27 เม.ย. 2020 เวลา 14:01 • ท่องเที่ยว
ภูฎาน หลังม่านหิมาลัย
EP.11 ป้อมปราการแห่งขุนเขา
มื้อเที่ยงวันนี้เป็นมื้อแรกที่มีโอกาสกินนอกโรงแรมที่พัก เสียอย่างเดียวที่แผนการที่คิดกันไว้ผิดแผนไป เดิมทีเราตั้งใจจะเลี้ยงขอบคุณเพื่อนบนภูที่ร้านอาหารไทยสักร้านตามที่เคยหาข้อมูลไว้ว่า ในกรุงทิมพูก็มีร้านอาหารไทยด้วย
กลับกลายเป็นว่าทั้งเช้าเราตระเวณไปกับชาร์โดว์ส่วนเพื่อนต้องไปเร่งทำเอกสารผ่านเมืองให้พวกเราแทน
ร้านอาหารที่เยชิจอดรถไว้ข้างสนามกีฬาแห่งชาติภูฏานเป็นร้านอาหารสไตล์ค็อฟฟี่ชอป ในร้านมีกลุ่มสาวสวยนั่งอยู่ก่อนแล้ว 4-5 คน.....ฉันชำเลืองมองพลางนึกชมอยู่ในใจ....สาว ๆ ที่นี่สวย
สงกรานต์กับฉันไม่ค่อยมีความสุขในการมาโดยมีคนออกค่าใช้จ่ายให้มากนัก ไม่ว่าจะเป็นค่าโรงแรมที่พัก หรือค่าอาหารนอกโรงแรมมื้อนี้ก็เช่นกันที่ชาร์โดว์รับคำสั่งมาจากเพื่อนบนภูให้ดูแลเรา พิชซ่าดูเป็นทางออกที่ดีในการสั่งอาหารที่ไม่คุ้นเคย
หลังมื้ออาหารที่ออกจะอึดอัดสำหรับฉัน เยชิขับรถพาเราไปยัง Zilukha Nunnery หรือ วัดซิลุกา ที่นี่เป็นอารามเพียงแห่งเดียวในทิมพูที่มีแม่ชีจำวัดและศึกษาพระธรรม วัดเล็ก ๆ แห่งนี้ตั้งอยู่บนเนินเขามองลงไปเห็นหุบเขาทิมพูอยู่เบื้องล่าง
ป้ายวัดซิลุกา
ทิวทัศน์บางส่วนของเมืองทิมพูเมื่อมองจากวัดซิลุกา
ธรรมจักรหรือ ปฏิจจสมุปบาท หน้าวิหารในวัดซิลุกา
อากาศหนาวเย็นของภูฏานทำให้ดอกไม้ที่นี่มีดอกใหญ่สวยทุกชนิด
ฉันสังเกตว่า อาคารต่าง ๆ ในวัดซิลุกาดูทรุดโทรมกว่าวัดอื่น ๆ ในภูฎานที่เคยไปมาแล้ว ยิ่งเมื่อก้าวเข้าไปภายในวิหารเพื่อกราบพระพุทธรูปก็ยิ่งเห็นความแตกต่างของที่นี่กับวัดใหญ่แห่งอื่น ๆ ปัจจัยที่เพื่อนหลายคนฝากมาให้ทำบุญจึงถูกหย่อนลงบนถาดเบื้องหน้าพระพุทธรูปเป็นจำนวนมากกว่าวัดอื่นๆ เป็นพิเศษ
เยชิขับรถนำเราออกจากวัดซิลุกามุ่งหน้าไปยังวัดสำคัญอีกวัดหนึ่ง
วัดหรือซองในภูฎาน มีบทบาทมากกว่าวัดเมืองไทย ในอดีตวัดเป็นป้อมปราการปกปักรักษาเมืองจากผู้รุกราน ดังนั้นบรรพชนชาวภูฎานจึงนิยมสร้างวัดหรือป้อมปราการไว้บนเนินเขาที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเมืองเช่นเดียวกับ Semtokha Dzong วัดที่ได้ชื่อว่าเป็นพระราชวังแห่งมนตรา
ป้อมปราการที่เก่าแก่ที่สุดในภูฏาน
ขึ้นบันไดสูงชันไปหลายขั้นก่อนเข้าสู่บริเวณด้านในวัด
Semtokha Dzong หรือ วัดซิมโตคา เป็นป้อมที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศภูฎาน สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1629 หรือ ปี พ.ศ. 2172 โดย ท่านซับดรุง งาวัง นัมเกล
ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา!!!!
อาคารด้านใน
เขตห้ามเข้า
ป้อมแห่งนี้มีบทบาทในการป้องกันผู้รุกรานจากลามะห้านิกาย กองทัพของท่านซับดรุงได้รับชัยชนะจากการสู้รบครั้งนั้น ป้อมแห่งนี้ถึงเก่าแก่แต่มีการบูรณะเรื่อยมาอีกหลายครั้ง จนปีค.ศ. 1961 (พ.ศ.2504) พระเจ้าจิกมี โดร์จี วังชุกโปรดให้ดัดแปลงป้อมแห่งนี้ให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาวัฒนธรรมสำหรับฝึกอบรมฆราวาสที่เป็นครูสอนภาษาซองคา ชื่อว่า สถาบันการศึกษาภาษาและวัฒนธรรม (LICS) ถือเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยหลวงภูฏาน แต่ปัจจุบันได้ย้ายที่ทำการไปตั้งอยู่ ณ เมืองตงซา เนื่องจากมีนักศึกษาจำนวนเพิ่มขึ้น
ในวันที่ 31 ตุลาคม 2556 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานผ้าพระกฐินไปทอดถวาย ณ วัดซิมโตคา พระราชพิธีในครั้งนั้นทำความปลื้มปิติทั้งชาวไทยที่อาศัยในภูฏานและชาวภูฎานเป็นอย่างยิ่ง มีผู้ไปร่วมในพระราชพิธีจำนวนมาก นับเป็นงานบุญที่ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ของชาวพุทธที่แม้นับถือต่างนิกายแต่ความเชื่อและจิตศรัทธาในพุทธศาสนาไม่แตกต่างกัน
ฉันก้าวเข้าไปด้านในวิหาร ความโอ่อ่าอลังการปรากฏโดดเด่นแก่สายตา ที่ภูฏานมีกฏเหล็กห้ามถ่ายรูปด้านในวิหารทุกแห่ง ดังนั้นความสวยงามที่เห็นจึงได้แต่ชื่นชมด้วยสายตาเท่าที่เวลาอำนวย
บ่อยครั้งที่ฉันไปในบางสถานที่จะมีสัมผัสเร้นลับอย่างหนึ่ง ...
ความรู้สึกแรกที่ก้าวเข้ามาข้างในคือ ขนแขนลุกชันและรู้สึกดื่มด่ำกับความสง่างามขรึมขลังเบื้องหน้าเป็นพิเศษ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ทอดพระเนตรลงต่ำราวกับโปรดสรรพสัตว์ที่ยังเวียนว่ายในสังสารวัฏ บรรยากาศเงียบ สงบ สงัด ในวิหารไม่มีใครอื่นนอกจากเราเหมาะกับการปฏิบัติธรรม
เรากราบพระพุทธรูปเบื้องหน้าแล้วนั่งเงียบอยู่เป็นนานจนกระทั่งลามะรูปหนึ่งเดินมาจัดถวายน้ำเบื้องหน้าพระพุทธรูป จีงได้ลุกขึ้นเดินชมวิหารโดยรอบ
ฉันสังเกตเห็นว่าที่โคนเสากลางวิหารมีสรรพอาวุธโบราณนานาชนิด เช่น ง้าวหอก ดาบ และอีกหลายชิ้นที่ไม่รู้จักชื่อผูกติดอยู่ ฉันพยายามนึกหาเหตุผลของการเก็บอาวุธโบราณในลักษณะแปลก ๆ นี้ก็ได้แต่ไพล่นึกถึงการผูกตรึงไว้ด้วยมนตรา ชาร์โดว์เฉลยว่า เป็นอาวุธที่ใช้ในการป้องกันป้อมปราการในยุคที่ยังทำสงครามกับทิเบต....อืม...ที่นี่มีตำนาน
ภาพลามะองค์สำคัญตั้งแต่อดีตเรียงรายอยู่ตามรอบชายคาอาคาร
ผนังวิหารโดยรอบมีภาพวาดปริศนาธรรมตามหลักศรัทธาพระพุทธศาสนานิกายวัชรยาน จัดเป็นงานศิลป์ที่ต้องอาศัยการตีความอย่างลุ่มลึกเลยทีเดียว
ภาพวาดพระโพธิสัตว์ปางต่าง ๆ
ภาพปริศนาธรรม
ไกด์อธิบายปริศนาธรรม
ขณะที่เดินหมุนกงล้อแห่งธรรมที่ติดเรียงรายตามใต้ชายคาอาคารด้านนอกก็ได้เห็นลามะและสามเณรหลายรูปเดินไปมาอยู่ในอาคาร และบางห้องบรรยากาศเหมือนกำลังเรียนกันอย่างขมักเขม้น
ขวา พื้นวิหารปูด้วยไม้ ซ้าย ภาพลามะองค์สำคัญ
ศิลปะการต่อผ้าเป็นเครื่องแขวนสำหรับตกแต่งบริเวณวิหาร
ลามะวัดซิมโดคา
บ่ายจัดขากลับโรงแรมที่พัก เรานั่งรถผ่านแม่น้ำสายหนึ่งที่เลียบยาวไปตามถนน อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำเป็นสนามกว้างของโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง นักเรียนเริ่มทยอยเดินกลับบ้าน นักเรียนชายกลุ่มใหญ่ใช้เวลาเตะฟุตบอลกันในสนามที่มีฉากเป็นภูเขาเห็นเป็นแนวสีน้ำเงินจาง ๆ อยู่ไกล ๆ
นักเรียนทยอยเดินกลับบ้าน
แม่น้ำใสสะอาดเลียบไปกับถนนในเมืองทิมพู
ธงมนต์ที่แขวนอยู่ทุกๆที่
ติดตามตอนต่อไป
EP.12 ดั้นเมฆ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา