26 เม.ย. 2020 เวลา 15:45 • การศึกษา
ทักษิณประเทศ คนของลุ่มทะเลสาบ - โนราพุ่มเทวา
ทางสายวัฒนธรรม, ผู้เขียน: สถาพร ศรีสัจจัง
เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๑
วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๕
ขุนอุปถัมภ์นรากร (พุ่มเทวา)
มีเพลงกล่อมเด็ก หรือ “เพลงชาน้อง-ร้องเรือ” ของชาวทักษิณประเทศอยู่บทหนึ่ง เนื้อหาหลักพูดถึงศิลปินพื้นบ้านแขนง “โนรา” (ซึ่งเป็นนาฎลักษณ์พื้นบ้านของภาคใต้ที่สำคัญที่สุดตั้งแต่ยุคโบราณกระทั่งปัจจุบัน) คนหนึ่ง เนื้อเพลงอาจจะมีอนุภาคผิดเพี้ยนไปบ้างตามแต่ละท้องถิ่น แต่มีเนื้อหาหลักตรงกัน
สถาพร ศรีสัจจัง, ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.๒๕๔๘
นั่นคือ พูดถงความยิ่งใหญ่ ความประทับใจ ความเลอเลิศ ฯลฯ ของโนราท่านนี้
เลอเลิศถึงขนาดระบุว่า ทุกถิ่นที่โนราคนนี้ไปรำ ถึงกับทำให้หญิงสาวของถิ่นนั้น ๆ เกิดปัญหา “กินไม่ได้ นอนไม่หลับ” หลังจากโนราคนนั้นกลับไปแล้ว!
ที่กินไม่ได้นอนไม่หลับก็เพราะท่ารำอันงดงามเกินบรรยาย เป็นสุดยอดโนรา หรือเป็น “โนราในโนรา” และรวมไปถึงหน้าตาที่ “สวย” (หล่อ) คมเข้มยิ่งนักเมื่อยามสวมใส่ชุดโนราและเทริด “บนศีรษะ” (ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องทรงของกษัตริย์ยุคโบราณ) ของโนราคนนั้น ที่ยังคงประทับอยู่ในหัวใจและความทรงจำของสาว ๆ ผู้ได้ดูได้ชมการรำอย่างไม่รู้เลือน
“เทียมไอ้พุ่มเข่ามารำ / ทำกรรมให้นางสาวน้อย” เนื้อเพลงท่อนหนึ่งว่าอย่างนั้น!
คำ “ไอ้พุ่ม” ในเนื้อเพลงร้องเรือดังกล่าวหมายถึง “โนราพุ่ม เทวา”!
ทำไมจึงต้อง “เทวา”? เทวา คืออะไร?
ขุนอุปถัมภ์นรากร (พุ่มเทวา), ที่มา : ลักษณะไทย เล่มที่ ๓
คำ “เทวา” คือสร้อยค่ำ หรือ “ฉายา” ที่ผู้ชมตั้งให้กับ “โนราพุ่ม” ที่มีชื่อจริงว่า นายพุ่ม ช่วยพูลเงิน (เสียชีวิตแล้ว) เกิดที่บ้านเกาะม่วง ตำบลควนมะพร้าว อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป็นผู้ที่ศิลปินชั้นหลังมีมติเห็นชอบแบบไม่มีข้อขัดแย้งว่า เป็น “สุดยอดแห่งครูโนรา” มีลูกศิษย์ลูกหาสืบสายย่านต่อมาอีกมากมาย ถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนอย่างสำคัญในฐานะ “ครูต้น” คนหนึ่งที่ทำให้โนราได้รับการส่งต่อสืบทอดมาจนปัจจุบัน
โนราพุ่ม เป็นบุตรของนายเงิน-นางชม กำพร้าบิดาตั้งแต่ ๗ ขวบ สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ บอกว่า ศึกษาหนังสือพออ่านออกเขียนได้ พระครูกาเดิม (หนู) วัดวิหารเบิก ตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง จากนั้นได้เข้าฝึกรำโนรากับโนราชุม บ้านป่าพยอม อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป็นเวลา ๒ ปี แล้วไปศึกษาท่ารำกับโนราไข่โก บ้านไม้เสียบ ตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช อีก ๖ ปี
จากนั้นจึงออกรำแบบเดินโรงทั่วไป จนเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นเรื่อยๆ เพราะรำได้งดงามชดช้อยเป็นที่ประทับใจ จนมีคำเล่าลือไปต่าง ๆ นานา เมื่ออายุได้ ๒๑ ปีที่ชาวลุ่มทะเลสาบสงขลาถือว่าเป็นวาระ “ครบบวช” จึงได้ทำการอุปสมบทที่วัดพิกุลทอง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เมื่อลาสิกขาแล้วก็ออกแสดงโนราไปทั่วทุกจังหวัดในภาคใต้ ตลอดไปจนถึงประเทศมาเลเซีย(ปัจจุบัน)
การที่ยามร่ายรำโนราอยู่บนโรง มีความสง่างามอ่อนช้อยสวยงาม ทำให้ชาวบ้านผู้ชมเห็นว่า “มีท่าที่สวยงาม เหมือนเทวา”
ขุนอุปถัมภ์นรากร (พุ่มเทวา), ที่มา : ลักษณะไทย เล่มที่ ๓
คำ “เทวา” ของชาวภาคใต้หมายถึง “เทวดา” ดังนั้น ถ้าจะสรุปเป็นภาษาของวัยรุ่นร่วมสมัยปัจจุบันก็จะออกมาได้ทำนองว่า โนราพุ่มท่านนี้ “เป็นโนราที่รำได้สวยงามขั้นเทพ” นั่นเอง
โดยที่โด่งดังมีชื่อเสียงลือลั่น จึงมีผู้มาสมัครเป็นศิษย์รฝึกรำโนราเป็นจำนวนมาก ที่มีชื่อเสียงในภาคหลัง เช่น โนรายก เลน้อย (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงโนรา) โนรากลับ เขาปู่ โนราพลัด ทุ่งสง โนราหีด บุญหนูกลับ (มีผู้เล่าว่าหลังโนราพุ่ม เทวา เลิกแสดงโนราเมื่ออายุ ๒๘ ปี หลังได้แต่งงานกับนางแหม้ว ชาวบ้านนาขยาด อำเภอควนขนุน โนราหีดนี้เองที่เป็น “โนราใหญ่” เดินโรงรำในนามของโนราพุ่ม เทวา
โนราหีดผู้นี้เป็นคุณตาแท้ๆ ของนักเขียน “ซีไรต์” ลูกลุ่มทะเลสาบคนสำคัญที่เสียชีวิตแล้ว คือ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ และเจน สงสมพันธุ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน) นอกจากโนราหีด บุญหนูกลับ แล้ว ยังมีโนราสำคัญ ๆ อีกเช่น โนรากลิ่น บ้านตากแดด และโนราชาติ ไว้ให้เป็นที่ประจักษ์
เกียรติประวัติและผลงาน (โดยเฉพาะที่เป็นคุณูปการต่อศิลปะโนรา) ของโนราพุ่ม เทวา หรือขุนอุปถัมภ์นรากร มีมากมาย เช่น เป็นโนราที่ได้รำถวายเบื้องพระพักตร์กษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงเป็นจำนวนมาก เช่น รัชกาลที่ ๖ และรัชกาลปัจจุบัน (๒ ครั้ง)
ขุนอุปถัมภ์นรากร (พุ่มเทวา), ที่มา : ลักษณะไทย เล่มที่ ๓
รำถวายกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นต้น
อนึ่ง ในปี พ.ศ.๒๕๒๖ สภาการฝึกหัดครูได้มีมติมอบปริญญาครุศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้แก่ โนราพุ่ม เทวา และท่านถึงแก่กรรมอย่างสงบด้วยโรคชรา ใน พ.ศ.๒๕๒๖ รวมสิริอายุ ๙๒ ปี เป็นศิลปินพื้นถิ่นที่สำคัญ และยิ่งใหญ่ที่สุดอีกคนหนึ่งที่ชาวลุ่มทะเลสาบสงขลาภาคภูมิ!!

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา