27 เม.ย. 2020 เวลา 00:59 • สุขภาพ
On Covid-19 ในมุมมองของโปรเฟสเซอร์ ยูวาล ฮาราริ
ถ้าจะอยากฟังใครซักคนวิเคราะห์ถึงผลกระทบของโควิดที่มีต่อโลก ชื่ออันดับหนึ่งที่โผล่ขึ้นมาในใจผมคือ โปรเฟสเซอร์ ยูวาล ฮาราริ (Yuval Noah Harari) นักประวัติศาสตร์และนักปรัชญาผู้เขียนหนังสือสามเล่มที่สะเทือนโลก sapiens, Homo deus และ 21 lessons for 21st century ความสามารถในการเชื่อมโยง ประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ และ สังคม เพื่อทำความเข้าใจและคาดการณ์อนาคตของโปรเฟสเซอร์ยูวาล ถ้ามองผ่านโลกที่ถูกกระทบด้วย black swan effect อย่างโควิดนั้น โปรเฟสเซอร์ จะมีมุมมองอย่างไร เป็นสิ่งที่ผมอยากอ่านอยากฟังมากๆ
เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสฟัง podcast ที่สัมภาษณ์โปรเฟสเซอร์ยูวาล และการสัมภาษณ์ผ่าน channel news 4 ของอังกฤษ ถึงเรื่องผลกระทบโควิดในสายตาของโปรเฟสเซอร์ คำตอบก็ทำให้ชวนคิดเช่นเคย ก็เลยอยากจะสรุปจากทั้งสองแหล่งที่ได้ฟังมาเผื่ออาจจะเป็นประโยชน์และถูกใจแฟนคลับของหนังสือสามเล่มนั้นด้วย แน่นอนว่าโปรเฟสเซอร์มองในบริบทของโควิดที่มีต่อโลกและอเมริกาเป็นหลัก เพราะผู้สัมภาษณ์ถามในมุมนั้น จะอ่านเอาเพลินหรือคิดต่อไนมุมประเทศของเราก็ตามสะดวกครับ
โปรเฟสเซอร์ยูวาลได้ตอบคำถามและมีทัศนะต่อเรื่องต่างๆที่มีผลกระทบจากโควิดดังนี้
On social experiment
ตอนนี้เรากำลังอยู่ในการทดลองทางสังคมขนาดใหญ่และเฉียบพลันมาก มหาวิทยาลัยที่สอนอยู่ซึ่งก่อนหน้านี้ถกเถียงเรื่องการสอนออนไลน์มายี่สิบปี ตอนนี้ต้องย้ายทุกอย่างทำเป็นออนไลน์หมดภายในไม่กี่อาทิตย์ มีหลายเรื่องที่เป็นแบบนี้ ที่อเมริกาพูดถึงการประกันรายได้ขั้นต่ำ (universal basic income) มานานมาก ตอนนี้รัฐบาลสหรัฐก็ต้องทำแทบจะในทันที มีการทดลองขนาดใหญ่นี้ในทุกวงการและแน่นอนว่ามันจะเปลี่ยนโลกทั้งเศรษฐกิจและสังคม แต่มันจะไม่ได้มีผลลัพธ์แค่เพียงหนึ่งเดียวที่เราคาดการณ์ได้ง่ายๆ แต่มันจะมีทางเลือกเกิดขึ้นมากมายจากการทดลองทางสังคมนี้
On history fast forward
วิกฤตนี้อาจจะนำไปสู่การเลิกจ้างงานแบบมีสังกัดมีบริษัทอย่างสิ้นเชิง หรืออาจจะพลิกกลับไปว่าสังคมต้องการบริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่ในการช่วยคุ้มครอง ช่วยป้องกันให้มีงานทำเวลาลำบากก็ได้ เรื่องสุขภาพก็เช่นกัน คนก็อาจจะต้องการให้รัฐเข้ามาดูแลระบบสุขภาพทั้งหมดก็ได้ เรายังมีทางเลือกอีกหลายทางมาก แต่ที่แน่ๆคือการตัดสินใจสำคัญๆจะเกิดขึ้นในอีกเดือนสองเดือนข้างหน้า มีเวลาสั้นมากๆที่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่กำลังจะถูกเขียนขึ้น ทุกอย่างถูกเร่งเร็วขึ้นมาก ไอเดียหรือนโยบายหลายอย่างของรัฐที่จะนำมาใช้นั้น ถ้าก่อนหน้าโควิดอาจจะฟังดูบ้าบอคอแตกมาก แต่เราก็อาจจะได้เห็นอะไรหลายอย่างในเร็วๆนี้
