26 เม.ย. 2020 เวลา 11:00
ศึกตัดสินบนดินแดนแห่งงาช้าง : 'ดิดิเย่ร์ ดร็อกบา' และ ไฟกองสุดท้ายที่บูอาเก้
ต่อให้คุณร่ำรวย มีเงินทองมากมาย… แต่หากคุณไม่มีผืนแผ่นดินถิ่นเกิดอันสุขสงบให้อยู่อาศัย คุณก็อาจไร้ซึ่งความสุข…
นี่ คือ เรื่องราวของนักฟุตบอลคนหนึ่ง ที่มีบทบาทมากกว่าแค่นักฟุตบอล ความรักที่มีต่อบ้านเกิด ทำให้เขาไม่อาจปล่อยปะละเลย ทำตัวอยู่เหนือปัญหา แต่เขาเลือกทำทุกวิถีทางช่วยให้ไฟสงครามมอดลง เขา คือ ดิดิเย์ ดร็อกบา
เด็กชายดิดิเย่ร์
ปี 1978 ณ กรุงอบิดจาน (Abidjan) เมืองหลวงทางเศรษฐกิจของไอวอรี โคสต์ (เมืองหลวงทางการปกครองของประเทศนี้คือกรุงยามูซูโกร) ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ความรักระหว่างอัลเบิร์ต และ โคลทิลด์ 2 พนักงานธนาคารท้องถิ่น ทำให้ "ดิดิเยร์ อีฟส์ ดร็อกบา เตบิลี่" ลูกชายของพวกเขาได้ลืมตาดูโลก
Photo : Didier Drogba
โคลทิลด์ ตั้งชื่อเล่นให้เขาว่า “ติโต้” ตามอดีตนักปฏิวัติชาวยูโกสลาเวีย (Josip Broz Tito) ในภาษาอิตาเลียน และสแปนิช “ติโต้” แปลว่า “ยักษ์” แม้มีความหมายว่ายักษ์ก็จริง แต่ด้วยความที่ทั้งคู่ ไม่ได้มีรายได้ที่มากนัก ภาพอาหารเต็มโต๊ะ ที่วาดหวังไว้ให้ลูกๆ ได้กินอิ่มท้องจึงเป็นได้แค่จินตนาการ...ดิดิเยร์ กลายเป็นเด็กที่มีภาวะขาดแคลนสารอาหาร
คุณและคุณนายดร็อกบา หวังให้ลูกชายวัย 5 ขวบ ของพวกเขาได้กินดีอิ่มท้อง จึงตัดสินใจส่งไปอยู่ที่ฝรั่งเศส เด็กแอฟริกันจนๆคนหนึ่งกำลังเดินทางครั้งใหญ่ เขานั่งอยู่บนเครื่องบินเพื่อข้ามทวีปไปพบชีวิตใหม่ พร้อมกับป้ายห้อยคอที่พ่อกับแม่เขียนไว้ว่า "ผมชื่อ ดิดิเย่ร์ ดร็อกบา ผมจะมาเจอกับ มิเชล โกบา ที่ปารีส"
มิเชล โกบา คือ พี่ชายของโคลทิลด์ แม่บังเกิดเกล้าของดิดิเยร์ เขาย้ายถิ่นฐานไปเป็นนักฟุตบอลอาชีพที่ฝรั่งเศส ก่อนหน้านี้หลายปี ตอนที่รับดิดิเย่ร์มาเลี้ยงดู เขายังเป็นเพียงนักเตะดาวรุ่งอายุ 22 ปีของสต๊าด เเบรสตัวรส์29 ในลีกรองของแดนน้ำหอม ไม่ใช่นักฟุตบอลอาชีพที่มีเงินทองมากมาย อันที่จริงยุคนั้นเป็นเพียงยุคเริ่มต้นที่ชาวแอฟริกันอพยพไป ค้าแข้งในฝรั่งเศสเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
เด็กชายดิดิเยร์ ในวัย 5 ขวบแลนดิ้งถึงสนามบิน อาศัยอยู่ห้องเช่ารูหนูกับคุณลุงที่ต้องแบกเขาไปสนามฟุตบอลช่วงซ้อมทุกวัน เพราะไม่มีใครอื่นคอยดูแล
"ผมยังจำได้ดี ช่วงแรกที่มาอยู่ฝรั่งเศสไม่มีวันไหนที่ผมไม่ร้องไห้ มันไม่ใช่เพราะว่าผมย้ายมาอาศัยประเทศฝรั่งเศสหรอกนะ เพราะไม่ว่าที่ไหนก็ดูจะยากเสียหมด หากต้องอยู่ห่างไกลกับพ่อและแม่ ผมคิดถึงพวกท่านมากจริงๆ" ดร็อกบา เท้าความถึงความทรงจำในวัยเด็ก
3 ปีผ่านไปในฝรั่งเศส ลุงของเขาที่เป็นแค่นักบอลลีกล่างก็ยอมแพ้ เขาไม่สามารถดูแลหลานได้ดีพอทำให้ ดร็อกบา ในวัย 8 ขวบต้องบินกลับไอวอรี่โคสต์อีกครั้ง เขาไม่รู้หรอกว่าผู้ใหญ่คิดอย่างไร แต่นี่คือสิ่งที่เขาเฝ้ารอมาตลอด 3 ปี… เขาอยากกลับบ้าน ไอวอรี่ โคสต์ คือ บ้านเพียงแห่งเดียวในใจเขา
ความต้องการกับความจริงคนละเรื่อง ดร็อกบา กลับไปอยู่กับพ่อแม่ได้เพียง 3 ปี พออายุครบ 11 ปี เศรษฐกิจของชาติแอฟริกันพากันล้มเป็นแถบๆ เขาหมดทางเลือกต้องถูกส่งกลับมาอยู่กับลุงที่ฝรั่งเศสอีกครั้ง และหนนี้มันนานมากกว่าจะได้กลับไปยังบ้านเกิด เด็กชายดิดิเย่ร์ต้องเข้าโรงเรียนเพื่อหาความรู้ พร้อมกับการเล่นฟุตบอลไปด้วย ไม่สิ่งใดก็สิ่งหนึ่งจะช่วยนำพาให้เขาพบกับความสุขสบาย และกลับไปอยู่กับพ่อแม่ได้โดยไม่เดือดร้อน
Photo : www.rumeursdabidjan.net
ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี ดร็อกบา ได้เล่นฟุตบอลกับทีมเยาวชนท้องถิ่นก่อนขยับระดับขึ้นมาเรื่อยๆถึงการเล่นให้กับทีมมีชื่อเสียงอย่าง เลอ มองส์ และกลายเป็นนักเตะทีมชาติ ไอวอรี่ โคสต์ ในปี 2002
นี่คือขวบปีที่เขารอคอย ดร็อกบา วัย 24 ปี อยากกลับบ้านเกิดมาเล่นต่อหน้าแฟนบอลชาวไอวอรี โคสต์ แบบสุดใจ หลังจากห่างหายมานานกว่า 10 ปี...ภาพจำหนสุดท้าย อบิดจาน (Abidjan) ในอุดมคติของเขา คือ เมืองที่ทุกคนมีแต่รอยยิ้ม ไม่มีปืน ไม่มีระเบิด เหมือนกับชาติแอฟริกันชาติอื่นๆ แต่สิ่งที่เขาได้พบเจอ เมื่อเดือนกันยายนปี 2002 ทำให้เขาแทบใจสลาย…
แดนสนธยา
ปี 2002 คือ ปีแรกที่ดิดิเยร์ ดร็อกบา ได้ติดทีมชาติไอวอรี โคสต์ เขาพร้อมเพื่อนร่วมทีมที่ค้าแข้งในทวีปยุโรปจำเป็นต้องเดินทางกลับไปยังบ้านเกิด เพื่อลงเตะแอฟริกัน เนชั่นส์ คัพ 2004 รอบคัดเลือก กับทีมชาติแอฟริกาใต้ ที่สต๊าด-เฟลิกซ์ อูโฟเอ้ต์-บวญญี่ กรุงอบิดจาน เมื่อต้นเดือนกันยายน…
จริงอยู่ที่ ดร็อกบา อาจเคยได้ยินข่าวคราวถึงบ้านเกิดตัวเองบ้างว่ามีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น แต่เขาไม่คิดว่าการกลับไปในปี 2002 จะเห็นรถถังและกองกำลังติดอาวุธขี่ร่อนกันเต็มถนน และต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือ "การเมือง"
ย้อนไปเมื่อปี 1999 มีการรัฐประหารเกิดขึ้นในผืนแผ่นดินไอวอรี โคสต์ บ้านเมืองเข้าสู่ยุคเผด็จการ แม้ประเทศจะเข้าสู่ยุคผลัดใบหลังจากนั้น เมื่อ โลรองต์ บักโบ ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2000 แต่ก็เต็มไปด้วยความไม่สงบในบ้านเมือง มีการปะทะกันเป็นระยะระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดีบักโบ กับอลาสซาน ออตตารา คู่แข่งสำคัญทางการเมือง ศึกนี้รุนแรงถึงขั้นองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง กองทัพฝรั่งเศส รวมถึงสหประชาชาติ ได้พยายามยื่นมือเข้าช่วยหยุดสงครามกลางเมืองครั้งนี้ด้วย ทว่าก็ไม่เป็นผล ทหารของทั้งสองฝั่งเปิดศึกยิงกันในทุกที่ที่เจอหน้าไม่ว่าจะเป็นบนถนน,โรงเรียน หรือโรงพยาบาล กองกำลังของทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตมากมาย ไม่ต้องพูดถึงเหล่าผู้บริสุทธิ์ที่โดนลูกหลังจากทั้งอาวุธหนักและอาวุธประจำกาย ทุกอย่างล้วนไม่มีทีท่าที่ไฟแค้นจะดับลงได้ง่ายๆ…
“ผมจากไอวอรีโคสต์ไปด้วยภาพที่เลือนราง แต่จำได้ว่ามันเป็นภาพที่สวยงาม ท้องถนนเต็มไปด้วยความรัก มีแต่สีเขียวของต้นไม้ไปทุกหนทุกแห่ง แต่พอผมกลับมาเมื่อไม่กี่ปีก่อน ผมก็ได้เห็นความเป็นจริงที่เปลี่ยนแปลงไป ผมเริ่มตั้งคำถามว่า นี่มันเกิดบ้าอะไรขึ้นเนี่ย?” ดร็อกบา กล่าวถึงสิ่งที่พบเห็นหลังกลับไปบ้านเกิดครั้งแรก เมื่อปี 2002 ภาพที่เห็นคือการเดินเท้าออกนอกประเทศของประชาชนที่ไม่เหลือหนทางให้เลือก หมู่บ้านเล็กๆ หลายหมู่บ้านเริ่มถูกยึดเป็นที่มั่นและแหล่งซ่องสุมกองกำลังต่างๆ
อบิดจาน บ้านเกิดของ ดร็อกบา คือพื้นที่ที่มักจะมีการปะทะกันทั้งสองฝั่ง ทำให้พื้นที่นี้ประสบปัญหาขาดแคลนแทบทุกอย่างไม่ว่าจะข้าวของเครื่องใช้ยารักษาโรค ซึ่งแน่นอนว่านี่คือความเจ็บปวดในใจของดร็อกบา ซ้ำร้ายกว่านั้น คือ หลังจากจบการแข่งขันกับแอฟริกาใต้ได้ไม่กี่วัน กลุ่มทหารที่สูญเสียอำนาจก็ก่อกบฏขึ้น...
ทำในสิ่งที่ทำได้
เหตุการณ์บ้านเมืองยิ่งเลวร้าย มีการปะทะ และสังหารผู้คนหนักขึ้นนับตั้งแต่กลางเดือนกันยายน 2002...แต่ ดิดิเย่ร์ ดร็อกบา ไม่เคยคิดเปลี่ยนอุดมการณ์ที่จะช่วยเหลือพี่-น้องในประเทศ นับตั้งแต่ได้เห็นความยากลำบาก และสงครามระหว่างผู้คนในบ้านเกิดกับตาตัวเอง ทว่าเขายังจำเป็นต้องรอเวลาที่เหมาะสม เขายังไม่มีชื่อเสียง และอิทธิพล ที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรๆ ได้มากพอ…
บนเส้นทางลูกหนัง ดร็อกบา ค่อยๆเก่งขึ้นทุกปี เขาขยับจากทีมเล็กๆอย่าง เลอ มองส์ ไปอยู่กับ แก็งก็อง, และมาร์กเซย จนกระทั่งจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่มาถึงเมื่อเขากลายเป็นนักเตะค่าตัว 24 ล้านปอนด์ย้ายไปที่เชลซี มหาเศรษฐีรายใหม่ในโลกลูกหนัง ภายใต้การคุมทีมของโชเซ่ มูรินโญ่ เมื่อปี 2004 นั่นทำให้เสียงของดร็อกบาบนเวทีการเมืองดังมากขึ้น...แน่นอนว่าเสียงของนักฟุตบอล ซึ่งเป็นกีฬาอันดับ 1 ประเทศ ย่อมน่าเชื่อถือ และน่าฟังมากกว่านักการเมืองเป็นไหนๆ
ทุกอย่างประจวบเหมาะอย่างที่สุด วงการฟุตบอลของ ไอวอรี่โคสต์ เติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างมากในช่วงหลังปี 2000 เป็นต้นมา ศูนย์ฝึก JMG อคาเดมี่ สร้างนักเตะหนุ่มฝีเท้าดีขึ้นมากมาย แม้ JMG จะไม่เคยประสบความสำเร็จกับการสร้างศูนย์ฝึกใน อียิปต์, ไทย และ เวียดนาม แต่ที่ ไอวอรี่ โคสต์ ไม่เหมือนกัน พวกเขามีนักเตะหนุ่มตัวใหญ่ฝีเท้าดี เด็กๆเหล่านี้มีแรงขับอย่างมหาศาลเพื่อหลีกหนีความจนและประเทศที่วุ่นวาย ดังนั้นพวกเขาจะไม่หยุดจนกว่าจะกลายเป็นสุดยอดนักเตะ และมีโอกาสไปเล่นในยุโรปได้ เหตุผลเหล่านี้ทำให้ประเทศ ไอวอรี่ โคสต์ ชื่อที่มีความหมายว่า "เกาะแห่งงาช้าง" ได้สร้างแข้งช้างเผือกขึ้นมาพร้อมกันแบบยกชุด 2 พี่น้องตูเร่ ทั้ง โคโล่ และ ยาย่า, เอ็มมานูเอล เอบูเอ้ และ โซโลมง กาลู รวมถึงอื่นๆอีกมากมาย คือขุมกำลังชั้นดีที่ขึ้นมาเพื่อกลายเป็นกองกำลังในสนามหญ้า ดร็อกบา เชื่อว่าเด็กๆ พวกนี้จะใช้ “ฟุตบอล” เปลี่ยนเเปลงความคิดของกองกำลังในสนามรบได้
จังหวะทุกอย่างลงตัว...ฟุตบอลโลกปี 2006 ที่เยอรมัน กำลังจะมาถึงและเมื่อประเทศแห่งนี้มีฟุตบอลเป็นลมหายใจแต่กลับไม่เคยไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเลยแม้แต่ครั้งเดียว ดังนั้นคำว่าฟุตบอลโลกหนแรกในประวัติศาสตร์คือคำที่ชวนขนลุกตั้งแต่ได้ยินมันออกจากปากของ ดร็อกบา
"ผมรู้ว่าเราสามารถดึงคนจำนวนมากเข้ามาอยู่ด้วยกันได้ แบบที่นักการเมืองทำไม่ได้ ประเทศของเราถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่งอยู่สิบปีเพราะคนพวกนั้น ดังนั้นเราจะลงไปเล่นฟุตบอลในแบบของเรา และจะทำให้ผู้คนทั้งหลายรวมเป็นหนึ่งเดียวกันให้ได้" เขาเป็นคนจุดประเด็น และถึงแม้จะไม่มีใครคิดว่าเป็นไปได้ แต่ทุกอย่างมันได้เริ่มอย่างเป็นรูปเป็นร่างนับตั้งแต่วันนั้น
8 ตุลาคม 2005 เกมนัดสุดท้ายของฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก ไอวอรี โคสต์ บุกไปเอาชนะทีมชาติซูดาน 3-1 ...พวกเขากรุยทางสู่ฟุตบอลโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ได้สำเร็จ คนอื่นอาจจะมองว่านี่คือจุดสูงสุดเเล้วที่เหล่านักเตะไอวอรี่โคสต์จะทำได้ แต่มันแค่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น...
หลังจากจบเกมเหล่าผู้สื่อข่าวต่างเขาไปรอในมิกซ์โซนเพื่อรอฟังสัมภาษณ์หลังเกมของทีมไอวอรี่ โคสต์ สำหรับวันประวัติศาสตร์ของพวกเขา เเต่ไม่มีใครโผล่อยู่หน้ากล้องสักคน นอกจาก ซีริล โดโมโร กัปตันทีมในวันนั้นที่บอกกับสื่อว่า "ขอเชิญทุกท่านมาพบพวกเราที่ห้องแต่งตัว"
ภายใต้ความคาดหวังที่จะได้พาดหัวข่าวเกี่ยวกับเรื่องของฟุตบอล และความสำเร็จในระดับนานาชาติ แต่ทุกอย่างก็พลิกไปคนละด้าน เมื่อทุกคนพร้อมหน้า โดโมโรก็ส่งไมโครโฟนให้กับดร็อกบา หลังจากนั้นสุนทรพจน์ครั้งใหญ่ที่สุดของชาวไอวอรี่โคสต์ก็เริ่มขึ้น
"สภาพบุรุษและสภาพสตรีทั้งหลาย ไม่ว่าทุกคนจะอาศัยอยู่ในเหนือใต้ออกตก ตอนนี้เราทำได้แล้ว วันนี้เราคือชาวไอวอเรี่ยนเหมือนกันทั้งหมด เราได้เข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย เราขอถือสัตย์และสัญญาว่าฟุตบอลโลกครั้งนี้จะเป็นการเฉลิมฉลองของพวกเราทุกคน" ดร็อกบา ผู้อยู่หน้าสุดกล่าวด้วยสีหน้าเคร่งขรึม
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ไม่มีการดีใจแบบสุดเหวี่ยง เทแชมเปญดื่มไวน์เหมือนกับแชมป์ฟุตบอลที่ไหน นี่คือสารที่เขาตั้งใจส่งถึงชาวไอวอรี่ โคสต์ ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายใดหรืออาศัยอยู่จุดไหนของประเทศก็ตาม
"วันนี้เราขออ้อนวอนพวกคุณสักหนึ่งเรื่อง เรายอมคุกเข่าเพื่อขอสิ่งนี้ ... ให้อภัยกันเถอะ ยกโทษให้กันนะ ได้โปรด" คำพูดที่ทรงพลังของชายผู้ชื่อดร็อกบายังคงดำเนินต่อไป
"เราคือหนึ่งในประเทศที่มั่งคั่ง ถ้าไม่มีการรบราฆ่าฟัน ดังนั้นเราอยากให้ทุกคนวางอาวุธลง รอการเลือกตั้ง และจัดระเบียบทุกสิ่งเสียใหม่ เพื่อหวังว่าจะได้เห็นทุกสิ่งที่ดีขึ้นกว่าที่เคย"
จบประโยคนี้เหล่านักเตะไอวอรี่โคสต์เริ่มยิ้มและร้องเพลงชาติพร้อมกันสนั่นห้องแต่ตัว ก่อนจะเปิดท้ายด้วยบทเพลงพิเศษ "We want to have fun, so stop firing your guns" (มาสนุกกันดีกว่า หยุดยิงกันเสียที)
ณ วินาทีดังกล่าว แม้จะไม่ใช่นายกรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดี แต่เสียงของ ดร็อกบา ดังก้องไปไกลทั่วแผ่นดินไอวอรี่โคสต์ เส้นทางการหยุดสงครามไม่ง่าย แต่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกเเล้วในเวลานี้ เขารับบทเป็นตัวแทนของประชาชนที่สามารถเข้าถึง และพูดจาไกล่เกลี่ยกับกลุ่มความขัดเเย้งทั้งสองฝั่งได้
"เกาะแห่งงาช้างของเรากำลังจะกลับมาเกิดใหม่อีกครั้งผมรู้สึกแบบนั้น" ดร็อกบา เห็นถึงเเรงกระเพื่อมครั้งใหญ่หลังจากเข้าพบผู้นำทั้งสองฝั่ง การใช้เวลาสำหรับการเจรจาเพื่อหาจุดที่ลงตัวในเรื่องใหญ่แบบนี้กินระยะเวลามานานกว่า 3 ปี จนที่สุดเเล้ววันแห่งเสรีภาพก็กลับมาอีกครั้ง
เหตุการณ์วันนั้นที่ บูอาเก้
จุดสูงสุดของการค้าแข้งสำหรับดร็อกบาอาจเกิดขึ้นในปี 2012 ที่เขาพา เชลซี คว้าแชมป์ยุโรปได้ ทว่าจุดสูงสุดในฐานะพลเมืองชาวไอวอรี่โคสต์ เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น…
เกมแอฟริกัน เนชั่นส์ คัพ ปี 2008 กำลังใกล้เข้ามา ดร็อกบารู้ว่าถึงเวลาอันสมควรเเล้วสำหรับสิ่งที่เขาพยายามมาตลอดหลายปี จะต้องเกิดขึ้นจริงเสียที และมันเริ่มขึ้นในเกมรอบคัดเลือกกับ มาดาร์กัสการ์ ในวันที่ 3 มิถุนายน 2007 ซึ่งแม้นี่จะเป็นนัดที่ 3 ของทีม แต่มันเป็นนัดสุดท้ายที่พวกเขาจะได้เล่นในบ้าน
ปกติเเล้วหากทีมชาติไอวอรี่ โคสต์ ลงเล่นเกมระดับชาตินั้นพวกเขาจะต้องเเข่งที่กรุงอบิดจาน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของรัฐบาล แต่หนนี้ดร็อกบา ไปขอเจรจากับ สมาพันธ์ฟุตบอลแอฟริกา ให้เลือกสถานที่ที่แปลกใหม่ และไกลออกไปทางตอนเหนือร่วม 300 กิโลเมตร ที่แห่งนี้คือเมืองบูอาเก้ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มกบฎเก่า ใช่เเล้วนี่คือครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่ไฟเข้าใกล้กับน้ำมันมากที่สุด
ดร็อกบา ไม่หยุดแค่นี้ เขารับหน้าเสื่อเจรจาให้นายบักโบ มาในถิ่นของศัตรูคู่อาฆาตที่หมายจะเอาชีวิตของเขามาตลอด และก็เป็น ดร็อกบา อีกเช่นเดียวกันที่เจรจากับกลุ่มกบฎของนายอ็อตตาร่า เพื่อรองรับความปลอดภัยครั้งนี้
เมื่อถึงวันแข่งขันในสภาพสนามที่เก่าและดูล้าสมัย ผู้นำทั้งสองฝั่งเดินทางมาพบกันเป็นครั้งแรก ณ สังเวียน บูอาเก้ สเตเดี้ยม ทุกสายตากว่า 25,000 คู่ของคนดูที่เต็มความจุจับจ้องไปที่การจับมือของคน 2 คน ที่เป็นต้นเหตุของการเสียเลือดเสียเนื้อ และความแตกแยก หลายคนลุ้นอย่างหวาดกลัวว่าจะมีอะไรที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นหรือไม่...แต่ดร็อกบา ยืนมองภาพนั้นอย่างภาคภูมิใจ และมั่นใจว่าความพยายามของเขามาถึงจุดบรรลุเป็นที่เรียบร้อยเเล้ว
"การได้เห็นผู้นำทั้งสองฝั่งเคียงข้างและจับมือกันพร้อมกับร้องเพลงชาติถือเป็นเรื่องที่พิเศษมาก ไอวอรี่ โคสต์ ได้ตื่นขึ้นจากเรื่องร้ายๆเเล้ว" ดร็อกบา ตอบกับ เดอะ เทเลกราฟ สื่อดังจากอังกฤษ ที่เดินทางมาสัมภาษณ์เขาถึงกรุงอบิดจานถึงเหตุการณ์ในวันนั้น
เมื่อถูกถามว่า ที่เขาทำเช่นนี้เพราะมีใครหนุนหลังหรือไม่? ดร็อกบา ยิ้มเเล้วตอบว่า "ชาวแอฟริกันทุกคนไง ที่อยู่ข้างหลังผม และเหนือสิ่งอื่นใด ผมคือหนึ่งเดียวกับพวกเขาด้วย"
สิ้นสุดเสียงเพลงชาติที่ทุกคนส่งเสียงร้องพร้อมกัน มีเเต่เสียงเฮสนั่นสนาม นี่คือการยืนยันว่าสงครามที่สร้างความเจ็บปวดอันยาวนานได้ถึงคราวสิ้นสุดลงเเล้ว จากนี้ไปท่านผู้ชมทั้งหลายจะได้รับสิ่งที่เหล่านักเตะไอวอรี่โคสต์ให้สัญญานั่นคือ "เราจะทำให้ทุกคนได้เฉลิมฉลองกัน"
ไอวอรี่ โคสต์ เดินหน้าถล่ม มาดาร์กัสการ์ ถึง 5-0 ทันทีที่เสียงนกหวีดจบเกมเหล่าแฟนบอลเก็บความสุขไว้กับตัวไม่ไหว พวกเขาสร้างความโกลาหลด้วยการกรูกันลงไปในสนามแบบที่การ์ดสนามกว่า 1,000 คนก็ห้ามไม่อยู่ นี่คือการก่อเหตุจลาจลที่มีต้นเหตุจากความปิติยินดี
ทุกอย่างเหมือนกับภาพยนตร์ที่จบด้วยความสุขหลังลำบากสู้กับความโหดร้ายมานาน กองไฟกองใหญ่ลุกโชนขึ้นอีกครั้ง แต่ไม่ใช่การเผาล้างโคตรหรือทำลายใคร นี่คือช่วงเวลาประชุมเพลิงของปืนนับร้อยกระบอกของเหล่าทหารของฝั่งแตกแยกทั้งสองฝั่ง ที่พร้อมใจกันโยนใส่ลงไปในกองไฟราวกับว่าความร้อนได้หลอมรวมปืนทั้งหลายให้เป็นก้อนเหล็กที่แข็งแกร่งเพียงกระบอกเดียว และในที่สุดเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน สงครามทุกอย่างในประเทศก็สงบลงอย่างเป็นทางการ ทั้งฝ่ายรัฐบาล และกบฏต่างล่าถอยจากเส้นพรมแดน ไอวอรี โคสต์ รวมกันเป็นหนึ่งอีกครั้ง
ดร็อกบา ผู้เติบโตมาจากกรุง อบิดจาน เล่าว่าเขาสามารถอยู่ได้แม้ตัวเองจะจนและไม่มีเงิน เขาสามารถสละทรัพย์สินทั้งหมดที่ตัวเองหามาได้เพื่อกลับมาใช้ชีวิตสมถะในบ้านเกิดได้อย่างแน่นอน หลังจากภาพอันแสนประทับใจอย่างวันนั้นเกิดขึ้น
แม้โลกจะหมุนไปรอบตัวเขาแต่ ไอวอรี่ โคสต์ คือแผ่นดินเดียวที่เขาทุ่มเททั้งชีวิตให้โดยไร้ข้อโต้แย้ง
โรงพยาบาล,โรงเรียน และ มูลนิธิต่างๆในชื่อของ ดร็อกบา กำเนิดขึ้นมากมาย ว่ากันว่าเขาเสียเงินให้กับการกุศลในประเทศมากกว่า 1,000 ล้านบาท นี่คือตัวเลขที่ชวนให้ตาโต เท่าที่นักฟุตบอลคนหนึ่งจะทำได้ แต่สำหรับเขาแล้วตัวเลขไม่ใช่สิ่งที่น่าประหลาดใจและเปลี่ยนอะไรได้ แต่ความรู้ต่างหากที่จะสามารถสร้างชาติให้มีประสิทธิภาพได้ด้วยการศึกษาของประชนชนในประเทศ
"เงินทองจะมาหลังจากที่คุณได้รับการศึกษา และเมื่อนั้นเองคุณจะได้เป็นคนเต็มคน"
"ผมคว้าแชมป์มากมายในช่วงเวลาที่ค้าแข้ง แต่ไม่มีถ้วยรางวัลไหนเลยที่ช่วยให้ประเทศของผมสงบสุขได้ .... แต่ผมภูมิใจกับทีมชาติไอวอรี่ โคสต์ ทำให้บ้านเมืองกลับมาเกิดใหม่อีกครั้งโดยไม่จำเป็นต้องมีถ้วยแชมป์เลยแม้แต่รายการเดียว"
"ไม่มีคำพูดใดแทนความรู้สึกนี้ได้ ... ผมขอเรียกมันว่าความรักก็เเล้วกัน" เขากล่าวทิ้งท้าย
บทความโดย เจษฎา บุญประสม
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา