30 เม.ย. 2020 เวลา 11:00 • กีฬา
ลิตเติลโจ : ชีวิตการทำงาน 20 ปี ของเหยี่ยวข่าวไทยในอังกฤษกับวันที่ไร้ฟุตบอลจากวิกฤติ COVID-19
“ถ้าถามว่าผมดูฟุตบอลในสนามมาแล้วกี่ร้อยนัด ถือว่าดูถูกกันมากเลยนะ”
ความฝันของแฟนลูกหนังชาวไทย คงหนีไม่พ้น เดินทางไปดูฟุตบอลที่ประเทศอังกฤษสักครั้ง สำหรับคนที่มีฐานะ การลัดฟ้าข้ามทวีปคงไม่ใช่เรื่องยาก แต่สำหรับคนธรรมดาหาเช้ากินค่ำ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้เชียร์ทีมรักถึงขอบสนาม
อาชีพ ผู้สื่อข่าวกีฬา จึงเป็นอาชีพในฝันของแฟนกีฬา ทั้งโอกาสการใช้ชีวิตในต่างประเทศ และ การชมกีฬาฟุตบอลทุกสัปดาห์ มัน คือ ชีวิตในจินตนาการที่หลายคนฝันถึง
เหรียญย่อมมี 2 ด้าน หนึ่งวันของผู้สื่อข่าวกีฬาไม่ได้มีแค่ความสุขหลังดูฟุตบอล แต่ยังมีความยากลำบากในการทำงาน และประสบการณ์ชีวิตที่ไม่สวยงามเสมอไป
Main Stand พูดคุยกับ “โจ้-สุรศักดิ์ มากทวี” หรือที่รู้จักกันในนาม “ลิตเติลโจ” คอลัมนิสต์กีฬาชาวไทย ถึงชีวิตและการทำงาน ในฐานะชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในแดนผู้ดียาวนานกว่า 20 ปี
เวมบลีย์ที่รัก
“การไปดูบอลต่างประเทศ มันเป็นฝันลม ๆ แล้ง ๆ ความจริงผมคิดถึงสนามเวมบลีย์ตลอด อยากไปหอคอยคู่ อยากไปดูบอลนัดชิงชนะเลิศสักครั้ง แต่ผมไม่มีเงินมากมายขนาดนั้น มันเป็นแค่ความฝัน”
คำบอกกล่าวของ ลิตเติลโจ ไม่เกินจากความจริงของเด็กไทยในยุค 80’s ฟุตบอลอังกฤษ เข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทย ตั้งแต่ก่อนมีการถ่ายทอดสดกีฬาจากต่างประเทศ
เวลาผ่านไป การถ่ายทอดสดเข้ามามีบทบาท แต่ยังถูกจำกัดในแง่ของปริมาณ ต่างจากปัจจุบันที่ผู้ชมสามารถเลือกดูการแข่งขันได้ตามใจ การถ่ายทอดฟุตบอลหลายสิบปีก่อน มีเพียงแมตช์สำคัญเท่านั้น ส่วนใหญ่คือนัดชิงชนะเลิศ ฟุตบอลเอฟเอคัพ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำที่สนามเวมบลีย์
“ผมเริ่มดูฟุตบอลตั้งแต่อยู่ชั้นประถม เพราะคุณพ่อชอบเหมือนกัน แกพาดูทั้งบอลไทย บอลนอก ผมก็ซึมซับความชอบมากจากแก” ลิตเติลโจ บอกเล่าจุดเริ่มต้นความหลงใหลในกีฬาฟุตบอล
“ผมไม่ค่อยได้ดูบอลนอกหรอก มันมีถ่ายอยู่ไม่กี่นัด รู้แค่ว่า เชียร์ลิเวอร์พูลตามคุณพ่อ กลายเป็นบอลไทยที่ดูบ่อย เพราะบ้านอยู่ใกล้สนามศุภชลาศัย มันเลยสะดวก สมัยก่อนคิงส์คัพโด่งดัง ผมตามดูตลอด แต่ในใจลึกๆ ผมสนใจฟุตบอลนอกมากกว่า”
การติดตามฟุตบอลจากต่างประเทศผ่านโทรทัศน์ถูกจำกัด แฟนฟุตบอลชาวไทยจึงมักติดตามผลการแข่งขัน ผ่านสื่อในรูปแบบอื่น หนังสือพิมพ์ และ นิตยสาร จึงเข้ามามีบทบาทกับชีวิตแฟนฟุตบอลในช่วงเวลานั้น
ลิตเติลโจ เป็นอีกหนึ่งคนที่ติดตามข่าวสายฟุตบอลผ่านสื่อสิ่งพิมพ์อย่างจริงจัง ปูทางให้เขาได้โอกาสเข้ามาทำงานสายสื่อมวลชนในอนาคต แม้ความจริง ลิตเติลโจไม่เคยวาดฝัน มองตัวเองในฐานะนักข่าวกีฬาเลยก็ตาม...
“ไม่เคยคิดเลยว่าอยากเป็นนักข่าว หรืออยากไปทำงานต่างประเทศ ตอนนั้นผมยังเด็กมาก ผมอยากเป็นกองหน้าทีมชาติไทย แอบเล่นบอลคนเดียวอยู่ตลอด”
“คราวนี้ ผมเรียนจบม.6 ดันไม่รู้ตัวเองว่าจะเรียนต่อที่ไหน คุณพ่อแนะนำให้เรียนต่อเอกภาษาอังกฤษ ผมเลยเรียนไปตามนั้น ไม่ได้วางแผนว่าจบไปจะทำงานอะไร”
“โชคดีตอนนั้น ผมยังอ่านหนังสือกีฬาอยู่ตลอด วันหยุดเขามีเทปฟุตบอลวนมาฉาย ผมก็ดูวนไป พอเรียนอยู่ปี 3 เป็นช่วงก่อนฟุตบอลโลก ปี 1994 ผมอ่านเจอประกาศรับสมัครนักข่าวต่างประเทศ เลยลองตัดสินใจสมัคร จึงได้ทำงานกับสยามกีฬา”
ก้าวแรกบนแผ่นดินอังกฤษของลิตเติลโจ เกิดขึ้นหลังทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวได้ไม่นาน เขาได้รับมอบหมายให้ไปติดตามทำข่าวมอเตอร์ไซค์ชิงแชมป์โลก ประจำปี 1994 ที่สนาม Donington Park ในเขตเลสเตอร์ไชร์
ความจริง ลิตเติลโจมีเวลาอยู่ที่อังกฤษ เพียง 1 อาทิตย์ แต่เมื่อโอกาสการดูบอลตามฝันมาถึงตรงหน้า ไม่มีทางที่เขาจะปล่อยให้หลุดมือ
“ผมต้องไปอยู่ 1 สัปดาห์ สุดท้ายคืออยู่จริง 1 เดือน เที่ยวนั้นผมได้ไปดูบอลหลายแมตช์ มีดูอาร์เซน่อล เตะกระชับมิตรที่สนามไฮบิวรี อีกนัดคือบอลแชร์ริตี ชิลด์ ที่สนามเวมบลีย์”
“มันตื้นตัน (การดูบอลที่อังกฤษ) คิดกับตัวเอง จากเด็กชอบบอลคนหนึ่งที่ไม่มีเงิน ไม่เคยคิดฝันว่าจะมาดูบอลที่เวมบลีย์ วันนี้ กูตายตาหลับแล้ว”
ความฝันที่ไม่ง่าย
ลิตเติลโจ ทำงานจนพร้อมทั้งความสามารถและประสบการณ์ ปี 1997 เขาจึงได้รับมอบหมาย กลายเป็นผู้สื่อข่าวที่ถูกรับเลือกไปประจำการที่อังกฤษ เพื่อรายงานข่าวและผลการแข่งขันจากข้างสนาม เป็นระยะเวลายาว 2 ปีเต็ม
ไม่ง่ายแบบที่เคยผ่านมา ครั้งที่แล้ว ลิตเติลโจ เปรียบเสมือนน้องใหม่ประจำครอบครัว จึงได้รับการดูแลอย่างดีจากรุ่นพี่ในสยามกีฬา แต่คราวนี้ ลิตเติลโจ ต้องไปใช้ชีวิตเพียงลำพัง และเผชิญหน้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในประเทศอังกฤษ แบบไม่มีเกราะคุ้มกันอีกต่อไป
“ก่อนไปผมคิดตลอดนะว่า กูจะอยู่ถึงสองปีเหมือนรุ่นพี่ไหม (หัวเราะ)”
“ผมโดนรับน้องตั้งแต่ยังไปไม่ถึง เหมือนโดนพี่แจ๊คกี้หลอก แกบอกว่าขอวีซ่าเสร็จให้มาที่อังกฤษเลย ผมก็บินไปตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม ปรากฏว่าช่วงนั้นมันปิดฤดูกาล นักข่าวคนอื่นก็พักเบรกกลับบ้านกันหมด เจอกันแค่ 2 วันแรก หลังจากนั้นผมต้องอยู่คนเดียว”
“การใช้ชีวิตมันไม่ง่ายเลยนะ โอเค ภาษาอังกฤษเราพูดได้ แต่วิถีชีวิตมันต่าง ผมกินอาหารอะไรไม่ได้ สมมติวันนั้นไม่ได้ทำอาหารที่บ้าน ทางเลือกมีแค่ซื้อแม็คโดนัลด์ประทังชีวิต”
“สมัยนั้น บ้านสยามกีฬาอยู่ฝั่งลอนดอนตะวันออก มันเป็นอังกฤษอีกรูปแบบจากที่เคยเจอมา คนแถวนั้นเหยียดเชื้อชาติ เรียกว่าต้องเจอแทบทุกวัน ครั้งหนึ่งผมเจอขี้เมาที่สถานีรถไฟ เดินเข้ามาหาเพื่อล้อเลียนเหยียดผิว ผมทำอะไรไม่ได้ นอกจากรีบเดินไปให้ไกล”
“มันเป็นเรื่องหนักนะ ผมเองคิดไปต่างๆนาๆ บอกตัวเองทุกวันว่าต้องอดทน อย่างไรต้องอยู่ครบ 2 ปี”
โชคชะตาเข้าข้างลิตเติลโจ หลังจากใช้ชีวิตอยู่ที่ลอนดอนตะวันออกราว 2-3 เดือน บ้านสยามกีฬาย้ายข้ามมาอยู่ฝั่งลอนตะวันตก ที่ผู้คนรอบข้างที่เป็นมิตรมากกว่า ลิตเติลโจสลัดความกังวลจากปัญหารอบกาย และเริ่มตักตวงความสุขจากการทำงานที่นำพาให้เขามาอยู่ตรงนี้
“นักข่าวคนหนึ่งต้องทำงานหลายอย่าง มีโทรศัพท์กันคนละเครื่อง รับหน้าที่รายงานผลสดกันคนละคู่ ทุกเช้าต้องไปซื้อหนังสือพิมพ์ เดินไปร้านพูลเพื่อดูราคาต่อรอง แล้วส่งข้อมูลกลับประเทศไทย”
“การทำข่าวที่อังกฤษมันต้องลึก ผมเขียนทั้งคอลลัมน์ประจำ, หนังสือฮอตไลน์หน้าหนึ่ง, สยามกีฬา, สตาร์ซ็อคเกอร์ สัปดาห์หนึ่งดูบอล 2-3 นัด บอลนอกลีก บอลแชมเปี้ยนชิพ ผมเองต้องไปทั้งหมด”
มองจากมุมคนภายนอก ชีวิตนักข่าวกีฬาในต่างประเทศ คือ ความฝันที่หลายคนปรารถนา แต่ความจริงแล้ว อาชีพนี้ คือ งานที่อาศัยความรับผิดชอบและแข่งขันกับเวลา การไปดูฟุตบอลถึงขอบสนาม ไม่ใช่ชีวิตแสนสบายดั่งที่หลายคนเข้าใจ
ความเหน็ดเหนื่อยหลายรูปแบบเข้ามาเยือนลิตเติลโจ ทั้งจากการเดินทางหลายร้อยไมล์, เผชิญหน้ากับคนมากมายที่ไม่เป็นมิตร และ งานมากมายถาโถมเข้าใส่ แทนที่จะเป็นทุกข์ เขากลับมองในมุมต่างออกไป จนทำให้ลิตเติลโจ ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอังกฤษได้ยาวนานกว่าที่คาดไว้ในตอนแรก
“มันเป็นความสุขนะ บางครั้งเราต้องนั่งรถไฟไปไกลถึงเมืองน็อตติงแฮม หรือ ลีดส์ ผมไม่เคยรู้สึกเบื่อ เพราะผมมองมันเป็นโอกาสที่จะได้ไปเจอประสบการณ์ใหม่ๆ ตอนเวมบลีย์ปรับปรุงสนาม ผมไปไกลถึงคาร์ดิฟฟ์ (ประเทศเวลส์) ก็ไม่รู้สึกว่ามันเป็นปัญหา”
“ทำงานทุกอย่าง มันต้องมีเหนื่อยอยู่แล้ว อย่างผมไปทำข่าวที่แอนฟิลด์ (เมืองลิเวอร์พูล ห่างจากลอนดอนราว 350 กิโลเมตร) ขากลับต้องขึ้นรถไฟ ผมยืนตลอด 3 ชั่วโมง บางครั้งมีที่นั่ง ก็มีปัญหากับฝรั่งเมาจำที่นั่งผิด เรื่องแบบนี้เจอเป็นปกติ”
“ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต เราต้องปรับตัว ผมรู้สึกว่าตัวเองได้ดูบอล ได้ทำงานที่รัก มีสังคมที่ดีรอบกาย ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ มันแตกต่างออกไปจากวินาทีที่มาอังกฤษแล้ว”
ใช้ชีวิตกับสิ่งที่รัก
ช่วงเวลาแห่งความสุขผ่านไปไวเสมอ ไม่นานนัก ลิตเติลโจ จึงรู้ตัวว่ากำหนดระยะเวลาประจำการ 2 ปีที่อังกฤษ กำลังจะหมดลงในไม่ช้า ตั๋วเครื่องบินกลับสู่ประเทศไทยอยู่ในมือของเขา แต่จนแล้วจนรอด ตั๋วใบนั้นไม่เคยได้ใช้งาน
ลิตเติลโจได้รับงานด่วนให้อยู่อังกฤษต่ออีก 3 เดือน ครบกำหนดเวลา แทนที่จะได้กลับบ้าน เขาได้อยู่อังกฤษต่ออีก 6 เดือน รู้ตัวอีกที กำหนดการกลับประเทศไทยหายไปจากตารางปฏิทิน ลิตเติลโจ ไม่เพียงกลายเป็นนักข่าวอยู่ประจำกรุงลอนดอน แต่ยังกลายเป็นพลเมืองสัญชาติอังกฤษ ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ
“ตอนแรก ผมมาในฐานะวีซ่าผู้สื่อข่าว (Oversea Newspaper) เขาเขียนไว้ในพาสปอร์ตเลยว่า คุณไม่มี Work Permit ทำงานในฐานะคนอังกฤษไม่ได้”
“ผมก็ไปต่อวีซ่าแบบนี้เรื่อยๆ จนผ่านไป 4 ปี เจ้าหน้าที่เขาบอกว่า ถ้าคุณต่ออยู่อีก 3 เดือน คุณสามารถเป็นพลเมืองอังกฤษได้นะ แต่คุณห้ามหายไปไหนเป็นเวลา 2 ปี”
“ความจริง ผมไม่ได้คิดอยากถือสัญชาติอังกฤษอะไรแบบนั้น แต่ด้วยความที่งานของเรา ต้องเดินทางไปดูฟุตบอลหลายประเทศในยุโรป ผมในฐานะคนไทยต้องไปขอวีซ่าทุกครั้ง มันยุ่งยากนะ ตื่นแต่เช้าไปสถานทูตฯแต่ละประเทศ ไหนจะเรื่องความยาก - ง่ายในการขอวีซ่าอีก”
“ผมคิดว่า ถ้าอยู่อังกฤษต่อไปอีก 2 ปี ตามที่พนักงานเขาบอก ค่อยลองยื่นเป็นพลเมืองอังกฤษ ใช้เวลา 6 เดือนหลังจากส่งเอกสาร ทุกอย่างไม่มีปัญหา ผมได้เป็นพลเมืองอังกฤษ นับแต่นั้น”
การรับรองเป็นพลเมืองถูกกฎหมายของชาติยุโรป คือความฝันของชาวไทยรุ่นใหม่หลายคน แต่การจากบ้านเกิดไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ไม่ได้มีแต่เรื่องสวยงามเสมอ ทุกการตัดสินใจย่อมแลกมาด้วยบางสิ่ง
ลิตเติลโจ พบกับเรื่องราวที่ย้ำเตือนว่าบางครั้งชีวิตจริงกับความฝัน มีแค่ทางเดียวเท่านั้นที่สามารถเลือกเดิน เขาบอกลาประเทศอังกฤษกลับมาอยู่ประเทศไทย เนื่องจากเหตุผลสำคัญที่มนุษย์ทุกคนไม่อาจปฏิเสธ นั่นคือ ครอบครัว
“ตอนนั้นลูกสาวเพิ่งคลอด ผมอยากมาอยู่ใกล้ครอบครัว โชคดีได้โอกาสทำงานเป็นนักพากย์ฟุตบอลโลก 2006 ผมจึงตัดสินใจกลับประเทศไทย”
“สิ่งที่เกิดในใจคือ รู้สึกว่างานที่ทำในแต่ละวัน มันต้องพยายามสูงมาก ผมรู้สึกว่าตรงนี้ (งานนักพากย์) มันไม่ใช่ที่ของเรา ทางของผมมันอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ถามตัวเองตลอดว่าควรทำอย่างไร สุดท้ายผมได้คำตอบว่า เราใช้ชีวิตอยู่กับตัวเองดีกว่า”
ลิตเติลโจ เดินทางตามเสียงเรียกร้องของหัวใจ เขากลับสู่ประเทศอังกฤษอีกครั้ง พร้อมกับ ลูกสาว ที่มาใช้ชีวิตและเรียนหนังสือที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน
23 ปี คือ ระยะเวลาที่ลิตเติลโจใช้ชีวิตอยู่ในแดนผู้ดี บนเส้นทางแห่งความฝัน แต่ความสุขในการทำงานที่รักต้องหยุดชะงัก ภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ ลิตเติลโจ ต้องเดินทางกลับสู่ประเทศไทยอย่างไม่มีกำหนด
“เดือนมกราคม ผมยังคุยกับคนอื่น (ถึงไวรัสโควิด-19) เป็นเรื่องสนุกสนาน เดือนกุมภาพันธ์มันก็ยังไกลตัว จนกระทั่งช่วงปลายเดือนที่เป็นวันหยุดยาว หลายครอบครัวเดินทางไปเที่ยวที่อิตาลี มันเริ่มต้นจากตรงนั้น” ลิตเติลโจ เล่าถึงสถานการณ์โรคระบาดในอังกฤษ
“อังกฤษมองโรคโควิดแตกต่างจากเมืองไทย คนที่นั่นเชื่อว่าโรคนี้เป็นแค่ไข้หวัดใหญ่ธรรมดา ลูกสาวผมถูกสอนแบบนั้นที่โรงเรียน จึงไม่มีใครระวังป้องกันตัว”
“ทุกอย่างเปลี่ยนไปเร็ว คนอังกฤษไม่ใส่หน้ากากกันเชื้อโรค เพราะถ้าใครใส่หน้ากาก เขามองคุณเป็นคนป่วย เป็นตัวแพร่เชื้อโรค หลังจากนั้น รัฐบาลเริ่มออกคำเตือนให้อยู่ คนยังออกไปวิ่งในสวนสาธารณะ วิ่งไปด้วย พูดไปด้วย มันก็ติดกันหมด”
“ตอนแอตเลติโก มาดริด มาเยือน ลิเวอร์พูล (วันที่ 11 มีนาคม) หลังจบเกม คนสเปนออกมาเดินเต็มเมือง ผมเริ่มรู้สึกกลัว หลังจากนั้น พรีเมียร์ลีกหยุด โรงเรียนลูกสาวหยุด บวกกับนโยบายของรัฐบาล ผมจึงตัดสินใจกลับเมืองไทยดีกว่า”
*นโยบายของรัฐบาลอังกฤษในการรับมือไวรัสโควิด-19 คือ ปล่อยให้ประชากรติดเชื้อตามธรรมชาติ แล้วรักษาจนหายเพื่อจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แทนที่จะป้องกันตั้งแต่เบื้องต้น*
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจเปลี่ยนชีวิตของใครหลายคน ลิตเติลโจ คือหนึ่งในนั้น แต่จากน้ำเสียงที่พูดคุยกัน เสียงของเขายังคงเต็มไปด้วยความสุข แม้ต้องออกห่างจากสิ่งที่รัก และผ่านชีวิตช่วงกักตัวได้ไม่นาน
สถานการณ์เลวร้ายนี้จะจบลงเมื่อใด ไม่มีใครทราบ แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้แน่ชัด เมื่อปัญหาไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย ฟุตบอลกลับมาเตะได้ตามปกติอีกครั้ง ลิตเติ้ลโจ จะกลับไปประจำการที่อังกฤษ เพื่อทำงานและใช้ชีวิตกับสิ่งที่รัก เหมือนที่เคยเป็นมายาวนานกว่า 20 ปี
“ผมอาจไม่ร่ำรวยแบบนักธุรกิจ แต่ว่าชีวิตผมมีความสุข ในสิ่งที่ผมเป็นอยู่ทุกวันนี้”
“สิ่งสำคัญคือ ผมใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับสิ่งที่รัก ทุกครั้งที่เดินเข้าสนามฟุตบอล มันเหมือนกับช่วงเวลาวันหยุด ชีวิตของผมคือทำงานไปด้วย พักร้อนไปด้วย มันมีความสุขมากเลยนะ”
บทความโดย ณัฐนันท์ จันทร์ขวาง
โฆษณา