6 พ.ค. 2020 เวลา 09:00 • บันเทิง
WFH2020 วาระที่ 2
Netflix : Babies
[Series แด่ผู้เลี้ยงทารกน้อยและกำลังใจในการมีชีวิต]
CR: https://www.eonline.com/ap/news/1120170/babies-first-look-netflix-s-new-show-explores-the-ultimate-mystery-of-child-development
สืบเนื่องจากสถานการณ์ Covid-19 ส่งผลให้พ่อทำงานที่บ้านต่อเนื่องมาตอนนี้ก็เป็นสัปดาห์ที่ 9 เข้าไปแล้ว หลายคนที่พบเจอในโลกโซเชียลใช้ช่วงเวลานี้ เสพความบันเทิงออนไลน์ผ่าน Netflix บริการสตรีมมิ่งเจ้าใหญ่ที่สุด ณ ตอนนี้ แน่นอนว่าพ่อเองก็อยากเข้าไปดูหนังการ์ตูนของ Ghibli ให้ครบทุกเรื่อง (แม้จะดูซ้ำ) เพราะดีใจมากที่ถูกนำมาลงใน platform นี้สะดวกต่อการเข้าถึง แม้ในใจก็นึกเสียดาย DVD ที่สะสมไว้จะเป็นหมัน แต่พอเอาเข้าจริงก็หาเวลาดูไม่ได้เลยเพราะไม่มีเวลาพักยาวมากพอระยะเวลาหนังฉายจบ 1 เรื่อง
ถึงอย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เสียค่าบริการฟรี ขอหาอะไรดูในเวลาว่างสั้น ๆ เสียหน่อย ( เช่น ยามเข้าห้องน้ำ ยามกินข้าว ยามดึกสงัด ) แล้วหลังจากปัดเลือกไม่นาน ก็พบ Babies : Documentary Series ผลิตโดย Netflix เรื่องนี้ ทำให้พ่อไม่รีรอที่จะกดเข้าไปดูเลย เผื่อจะมีคำตอบให้กับความลี้ลับของทารกตรงหน้า และต่อจากนี้คือการแสดงตัวอย่างเนื้อหาจากในหนังสารคดี ซึ่งตีแผ่ความลับของทารกน้อยให้พ่อแม่ทั้งมือใหม่และไม่ใหม่ ได้เข้าใจเบื้องหลังที่ซ่อนอยู่ภายใต้พัฒนาการอันรุดหน้าใน 1 ขวบปีของพวกเค้าและเธอเหล่านั้น
☆ แน่นอนว่าหลังจากนี้อาจมีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วน จึงต้องขอติด▪︎《Spoil alert》▪︎ เอาไว้ก่อน ป้องกันการล่วงล้ำสุนทรียภาพในการรับชม ถึงแม้ว่าต้องการนำเสนอแค่เฉพาะเนื้อหาในตอนแรกที่สำคัญกับพ่อแม่อย่างมาก และประเด็นน่าสนใจในแต่ละตอนที่ไม่อยากให้คนเป็นพ่อเป็นแม่พลาดเลยทีเดียว
สารคดีชุดนี้ใช้ระยะเวลาถ่ายทำ 1 ปี เล่าเนื้อหาผ่านทารกน้อย 15 คน ในหลากหลายประเทศ และการศึกษาค้นคว้าหาคำตอบของคำถามที่เกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กทารกผ่านนักวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ อีก 36 คน ประกอบไปด้วย 6 ตอน ตอนละไม่ถึงชั่วโมง ได้แก่ Love, First Food, Crawling, First Words, Sleep และสุดท้ายคือ First Steps
CR: www.netflix.com
แค่ตอนแรก "Love" ก็คลายข้อสงสัยและยืนยันความรู้ที่ได้จากการติดตาม อ่าน ฟัง ดู คุณปู่หมอประเสริฐสอนเรื่อง EF แล้ว สรุปออกมาเป็น 3 เรื่องหลักที่คนเลี้ยงเด็กควรทราบจริง ๆ
Biology of bonding ชีววิทยาในความสัมพันธ์ นักวิทยาศาสตร์เสนอว่า ฮอร์โมนอ็อกซิโตซิน (oxytocin) หลั่งออกมา เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในบทบาทระหว่างแม่กับลูก ฮอร์โมนนี้ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ยิ่งอยากใกล้ชิดกับลูก แม่กับพ่อมีได้เหมือนกัน ยิ่งพ่อมีส่วนร่วมกับการเลี้ยงลูกมากเท่าไหร่ ยิ่งส่งผลให้เพิ่มฮอร์โมนนี้ในระบบมากขึ้น และมีผลได้ลึกซึ้งพอ ๆ กับแม่
สมองส่วนอมิกดาลา (amygdala) ส่วนประกอบเก่าแก่ภายในสมองถูกกระตุ้นขึ้นตอนแม่ตั้งครรภ์และคลอด จากนั้นก็จะอยู่ตลอดไป ในขณะที่พ่อจะเล็กกว่ามาก แต่จากการศึกษาทดลองพ่อที่ดูแลลูกตั้งแต่เกิดแทนที่แม่ (ทำไม?ก็ต้องไปลองดู) องค์ประกอบนี้ก็สามารถกระตุ้นอมิกดาลาได้ไม่ต่างกัน สรุปว่าการเป็น พ่อ แม่ ไม่ใช่ หน้าที่ แต่คือ "ทางเลือก"
CR: www.netflix.com
The still face Experiment เด็กทารกเกิดขึ้นมาพร้อมความสามารถในการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
นักวิทยาศาสตร์วัดระดับฮอร์โมนความเครียดที่เรียกว่า คอร์ติซอล ซึ่งหลั่งออกมาในทารก ด้วยการให้แม่ทำหน้านิ่งใส่ทารกในระยะเวลาที่กำหนด ผลที่ได้คือ เมื่อแม่ไม่ตอบสนองเด็กจะเริ่มเรียกร้อง อาจด้วยการโวยวายหรือร้องไห้ แต่สุดท้ายเด็กจะเอามือเข้าปากเพื่อปลอบประโลมบำบัดความเครียดด้วยตัวเอง (เวลาเครียดพ่อน่าจะกลับไปใช้วิธีนี้บ้าง) และเมี่อแม่แก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น มันแสดงให้เห็นว่าสำคัญมากที่จะทำให้เด็ก Trust ว่าคนคนนี้จะสามารถแก้ไขซ่อมแซมเพื่อให้ปฏิสัมพันธ์ที่ผิดพลาดกลับมาดีดังเดิมได้ ขอยกประโยคจาก Professor มาทั้งดุ้นเพื่อให้ไม่ตกหล่น ว่า...
"Trust your baby to tell you, what it is that she or he needs
Trust your own instincts about how to be to responding"
Growing up in Singapore Towards Healthy Outcomes study. การสแกนสมองเด็กทารกแรกเกิดในงานวิจัยที่เกิดขึ้นในประเทศสิงคโปร์เมื่อปี 2009 เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่นักวิจัยนำมาใช้ เพื่อศึกษาพัฒนาการทางสมองที่ได้รับอิทธิพลจากการเลี้ยงดู โดยเฝ้าสังเกตพฤติกรรมการเลี้ยงทารกของพ่อแม่ ผ่านไปหกเดีอนสแกนอีกครั้ง เพื่อบันทึกการตอบสนองต่อทารกในสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นอย่างไร เช่น เด็กร้องไห้แม่รีบปลอบไหม เด็กเลือกของรีบหยิบให้หรือให้เลือกเอง
หลังจากสแกน MRI ตอนหกเดือน พบว่าสมองส่วน "ฮิบโปแคมปัส" จะใหญ่กว่าในเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบตอบสนองน้อย เพราะเด็กต้องเรียนรู้ที่จะจัดการกับความเครียดด้วยตัวเอง เมื่อเด็กไม่ได้รับสัญญาณเดียวกันจากพ่อเม่ อาจต้องคิดถึงการทำให้มีความปลอดภัย/ความสบายใจก่อนที่จะสำรวจหรือตัดสินใจอะไร ผลของการทดลองนี้ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการเอาใจใส่และการตอบสนองของพ่อแม่ต่อทารก ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการของสมองโดยตรง
CR: www.netflix.com
ในตอนอื่น ๆ ไม่ต้องการอธิบายละเอียด เพราะคงจะยืดยาวเกินกว่าจะเป็นการมาแนะนำซีรีส์ จึงขอยกตัวอย่างที่น่าสนใจเพื่อเชิญชวนเท่านั้น
▪︎First Food ตย. นมแม่ เป็นทางเลือกอันดับหนึ่งจริง ๆ นักวิทย์ทำการศึกษาจนสามารถระบุได้ว่านมแม่เป็นของเฉพาะลูก น้ำนมที่ผลิตออกมาจึงเป็นการเติมคุณค่าทางโภชนาการให้เหมาะสมสำหรับคนคนเดียว ซึ่งยังรวมไปถึงการให้ภูมิคุ้มกันบางอย่างต่อทารกเพื่อต้านทานโรคด้วย
▪︎Crawling ตย. การคลานเป็นผลของพัฒนาการกล้ามเนื้อในทารก
▪︎First Words ตย. การหัดสื่อสารเป็นเรื่องของการเก็บสถิติ
▪︎Sleep ตย. การนอน อันนี้เป็นปัญหาโลกแตกที่แม้แต่นักวิทย์เองยังฉงน จากการสำรวจเก็บข้อมูลการนอนในทารกมากมาย พบว่าการนอนของทารกนั้นไร้รูปแบบ (ไม่บอกก็รู้) แต่โดยส่วนใหญ่ ย้ำว่าส่วนใหญ่แล้วจะเข้าสู่รูปแบบได้ภายใน 1 ขวบปี หมายถึงนอนได้ยาว อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญและอยากให้พ่อแม่หรือคนเลี้ยงเด็กได้ดู คือ การวิจัยที่แสดงถึงผลของการนอนที่สัมพันธ์กับพื้นที่ความทรงจำระยะสั้นในสมอง หรือเรียกว่า ฮิปโปแคมปัส การได้นอนหลับจะอำนวยให้สมองของทารกสามารถทำงานโดยย้ายเอาความทรงจำระยะสั้นในพื้นที่นี้ ไปเก็บไว้ในพื้นที่ความทรงจำระยะยาวที่เรียกว่า คอร์เท็กซ์ ได้ ดังนั้น การนอนหลับมีผลโดยตรงกับความทรงจำ อยากทราบมากกว่านี้ ขอชวนให้ดู โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ลูกมีปัญหากับการนอน
▪︎First Steps ตย. ก้าวแรกนั้นมีอยู่แล้วในทารกเพียงแต่รอพัฒนาการของกล้ามเนื้อ และไม่จำเป็นที่จะต้องคลานได้ก่อนเพราะมันเป็นแค่ทางเลือกของการเคลื่อนไปข้างหน้าเท่านั้น
เป็นซีรีส์ที่ยอดเยี่ยมมากเปิดโลกลี้ลับของลูกให้พ่อได้อย่างดี ควรมอบทุกรางวัลให้ผู้ทำสารคดี ฮ่าๆๆๆ อยากให้พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงทารกได้ดู อาจไม่ช่วยในการเลี้ยงโดยตรง แต่การเข้าใจพัฒนาการทั้ง 6 หัวข้อนี้น่าจะสร้างหลักคิดในการเลี้ยงดูลูกได้บ้างไม่มากก็น้อย
แม้คนที่ไม่ได้เป็นพ่อแม่และไม่ได้เลี้ยงเด็กก็ควรได้ดูเพราะเหล่าทารกน้อยจากทั่วโลกทั้งหลายในเรื่องน่ารักและดีต่อใจในยามนี้มาก สร้างกำลังใจในการมีชีวิตอยู่ได้ดีทีเดียว
แด่เธอ
#พุดตานเด็กนอนยาก

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา