28 เม.ย. 2020 เวลา 12:24 • ธุรกิจ
สรุปผลประกอบการไตรมาส 1 กลุ่มธนาคาร
หุ้นลงแรง ยังแพงหรือเปล่า ?
ในที่สุดก็ได้ประกาศงบกันออกมาครบแล้วนะครับสำหรับหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทย ถือว่าเป็นหุ้นกลุ่มแรกเลยที่ประกาศงบกันออกมา ซึ่งก็แน่นอนครับว่าการที่หุ้นกลุ่มแบงก์ต้องประกาศงบออกมาก่อนใครก็ทำให้แทบจะทุกสายตาจับจ้องมาที่นี่
.
เพราะนอกจากการเป็นกลุ่มแรกแล้วนั้น สถานะภาพของธุรกิจธนาคารก็ยังใช้เป็นเครื่องบ่งบอกสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศได้อีกด้วย เพราะพวกเราก็คงจะเห็นกันว่านอกจากการโดน Disrupt แล้ว ธุรกิจกลุ่มแบงก์ก็ได้ซึมลง ซึมลงมาตลอดนำหน้าสภาพเศรษฐไทยกิจที่ไม่ค่อยจะดีนัก
.
จากปัจจัยภายนอกที่คอยกดดันต่อเนื่องอย่างไม่หยุดหย่อนเช่น สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวกันทั้งโลก, สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน และเทรนด์ดอกเบี้ยที่เป็นขาลงมาเรื่อยๆ
.
ราคาหุ้นที่เคยซื้อขายกันที่ระดับ P/BV สูงถึงราว 1.5 เท่า ในวันนี้หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ใหญ่ๆกลับมาซื้อขายกันอยู่ในราคา P/BV เฉลี่ยที่ 0.5 เท่าเท่านั้น สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ยังคงมีอยู่ภายในธุรกิจและเช่นเดียวกันกับผลกำไรที่ค่อยๆหดหายไป
.
ด้วยราคาหุ้นที่ลงมาหนักมาก ทำให้เราเชื่อว่าตอนนี้คงจะมีเพื่อนๆที่กำลังมีความสนใจและคำถามในหุ้นกลุ้มนี้อยู่ไม่น้อยว่าราคาหุ้นที่ลงมาแรงจนถึงตอนนี้ ยังแพงหรือเปล่า ? เดี๋ยววันนี้เราจะพาไปดูงบของไตรมาส 1 และภาพรวมๆของเหล่าแบงก์กันบ้างดีกว่าว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง
.
ไปลุยกันเลยครับ...
.
ถ้าหากใครได้ไปส่องงบของหุ้นกลุ้มแบงก์กันมาก่อนแล้ว คุณคงจะเห็นว่าตัวกำไรและผลประกอบการจริงๆแล้วดูไม่ได้แย่กว่าที่คิดเลยใช่ไหมล่ะ แถมราคาหุ้นที่ร่วงเอาๆทุกวันก็ยังทำให้มัน "ถูก" ลงเรื่อยๆอีกด้วย
.
แต่ถ้ายังไม่ได้ดู เราก็จะเอางบล่าสุดของไตรมาส 1 ปี 2563 มาให้ดูกันคร่าวๆก่อนว่าแต่ละแบงก์มีกำไรที่เปลื่ยนแปลงกันไปมากน้อยแค่ไหนในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้
- SCB (ธนาคารไทยพาณิชย์)
กำไร 9,251 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1% จากปีก่อน)
- BBL (ธนาคารกรุงเทพ)
กำไร 7.746 ล้านบาท (ลดลง 14% จากปีก่อน)
- KBANK (ธนาคารกสิกรไทย)
กำไร 6,581 ล้านบาท (ลดลง 34% จากปีก่อน)
- KTB (ธนาคารกรุงไทย)
กำไร 5,921 ล้านบาท (ลดลง 19% จากปีก่อน)
- TMB (ธนาคารทหารไทย)
กำไร 4,164 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 164% จากปีก่อน)
หากดูจากภาพรวมๆแล้วก็เรียกได้ว่าในไตรมาส 1 ของปีนี้ก็เป็นีที่หนักหนาสาหัสกับธุรกิจในกลุ่มแบงก์อยู่เหมือนกันแต่ก็ยังไม่ถือว่าผิดคาด แต่ ! ตัวเลขที่ออกมาแบบนี้นั้นหลักๆมันเกิดมาจากต้นทุนที่ลดลงของกลุ่มนี้ แล้วมันลดยังไงล่ะ ?
.
เรื่องนี้เราจะไปพูดถึง FIDF หรือภาระหนี้พันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูสถาบันการเงิน ซึ่งถือว่าเป็น "ต้นทุนทางการเงิน" ที่สำคัญของกลุ่มแบงก์ในบ้านเราเลยก็ว่าได้ เพราะย้อนกลับไปเมื่อตอนปีพ.ศ. 2540 ที่ประเทศเราเผชิญหน้ากับวิกฤติต้มยำกุ้งจนเหล่าแบงก์เกือบจะล้มละลายกันไปแล้ว แต่ครั้งนั้นทาง FIDF ก็ได้เป็นเหมือนพระเอกขี่ม้าขาว นำเงินเข้ามาช่วยเหลือและฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินในไทย
.
ในเวลาต่อมาทางรัฐบาลจึงได้อนุญาติให้ FIDF เก็บเงินจากเหล่าธนาคารพาณิชย์ในอัตรา 0.46% ของยอดเงินฝากจากประชาชนในทุกๆปีนั่นเอง ตรงนี้จึงเป็นความหมายและที่มาของ FIDF ที่ทางแบงก์จะต้องจ่ายเป็นต้นทุนประจำๆ
.
แต่เมื่อการแพร่ระบาดของ Covid-19 ได้เกิดขึ้นและได้สร้างผลกระทบกับประเทศไทยและทั่วโลกอย่างหนัก ทำให้ทางธปท. ได้ตัดสินใจปล่อยมาตรการ "ลด" เงินที่ทางแบงก์จะต้องส่งให้กับ FIDF จากเดิมที่ 0.46% เป็น 0.23% หรือลดลงมาครึ่งหนึ่งเป็นเวลา 2 ปีเพื่อเป็นการช่วยเหล่าผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์นั่นเอง
.
ต้นทุนก็ลดลง อีกทั้งการปรับมาตรฐานบัญชี TFRS9 ก็ได้ทำได้วิธีการรับรู้รายได้จากดอกเบี้ยนั้นเปลื่ยนไปด้วย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ NIM หรืออัตราส่วนต่างของดอกเบี้ยของบางธนาคารมีการเพิ่มขึ้นมา ซึ่งประเด็นนี้ก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมงบไตรมาส 1 ของกลุ่มแบงก์ยังดูดีกว่าที่คิดถ้าเทียบกับราคาหุ้น ก็เพราะว่าต้นทุนของพวกเขาถูกปรับลดและการรับรู้รายได้ก็เปลื่ยนไปนั่นเอง
.
และถ้าหากเรามาดูที่ NPL หรือหนี้เสียนั้นเราก็จะพบว่าในปีนี้เหล่าธนาคารพาณิชย์นั้นมี NPL อยู่รวมกันที่ 496,000 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นมาถึงราวๆ 15.6% จากปีก่อน ซึ่งตรงนี้ก็แสดงให้เห็๋นถึง "คุณภาพสินเชื่อ" ของแบงก์ที่แย่ลงตามสถานะการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างมาก
.
แต่ถึงอย่างไร Loan Growth (อัตราการเติบโตของสินเชื่อ) ก็น่าจะดีขึ้นเพราะในช่วงนี้ตลาดตราสารหนี้กำลังมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องเป็นอย่างมาก อีกทั้งทางแบงก์ก็ยังมี Soft Loan ที่จะปล่อยออกมาด้วย ซึ่งปัจจัยนี้ก็น่าจะทำให้คนขอกู้เงินกันเยอะขึ้นในช่วงไตรมาส 2
.
โดยผลกระทบจริงๆของ Covid-19 นั้นก็น่าจะต้องไปรอดูกันที่ไตรมาส 2 เพราะ NPL ที่กำลังเพิ่มขึ้นนั้นก็นำไปสู่การตั้งสำรองที่มากขึ้น อีกทั้ง NIM ก็ต้องมีการลดลงแน่นอนจากการลดดอกเบี้ยลงเพื่อช่วยเหลือลูกค้าในช่วงวิกฤติ
.
เรียกได้ว่า "หนัก" อยู่เหมือนกันกับวิกฤติการแพร่ระบาดของ Covid-19 ในรอบนี้ แต่สำหรับหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์แล้วล่ะก็ ยังมีไตรมาส 2 ที่เรียกได้ว่า "หนักกว่า" รออยู่ เพราะดูจากแนวโน้มของไส้ในธุรกิจที่เราได้อธิบายให้ฟังกันไปนั้นก็ถือได้ว่ายังน่าเป็นห่วง
.
สั่นสะเทือนกันไปทั่วทุกอุตสาหกรรมกันเลยทีเดียวนะครับกับ Covid-19 โดยเฉพาะกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ที่ถือว่าโดนกันไปแบบจัดหนัก จัดเต็ม และจัดนานกับมรสุมที่เข้ามารุมเร้าในครั้งนี้
.
ธุรกิจกลุ่มแบงก์จะสามารถทนพิษบาดแผลครั้งนี้ไปได้นานแค่ไหนไม่มีใครรู้ เพราะกว่าที่โรคระบาดจะหายจนทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกตินั้นก็คงจะต้องใช้เวลาไปอีกอย่างน้อยๆก็ครึ่งปี
และเมื่อได้รู้ปัญหาของตัวเนื้อในธุรกิจของกลุ่มธนาคารพาณิชย์กันแล้ว คำถามของเราในวันนี้ก็มีอยู่ว่า
ราคาหุ้นที่ลงมาแรงขนาดนี้ ถูกพอหรือยังสำหรับคุณ ??
สวัสดีครับ...
ติดตามบทความดีๆของพวกเราได้ทาง WEBSITE
หรือ BLOCKDIT
- - - -
ผู้สนับสนุน
สนใจเปิดพอร์ท หุ้น TFEX SBL BLOCKTRADE กับโบรคเกอร์ KTBST
ค่าธรรมเนียมเรทพิเศษ
พร้อมรับสิทธิพิเศษมากมาย
- ทีมงานมืออาชีพคอยให้บริการ
- โปรแกรม EFIN//ASPEN
- โปรแกรม SUPPORT อื่นๆเช่น MT4//MODEL TRADE//KTBST SMART และอื่นอีกมากมาย
กรอกรายละเอียดได้เลย 👇
โฆษณา