27 เม.ย. 2020 เวลา 09:20 • การศึกษา
อาจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ นายรำมโนราห์
หลากหลายมุม-มีน
ขวัญเรือน ปักษ์แรก มิถุนายน 2537
หน้า 286-287
การประพฤติตามโลก ส่งผลให้วัฒนธรรมถูกกลืนหายไป จึงมิใช่เรื่องแปลก หากใครสักคนจะลุกขึ้นมาปกป้องรักษาวัฒนธรรมอันดีนี้ไว้ อาจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ เป็นอีกผู้หนึ่งที่หวงแหนความงดงามของศิลปวัฒนธรรมไทย นับแต่วันแรกที่เริ่มสวมชุดมโนราห์ออกร่ายรำบนเวที จวบจนวันนี้อาจะกล่าวได้กว่ามโนห์ราซึมซาบอยู่เต็มในสายเลือด แม้ว่าตามท้องเรื่อง สุดท้ายมโนห์ราเป็นต้องพลาดท่าติดบ่วงบาศพรานบุญอยู่ร่ำไป แต่นั่นก็เป็นเพียงการแสดง แต่ในโลกของความเป็นจริงพลังแห่งการอนุรักษ์ทำให้ท่านมิยอมพ่ายแพ้เฉกเช่นตัวละคร ที่จะส่งเสริมการแสดง มโนห์รา ให้คงอยู่ต่อไป ถึงแม้การเร่งพัฒนาเปลือกนอกให้งามวิจิตรลิดปีก เด็ดหาง นางมโนห์ราจนเลี่ยนลู่อดีตศิลปะแสดงมโนห์ราเป็นที่ยอมรับว่า คือ พระเอกของงานรื่นเริงต่าง ๆ ในภาคใต้ ทุกครั้งที่เบิกโรงออกแสดง เป็นต้องได้รับเสียงปรบมือเกรียวกราวทุกครั้งไป
ท่ามกลางบรรยากาศของงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ทำให้เราได้มีโอกาสนทนากับ อาจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ อาจารย์ประจำศูนย์วัฒนธรรม สถาบันราชภัฏสงขลา หนึ่งในผู้เจนจบเกี่ยวกับการแสดงมโนห์รา ซึ่งท่านได้ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมา ที่สานสายใยขึ้นเป็นศิลปะการแสดงมโนห์ราว่า
มโนห์ราเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ สืบทอดมาตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา ได้รับอิทธิพลจากอินเดียฝ่ายใต้ ส่วนหนึ่งได้รับจากการแดงภาคใต้ดั้งเดิม ท่ารำ บทร้องอิงธรรมชาติเป็นหลัก เดิมแสดงเฉพาะเรื่องพระสุธนมโนห์รา ปัจจุบันเริ่มนำบทประพันธ์เด่นๆ อาทิต พระรถเมรี ลักษณวงศ์ สิงหไตรภพ มาแสดง การเดินเรื่องรูปแบบลักษณะเดียวกับละครรชาตรี
มโนราห์มีความโดดเด่นเรื่องศิลปะเครื่องแต่งกาย ซึ่งเลียนแบบเครื่องทรงกษัตริย์สมัยโบราณ ประกอบด้วยเทริด(มุงกุฎ) สนับเพลา ชายไหว สังวาล ปีนกแอ่น หางหงส์ ทับทรวง ผ้าห้อยข้าง กำไลแขน กำไลมือ และสวมเล็บยาวไม่สวมเสื้อ ปัจจุบันผู้ที่จะแต่งกายครบทั้งหมด เฉพาะตัวนายโรงหรือมโนห์ราใหญ่เท่านั้น สำหรับเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบได้แก่ โหม่ง กลอง พลับ ปี่
ดั้งเดิมด้วยท่ารำที่โดดเด่น แฝงไว้ด้วยความเข้มแข็ง สอดผสานความอ่อนช้อยในตัว จึงเป็นท่ารำที่เหมาะสมกับผู้ชาย เพราะฉะนั้น มโนห์ราในสมัยก่อนจึงมีแต่ผู้ชายล้วน อันเนื่องมาจากผู้ที่กระทำพิธีครอบครูต้องเป็นผู้ชายกอปรเพื่อให้เชี่ยวชาญด้านการรำแต่ปัจจุบันวัฒนธรรมอะไรต่า งๆ แปรเปลี่ยนไป ผู้หญิงจึงเข้ามาฝึกรำมโนห์ราหากแต่การทำพิธีครอบครู มโนห์ราผู้ชายเท่านั้นจึงจะทำพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้ได้
อาจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์, 2537
การจะรำมโนห์ราให้ได้ดีนั้น ต้องเริ่มตั้งแต่อายุประมาณ 7 ขวบ เพราะท่ารำบางท่าต้องอาศัยการทรงตัวและความอ่อนตัวเป็นหลัก ต้องเริ่มตั้งแต่ท่านพื้นฐาน ซึ่งมีประมาณ 108 ท่า เมื่อท่าพื้นฐานแน่นและคล่อง จึงจะสามารถรำในท่าพลิกแพลงที่ยากขึ้นตามลำดับ นักแสดงมโนห์รารูปร่างไม่จำเป็นต้องสูงใหญ่ มโนห์ราเหมาะกับผู้ที่ร่างกายกะทัดรัด และไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญทางด้านนาฏศิลป์ เพราะการตั้งวงแบบมโนห์รากับการตั้งวงแบบนาฏศิลป์ไทยจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ในอดีตมโนห์ราเป็นที่นิยมแพร่หลายในทุกเทศกาล แต่พอเทคโนโลยีเริ่มทันสมัยขึ้น ภาพยนตร์เริ่มมีมา มโนห์ราจึงเริ่มเสื่อมความนิยมลงไป เพราะฉะนั้นเพื่อความอยู่รอด มโนห์รา จึงต้องพยายามพัฒนาและปรับปรุงตนเองให้ทันสมัยตาม "มโนห์ราวันนี้จึงต้องมีหางเครื่องประกอบการแสดงแบบวงดนตรีลูกทุ่ง" เนื้อร้องทำนองก็โยงใยเอาท่วงทำนองแบบหนังตะลุงมาเสริม ดังนั้นปัจจุบันมโนห์ราที่ยังคงแสดงยึดดั้งเดิม จึงหาชมได้ยาก มโนห์ราประยุกต์เท่านั้นที่จะอยู่รอด พิธีกรรมบางสิ่งบางอย่าง แม้แต่ท่ารำบางท่าจึงถูกละทิ้งโดยปริยาย
อย่างไรก็ตามในความคิดของผมมโนห์รายังถือเป็นศิลปะการแสดงที่ควรค่าแกการอนุรักษ์ ถ้าหากยังละเลยอีกไม่ช้าไม่นาน คงต้องถึงกาลดับสูญเป็นแน่ อย่างน้อยถึงแม้เราจะไม่สามารถฝึกให้ทุกคนรำมโนห์ราได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือ ให้ความรู้ ให้ข้อมูล แก่เยาวชนรุ่นหลัง ถ่ายทอดให้เขาเหล่านั้นได้รู้ว่ามโนห์ราคืออะไร ท่ารำแต่ละท่าหมายความว่าอย่างไร ชมธรรมชาติจากที่ไหน เนื้อร้อง กล่าวถึงเรื่องอะไรบ้าง เรียกกว่าสอนให้เขาดูมโนห์ราเป็น เผื่อวันหนึ่งข้างหน้าเยาวชนรุ่นหลัง ไปพบเห็นการแสดงมโนห์ราเขาจะได้รู้ว่า ศิลปะการแสดงแบบนี้เรียกว่า "มโนห์รา"
เท่าที่ผมรำมโนห์รา มากกว่า 20 ปี ประโยชน์ที่ผมได้จากการแสดงมโนห์ราคือความภูมิใจ ในฐานะที่ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์มรดกทางการแสดงผมจึงอยากเชิญชวน นักเรียน นักศึกษาหรือเยาวชนไม่ว่าหญิงหรือชาย พยายามรักษาและหวงแหน มโนห์ราให้มาก ถ้าได้มาศึกษาการแสดงมโนห์ราให้ลึกซึ้ง จะได้ทั้งความรู้และความอดทน ฝึกฝนการอยู่ร่วมกันแบบหมู่คณะภายในสังคม
หากยังมีผู้สืบทอดเฉกเช่น อาจารย์ธรรมนิตย์ มโนห์ราคงจะไม่ต้องเก็บตัวเงียบอยู่แต่เฉพาะ ป่าหิมพานต์ เพียงเพื่อรอกาลดับสูญ
ที่มา:นิตยสารขวัญเรือน ปักแรกมิถุนายน 2537

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา