4 พ.ค. 2020 เวลา 02:12 • ความคิดเห็น
พ่อแม่รังแกฉันเวอร์ชั่นจีน ผลกระทบจากนโยบายลูกคนเดียว เลี้ยงลูกดั่งองค์ชายองค์หญิง
วันนี้อ้ายจงมีเรื่องหนึ่งที่สะท้อนถึงการเลี้ยงลูกของคนจีนสมัยนี้มาบอกเล่าครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อสองสามปีก่อนสมัยที่ผมใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองซีาน ประเทศจีน
วันนั้นผมไปเดินเล่นแถวสวนสาธารณะแห่งหนึ่งในซีอาน เจอเด็กผู้หญิงวัยน่าจะ 5-6 ขวบ เดินเข้าไปเล่นกับผู้ชายคนหนึ่ง แล้วถามชื่อ เด็กผู้ชายก็ไม่ตอบ พยายามหลบ เด็กผู้หญิงก็ถามๆ จนสุดท้ายเด็กผู้หญิงหงุดหงิด มาฟ้องแม่ ที่อยู่ไม่ไกลกันนัก ฟ้องแม่ว่า
ด.ญ. :"แม่ๆ เด็กผู้ชายคนนั้นเขาไม่ยอมบอกชื่อเขาอะ"
แม่: ไม่เป็นไร อย่าไปยุ่งกับเด็กแบบนั้น เสียมารยาทมากๆ เราถามชื่อ ไม่บอกเราได้ไง เขามารยาทไม่ดี เป็นคนไม่ดี อย่าไปยุ่งกับคนแบบนี้ พร้อมกับมองจิกไปที่เด็กคนนั้น
อ้ายจงได้แต่คิดในใจว่า "คนเป็นแม่ ปลูกฝังความคิดแบบนี้ให้กับลูก ถูกต้องแล้วหรือ?
"หากระบายแต่สีดำให้ลูกดู ลูกจะระบายสีอื่นได้เยี่ยงไร?"
ถ้าเด็กผู้หญิงคนนี้โตมา เวลาคุยกับใคร แล้วเขาไม่ทำในสิ่งที่ต้องการ ไม่บอกชื่อ ไม่อาละวาดเลยหรือ?" การที่เด็กผู้ชายคนนี้จะไม่บอกชื่อ หรือพยายามหลบ มันก็เป็นสิทธิของคนคนหนึ่งที่จะทำได้ และบางทีอาจจะถูกทางบ้านสอนมาแบบหนึ่งก็ได้
สำหรับเมืองจีน แม้ตอนนี้นโยบายลูกคนเดียวจะถูกยกเลิก รัฐบาลจีนอนุญาตให้มีลูกสองคนได้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 แต่การเลี้ยงลูกของคนจีนก็ยังคงเลี้ยงแบบองค์ชายองค์หญิงน้อย ตามใจมาก เพราะเอาจริงๆ เด็กวัย 5-6ขวบขึ้นไป ก็ยังเกิดมาตอนที่นโยบายลูกคนเดียว พ่อแม่ก็ประคบประหงม ให้ทุกอย่างเต็มที่
1
อย่างเมื่อปี 2560 ก็มีข่าวดังออกมาที่สะท้อนปัญหาการเลี้ยงลูกของคนจีนแบบองค์ชายองค์หญิงน้อยได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นข่าวที่อ้ายจงจำได้แม่นมากๆ เพราะสะเทือนใจมาก
คือมีคุณแม่ชาวจีนในเมืองเวินโจว มณฑลเจ้อเจียง พาลูกชายวัยม.ต้น ไปตัดแว่น ลูกเล่นเกมมือถือตลอดเวลา แม่รับสลิปจากพนักงานร้านมา จึงส่งให้ลูก โดยไม่ตั้งใจจะรบกวนเวลาเล่นเกม ผลปรากฏว่า ลูกไม่พอใจ และตีเข้าที่ศีรษะของผู้เป็นแม่อย่างแรง กลางร้านตัดแว่น โดยผู้เป็นแม่ก็ไม่สามารถตอบโต้อะไรได้
หลังจากข่าวและคลิปเหตุการณ์ในครั้งนั้นถูกเผยแพร่สู่โลกออนไลน์จีน ชาวเน็ตจีนต่างวิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะส่งผลกระทบต่อจิตใจในวงกว้าง โดยส่วนใหญ่ประณามพฤติกรรมที่แย่ของเด็กคนนี้
แต่ในอนาคต ปัญหาการเลี้ยงลูกในจีน อาจจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของแต่ละครอบครัว แต่ละบุคคลด้วย ไม่ขอเหมารวมครับ
อ้ายจงยังไม่มีลูก (แม้อายุสมควรจะมีได้แล้ว 55) แต่ก็คิดว่า การสั่งสอนอบรมปลูกฝังความคิดให้กับเด็ก เป็นหน้าที่สำคัญของพ่อแม่ ดังนั้น เราต้องคิดพิจารณาให้มาก ก่อนที่เราจะแต่งแต้มอะไรลงไปบนเด็กครับ
#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #ชีวิตในจีน
โฆษณา