ที่สหรัฐ ประธานาธิบดีคนใหม่ที่จะมาปี 2021 ซึ่งยังไม่รู้ว่าเป็นใครนั้น เมื่อมาถึงก็ประมาณได้ว่ามาตอนงานเลี้ยงเลิกราแล้ว หน้าที่ที่เหลือก็แค่ล้างจานทำความสะอาดเท่านั้น เพราะทุกอย่างได้ถูกตัดสินใจไปหมดก่อหน้านั้น เงินก็จะถูกใช้ไปจำนวนมหาศาลหมดแล้ว มันจึงสำคัญมากที่จะเข้าใจทางเลือกที่เรามีอยู่ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้าไม่ใช่แค่เรื่องใครป่วยใครตายมากขึ้นเท่าไหร่ แต่เป็นเรื่องนโยบายของรัฐ เรื่องการเมืองและเรื่องการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นของประเทศ
On surveillance
เพราะความวิตกกังวลต่อความเป็นความตายของชีวิต ทำให้มีความต้องการจากสังคมอย่างมากในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ สอดส่อง มีระบบสอดแนมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นระบอบเผด็จการหรือประชาธิปไตย ต่อให้โควิดหายไปก็ตาม เพราะเราก็จะกลัว the next covid ที่อาจจะมาในเร็วๆนี้อีก ทำให้เรามองข้ามสิทธิส่วนบุคคลไปได้อย่างง่ายๆ
ที่อิสราเอลก็มีความน่าเป็นห่วงอยู่มาก เพราะส่วนงานรัฐที่สร้างระบบติดตามคน สองส่องเก็บข้อมูลนั้นเป็นพวกหน่วยราชการลับ ไม่ใช่หน่วยงานสาธารณสุขด้วยซ้ำ ปัญหาที่น่ากังวลอีกอย่างคือการที่รัฐเริ่มเก็บข้อมูลส่วนตัวจำนวนมหาศาล ไม่ใช่แค่เราไปไหน ทำอะไร แต่เป็นข้อมูลสุขภาพของเรา อะไรที่เกิดขึ้นในตัวเรา สมัยก่อน KGB ของโซเวียตจะสอดส่องพฤติกรรมประชาชน 240 ล้านคนนั้นทำไม่ได้เลย มีแต่ใช้พวกตำรวจลับแต่ก็สอดแนมทุกคนไม่ได้อยู่ดี แต่ตอนนี้ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ การใช้ face recognition smartphone ที่จีนทำในช่วงควบคุมไวรัสนั้นทำได้แล้ว ที่อิสราเอลก็กำลังใช้เทคโนโลยีทางทหารมาสอดแนมด้วยอำนาจ พรก ฉุกเฉิน บนเหตุผลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่วิธีการตัดสินใจบนข้อมูลนั้นยังน่าสงสัย ไม่โปร่งใสอยู่มาก หรือการเอาข้อมูลไบโอไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง เหมือนกรณี cambridge analytica การตรวจสอบรัฐบาลในทางกลับกันจึงจำเป็นอย่างมากควบคู่กัน ไม่ว่าจากพลเมือง จากสื่อ หรือรัฐสภา ไม่ใช่ใช้ พรก ฉุกเฉิน (emergency decree) ได้ตามสะดวก
แต่เรามีทางเลือกเสมอ ไม่ใช่ว่าวิธีการสอดส่องควบคุมอย่างหนักจะเป็นทางเลือกเดียวเสมอไป การให้อำนาจพลเมือง ให้ข้อมูล ให้การศึกษาที่ถูกต้องก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เช่นการล้างมืออย่างถูกต้อง เราทำได้สองอย่าง อย่างแรกคือติดกล้องไว้ที่ก๊อกทุกตัว ใครไม่ทำก็ลงโทษ หรือเราให้ความรู้เรื่องเชื้อโรค วิธีที่ล้างมืออย่าถูกต้อง และอันตรายถ้าไม่ทำ วิธีไหนมีประสิทธิภาพกว่า เราต้องตัดสินใจ
On international level
วิกฤตครั้งนี้ทำให้เห็นว่าโลกไม่มีผู้นำอย่างแท้จริง สหรัฐซึ่งเคยเป็นผู้นำในยุคหลังๆตั้งแต่ช่วงอีโบลา หรือช่วย financial crisis 2008 ก็กลายเป็นประเทศที่ทำเพื่อตัวเอง เห็นแก่ประโยชน์ตัวเองไปแล้ว ไม่ได้ทำตัวเป็นผู้นำโลกเหมือนเคย โลกเลยมีปัญหาหนักระหว่างประเทศ เหมือนกับมีแต่เด็กๆประชุมกัน ไม่มีผู้ใหญ่ในห้องซักคน ไม่มีแผนระหว่างประเทศร่วมกันในการรับมือเรื่องฉุกเฉินใดๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคระบาดหรือวิกฤตเศรษฐกิจ
ที่น่ากลัวคือ เรายังไม่ถึงจุดต่ำสุดแน่ๆ จุดต่ำสุดที่จะเกิดขึ้นก็เมื่อปัญหาของโรคและเศรษฐกิจเริ่มลามเข้าสู่ประเทศยากจนที่อเมริกากลางและใต้ อาฟริกา และตะวันออกกลาง สหรัฐสามารถใช้เงินสองล้านล้านดอลลาร์ในการกู้เศรษฐกิจได้ แต่เอกวาดอร์ อียิปต์ หรือบังคลาเทศ จะเอาสตางค์ที่ไหน ปัญหาที่ท้าทายคือ เราจะมีแผนระหว่างประเทศที่ดีพอที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร นอกจากปัญหาเศรษฐกิจแล้ว เราจะมีแผนสำหรับทั้งโลกในการผลิตอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็น แล้วแจกจ่ายได้ทั่วถึงโดยไม่กระจุกอยู่ประเทศที่รวยๆเท่านั้นได้อย่างไร รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ด้วย
On government
ทุกอย่างยังมีทางเลือกและยังไม่รู้แต่ละประเทศจะเลือกแบบไหน แม้กระทั่งคำถามต่อวิธีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งในช่วงเวลาแบบนี้ ผู้คนมีความหวาดกลัว เพราะเป็นเรื่องความเป็นความตายต่อตัวเอง ก็อาจจะมีความต้องการผู้นำที่เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว เป็นเผด็จการ ตัดสินใจเฉียบขาดได้ทุกอย่างเพื่อที่จะปกป้องประชาชนได้ ที่ฮังการี หรือที่อิสราเอลบ้านเกิดก็กำลังเป็นแบบนั้น
แต่ในขณะเดียวกัน วิกฤตอาจจะพาความต้องการของสังคมไปอีกทางก็ได้ คือสังคมอาจจะต้องการความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาติ (national solidarity) เพราะที่ผ่านมา นักการเมืองในหลายประเทศ ตัวอย่างชัดๆคืออเมริกา ได้ทิ้งไอเดียเรื่องการเป็นหนึ่งของชาติไป และจงใจที่แบ่งสังคมเป็นฝ่ายและนำเสนอตัวเองเป็นหัวหน้าของฝ่ายหนึ่งและผลักฝ่ายหนึ่งไม่ใช่แค่เป็นคู่แข่งแต่ให้เป็นฝ่ายที่อันตรายต่อบ้านเมือง เป็นกบฏ ซึ่งเป็นวิธีที่ผู้นำหลายประเทศใช้ขึ้นสู่อำนาจ ปัญหาก็คือ ในยามปกติวิธีที่เป็นผู้นำครึ่งประเทศก็พอนั้นทำได้ แต่พอมีวิกฤตแบบโควิดนี้มันใช้ไม่ได้ ยกตัวอย่างในสหรัฐ ในยามปกติ ครึ่งนึงที่เชื่อผู้นำก็จะเชื่อสุดใจ ต่อให้ผู้นำบอกว่าพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตกก็เชื่อ แต่อีกครึ่งหนึ่งต่อให้ผู้นำบอกว่าหนึ่งบวกหนึ่งเป็นสองยังไงก็จะไม่เชื่อ
แต่พอถึงเวลาวิกฤต ผู้นำต้องการให้ทุกคนทำตามแนวทางที่กำหนดเพื่อที่จะเอาชนะวิกฤตโควิด จะให้แค่ครึ่งหนึ่งเชื่อก็ไม่มีทางพอ หลังจากวิกฤตครั้งนี้ ประชาชนอาจจะเริ่มตระหนักถึงจุดอ่อนของการเมืองแบบนี้ในการรับมือกับภัยพิบัติ หลายประเทศอาจจะมุ่งไปสู่ผู้นำที่สามารถหลอมรวมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของชาติก็ได้
…..
ขอย้ำอีกครั้งว่า โปรเฟสเซอร์ ยูวาล วิเคราะห์ในบริบทของผลกระทบต่อโลกและอเมริกาเป็นหลัก แต่ใครจะเอามาคิดต่อพาลไปถึงตั้งคำถามกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่เขียนก่อนโควิดนี่ไม่ใช่จุดประสงค์หลักของบทความนี้นะครับ
(คุณ @orawan permpoon ส่งบทความมาไห้ข้างล่าง เลยขอเอาบางส่วนมาปรับปรุงบทความเพิ่มนะครับ 🙂 )
โฆษณา