26 เม.ย. 2020 เวลา 12:01 • สุขภาพ
Learning Visual Diary #58 : คำถามสำคัญแห่งศตวรรษกับโลกหลัง Covid-19
สวัสดีครับทุกท่าน ผ่านไปอีกสัปดาห์ในวิกฤตการณ์ Covid-19 ครับ เวลาผ่านไปความรู้สึกต่อเหตุการณ์ของเราก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตอนนี้หลายๆคนอาจจะเริ่มไม่ค่อยสนุกกับการซื้อของ online แล้ว หลายคนเริ่มนึกถึงชีวิตปกติหลังการ lockdown (ซึ่งจะมีหรือไม่?) หลายคนเริ่มจินตนาการโลกหลัง Covid-19 อะไรคือ New Normal วันนี้ผมเลยอยากจะมาชวนทุกท่านมาคุยกันกับโลกหลัง Covid-19 แต่ไม่ใข่มุมมองของผมแต่เป็นมุมมองจากคุณ Yuval Noah Harari ลองตามมาดูกันครับ
คือมันอย่างนี้ครับ...
อย่างที่บอกตอนแรกว่าบทความวันนี้ ผมขอเอามุมมองของคุณ Yuval ที่ท่านเขียนไว้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคมครับ ถึงจะไม่ update มาก แต่บทความนี้ก็ควรค่าต่อการอ่านและการกล่าวถึง ด้วยข้อคิดที่คมคายและความเห็นอย่างลุ่มลึก สำหรับท่านที่ไม่คุ้นกับชื่อคุณ Yuvak Noah Harari ยังไงก็คงต้องเคยได้ยินชื่อหนังสือ Sapiens แน่ๆ สมเป็นบทวิพากษ์จากนักเขียนแห่งทศวรรษที่เขียนถึงเหตุการณ์และศตวรรษจริงๆครับ บทความนี้ผมพยายามสะท้อนความคิดของบทความในมุมมองผม แต่ขณะเดียวกันก็จะลดการแต่งเติมความคิดให้น้อยที่สุด เพื่อการเสพเนื้อหาอย่างมีอรรถรสครับ ลองติดตามดูนะครับ
ทางแยกของมนุษยชาติ
“This storm will pass. But the choices we make now could change our lives for years to come” Yuval Noah Harari, March 2020
จาก quote ข้างต้นของคุณ Yuval เอง คงปฏิเสธไม่ได้ว่า Covid-19 วิกฤตของคนทั้งโลกที่ยิ่งใหญ่และจะถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์แน่นอน แต่วิกฤตนี้มันจะผ่านไปและมนุษยชาติก็ยังคงอยู่ แต่เศษซากของวิกฤตครั้งนี้จะยังหลงเหลือในพฤติกรรมของเรา เหตุการณ์นี้ไม่ได้กระทบแค่ประเด็นสาธารณสุข แต่กระทบถึงวิถีชีวิต เศรษฐกิจ จนถึงค่านิยม และอาจกนะทบถึงความเชื่อในที่สุด จากวิกฤต ประเทศต่างๆก็มีการออกมาตรการระยะสั้น เมื่อสถานการณ์มันนานขึ้นมาตรการระยะสั้นเริ่มพัฒนาเป็นระยะกลางและกระทบความเป็นอยู่ของทุกๆคน และมาตรการเหล่านี้จะพัฒนาต่อไปเป็นค่านิยมและความเชื่อ ทุกคนซื้อของ online ได้แล้ว เราอาจจะเรียนผ่านหน้าจอได้ตั้งแต่เด็ก แล้วเรายังต้องการโรงเรียนรึป่าว เรายอมรับการตรวจวัดสุขภาพอย่างแพร่หลายและไม่ได้สมัครใจได้ สิ่งเหล่านี้คือ จุดเริ่มต้นของคำถามที่ใหญ่และสำคัญยิ่ง
คุณ Yuval ตั้งคำถามถึงทางแยกทางความคิดที่อยู่คนละปลายทางระหว่างความปกติปัจจุบันกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่
1. เราจะเลือกอะไรระหว่างการตรวจตราอย่างเข้มงวดแบบเผด็จการอำนาจนิยน กับ การให้อำนาจอยู่กับผู้คนแบบประขาธิปไตย
2. เราจะเลือกอะไรระหว่างการแยกตัวแบบชาตินิยม กับ โลกาภิวัตน์
สองคำถามนี้ เป็นคำถามที่ไม่จำเป็นต้องถามเลยในช่วงเวลาปกติ จริงใหมครับ แต่ในเวลาแบบนี้ที่ไม่ปกติ เราเห็นบริบทของการจัดการสถานการณ์ของแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกันและก็ให้ผลแตกต่างกันจริงๆ ผมคิดว่าบทความนี้ไม่มีคำตอบของสองคำถามนี้ แต่จะให้ส่วนประกอบความคิดกับคุณ เพื่อให้เราทุกคนได้พิจารณาคำถามในฐานะสมาชิกของสังคมมวลรวมทั้งหมดครับ
การเดินทางจาก การตรวจตราใต้ผิวหนัง ขนมหวานในยามฉุกเฉิน จนถึงตำรวจสบู่!?
อ่านหัวข้อแล้วอาจจะงงนิดนึงว่าพูเรื่องอะไรนะครับคำแต่ละคำในหัวข้อเป็นการเปรียบเปรบของคุณ Yuval ที่พูดถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เราเริ่มยอมรับการตรวจสอบมากขึ้น จากเดิมที่เราเคยมีประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล เพียงแค่เราเข้าไปดู content ใน website แล้วทราบว่ามีคนคอยจับตามองอยู่ก็กลายเป็นประเด็นใหญ่โต แต่ตอนนี้การตรวจสอบหรือการจับตา มันไปไกลกว่านั้นมาก จากสถานการณ์ตอนนี้เราต้องยอมให้ส่วนกลางหรือรัฐบาลเข้ามาตรวจสอบใต้ผิวหนังของเรา ในเกาหลีใต้เราเห็นการแชร์ข้อมูลสุขภาพเพื่อสร้าง Application ในการจัดการผู้ติดเชื้อและหา footprint หรือที่คุณ Yuval ได้ยกตัวอย่างในอิสราเอล ที่รัฐบาลอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ติดตามที่ปกติใช้ในการทหารหรือต่อต้านการก่อการร้าย กับการตรวจตราความเคลื่อนไหวของผู้ป่วย Covid-19 ถึงตอนนี้เราทราบอย่างไม่มีข้อกังขาว่าเทคโนโลยีปัจจุบัน สามารถจัดการเรื่องพวกนี้ได้จริงๆ ขาดแต่ความยอมรับที่มีต่อการตรวจสอบ และตอนนี้เราก็เริ่มยอมรับมันแล้ว
ขนมหวานในยามฉุกเฉิน (Emergency Pudding)
หลายท่านคงมองว่าการตรวจสอบที่พูดถึงนี้ มันเป็นแค่ปรากฎการณ์ชั่วคราวเท่านั้น แต่มันก็ไม่แน่เหมือนกัน ด้วยเหตุผลสองประการ
ข้อแรก Covid-19 อาจจะไม่ได้หายไปโดยสมบูรณ์ เราอาจจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับการป้องกันโรคระบาดในระยะยาว นั่นหมายความว่าเรายังต้อง trade ความเป็นส่วนตัวกับสุขภาพต่อไป
ข้อสอง นโยบายรัฐหรือบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องหลายแห่งเองก็อาจจะอยากดำเนินการตรวจสอบต่อไป โดยอ้างเหตุผลด้านความปลอดภัย เพราะจริงๆการตรวจตราระดับนี้สามารถมอบอำนาจในการควบคุมตรวจสอบระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนได้ ลองจินตนาการว่าเมื่อรัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลชีพจร การเต้นหัวใจ หรือความดันโลหิตได้ สิ่งที่คนตรวจสอบรู้อาจไม่ใช่แค่สุขภาพ แต่เป็นอารมณ์ภายในของเรา
อารมณ์ดีใจ เสียใจ โกรธ หรือแม้แต่ความรัก ก็เป็นเพียงกระบวนการทางเคมีที่เกิดในร่างกาย ดังนั้น มันไม่ต่างกับการตรวจหาไข้หวัด ขณะที่คุณกำลังอ่านบทความหรือดูทีวี คุณอาจจะกำลังโดน track ความรู้สึกอยู่ก็ได้ จากก่อนหน้านี้รัฐหรือบริษัทอาจจะรู้แค่ personality จากรายการที่คุณดู แต่ตอนนี้เขาจะรู้ trigger ที่ทำให้คุณหัวเราะ ร้องไห้ หรือโกรธ รัฐอาจจะรู้จักคุณมากกว่าที่คุณรู้จักตัวเองเสียอีก ตัวอย่างที่คุณ Yuval ยกมา เช่น ในปี 2030 เกาหลีเหนือ อาจให้ประชาชนทุกคนใส่กำไลตรวจสอบ และเมื่อผู้นำกล่าวสุนทรพจน์ ประชาชนที่รู้สึกโกรธจะถูกจับได้และอาจจบชีวิตลง! อาจเป็นตัวอย่างที่ extreme แต่ก็น่าคิดครับ
และนี่คือ สิ่งที่คุณ Yuval เปรียบว่ามันคือ Emergency Pudding คือ การตรวจสอบระดับนี้มันเหมือนสิ่งที่ทำขึ้นมายามฉุกเฉินแล้วดันอร่อย (เปรียบเป็นพุดดิ้ง) เลยทำให้รัฐที่มีความทะเยอทะยานก็อยากจะทำต่อนั่นเอง (ลึกซึ้งเนอะ)
ตำรวจสบู่ (Soap Police)
หนึ่งในสิ่งประดิษฐ์เพื่อสุขภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ คือ สบู่ ลองคิดภาพว่าถ้าเราไม่มีสบู่จะมีมนุษย์อีกจำนวนเท่าไรที่ต้องตาย แล้วเรื่องสบู่มันเกี่ยวอะไรกับ Covid-19 นอกจากการรณรงค์ให้ล้างมือบ่อยๆ มันเริ่มจากคำถามว่า จริงๆเราต้องเลือกระหว่าง สุขภาพกับความเป็นส่วนตัวจริงหรือไม่ ทั้งสองเรื่องควรจะเป็นสิ่งพื้นฐานที่มนุษย์พึงจะมีใช่หรือไม่ ผมเชื่อว่าคำตอบในใจพวกเราน่าจะเป็น ใช่
แล้วเรามีทางเลือกอะไรอีก คำตอบ คือ ความไว้วางใจ จะเห็นว่าประเทศที่จัดการ Covid-19 ได้ดี เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน นอกจากจะมี tech ที่ใช้ในการตรวจตราที่ดีแล้ว แต่เรื่องที่เป็นอาวุธสำคัญก็คือ การสื่อสารที่ชัดเจนและไม่ปิดบัง เมื่อคนไว้วางใจภาครัฐ ประชาชนก็จะทำในสิ่งที่ถูก ไม่ต้องคิดว่าสิ่งที่รัฐบอกมันใช่ไม่ใช่ แล้วระยะยาวก็จะเป็นการสร้าง Self motivation mindset ให้กับผู้คน
ฟังดูอาจจะคิดว่าเป็นไปได้หรือ แต่ถ้าเรากลับไปคิดเรื่องสบู่อีกที ไม่มีรัฐใหนที่มีกฎหมายบังคับให้คนล้างมือเพราะจะทำให้แพร่เชื้อใช่ใหมครับ (ไม่ได้หมายถึง Covid-19 แต่หมายถึงเชื้ออะไรก็ได้นะครับ) ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เพราะการล้างมือด้วยสบู่มันเป็นความจริงที่เราเชื่อว่าฆ่าเชื้อโรคได้ เราไม่กังขาในความจริงนี้แล้ว เราจึงทำ และเมื่อเราไว้ใจแล้วกฎเกณฑ์ต่างๆอาจไม่จำเป็นหรือจำเป็นน้อยลงครับ คุณ Yuval ยังเสนอว่า เขายินดีสนับสนุนให้มีการตรวจตราใต้ผิวหนัง แต่ต้องไม่ใช่เพื่อการใช้ข้อมูลในการสร้างอิทธิพลด้านข้อมูลของรัฐบาลที่กระหายอำนาจ และไม่ใช่แค่ track ประชาชน ในทางกลับกันประชาชนควรทราบข้อมูลอย่างเปิดเผยว่ารัฐกำลังใช้ข้อมูลทำอะไร
ชาตินิยม หรือ โลกาภิวัตน์
จากวิกฤตครั้งนี้ ทำให้เรามีคำถามกับโลกาภิวัตน์พอสมควร ภาคการผลิตที่ใช้ Global Production ก็อาจจะคิดถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้น Social Distancing ก็เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่า คือ วิกฤตครั้งนี้จะแก้ได้ง่ายขึ้นถ้าเรามี ความร่วมมือกันระดับโลกาภิวัตน์ (Global Co-operation) อยากให้คิดอย่างนี้ครับ การสู้กับ Covid-19 เป็นการต่อสู้กันระหว่างไวรัสกับมนุษย์ และความได้เปรียบของเราคือ เราสามารถสื่อสารและแชร์ข้อมูลข่าวสารกันได้ สูตรยาที่คิดได้ที่จีน ควรจะไปใช้ช่วยคนป่วยที่ US ได้ใชช่วงเย็นวันเดียวกัน UK ที่เจอการระบาด ควรจะสามารถขอคำปรึกษาจากเกาหลีใต้ที่เจอรูปแบบการระบาดเหมือนกัน
โลกควรมีความร่วมมือร่วมกันในการแบ่งปันทรัพยากรด้านการแพทย์และความรู้ เพื่อต่อสู้กับ Coronavirus ไม่ใช่ปิดกั้นเพื่อสร้างความได้เปรียบของประเทศตัวเอง เราควรมีการส่งเสริมธุรกิจการบินซึ่งตอนนี้ตายไปแล้ว ผ่านการส่งบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านมาตรฐานการตรวจสุขภาพให้ไปที่ใหนก็ได้ในโลกเพื่อช่วยเหลือกัน หรือแม้กระทั้ง นักข่าว นักธุรกิจ ที่จำเป็นต้องเดินทาง ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อ เรามีข้อตกลงเรื่องมาตรฐานสาธารณสุขที่ตรงกัน แชร์กัน เพื่อให้เกิดการยอมรับ ตอนนี้โลกกำลังต้องการ Global Plan และผู้นำ เราทุกคนต้องเลือกทางเลือกให้เราและโลก ความร่วมมืออาจจะทำให้เราก้าวข้ามและไปข้างหน้าจนกลายเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ก็ได้ แต่ถ้าไม่มีความร่วมมือ เราอาจจะพบกับปัญหาที่รุนแรงและหยั่งรากลึกยิ่งกว่านี้
ผมคิดว่า เราทุกคนในฐานะปัจเจกบุคคล คงต้องคิดถึงบริบทในชีวิตของเราให้ดีด้วยครับ บทความวันนี้อาจจะดูภาพกว้างมากๆ แต่ผมอยากจะให้เราลองปรับเข็มทิศในหัวเรา เพราะจูนหาสิ่งที่ควรจะเป็นจริงๆสำหรับเราและลูกหลานของเราในอนาคต เราทุกคนมีสิทธิเลือกมีสิทธิเปลี่ยนแปลง การไม่เลือกก็เป็นทางเลือกอย่างหนึ่ง และน่าจะเป็นทางเลือกที่ต้นทุนสูงมาก ณ ขณะนี้ครับ
Happy Learning
ขอบคุณครับ
ชัชฤทธิ์
P.S. เผื่อท่านใดสนใจอ่านบทความฉบับจริง ผมวาง link ไว่ให้ด้านล่างครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา