสงครามจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก รัฐบาลกลางของอเมริกาจึงพยายามหาเงินด้วยการออกขายพันธบัตรที่มีชื่อว่า Liberty bond
ด้วยความที่ผู้ว่าการรัฐแต่ละแห่งหรือนายกเทศมนตรีแต่ละเมืองจะพยายามทำตัวเลขแข่งกันเพื่อให้เห็นว่า รัฐหรือเมืองตัวเองขายพันธบัตรได้มาก เทศบาลเมืองฟิลาเดลเฟีย จึงจัดให้มีการเดินพาเหรดขึ้น แม้ว่าจะโดนคัดค้านจากทางสาธารณสุขและหมอหลายครั้ง
ขบวนพาเหรดที่กำลังจะจัดขึ้นนี้ถูกโฆษณาว่าจะเป็นขบวนพาเหรดที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยจัดมาในฟิลาเดลเฟีย โดยทางเทศบาลต้องการให้คนออกมาชมขบวนพาเหรดกันมากๆ เพื่อกระตุ้นอารมณ์รักชาติ กระตุ้นความรู้สึกอยากสนับสนุนการไปทำสงคราม และซื้อพันธบัตรของรัฐบาล
28 กันยายน 1918
จำนวนผู้ติดเชื้อน่าจะอยู่หลักหลายร้อย
ประชาชนชาวเมืองฟิลาเดลเฟียประมาณ 200,000 ออกมายืนเบียดเสียดเรียงรายกันสองฝั่งถนนเพื่อชื่นชมขบวนพาเหรดที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ เด็กๆที่โตหน่อยวิ่งไปนั่งริมถนนแถวหน้าเพื่อจะเห็นขบวนได้ชัด ส่วนพ่อที่มีลูกเล็กหน่อยก็ให้ลูกขี่คอ
Liberty loan parade
ทุกคนเงยหน้ามองเครื่องบินรบที่บินโชว์อยู่บนฟ้าอย่างตื่นเต้น และภูมิใจ เพราะเครื่องบินรบที่กำลังจะถูกส่งไปยุโรปเหล่านี้ประกอบขึ้นจากโรงงานในเมืองฟิลาเดลเฟีย เมื่อเครื่องบินผ่านไปคนก็หันมาสนใจกับวงโยทวาทิตที่บรรเพลงปลุกใจ เป็นระยะๆ
ช่วงไหนที่วงโยทวาทิตหยุดบรรเลง เซลล์แมนที่กระจายตัวอยู่ในฝูงชนก็จะเริ่มการขายพันธบัตรให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้หญิงที่มาคนเดียวเพราะเป็นไปได้ว่า แฟนหรือสามีของหญิงคนนั้น ถูกส่งตัวไปรบที่แนวหน้าแล้ว
15.
ประมาณ 48-72 ชม.หลังขบวนพาเหรดสิ้นสุดลง (30 กันยายน)
โรงพยาบาลทุกแห่งในเมือง เต็มไปด้วยคนที่ป่วยเป็นไข้หวัด
เมืองฟิลาเดลเฟียเป็นเมืองใหญ่ ที่มีโรงเรียนแพทย์ขนาดใหญ่ 5 แห่งและโรงพยาบาลอื่นๆอีกสิบกว่าแห่ง แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะรับคนป่วยเข้ารักษาได้หมด
1
โรงพยาบาลทุกแห่งขาดแคลนหมอและพยาบาล ถึงกับต้องมีการประกาศขอให้หมอทุกคนที่อยู่ในเมืองมาช่วยกันรักษาผู้ป่วย รวมไปถึงหมอที่เกษียนและเลิกทำงานไปแล้วด้วย แต่ขนาดนั้นแล้วจำนวนหมอก็ยังไม่พอ จึงต้องให้นักเรียนแพทย์ที่ใกล้จบทำหน้าที่เหมือนหมอที่จบแล้ว สุดท้ายแม้แต่นักเรียนแพทย์ปี 1 ก็ได้รับคำสั่งให้ช่วยตรวจและรักษาคนป่วยเหมือนเป็นหมอคนหนึ่ง
โรงพยาบาลทุกแห่งแน่นจนไม่สามารถรับผู้ป่วยได้อีก ที่วางตรงไหนที่พอจะวางเตียงเสริมได้ ก็จะถูกวางเตียงหรือฟูกลงไป
ด้านหน้าโรงพยาบาลหลายแห่งมีผู้ป่วยยืนต่อคิดยาวเหยียดเพื่อรอเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยบางคนเสียชีวิตลงระหว่างที่ต่อคิว
โรงพยาบาลต้องการเตียงรับผู้ป่วยมากถึงขนาดว่า ผู้ป่วยที่อาการหนักมากพนักงานเข็นเปลจะเข็นผู้ป่วยคนใหม่มานอนรอใกล้ๆ เมื่อสีหน้าของผู้ป่วยเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินพยาบาลจะติดป้ายที่ปลายเตียงไปเลยว่าผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว เพราะกว่าคนเข็นเปลจะมาถึง ผู้ป่วยก็จะเสียชีวิตพอดี
เมื่อคนเข็นเปลมาถึงก็จะยกศพออก เปลี่ยนผ้าปูเตียงแล้วให้ผู้ป่วยคนใหม่ที่รออยู่ขึ้นเตียงต่อทันทีโดยไม่เสียเวลามาก
หมอพยาบาลที่ให้การรักษาเองก็เสียชีวิตไปไม่น้อย ผู้ป่วยหลายคนเห็นหมอมารักษาเมื่อวานแต่พอเช้าวันนี้ก็พบว่าหมอหรือพยาบาลที่เคยมาดูอาการทุกวันเสียชีวิตไปแล้ว
16.
วันที่ 3 ตุลาคม 1918
ผู้ว่าการรัฐเพนซิลเวเนีย สั่งปิดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน โบสถ์ โรงหนัง ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เกตส่วนใหญ่ก็ต้องปิด อนุญาตให้เปิดเฉพาะบางแห่งเพื่อให้ประชาชนมีที่ซื้ออาหารกินเท่านั้น
แต่ถึงไม่สั่งปิดผู้คนในเมืองฟิลาเดลเฟียก็ไม่กล้าออกจากบ้านอยู่ดี
บรรยากาศในเมืองตอนนั้นเต็มไปด้วยความหวาดกลัว ไม่มีใครกล้าเข้าใกล้คนแปลกหน้า คนที่ไม่มีญาติหลายคนเมื่อป่วยที่บ้านก็ไม่มีคนดูแล จนเมื่อเสียชีวิตไปแล้วศพก็ถูกทิ้งให้นอนอยู่บนเตียงโดยไม่มีใครกล้าเข้าไปยุ่ง
2
ตามตรอกซอกซอยเล็กๆ ก็มีคนแอบนำศพไปโยนทิ้งไว้จนเน่า เหม็นคลุ้งไปทั่วเมือง ทางเทศบาลเองก็กลัวว่าศพเหล่านี้จะเป็นแหล่งแพร่เชื้อ จึงพยายามแก้ปัญหาศพถูกทิ้ง ด้วยการแจกโลงไม้ให้กับประชาชน ถ้ามีคนตายในบ้านก็ให้นำศพมาใส่ในโลงแล้ววางไว้หน้าบ้าน แล้วทางเทศบาลเมืองจะส่งเกวียนมาเก็บเอง
1
ต่อมาเมื่อโลงศพไม้หมด เทศบาลก็เปลี่ยนจากการส่งโลงศพมาเป็นส่งกระสอบที่ใช้ขนมันฝรั่งมาให้แทน
ด้วยความที่มีคนตายจำนวนมากในเวลาสั้นๆ ทำให้การทำพิธีฝังศพแบบเต็มรูปแบบทำไม่ได้ บวกกับคนกลัวติดโรคจากศพ จึงมีการขุดหลุมใหญ่ๆไว้นอกเมือง แล้วเทศบาลขนศพไปฝังรวมกัน แต่ปริมาณศพที่มากเกินจะขนได้ทัน ทำให้หลายบ้านต้องเก็บศพไว้กับตัวเองหลายวันกว่าจะมีคนมารับไปฝัง
แม้ว่าคนแทบจะไม่ได้ออกมาพบเจอกันเลย แต่โรคก็ยังระบาดต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยการระบาดขึ้นถึงจุดสูงสุดในช่วงกลางเดือนตค. ก่อนที่จำนวนผู้ป่วยใหม่จะค่อยๆปักหัวลงอย่างรวดเร็ว
วันที่ 27 ตุลาคม สถานการณ์ก็ดีขึ้นพอที่ทางเทศบาลเมืองสามารถผ่อนคลายมาตการฉุกเฉินหลายๆอย่างลงไปได้ พอถึงวันที่ 30 ตุลาคม ร้านค้าต่างๆก็สามารถเปิดค้าขายได้ตามปกติ
1
เบ็ดเสร็จเมืองฟิลาเดลเฟียมีคนติดเชื้อทั้งหมดประมาณครึ่งล้าน และมียอดคนเสียชีวิตประมาณ​ 13,000 คน
3
17.
วันที่ 29 กันยายน 1918
(ขณะที่โรคกำลังระบาดที่นิวยอร์ก บอสตัน ค่ายเดเวนส์ ค่ายแกรนท์ ฟิลาเดลเฟีย และที่อื่นๆในอเมริกาอีกหลายแห่ง )
1
เรือ เลไวอาตัน (Leviathan) กำลังเตรียมตัวจะแล่นออกจากท่าเรือที่เมือง Hoboken รัฐนิวเจอร์ซีย์ มุ่งหน้าไปเมือง แบร็ตส์ (Brest) ประเทศฝรั่งเศส
USS Leviathan
ทหารและบุคคลากรทางการแพทย์รวมกันประมาณหมื่นกว่าคนกำลังรอต่อคิวกันขึ้นเรือ
ทหารส่วนใหญ่เพิ่งจะเดินทางข้ามวันข้ามคืนมาจากค่ายทหารหลายๆแห่งทั่วอเมริกา ซึ่งก็น่าจะรวมไปถึง ค่ายแกรนท์และค่ายเดเวนส์ด้วย
หมุดสีแดงชี้ให้เห็นตำแหน่งของเมือง Brest
ไม่มีใครรู้ว่าทหารหรือหมอพยาบาลที่ยืนต่อคิวเหล่านี้มีใครเพิ่งกลับมาจากพาเหรดที่เมืองฟิลาเดลเฟียเมื่อวานบ้าง
การบรรทุกจำนวนคนหมื่นกว่าคนนี้ ขึ้นบนเรือ ถือว่าเป็นการบรรทุกคนเกิดระดับที่เหมาะสมและปลอดภัยไปหน่อยนึง แต่ก็อย่างที่รู้ๆกันว่า ในภาวะสงครามกฎข้อห้ามด้านความปลอดภัยหลายๆอย่างก็ต้องรู้จักผ่อนปรนลงบ้าง ไม่ตึงเกินไป เช่นเดียวกับที่มีการผ่อนปรนให้ทหารมารวมอยู่ร่วมกันอย่างแออัดที่ค่ายแกรนท์เมื่อสิบวันก่อน
ทุกอย่างวางแผนไว้เป็นอย่างดี ทหารทั้งหมดจะถูกแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ และเข้าพักในห้องที่ปิดสนิทห้องละไม่กี่คน ดังนั้นถ้าเกิดมีคนป่วยหลุดรอดขึ้นเรือไปได้ โรคก็จะระบาดอยู่แค่ในห้องๆเดียว ไม่ระบาดไปห้องอื่น
แต่สัญญานของความหายนะเริ่มมีให้เห็นตั้งแต่เรือยังไม่ออกจากท่าเรือ
ระหว่างเดินทางมาจากค่ายทหารต่างๆ มีทหารจำนวนไม่น้อยที่มีไข้ระหว่างทาง บางคนเมื่อมาถึงก็ถูกส่งเข้าโรงพยาบาลเลย บางคนไข้สูงจนล้มลงขณะยืนต่อคิวขึ้นเรือ เบ็ดเสร็จมีทหารไม่สามารถขึ้นเรือไปได้ 120 คน
เมื่อขึ้นเรือไปแล้ว ก็มีทหารป่วยจนต้องไปรายงานตัวที่ห้องพยาบาลบนเรือตั้งแต่เรือยังไม่แล่นออกจากฝั่ง ทหารจำนวนหนึ่งป่วยหนักจนถูกส่งตัวลงมาจากเรืออีกครั้ง
ถ้าเป็นสถานการณ์ทั่วไป และพบว่ามีคนป่วยบนเรือมากขนาดนี้ เรือลำนี้ไม่มีทางจะได้แล่นออกจากฝั่งอย่างแน่นอน แต่ในสภาะวะสงครามข้อห้ามด้านความปลอดภัยหลายๆอย่างก็ต้องรู้จักผ่อนปรนลงบ้าง ไม่ตึงเกินไป เดี๋ยวจะเครียด
เช้าวันนั้นท้องฟ้าโปร่งเห็นสีฟ้าเข้มของท้องฟ้าชัดเจน ทะเลสงบราบเรียบ
เรือ Leviathan แล่นออกจากท่าเรือไปอย่างราบรื่น ขณะที่เหล่าทหารบนดาดฟ้าเรือมารวมตัวกันจนแน่นพร้อมกับโบกมือให้กับครอบครัวและคนรักอย่างสนุกสนาน ทหารหนุ่มเหล่านี้เต็มไปด้วยความรู้สึกหึกเหิมที่จะได้ไปทำหน้าที่ปกป้องประเทศชาติ
ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี ทหารถูกส่งตัวเข้าไปในห้องของตัวเองตามแผน
แต่แผนนี้มีช่องโหว่ขนาดใหญ่มากอยู่ เพราะเมื่อถึงเวลากินอาหาร ทุกคนจะต้องไปกินที่ห้องอาหารเดียวกัน จริงอยู่แม้ว่าจะมีแผนเตรียมไว้แล้วว่าให้ทหารผลัดกันไปกินเพื่อไม่ให้ห้องอาหารหนาแน่นเกินไป
แต่ทหารก็ยังต้องไปนั่งโต๊ะเดียวกับที่คนก่อนหน้าเคยนั่ง จับสิ่งที่คนอื่นเคยจับมาก่อน และสัมผัสไวรัสที่คนก่อนเผลอป้ายทิ้งเอาไว้
เช้าวันที่ 30 กันยายน (1 วันหลังเรือออกจากท่า)
ห้องพยาบาลของเรือเต็มไปด้วยคนป่วยจนไม่สามารถรับคนป่วยเพิ่มได้อีกแล้ว ทำให้ต้องมีการจัดห้องพักบางส่วนมาใช้เป็นห้องพยาบาล
และด้วยความที่เรือแออัดมาก เมื่อมีคนป่วยมากขึ้น สุขอนามัยในเรือก็เริ่มแย่ลงอย่างรวดเร็ว ทั้งสารคัดหลั่ง ทั้งการระบายอากาศ เมื่อจำนวนคนป่วยมีมากเกินกว่าจะไปนอนในห้องพยาบาลได้ ทหารที่ป่วยบางส่วนจึงต้องในห้องนอนแคบๆร่วมกับทหารอื่นที่ยังไม่ป่วย บางคนนอนหมดสติอยู่ในห้อง จนเพื่อนร่วมห้องต้องช่วยกันหามไปส่งห้องพยาบาล
1
ช่วงเวลาที่สถานการณ์กำลังเลวร้ายสุดๆ เรือเพิ่งจะเดินทางไปได้แค่ครึ่งทาง
กลางมหาสมุทรที่ไม่มีใครสามารถช่วยเหลือได้ หมอและพยาบาล ต้องทำงานกันทั้งๆที่เครื่องไม้เครื่องมือมีอย่างจำกัดจำเขี่ย คนป่วยมีเพิ่มขึ้นเร็วจนต้องมีการสลับขนคนป่วยบางคนขึ้นมานอนรักษาตัวที่ดาดฟ้าเรือระหว่างรอเตียงว่าง
เมื่อมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปมา เมื่อมีผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้ามารวมที่ห้องพยาบาลได้ พื้นเรือหลายแห่งจึงเปรอะเปื้อนไปด้วย น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ และเลือดกำเดา จนเปียกลื่น ใครเดินมาเหยียบก็จะนำคราบเลอะเหล่านี้ย่ำต่อไปที่อื่นๆจนทั่วเรือ
การเดินทางทั้งหมดกินเวลาเกือบ 10 วัน
วันที่ 1 ตุลาคม หรือ 3 วันหลังเริ่มออกเดินทางผู้ป่วยรายแรกก็เสียชีวิตลง และด้วยความที่กลัวว่าศพอาจจะเป็นแหล่งระบาดของโรค ศพบางส่วนจึงถูกทำพิธีก่อนจะโยน แรกๆ พิธีศพค่อนข้างจะเป็นทางการ ใช้เวลาหลายชั่วโมงก่อนศพจะถูกฝังลงทะเล
แต่ในบันทึกจะเห็นว่า ระยะห่างระหว่างเวลาเสียชีวิตและเวลาที่ศพถูกฝังลงทะเละค่อยๆสั้นลงๆ เหมือนว่า เมื่อมีใครเสียชีวิตลงทุกคนต้องรีบฝังศพลงทะเลแล้วรีบกลับไปดูแลคนป่วยอื่นๆต่อ
วันที่ 5 ตุลาคม มีคนเสียชีวิต 10 คน
วันที่ 6 ตุลาคม มีคนเสียชีวิต 24 คน
วันที่ 7 ตุลาคม มีคนเสียชีวิต 31 คน
เรือถึงเมืองแบร็ตส์ ในวันที่ 8 ตุลาคม 1918 มีผู้ป่วยที่ต้องหามเปลลงจากเรือเพราะเดินเองไม่ไหว 966 คน เบ็ดเสร็จมีทหารป่วยประมาณ 2,000 คน เสียชีวิตระหว่างทาง 70 คน และมีคนไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลหลังลงจากเรืออีก 14 คน
ไม่มีใครรู้ว่า ถ้าการเดินทางยืดยาวไปอีก 2-3 วัน โรคและจำนวนผู้ป่วยเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไหร่
หลังส่งทหารทั้งหมดที่ Brest แล้ว เรือ Leviathan ก็แล่นกลับไปที่เมืองโฮโบเกนเพื่อรับทหารกลุ่มใหม่มาอีก วนไปมาเช่นนี้อีกสิบกว่ารอบ
18.
ตลอดที่เราคุยกันมานับตั้งแต่โรคเริ่มระบาดระลอก 2 ที่นิวยอร์ก เราแทบไม่ได้ยินเลยว่า รัฐบาลกลางของอเมริกามีนโยบายต่อโรคระบาดอย่างไรบ้าง เราแทบไม่ได้ยินเลยว่า ประธานาธิบดีออกคำสั่งอะไรบ้าง
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?
ทำไมรัฐบาลกลางดูเพิกเฉยต่อการระบาดของโรค ?
19.
ประธานาธิบดี วู๊ดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ด้วยนโยบายหาเสียงหลักคือ การไม่เข้าร่วมในสงครามที่ชาวยุโรปฆ่าฟันกันเอง
1
แต่ภายหลังด้วยความความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างอเมริกากับยุโรป รวมถึงประชาชนชาวอเมริกันเสียชีวิตจากการโจมตีด้วยเรือดำน้ำของเยอรมัน ทำให้อเมริกาเลี่ยงที่จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามได้ยาก สุดท้ายอเมริกาก็ต้องประกาศเข้าร่วมสงคราม
แต่การเปลี่ยนมาเข้าร่วมสงคราม ก็จะเหมือนหักหลังฐานเสียงของคนที่เลือกประธานาธิบดีวิลสันเข้ามา บวกกับต้องการให้ประชาชนช่วยกันสนับสนุนสงคราม ต้องการให้คนหนุ่มมาสมัครเป็นทหาร มากๆ
2
รัฐบาลกลางจึงต้องหาทางโน้มน้าวสังคมด้วยการสร้างกระแสสังคมขึ้นมาก่อนด้วยการตั้งคณะกรรมการที่ชื่อว่า Committee on Public Information หรือ CPI ขึ้นมา โดยทีม CPI จะพยายามสร้างข่าวปลุกใจและสร้างกระแสรักชาติ ผ่านทางสื่อหนังสือพิมพ์ แมกกาซีน โปสเตอร์ และภาพยนตร์ ออกมามากมาย
ส่วนหนึ่งของผลงาน CPI
นอกจากนี้ยังมีการฝึกนักพูด ประมาณ 7,500 คนให้กระจายตัวออกไปพูดต่ามที่ต่างๆทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น โรงหนัง สวนสาธารณะ โบสถ์ เพื่อปลุกกระแสรักชาติ โดยให้รู้สึกว่า ความรักชาติ ความเสียสละ และการสนับสนุนอเมริกาในการทำสงครามเป็นเรื่องเดียวกัน
ดังนั้นในทางหนึ่ง ประธานาธิบดีกำลังโน้มน้าวให้คนอเมริกันสนใจสงครามและอยากเข้าร่วมสงคราม แต่ขณะเดียวกันหวัดซึ่งทำลายขวัญและกำลังใจ ทำลายความหึกเหิม ก็กำลังระบาดอย่างหนัก
ประธานาธิบดีและรัฐบาลกลาง จึงเลือกที่จะทำเหมือนว่าไม่มีโรคหวัดระบาดเกิดขึ้น และไม่เพียงแค่เพิกเฉยแต่ยังมีการลงโทษหนังสือพิมพ์หรือสื่อที่รายงานข่าวว่ามีโรคระบาดอีกด้วย
20.
วันที่ 7 ตุลาคม 1918
(1 วันก่อนพันเอกฮากาดอร์นจะยิงตัวตาย 1 วันก่อนเรือเลไวอาตันจึงเดินทางถึงเมืองแบร็ตส์ ระหว่างที่โรคกำลังระบาดอย่างหนักในเมืองนิวยอร์ก บอสตัน ฟิลาเดลเฟีย และค่ายทหารหลายแห่ง)
ณ. ทำเนียบขาว
สถานการณ์สงครามขณะนี้เห็นได้ชัดเจนแล้วว่าทางสัมพันธมิตรจะชนะสงครามแน่ๆ
สิ่งที่ต้องทำก็มีเพียงแค่รีบส่งทหารจำนวนมากไปปิดฉาก ขับไล่และยึดดินแดนต่างๆคืน
แต่ก็เห็นชัดเช่นกันว่า โรคไข้หวัดใหญ่หรือไข้หวัดอินฟลูเอนซ่า (Influenza) กำลังระบาดในค่ายทหารใหญ่ๆเกือบทั่วอเมริกา
ประธานาธิบดีวิลสันเรียกที่ปรึกษาใกล้ชิดทั้งด้านการแพทย์และการทหารมาปรึกษา
ประธานาธิบดี Woodrow Wilson
สิ่งที่ประธานาธิบดีวิลสันกำลังพยายามตัดสินใจคือ .... จะส่งทหารอเมริกันจำนวนมากขึ้นเรือไปฝรั่งเศสดีหรือไม่
แน่นอนว่าทางทหารและทางแพทย์ต่างก็มองจากคนละมุม
ฝั่งหมอก็มองว่า การเรียกคนหนุ่มให้มาสมัครเป็นทหารและรวมตัวในค่าย โอกาสเกิดไข้หวัดอินฟลูเอนซ่า ระบาดในค่ายจะสูงมาก สุดท้ายก็อาจจะฝึกทหารไม่ได้เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในค่ายเดเวนส์
ระหว่างส่งตัวเดินทางไปโอกาสที่โรคจะระบาดระหว่างเดินทางก็สูง สุดท้ายจะกลายเป็นว่าถ้าทหารสนับสนุนที่ส่งไปจะป่วยจนรบไม่ค่อยไหว แล้วยังทำให้เกิดโรคระบาดในแนวหน้าซ้ำขึ้นมาอีกรอบ
ส่วนฝ่ายกองทัพก็โน้มน้าวประธานาธิบดีด้วยเหตุผลว่า ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างทหารที่เสียชีวิตจากโรคระบาด กับ ทหารที่จะเสียชีวิตถ้าสงครามยืดเยื้อออกไปอีก เพราะการส่งทหารไปจำนวนมากๆจะยิ่งทำให้สันติภาพคืนกลับมาได้เร็ว
นอกจากนี้ทางกองทัพยังมองว่า สามารถลดความเสี่ยงโรคระบาดได้ด้วยการคัดกรองหลายๆรอบ ตั้งแต่ที่ค่าย ก่อนออกเดินทางมาขึ้นเรือ ก่อนขึ้นเรือก็คัดกรองอีกรอบ
1
อย่างไรก็ตามทางหมอก็แย้งว่า การคัดกรองที่มีใช้กันอยู่ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะลดการระบาดของไข้หวัดอินฟลูเอนซ่าได้ เพราะสุดท้ายจะมีคนป่วยที่ยังไม่มีอาการหรือไม่มีอาการเลยปะปนไปแพร่เชื้อได้อยู่ดี
สุดท้ายประธานาธิบดีวิลสันก็ต้องตัดสินใจ
และเขาตัดสินใจที่จะส่งทหารอเมริกันหลายแสนไปยุโรป
หลังจากที่เขาตัดสินใจไปแล้ว เขาก็มองออกไปนอกหน้าต่างเศร้าๆ แล้วเปรยขึ้นกับนายพล เพย์ตัน มาร์ช (Peyton March)ว่า
“ท่านนายพล คุณเคยได้ยิน กลอนขำๆ อันนี้ไหม
I had a little bird,
It’s name was Enza
I opened up the window and in flew Enza.”

ประธานาธิบดีวิลสันรู้ดีว่า การตัดสินใจของเขาหมายถึงการส่งคนหนุ่มจำนวนมากไปตายด้วยโรคระบาด
แต่ที่เขาไม่รู้คือ การระบาดจะกระจายไปไกลกว่าที่เขาคิดไว้มากนัก .....
21.
11 พฤศจิกายน 1918 วันสงบศึกหรือ Armistice day
สงครามในยุโรปจบลงพร้อมๆกับที่การระบาดของโรคในอเมริกาสงบลง
แต่การระบาดระลอกสองที่เดินทางไปพร้อมกับทหารอเมริกัน เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นในบริเวณอื่นของโลก
ทหารตามสมรภูมิต่างๆเมื่อแยกย้ายกลับประเทศก็นำโรคหวัดติดกลับไประบาดที่บ้านตัวเองกันต่อ
การระบาดระลอกนี้ลามออกไปทั่วทุกทวีปอย่างรวดเร็วเหมือนไฟป่า ตลอดเส้นทางที่ลามไป ไม่ว่าจะผ่านไปที่ไหน ก็จะทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าระลอกแรกมาก
การระบาดในแต่ละประเทศก็มีลักษณะที่แตกต่างกันไปขึ้นกับวิธีการปฏิบัติของประชาชนประเทศนั้นว่าระวังการแพร่ระบาดมากน้อยแค่ไหน
หลังจากที่ไข้หวัดระลอกสองระบาดอยู่นานหลายเดือน โรคก็เริ่มซาลงในเดือนมีนาคม 1919
หลายประเทศ เช่น สเปน อังกฤษ เม็กซิโก มีการระบาดของไข้หวัดเป็นระลอกที่ 3 ซึ่งไม่รุนแรงเท่าระลอก 2 อีกระยะหนึ่งก่อนจะสงบลงอีกครั้งประมาณเดือนมิถุนายน 1919
บางบริเวณของโลก เช่นที่อินเดีย โรคระบาดวนเวียนไปมานานเป็นปีกว่าจะสงบลงในต้นปี 1920
สำหรับตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ไข้หวัด 1918 ทิ้งไว้ให้กับโลกนั้น ยังนับกันไม่ค่อยเสร็จดี
หลังสงครามจบใหม่ๆ มีการประมาณว่าผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดอยู่ที่ 20 ล้านคน
แต่ตัวเลขนี้ค่อยๆเพิ่มขึ้นตามข้อมูลที่ได้มามากขึ้น
ปัจจุบันประมาณกันว่า ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อประมาณ 500 ล้านคนหรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลกขณะนั้น
จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกน่าจะประมาณ 50-100 ล้านคน
ประเทศอินเดียมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือเสียชีวิตไปประมาณ 15 ล้านคน
รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย มีคนเสียชีวิตไปประมาณ 4 ล้านคน
ชาวอเมริกันที่เป็นคนส่งออกไข้หวัดระลอกที่ 2 เสียชีวิตไปประมาณ 675,000 คน
ฝรั่งเศส ประมาณ 400,000 คน ญี่ปุ่นประมาณ 390,000 คน
สำหรับผู้เสียชีวิตในสยามประมาณ 8 หมื่นคน
22.
หลังจากการระบาดในปี 1918
บทเรียนสำคัญข้อหนึ่งที่หมอและนักวิทยาศาสตร์ได้เรียนรู้คือ
ไข้หวัดอินฟลูเอนซ่า ไม่ใช่ “แค่ไข้หวัดธรรมดา” อีกต่อไป
1
อย่างไรก็ตามแม้ว่าในระยะเวลา 100 ปีที่ผ่านมาเราจะมีเทคโนโลยีและความรู้ที่ดีกว่าในปี 1918 มาก
อย่างน้อยๆปัจจุบันเราก็รู้ว่าสาเหตุของโรคไข้หวัดอินฟลูเอนซ่าเกิดจากไวรัสไม่ใช่แบคทีเรีย
เรามีกล้องจุลทรรศน์ที่สามารถจะเห็นไวรัสตัวเป็นๆได้
เราสามารถศึกษาพันธุกรรมของไวรัสได้
เรามียาที่พอจะยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้
เรามีเครื่องช่วยหายใจที่ดีกว่า
แต่เมื่อมาถึงอาวุธหลักที่เราต้องใช้สู้กับไวรัส
วิธี่ที่ดีที่สุดที่เรามีใช้ก็ยังเป็นวิธีเดียวกับที่ มนุษย์เคยใช้สู้กับไข้หวัด 1918
การล้างมือให้สะอาด การทำ social distancing การปิดสถานที่ชุมชน ก็ยังเป็นกลยุทธ์หลักที่เราต้องทำให้ดีที่สุด
และที่สำคัญสุดของการเอาชนะการระบาดของไวรัส คือ
การร่วมมือกันระหว่างมนุษย์ทุกคน
เพราะการต่อสู้ครั้งนี้เราจะชนะคนเดียว ชนะจังหวัดเดียว หรือชนะประเทศเดียวไม่ได้
ถ้ามีคนไหน จังหวัดไหน หรือประเทศไหนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
โรคก็มีโอกาสที่จะกลายพันธุ์และกลับมาระบาดเป็นระลอกที่สองหรือสามได้อีกครั้ง
บทเรียนอีกข้อที่สำคัญที่เราได้เห็นคือ
การต่อสู้กับโรคระบาดนั้น เราจะเผลอหละหลวมไปไม่ได้เลย
ความล่าช้าเพียงแค่ไม่กี่วัน หรือการผ่อนปรนกฎข้อห้ามด้านความปลอดภัยลงบ้าง
อาจจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต่างกันหลายหมื่นหลาย หลายแสนหรือหลายล้านชีวิต
เพราะเรารู้ว่าไวรัสก่อโรคเหล่านี้ยังคงอยู่
และเรารู้ว่าพวกมันยังคงกลับมา
ปี 1957 มีการระบาดของ H2N2
ปี 1968 มีการระบาดของ H3N2
ปี 1997 มีการระบาดของ H5N1
ปี 2009 มีการระบาดที่สร้างความตื่นตัวในวงการวิทยาศาสตร์และวงการแพทย์มากที่สุด เพราะเป็นการกลับมาระบาดของ H1N1 หรือไข้หวัดหมู ซึ่งเป็นไวรัสตัวเดียวกับที่ระบาดในปี 1918
การควบคุมโรคระบาดเหล่านี้ได้ดี ทำให้เราอาจจะหลงคิดไปว่า ไวรัสไม่สามารถกลับมาทำร้ายมนุษย์ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป
แล้ว SARS-CoV-2 ซึ่งก่อให้เกิดโรค Covid-19 ก็เกิดขึ้น
มนุษย์เราจึงพบว่า เราไม่ได้แข็งแกร่งขนาดนั้น
ขนาดท่านชัชชาติยังต้องยอมให้ไวรัส
ในธรรมชาติยังมีไวรัสที่พร้อมจะดุร้าย และพร้อมจะติดมาสู่คนอีกมาก
เราแค่ไม่รู้ว่า ....
จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่เท่านั้น ...
ปล.
สำหรับเนื้อหาในตอนที่ 4 (ถ้าเกิดว่าจะเขียนต่อนะครับ) คงจะโฟกัสไปที่ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นหลัก ดังนั้น คงจะไม่โพสต์ไว้ที่เพจหลงไปในประวัติศาสตร์
แต่จะไปโพสต์ไว้ที่เพจ เรื่องเล่าจากร่างกาย ซึ่งผมจะแยกเขียนหัวข้อด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ไว้ที่นั่น
ท่านใดสนใจก็สามารถไปติดตามที่เพจ เรื่องเล่าจากร่างกายต่อได้
หรือถ้าอยากให้เตือนเวลาผมโพสต์เรื่องใหม่ๆ หรือทำคลิปวีดีโอใหม่ๆ ก็สามารถแอดไลน์ไว้ได้ตามคลิกด้านล่างนี้เลยครับ https://lin.ee/3ZtoH06
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
อ่านจบแล้ว ใครชอบประวัติศาสตร์การแพทย์เช่นนี้ แนะนำอ่านหนังสือ Best seller ของผมเอง “สงครามที่ไม่มีวันชนะ” และล่าสุด “เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ”สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้จากลิงก์ด้านล่างทั้ง 2 ครับ
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์อื่นๆได้ที่
หรือ
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา